เรื่องและภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง
Summary
- แม้เวลาจะล่วงเลยเกือบ 5 เดือน วิกฤติกลับยังไร้ท่าทีจะคลี่คลาย มีเพียงภาคประชาชนที่เป็นผู้สืบหาความจริง จนพบต้นตอจากเหมืองแรร์เอิร์ธนอกพรมแดน ขณะที่หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ยังคงปฏิเสธ มีเพียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่เปิดเผยข้อมูลตรงไปตรงมา
- ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำกกเริ่มสังเกตเห็นว่าสีของแม่น้ำเปลี่ยนไป กลายเป็นสีขุ่นผิดปกติ แต่ก็ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2567 ซึ่งก่อให้เกิดดินถล่มจำนวนมาก จึงตั้งข้อสังเกตว่าต้นเหตุดินถล่มอาจมีที่มาจากการทำเหมืองแร่ในเขตรัฐฉาน
- นอกจากนี้ ชุมชนในพื้นที่ริมแม่น้ำกกรายงานว่า ‘ปลาแค้’ ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำกก เริ่มแสดงอาการผิดปกติ โดยพบว่ามีตุ่มพุพองขึ้นตามลำตัว เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความสงสัยเริ่มขยายวงกว้างกลายเป็นวาระของประเทศ
- จากรายงานของ Global Witness พบว่าจำนวนการนำเข้าแร่แรร์เอิร์ธของจีนจากเมียนมา มีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2560 และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหลังจากการรัฐประหารเมียนมาในปี 2564 โดยในปี 2566 มีปริมาณการส่งออกสูงถึง 41,678 ตัน
- โดยในรัฐคะฉิ่น พบแหล่งขุดแร่ได้อย่างน้อย 370 แห่ง และมากกว่า 270 แห่งพบภายหลังจากการรัฐประหารในปี 2564
- และรัฐฉาน พบว่าในเมืองป้อก จากปี 2558 มีทั้งหมด 3 เหมือง เพิ่มเป็น 26 เหมืองภาย ในปี 2568 เช่นเดียวกับบริเวณริมแม่น้ำกก ห่างจากชายแดนไทยไป 30 กม. จากภาพถ่ายล่าสุดพบว่ามีไซต์เหมืองแร่กระจายอยู่ 3 แห่ง โดย 2 แห่งคาดการณ์ว่าเป็นเหมืองแรร์เอิร์ธ และอีก 1 แห่งเป็นเหมืองทองคำ
- ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำจาก กรมควบคุมมลพิษ ทั้งหมด 6 ครั้ง พบว่าจากการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน 15 จุด พบว่าพบสารหนู (As) เกินมาตรฐานทุกจุดตรวจ นอกจากนี้ยังพบว่า อีก 4 จุด นอกจากสารหนูแล้ว ยังพบว่า มี แคดเมียม และแมงกานีสเกินมาตรฐาน
กว่า 5 เดือนที่ผ่านมา แม่น้ำกกหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของภาคเหนือได้เปลี่ยนสภาพจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของผู้คนนับล้านชีวิต กลายเป็นแหล่งน้ำที่กำลังปนเปื้อนสารพิษอย่างเงียบงัน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเริ่มคืบคลานเข้ามา ตั้งแต่น้ำที่เคยใสกลับกลายเป็นขุ่นข้นอย่างผิดแปลกไป จากเหตุการณ์ดินถล่มและน้ำท่วมที่หนักหน่วงขึ้น สู่ปลาในแม่น้ำที่เริ่มแสดงอาการผิดปกติ ปรากฎการณ์เหล่านี้ล้วนจุดประกายคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับแม่น้ำกก
แม้จะมีข้อมูลจากภาคประชาชนที่บ่งชี้ว่าต้นตอของการปนเปื้อนนั้นอาจมีที่มาจากกิจกรรมที่อยู่นอกประเทศ แต่กลับไม่มีท่าทีจากรัฐในการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชน หรือแม้แต่ยอมรับว่ามีผลว่าในขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่จุดเริ่มต้นของวิฤติแล้ว
ผลลัพธ์ของความล่าช้าและไม่ตรงไปตรงมานี้คือความเสียหายที่จะลุกลามจากแม่น้ำกก เข้าสู่แม่น้ำโขงอย่างไร้การควบคุม จากวิกฤติในระดับท้องถิ่น จะกลายเป็นหายนะระดับภูมิภาค ทั้งที่หากรัฐเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาและสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาชน การแก้ไขปัญหาและการสร้างความมั่นใจต่อประชาชนอาจมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
มรดกพิษจากเหมืองแรร์เอิร์ธ ต้นทางสารพิษในสายน้ำ
เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าวิกฤติแม่น้ำกกมีที่มาอย่างไร Lanner ชวนผู้อ่านย้อนกลับไปสำรวจถึงต้นตอของปัญหาครั้งนี้ ซึ่งมีรากฐานมาจากการดำเนินกิจการขุดเหมืองแร่ประเภท ‘แรร์เอิร์ธ’ ในพื้นที่ต้นน้ำ โดยเหมืองดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของแม่น้ำกกอย่างรุนแรง
แร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth Elements – REEs) คือกลุ่มแร่ธาตุ 17 ชนิด ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมยุคใหม่ ตั้งแต่การผลิตพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเทคโนโลยีทางทหารและเครื่องมือทางการแพทย์
ในยุคที่โลกเร่งเดินหน้าสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีดิจิทัล แร่เหล่านี้จึงกลายเป็นทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ที่ทั่วโลกต้องการอย่างมาก โดยมีผู้เล่นอย่าง ‘ประเทศจีน’ เป็นผู้ผลิตและควบคุมเทคโนโลยีแปรรูปในตลาดแร่แรร์เอิร์ธรายใหญ่ที่สุดของโลก
ด้วยเหตุผลดังนี้ ส่งผลให้จีนต้องพยายามเร่งหาแรร์เอิร์ธเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เติบโตขึ้น อย่างเช่นแร่ Terbium (TB) และ Dysprosium (DY) ซึ่งนำไปใช้ในการผลิตแม่เหล็กถาวรที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาด ในบริบทนี้ เมียนมาจึงกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของจีนได้
