เชียงรายประชุมแก้ปัญหาน้ำแม่น้ำข้ามพรมแดน ‘สืบสกุล’ ชี้รัฐยังขาดระบบข้อมูลในพื้นที่  เสนอมหา’ลัยตั้งศูนย