ปริมาณการนำเข้าแร่แรร์เอิร์ธของจีนจากเมียนมา | ||
ปี | จำนวนการส่งออก (หน่วย: ตัน) | หมายเหตุ |
2560 | 370 | – |
2561 | 8,147 | – |
2562 | 14,428 | |
2563 | 17,457 | – |
2564 | 19,460 | – |
2565 | 11,380 | ปริมาณการส่งออกแร่มีจำนวนลดลง เป็นผลมาจากมาตรการปิดพรมแดนของจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 |
2566 | 41,678 | – |
รายงาน Fuelling the future, poisoning the present: Myanmar’s rare earth boom จาก Global Witness เปิดเผยจำนวนการนำเข้าแรร่แรร์เอิร์ธของจีนจากเมียนมา มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2560 และเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลภายหลังจากการรัฐประหารเมียนมาในปี 2564 ส่งผลให้เมียนมาขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตแรร์เอิร์ธเป็นลำดับ 3 ของโลก รองจากจีน และสหรัฐฯ ส่วนไทย พบว่าเป็นผู้ผลิตเป็นลำดับ 5 ของโลก

หลังการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาในปี 2564 พบว่าเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในพื้นที่ในทางตอนเหนืออย่างรัฐคะฉิ่น และทางตะวันออกอย่างรัฐฉานขยายตัวรวดเร็ว ข้อมูลจากรายงาน Five Key Insights into Myanmar’s Rare Earth โดย Institute for Stratergy and Policy – Myanmar ชี้ให้เห็นว่าภายหลังจากการรัฐประหาร จำนวนเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในรัฐคะฉิ่นเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในช่วง 4 ปีหลังการรัฐประหาร ข้อมูลจากช่วงระหว่างปี 2556 ถึง 2567 ระบุว่า พบแหล่งขุดแร่ได้อย่างน้อย 370 แห่ง และมากกว่า 270 แห่งพบภายหลังจากการรัฐประหารในปี 2564
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจาก มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation : SHRF) ที่เปิดเผยว่า การทำเหมืองแร่แร์เอิร์ธในทางตอนเหนือของรัฐฉานที่เป็นเขตพื้นที่ของกองทัพว้า (United Wa State Army : UWSA) ก็เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยในทางตอนเหนืออย่างเมืองป้อก (Mong Bauk) จากปี 2558 มีทั้งหมด 3 เหมือง เพิ่มเป็น 26 เหมืองภาย ในปี 2568

อย่างไรก็ตาม หากมองลงมาทางตอนใต้ของรัฐฉานซึ่งก็เป็นเขตของกองทัพว้า ก็พบการกระจุกตัวของกิจการเหมืองแร่ไม่ต่างกัน ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดชี้ว่า บริเวณชายแดนเมียนมาห่างจากประเทศไทยราว 25 กิโลเมตร มีไซต์เหมืองแร่กระจายอยู่ 3 แห่ง โดย 2 แห่งคาดการณ์ว่าเป็นเหมืองแรร์เอิร์ธ และอีก 1 แห่งเป็นเหมืองทองคำ สิ่งที่น่ากังวลคือ เหมืองแร่ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำกก ซึ่งกระแสน้ำไหลต่อเข้าสู่ประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังพบว่าเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในรัฐคะฉิ่นของเมียนมาใช้วิธีการสกัดแร่แบบ ‘ชะละลายในแหล่งแร่’ (In-Situ Leaching) ซึ่งหากเหมืองแร่บริเวณริมแม่น้ำกกในรัฐฉานมีการใช้วิธีการสกัดแร่ในลักษณะเดียวกัน ย่อมจะก่อให้เกิดผลกระทบแบบเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตามคำให้สัมภาษณ์ของแรงงานในเหมืองรัฐคะฉิ่นกับองค์กร Global Witness ได้เล่าว่าหน้าที่ประจำวันของเขาคือการเดินขึ้นภูเขา ถางพืชพรรณและเศษใบไม้ จากนั้นเจาะรูลงบนหน้าดิน แล้วฉีดสารละลายแอมโมเนียมซัลเฟตลงไป สารเคมีจะทำให้ดินเหลว เพื่อแยกแยกแร่และดินออกจากกัน ทำให้แร่ตกตะกอนออกมา จากนั้นทั้งแร่และสารเคมีจะถูกส่งต่อไปยังบ่อเก็บเพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อไป และเมื่อแร่ในบริเวณนั้นหมดแล้ว พวกเขาจะย้ายจุดขุดไปยังพื้นที่ใหม่ แล้วทำกระบวนการเดิมซ้ำไปเรื่อยๆ
เขายังแสดงความกังวลว่าการใช้วิธีดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาดินถล่มในอนาคต เนื่องจากการใช้วิธีการดังกล่าวส่งผลต่อคุณภาพผิวดินของภูเขาอย่างชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้น กระบวนการนี้ยังปล่อยสารเคมีตกค้างลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดมลพิษต่อระบบนิเวศ
กรณีศึกษาจากมณฑลเจียงซี ทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งเคยเป็นพื้นที่สำคัญในการขุดแร่แรร์เอิร์ธ สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงในระยะยาว โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (Ministry of Industry and Information Technology) ได้ประเมินว่า การฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าวอาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 198,000 ล้านบาท และอาจต้องใช้เวลากว่า 100 ปีในการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้อย่างสมบูรณ์
เปิดไทม์ไลน์ใครทำอะไรบ้างในระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา
แม้เหตุการณ์จะผ่านมาเกือบ 5 เดือนแล้ว แต่วิกฤติในครั้งนี้กลับไม่มีวี่แววว่าจะทุเลาลง อย่างไรก็ตาม กลับมีเพียงภาคประชาชนเท่านั้นที่ลงมือสืบค้นและตรวจสอบหาต้นตอของปัญหา จนนำไปสู่ข้อเท็จจริงว่า วิกฤติครั้งนี้มีจุดเริ่มจากการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ บริเวณนอกพรมแดนไทยไม่ถึง 30 กิโลเมตร ขณะที่หน่วยงานรัฐหน่วยเดียวที่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมาคือ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)
ในภาคประชาชน เริ่มต้นจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ (SHRF) ได้ออกแถลงการณ์ชี้ว่าต้นเหตุของวิกฤตินี้มาจากเหมือง โดยในตอนแรกคาดว่าเป็นเหมืองทองคำ แต่ต่อมากลับพบว่าแหล่งต้นเหตุที่แท้จริงคือเหมืองแรร์เอิร์ธ ซึ่งอันตรายร้ายแรงยิ่งกว่าเหมืองทองคำ
ขณะที่นักวิชาการได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ ‘ต้นน้ำ’ ผ่านการเจรจารัฐต่อรัฐ โดยใช้กลไกความร่วมมือต่างๆ และดึงประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น เมียนมา และจีน เข้าร่วมโต๊ะเจรจาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทว่าในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการหรือขั้นตอนที่ชัดเจนระหว่างรัฐต่อรัฐในการจัดการปัญหาดังกล่าว โดยที่พบเห็นมีเพียงการแก้ไขปัญหาที่ ‘ปลายน้ำ’ เช่น การตรวจสอบคุณภาพน้ำเท่านั้น
การเปิดเผยไทม์ไลน์ จะทำให้เห็นภาพรวมชัดขึ้นว่าที่ผ่านมาแต่ละฝ่ายได้ดำเนินการอะไรไปแล้ว และมีใครบ้างที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้

เมษายน 2567
เริ่มต้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำกกเริ่มสังเกตเห็นว่าสีของแม่น้ำเปลี่ยนไป กลายเป็นสีขุ่นผิดปกติ แม้จะรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง แต่ชาวบ้านก็ยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ
ปลายปี 2567
จนกระทั่งปลายปีเดียวกัน จังหวัดเชียงรายประสบกับเหตุน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดดินถล่มในหลายพื้นที่ จนบางจุดกลายเป็นทะเลโคลน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชุมชนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฏการณ์ดินถล่มอาจมีความเชื่อมโยงกับการทำเหมืองแร่ในเขตรัฐฉานของเมียนมาหรือไม่
มีนาคม 2568
ต่อมาในช่วงเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งเป็นช่วงที่แม่น้ำกกมักจะใสตามธรรมชาติของฤดูแล้ง แต่กลับพบว่าสีน้ำยังคงขุ่นอย่างผิดสังเกตต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งตอกย้ำความเคลือบแคลงใจให้แก่ชุมชนในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบทั้งใน ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และสุขภาพของชุมชน
(14 มี.ค.) ชาวบ้านกว่า 700 คนใน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ได้รวมตัวกันเดินขบวน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบผลกระทบจากกรณีที่ แม่น้ำกกเปลี่ยนสี ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกัน มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของชุมชนในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจาก กิจกรรมทำเหมืองทองคำ โดยเน้นย้ำว่า การทำเหมืองเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2567 รุนแรงมากขึ้น
(19 มี.ค.) หลังจากนั้น 2 วัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (สคพ. 1 เชียงใหม่) จึงได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดิน เป็นครั้งแรก โดยเก็บทั้งหมด 3 จุดสำคัญ ใน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้สคพ. 1 เชียงใหม่ ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินและตะกอนดินอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนมีนาคมก็ยังไม่มีท่าทีเคลื่อนไหวจากรัฐบาลอย่างจริงจังในกรณีวิกฤติแม่น้ำกก มีเพียงแค่หน่วยงานท้องถิ่นที่เข้าไปติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เมษายน 2568
(2-4 เม.ย.) ในเวที ‘บิมสเทค’ (BIMSTEC) ผู้นำรัฐบาลเมียนมา มิน อ่อง ลาย ได้เข้าร่วมการประชุมที่ไทย และแม้ว่าในการประชุมจะมีสาขาความร่วมมือในด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่พบว่ามีการหารือเรื่องวิกฤติแม่น้ำกกในครั้งนี้
(4 เม.ย.) สคพ.1 (เชียงใหม่) ได้เปิดเผยผลการตรวจแม่น้ำกกในวันที่ 19 มี.ค. ผลการตรวจสอบครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าแม้จะไม่พบสารอันตรายอย่าง ไซต์ยาไนด์ แต่กลับพบว่ามีสารหนูที่สูงเกินค่ามาตรฐานกว่าเท่าตัวทุกจุด
ในช่วงเวลาดังกล่าว สำนักข่าวหลายสำนักได้เริ่มรายงานสถานการณ์วิกฤติแม่น้ำกก
(14 เม.ย.) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) พร้อมด้วย ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าร่วมงาน ‘ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองสันกำแพง’ ที่ชุมชนโหล่งฮิมคาว ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ระหว่างการร่วมงานได้มีนักข่าวถามถึงสถานการณ์แม่น้ำกก ทักษิณได้กล่าวว่าตอนนี้รัฐบาลรับทราบเรื่องนี้แล้ว และได้ดำเนินการให้ปลัดกระทรวงทรัพยฯ ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
(17 เม.ย.) ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนและนักวิชาการเชียงราย ส่งจดหมายถึงนายกฯ ขอเร่งแก้ปัญหาแม่น้ำกก และแนะให้ใช้โอกาสพบ มิน อ่อง ลาย ในวันที่ 17 เม.ย. พูดคุยเรื่องวิกฤตนี้ พร้อมเสนอข้อเสนอ 6 ข้อ ได้แก่ ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหามลพิษข้ามพรมแดน, เตรียมรับมืออุทกภัย, ร่วมมือกับเมียนมา, สื่อสารอย่างโปร่งใส, ขยายการศึกษาผลกระทบ และเปิดเจรจา 4 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
(17 เม.ย.) ต่อมาได้มีการพบกันอีกครั้งระหว่างผู้นำ ไทย, มาเลเซีย และเมียนมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันแสวงหาหนทางในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงส่งเสริมสันติภาพในประเทศเมียนมา จัดขึ้นที่โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ามีการหารือเรื่องวิกฤติแม่น้ำกกในครั้งนี้
(23 เม.ย.) ความสงสัยเริ่มขยายวงกว้างกลายเป็นวาระของประเทศ เมื่อในช่วงปลายเดือนเมษายน เนื่องจากมีรายงานจากสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตว่า ‘ปลาแค้’ ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำกก เริ่มแสดงอาการผิดปกติ โดยพบว่ามีตุ่มพุพองขึ้นตามลำตัว โดยชาวบ้านในพื้นที่ได้สังเกตเห็นอาการเหล่านี้มาตั้งแต่ปลายปี 2567 แล้ว เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ดึงความสนใจจากภาครัฐ นำไปสู่การเข้าตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงว่า สาเหตุที่แท้จริงของความเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำกกนั้นคืออะไร
(24 เม.ย.) อย่างไรก็ดี กรมประมงจังหวัดเชียงรายได้เปิดเผยผลการตรวจสอบคุณภาพปลาจากแม่น้ำกก โดยได้เก็บตัวอย่างปลาจากชาวประมงบริเวณจุดใต้ฝายเชียงราย จากผลการตรวจสอบ กลับพบว่าจากตัวอย่างปลาไม่พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
(26 เม.ย.) สคพ.1 (เชียงใหม่) รายงานผลตรวจคุณภาพตะกอนดินแม่น้ำกกในพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ อ.เมือง จ.เชียงราย พบสารหนูเกินมาตรฐานทุกจุด เตือนอาจสะสมในปลาและเป็นอันตรายต่อสุขภาพหากบริโภคต่อเนื่อง ส่วนโลหะหนักอื่น เช่น นิกเกิลและโครเมียม พบเกินมาตรฐานบางจุด ซึ่งอาจกระทบสัตว์หน้าดินและระบบนิเวศแม่น้ำ
ในวันเดียวกัน นายก อบจ.เชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ได้ออกมายืนยันว่าน้ำประปาท้องถิ่นยังคงปลอดภัย
(29 เม.ย.) มีการประชุมร่วมระหว่างหลายหน่วยงาน มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาสารหนูที่ปนเปื้อนต้นน้ำแม่น้ำกก สาย ในที่ประชุมเสนอฝายดักตะกอนเป็นมาตรการเฉพาะหน้า
(30 เม.ย.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วรภัทราทร, ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์จากสำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และทีมวิจัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยผลการตรวจแม่น้ำกกเบื้องต้น จากการเก็บตัวอย่างน้ำ 9 จุด ครอบคลุมพื้นที่ อ.แม่สาย – อ.เชียงแสง พบว่ามีสารหนูเกินมาตรฐาน 8 จุด โดยจุดที่มีปริมาณสารหนูสูงสุด สูงเกินมาตรฐาน 19 เท่า
พฤษภาคม 2568
(1 พ.ค.) การประปาส่วนภูมิภาคสาขาแม่สาย ดื่มน้ำโชว์ ขอให้ประชาชนมั่นใจ หลังพบสารพิษตกค้างในแม่น้ำ
(5 พ.ค.) มูลนิธิสยามเชียงราย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามสถานการณ์หลังได้รับรายงานว่าพบชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำกกประสบปัญหาสุขภาพ โดยมีอาการปวดแสบตาและตาบวมภายหลังจากลงเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมในคลองผันน้ำซึ่งรับน้ำมาจากแม่น้ำกก
(6 พ.ค.) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยลงพื้นที่แม่สาย เพื่อติดตามปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำสายและน้ำท่วม แม้น้ำประปาจะปลอดภัย แต่ยังพบสารปนเปื้อนในแม่น้ำ จึงขอให้ประชาชนงดใช้น้ำโดยตรง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มการตรวจสอบคุณภาพน้ำและเตรียมมาตรการป้องกันน้ำท่วม พร้อมเน้นการสื่อสารข้อมูลและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
(15 พ.ค.) มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมเผยการทำ ‘เหมืองแร่แรร์เอิร์ธ’ ทางตอนใต้ของเมืองสาด (Mong Hsat) อยู่ห่างจากไทยไปไม่เกิน 30 กม. คาดว่าเป็นต้นเหตุสารพิษในแม่น้ำกก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนกว่า หนึ่งล้านคน ที่อาศัยอยู่ปลายน้ำทั้งฝั่งไทยและเมียนมา
(17 พ.ค.) สำนักข่าวชายขอบรายงานพบช้างป่วยหลังเล่นน้ำแม่น้ำกก เกิดผื่นและตุ่มกลายเป็นแผล ด้านนายสัตวแพทย์ที่ตรวจพบว่าอาการเกิดจากสารปนเปื้อนในน้ำ จึงเตือนแม้ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ก็ห้ามสัมผัสน้ำกก เพราะอาจแพ้เหมือนคนได้
(27 พ.ค.) รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่เชียงรายหารือแนวทางแก้ปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก ประสานกระทรวงต่างประเทศเตรียมเจรจาระดับรัฐบาลกับเมียนมาโดยตรง พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า และย้ำให้งดใช้น้ำและบริโภคปลาจากพื้นที่เสี่ยงแม้น้ำประปาจะยังปลอดภัย
(31 พ.ค.) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ออกมาแถลงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ผัก และปลาในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำกก-สาย-รวก โดยยืนยันว่า ผลการตรวจพบสารหนูหรือโลหะหนักในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ยังกล่าวว่าข้อมูลที่เปิดเผยบนสื่อไม่สามารถใช้อ้างอิงอย่างเป็นทางการได้ เพราะเป็นเพียงแค่เครื่องมือการตรวจเบื้องต้น (Test Kit)
มิถุนายน 2568
(5 มิ.ย.) กรมควบคุมมลพิษรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ครั้งที่ 1-3 พบแม่น้ำกกมีสารหนูเกินมาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบสารโลหะหนักอื่นในบางจุด
(9 มิ.ย.) นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อการรับรู้ (AIM) เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพน้ำอย่างโปร่งใส
(12 มิ.ย.) สำนักงานควบคุมมลพิษรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ครั้งที่ 4 พบแม่น้ำกกมีสารหนูเกินมาตรฐานทุกจุด แต่ยังไม่พบสารโลหะหนักอื่นๆ
(18 มิ.ย.) นักวิชาการและประชาชนแสดงความกังวลใจเกี่ยวกับโครงการขุดลอกแม่น้ำกก สาย และรวก เพื่อรับมือกับสถาการณ์น้ำท่วม ซึ่งอาจทำให้สารหนูและโลหะหนักในตะกอนดินฟุ้งกระจาย
(19 มิ.ย.) มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ เปิดเผยข้อมูลเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในเมืองป้อก (Mong Bawk), รัฐฉาน ขยายตัว 8 เท่า ภายหลังจากการรัฐประหาร นอกจากนี้ยังพบว่าแม่น้ำในเมืองป้อกไหลลงเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง อาจทำให้แม่น้ำโขงปนเปื้อนได้
(22 มิ.ย.) ฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลตรวจปลาแม่น้ำกกพบเพียงพยาธิใบไม้-ไม่พบสารโลหะหนักเกินมาตรฐาน จากการเก็บตัวอย่างปลาทั้งหมด 4 จุด (1 จุดในเชียงใหม่ และ 3 จุดในเชียงราย)
(28 มิ.ย.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เชียงรายเพื่อมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่ถูกวิจารณ์จากนักข่าวท้องถิ่นว่าไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาน้ำกก ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญด้านน้ำกินน้ำใช้ของชาวเชียงราย
นอกจากนี้ สำนักงานควบคุมมลพิษรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ครั้งที่ 5 พบสารหนูเกินมาตรฐาน 10 จาก 15 จุด นอกจากนี้ยังพบว่าพบแมงกานีสเกินมาตรฐานใน 3 จุด
(29 มิ.ย.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยสัปดาห์หน้าจะมีคณะผู้เชี่ยวชาญไทยเดินทางไปหารือกับเมียนมา ณ กรุงเนปิดอว์ เพื่อหาทางแก้ปัญหาสารปนเปื้อนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
กรกฎาคม 2568
(3 ก.ค.) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) เปิดเผยข้อมูล พบสารหนูในแม่น้ำโขงเกินมาตรฐาน 4 จุด จากการเก็บตัวอย่างน้ำ 5 จุด มีเพียงแค่จุดเดียวที่ยังต่ำกว่ามาตรฐานคือในบริเวณพรมแดนพม่า–ลาวตอนบน ยืนยันสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานควบคุมมลพิษ
(7 ก.ค.) สำนักข่าวชายขอบรายงาน พบสารหนูมากผิดปกติในเด็กทั้ง 2 คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำกก จากการตรวจตัวอย่างปัสสาวะ นอกจากนี้ยังรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ยังไม่อยากเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะทำให้ชุมชนแตกตื่น
(8 ก.ค.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ออกมาชี้แจงพบสารหนูในคน จากข้อมูลการสุ่มตรวจปัสสาวะ 10 ราย พบสารหนูปนเปื้อน 9 ราย แต่ยังคงไม่เกินมาตรฐาน
ในวันเดียวกัน ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยข้อมูลด้านนิติศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญจากการตรวจสอบปลาแค้ว่าถึงแม้สารโลหะหนักที่ตรวจพบจะไม่เกินค่ามาตรฐานตามที่รองอธิบดีกรมประมงระบุ และสาเหตุการตายของปลาจะมาจากพยาธิ แต่สารโลหะหนักก็มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของปลาอ่อนแอลง ส่งผลให้พยาธิเข้าทำลายระบบภูมิคุ้มกันได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้สำนักงานควบคุมมลพิษรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ครั้งที่ 6 จากผลการตรวจสอบพบว่าสารหนูกลับมาเกินค่ามาตรฐานในทุกจุด แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ามีการเปิดเผยข้อมูลการตรวจสารโลหะหนักชนิดอื่นๆ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาครัฐไม่ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนหรือจริงจังในการแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ แต่กลับมุ่งเน้นการโต้ตอบกับประชาชน มากกว่าการยอมรับปัญหาและสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่มีการตรวจพบสารพิษในน้ำและตะกอนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนและสิ่งแวดล้อม ภาครัฐกลับเลือกที่จะแสดงการดื่มน้ำประปาเพื่อยืนยันว่าไม่มีปัญหากับน้ำประปา ทั้งที่ชุมชนไม่ได้พึ่งพาน้ำประปาเป็นแหล่งเดียว แต่ยังต้องพึ่งพาแม่น้ำกกในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ
นอกจากนี้ การเสนอใช้ ‘ฝายดักตะกอน’ หรือการขุดลอกแม่น้ำเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ได้ลงมือจัดการกับต้นตอของปัญหาที่แท้จริง นั่นคือ การเจรจาหาทางควบคุมการทำเหมืองแร่ที่ก่อให้เกิดมลพิษสะสมในแม่น้ำกก การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ยิ่งทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้มีความจริงใจในการสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขที่ต้นเหตุ
จากกรณี การเปิดเผยผลการตรวจสอบปลาพบการปนเปื้อนสารโลหะหนักในน้ำของคพ. แต่หน่วยงานรัฐอื่นๆ กลับออกมาปฏิเสธและโต้แย้งว่าผลการตรวจสอบไม่พบสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน ยิ่งสร้างความสับสนให้แก่สาธารณชน การไม่ยอมรับและไม่ลงมือแก้ปัญหาที่ต้นตอทำให้ปัญหายืดเยื้อและทวีความรุนแรง จนในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวขยายวงกว้างไปเกินแม่น้ำกกแล้ว และกำลังลามเข้าสู่แม่น้ำโขง ซึ่งอาจกระทบชีวิตคนเพิ่มอีกนับล้านคน
รวมถึงการเจรจาเชิงรุกระหว่างรัฐต่อรัฐ ที่นำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยเพื่อยุติวิกฤติในครั้งนี้ ก็ยังไม่มีทิศทางว่าจะดำเนินการไปอย่างไร
รายงานคพ. ชี้แม่น้ำกกไม่ปลอดภัย MRC ยันเจอสารหนูในแม่น้ำโขงแล้ว

ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำจาก กรมควบคุมมลพิษ ทั้งหมด 6 ครั้ง ผ่านการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน 15 จุด ครอบคลุมพื้นที่ต้นน้ำในจังหวัดเชียงใหม่ ไปจนปลายน้ำในจังหวัดเชียงราย โดยตรวจสอบค่าความขุ่นและโลหะหนักในน้ำ ประกอบด้วย แมงกานีส (Mn), ตะกั่ว (Pb), สารหนู (As), แคดเมียม (Cd), นิกเกิล (Ni), สังกะสี (Zn), ทองแดง (Cu), ปรอท (Hg) สามารถสรุปได้ดังนี้
ผลการตรวจคุณภาพน้ำ – ครั้งที่ 1
จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินระหว่างวันที่ 19–24 มีนาคม 2568 และตะกอนดินเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 รวม 6 จุดตรวจ (จังหวัดเชียงใหม่ 3 จุด และเชียงราย 3 จุด) พบว่า ทุกจุดมีสารหนูเกินค่ามาตรฐาน นอกจากนี้ จุดตรวจ KK01 ยังพบสารตะกั่วเกินมาตรฐานเพิ่มเติมอีกด้วย
ส่วนโลหะหนักชนิดอื่นทั้งหมดยังอยู่ในระดับไม่เกินมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด
ผลการตรวจคุณภาพน้ำ – ครั้งที่ 2
จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินและตะกอนดินระหว่างวันที่ 21–24 เมษายน และ 29 เมษายน–2 พฤษภาคม 2568 ในพื้นที่รวม 12 จุด (เชียงใหม่ 3 จุด และเชียงราย 9 จุด) พบว่ามีสารหนูเกินค่ามาตรฐานใน 9 จุด ได้แก่ KK01 – KK03 (เชียงใหม่) และ KK04 – KK09 (เชียงราย) ขณะที่อีก 3 จุดในเชียงราย ได้แก่ KK12 – KK13 และ KK15 ไม่พบสารหนูเกินมาตรฐาน
ส่วนโลหะหนักชนิดอื่นทั้งหมดยังอยู่ในระดับไม่เกินมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด
ผลการตรวจคุณภาพน้ำ – ครั้งที่ 3
จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินระหว่างวันที่วันที่ 12 – 16 พฤษภาคม 2568 รวมทั้งสิ้น 15 จุด (เชียงใหม่ 3 จุด และเชียงราย 12 จุด) พบว่ามีสารหนูเกินค่ามาตรฐานใน 11 จุด ได้แก่ KK01 – KK03 (เชียงใหม่) และ KK04 – KK11 (เชียงราย) ขณะที่อีก 4 จุดในเชียงราย ได้แก่ KK12 – KK15 ไม่พบสารหนูเกินมาตรฐาน
ส่วนโลหะหนักชนิดอื่นทั้งหมดยังอยู่ในระดับไม่เกินมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด
ผลการตรวจคุณภาพน้ำ – ครั้งที่ 4
จากการตรวจคุณภาพน้ำผิวดินและตะกอนดินระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2568 รวมทั้งสิ้น 15 จุด (เชียงใหม่ 3 จุด, เชียงราย 12 จุด) พบว่าทุกจุดมีสารหนูเกินค่ามาตรฐาน (KK01 – KK15) ส่วนโลหะหนักชนิดอื่นทั้งหมดยังอยู่ในระดับไม่เกินเกณฑ์ที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด
ผลการตรวจคุณภาพน้ำ – ครั้งที่ 5
จากการตรวจคุณภาพน้ำผิวดินระหว่างวันที่ 9 – 13 มิถุนายน 2568 รวมทั้งสิ้น 15 จุด (เชียงใหม่ 3 จุด, เชียงราย 12 จุด) พบว่ามีสารหนูเกินค่ามาตรฐานใน 10 จุด ได้แก่ KK01 – KK03 (เชียงใหม่) KK04 – KK09 และ KK11 (เชียงราย) ขณะที่อีก 5 จุดในเชียงราย ได้แก่ KK09 และ KK12 – KK15 ไม่พบสารหนูเกินมาตรฐาน
ส่วนโลหะหนักชนิดอื่นทั้งหมดยังอยู่ในระดับไม่เกินมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด
ผลการตรวจคุณภาพน้ำ – ครั้งที่ 6
จากการตรวจคุณภาพน้ำผิวดินและตะกอนดินระหว่างวันที่ 23 – 27 มิถุนายน 2568 รวมทั้งสิ้น 15 จุด (เชียงใหม่ 3 จุด, เชียงราย 12 จุด) พบว่าทุกจุดมีสารหนูเกินค่ามาตรฐาน (KK01 – KK15)
ส่วนข้อมูลโลหะหนักชนิดอื่น ‘ยังไม่มีข้อมูลเปิดเผย’ ออกมาจากกรมควบคุมมลพิษ
สรุปผลการตรวจคุณภาพน้ำทั้งหมด 6 ครั้ง
จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินและตะกอนดินในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ตั้งแต่ 19 มีนาคม – 27 มิถุนายน 2568 รวม 6 รอบการตรวจ ครอบคลุม 15 จุด พบประเด็นสำคัญดังนี้
ผลการตรวจปริมาณสารหนู (As) ที่เกินมาตรฐาน | ||||||||
จุดตรวจ | จังหวัด | พื้นที่ | ค่าสารหนู (มก./ล.) ค่ามาตรฐาน <0.010 มก./ล. | |||||
ครั้งที่ 1 | ครั้งที่ 2 | ครั้งที่ 3 | ครั้งที่ 4 | ครั้งที่ 5 | ครั้งที่ 6 | |||
KK01 | เชียงใหม่ | ชายแดนไทย-พม่า ต.ท่าตอน อ.แม่อาย | 0.026 | 0.037 | 0.03 | 0.016 | 0.025 | 0.038 |
KK02 | สะพานมิตรภาพแม่นาวาง-ท่าตอน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย | 0.012 | 0.012 | 0.026 | 0.017 | 0.022 | 0.028 | |
KK03 | สะพานสองดินแดนบ้านแม่สลัก อ.แม่อาย | 0.013 | 0.024 | 0.018 | 0.015 | 0.017 | 0.012 | |
KK04 | เชียงราย | บ้านจะเด้อ หมู่ 6 ต.ดอยฮาง อ.เมือง | – | 0.019 | 0.016 | 0.022 | 0.047 | 0.013 |
KK05 | สะพานมิตรภาพแม่ยาว-ดอยฮาง อ.เมือง | – | 0.016 | 0.017 | 0.022 | 0.036 | 0.013 | |
KK06 | บ้านโป่งนาคำ ต.ดอยฮาง อ.เมือง | 0.013 | 0.015 | 0.016 | 0.023 | 0.033 | 0.012 | |
KK07 | สะพานข้ามแม่น้ำกก ต.ดอยฮาง อ.เมือง | 0.012 | 0.016 | 0.018 | 0.016 | 0.021 | 0.013 | |
KK08 | สะพานแม่ฟ้าหลวง ต.รอบเวียง อ.เมือง | 0.011 | 0.014 | 0.014 | 0.018 | 0.028 | 0.015 | |
KK09 | สะพานเฉลิมพระเกียรติ1 ต.รอบเวียง อ.เมือง | – | 0.012 | 0.014 | 0.020 | 0.021 | 0.017 | |
KK10 | ฝายเชียงราย ต.รอบเวียง อ.เมือง | – | – | 0.011 | 0.022 | <0.010 | 0.015 | |
KK11 | สะพานริมกก-เวียงเหนือรวมใจ อ.เวียงชัย | – | – | 0.018 | 0.020 | 0.011 | 0.013 | |
KK12 | สะพานโยนกนาคนคร ต.แม่ข้าวต้ม อ.เมือง | – | <0.010 | <0.010 | 0.015 | <0.010 | 0.012 | |
KK13 | ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน | – | <0.010 | <0.010 | 0.015 | <0.010 | 0.016 | |
KK14 | ต.หนองป่าก่อ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย | – | – | <0.010 | 0.015 | <0.010 | 0.016 | |
KK15 | ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน | – | <0.010 | <0.010 | 0.013 | <0.010 | 0.013 |
สารโลหะหนักอื่นๆ เช่น ตะกั่วและแมงกานีสในจุดตรวจที่เกินมาตรฐาน
ผลการตรวจปริมาณสารโลหะหนักอื่นๆ ที่เกินมาตรฐาน | |||||
จุดตรวจ | ธาตุ | ค่าที่ตรวจพบ (มก./ล.) | ค่ามาตรฐาน (มก./ล.) | มาตรฐาน | ครั้งที่ตรวจ |
KK01 | ตะกั่ว (Pb) | 0.076 | 0.05 | เกินมาตรฐาน | ครั้งที่ 1 |
KK04 | แมงกานีส (Mn) | 1.6 | 1.0 | เกินมาตรฐาน | ครั้งที่ 5 |
KK05 | 1.6 | 1.0 | เกินมาตรฐาน | ครั้งที่ 5 | |
KK06 | 1.5 | 1.0 | เกินมาตรฐาน | ครั้งที่ 5 |
ในขณะที่การตรวจสารโลหะหนักอื่นๆ เช่น แคดเมียม (Cd), นิกเกิล (Ni), สังกะสี (Zn), ทองแดง (Cu), ปรอท (Hg) ทุกจุดตรวจยังคงปลอดภัยตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ
นอกจากนี้ จากสรุปผลการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษยังระบุในรายงานว่า ‘ผลคุณภาพน้ำบริเวณที่ติดกับพรมแดนของเมียนมา ทั้งแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย จะมีค่าความขุ่นสูงผิดปกติทุกจุดตรวจวัด และพบค่าโลหะหนักสารหนูสูง ซึ่งเป็นพารามิเตอร์ที่สะท้อนถึงการทำกิจกรรมการทำเหมืองอย่างชัดเจน’
นอกจากนี้ รายงานล่าสุดจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ยังระบุว่า มีการตรวจพบสารหนูในแม่น้ำโขง จากการเก็บตัวอย่างน้ำทั้งหมด 5 จุดในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ผลการตรวจพบว่ามีเพียงจุดเดียวเท่านั้น (C1) ที่ค่าของสารหนู ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน (ต่ำกว่า 0.010 มก./ล.) ส่วนอีก 4 จุดที่เหลือ (C2 – C5) ตรวจพบสารหนูเกินมาตรฐานทั้งหมด (มีค่าสม่ำเสมออยู่ที่ 0.025 มก./ล.)
จุดตรวจคุณภาพน้ำของ MRC
C1: บริเวณพรมแดนพม่า–ลาวตอนบน
C2: พรมแดนพม่า–ลาว เหนือสามเหลี่ยมทองคำเล็กน้อย
C3: พรมแดนไทย–ลาว เหนือเมืองเชียงแสน
C4: พรมแดนไทย–ลาว ใกล้สบกก
C5: พรมแดนไทย–ลาว ระหว่างเมืองเชียงของกับห้วยทราย
ผลการตรวจสอบของ MRC ยังสอดคล้องกับรายงานจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งพบการปนเปื้อนของสารหนูในแหล่งน้ำด้วยเช่นกัน โดย MRC ได้เน้นย้ำว่า วิกฤตครั้งนี้เป็น ‘วิกฤติข้ามพรมแดน’ ที่ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในภูมิภาค และได้ประเมินระดับความรุนแรงของสถานการณ์ว่าอยู่ในระดับ ‘ความรุนแรงระดับปานกลาง’ (moderately serious)
ความย้อนแย้ง และการใช้คำว่า ‘ไม่เกินมาตรฐาน’ ของหน่วยงานรัฐ ทำลายความเชื่อมั่นในการจัดการปัญหาของประชาชน

ปัญหามลพิษในแม่น้ำกกขยายวงกว้างจากประเด็นสิ่งแวดล้อมไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งอย่างรุนแรง วิกฤตินี้ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทว่ารัฐกลับไม่มีท่าทีที่ชัดเจนหรือการสื่อสารที่โปร่งใส ส่งผลให้เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ และความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐก็ยิ่งจางหายไป สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เกิดคำถามว่า ท่ามกลางวิกฤติแบบนี้ รัฐมีความจริงใจต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด
ความย้อนแย้งในการรายงานผลตรวจคุณภาพน้ำ – จากการรายงานของหลายหน่วยงาน เช่น ผู้ว่าจังหวัดเชียงราย และนายกอบจ.เชียงราย ที่ยืนยันว่าน้ำประปาปลอดภัย ซึ่งอาจเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นสร้างความสับสนหรือไม่ เพราะโดยในกระบวนการผลิตน้ำประปามีการกำจัดสารเจือปนอยู่แล้ว และชุมชนริมแม่น้ำกกไม่ได้พึ่งพาแหล่งน้ำจากประปาเพียงอย่างเดียว รวมถึงยังชี้แจงผลการตรวจปลาและผักของสาธารณะสุขจังหวัดว่ายังคง ‘ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน’ ซึ่งไม่สอดคล้องกับรายงานของกรมควบคุมมลพิษที่รายงานว่ามีค่าสารหนูเกินมาตรฐานจากการตรวจทั้งหมด 6 ครั้ง และอาจเสี่ยงต่อปลา และผักหากนำไปใช้
ความย้อนแย้งในการรายงานผลตรวจสุขภาพสัตว์น้ำ – จากการรายงานของอธิบดีกรมประมงที่รายงานว่าปลาแม่น้ำกกพบเพียงพยาธิใบไม้ ‘ไม่พบสารโลหะหนักเกินมาตรฐาน’
อย่างไรก็ดี รศ.ดร. อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ออกมาชี้แจงว่าการตรวจของกรมประมงนั้นเป็นการตรวจเพื่อหาพยาธิเพียงเท่านั้น ไม่ใช่การตรวจเพื่อหาสารโลหะหนัก ซึ่งไม่มีประโยชน์หากตรวจไม่ครบถ้วน
นอกจากนี้ ผลการตรวจของกรมประมงก็ถูกโต้แย้งด้วยการตรวจสอบของทีมนักวิจัยม.นเรศวร จากบทสัมภาษณ์ใน BBC รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หัวหน้าทีมนักวิจัยม.นเรศวร ได้อธิบายว่า แม้ปลาจะติดเชื้อและเสียชีวิตจากพยาธิ แต่สาเหตุของการติดเชื้อก็มาจากซึบซับสารโลหะหนักอย่างชัดเจน
และยังย้อนแย้งกับผลตรวจของกรมควบคุมมลพิษ ที่รายงานว่าสารโลหะหนักในน้ำอาจมีการสะสมในปลาซึ่งได้ออกมาเตือนว่าหากประชาชนบริโภคปลาในแม่น้ำกกเป็นประจำ อาจส่งผลให้เกิดอัตรายต่อสุขภาพได้
ความไม่ตรงไปตรงมาต่อผลการตรวจสุขภาพของประชาชน – จากการรายงานข่าวของสำนักข่าวชายขอบ ที่รายงานว่าพบสารหนูตกค้างในปัสสาวะของเด็ก 2 คน ภายหลังจากการรายงานข่าว 1 วัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่จึงได้ออกมาแถลงว่า พบสารหนูในคนจริง แต่ยังคง ‘ไม่เกินมาตรฐาน’
จากคำว่า ‘ไม่เกินมาตรฐาน’ อาจสะท้อนถึงการสื่อสารที่ไม่โปร่งใสหรือไม่ เนื่องจากแม้ค่าของสารโลหะหนักจะยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสารพิษไม่เพิ่มขึ้น หรือไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน การใช้ถ้อยคำในลักษณะนี้จึงอาจเบี่ยงเบนความรุนแรงของปัญหา และไม่เอื้อต่อการสร้างความเข้าที่ชัดเจนให้แก่สาธารณชน
ภายใต้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความท้าทายเช่นนี้ การสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรท้องถิ่น และชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน พร้อมทั้งดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเจรจาเพื่อยุติวิกฤติ ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ไม่อาจเพิกเฉย
พิษที่แทรกซึมจากแม่น้ำกกในวันนี้ อาจไม่ใช่เพียงแค่ภัยคุกคามในระดับท้องถิ่น หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของสารพิษแห่งหายนะที่กำลังแทรกซึมอย่างเงียบงัน รอวันถาโถมเข้าสู่แม่น้ำโขง สายเลือดใหญ่ของภูมิภาค ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนนับล้านในจังหวัดลุ่มน้ำภาคอีสาน
นี่ไม่ใช่เพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับท้องถิ่นอีกต่อไป หากแต่เป็นวิกฤติที่ท้าทายความสามารถของรัฐไทยในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาวะของประชาชน
อ่าน [ชุดข้อมูล] แม่น้ำกกไม่ได้มีแค่ปลาแข้ คนเชียงรายไม่ได้ใช้แค่น้ำประปา: ปัญหาแม่น้ำกกปนเปื้อนกับความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาของภาครัฐ https://www.lannernews.com/13072568-02/
ที่มา:
- Shan Human Rights Foundation (SHRF). ภาพถ่ายดาวเทียมเผยการขยายตัวของเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ ทางตอนเหนือของพื้นที่กองทัพว้าในเมืองป้อก รัฐฉาน
- Shanan Foundation.Governance of Rare Earth Mining by the Kachin Independence Organization/Army (KIO/KIA)
- Institute for Stratergy and Policy – Myanmar. Five Key Insights into Myanmar’s Rare Earth
- Global Witness. Fuelling the future, poisoning the present: Myanmar’s rare earth boom
- Global Witness. Myanmar’s poisoned mountains
- Yale Environment 360. China Wrestles with the Toxic Aftermath of Rare Earth Mining
- Mekong River Commission.MRC Addresses Kok River Water Quality Concerns, Regional Meeting Set for Next Steps
- mymekong. รอยเตอร์รายงานพิเศษ กองกำลังที่จีนหนุนเข้าคุมเหมืองแร่แรร์เอิร์ทที่ต้นแม่น้ำกก
- กรมควบคุมมลพิษ (คพ.). คพ.รายงานผลการตรวจคุณภาพน้ำ “แม่น้ำกก” ครั้งที่ 5
- กรมควบคุมมลพิษ (คพ.).สถานการณ์คุณภาพน้ำแม่น้ำกกและลําน้ำสาขา แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก แม่น้ำโขง ครั้งที่ 5 เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2568

วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง
อดีตนักศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง ผู้ชื่นชอบในการเดินป่า ปรัชญาและดนตรีสากล พบเจอได้ตามร้านขายเครื่องดื่ม ทุกเทศกาลและวันหยุดนักขัตฤกษ์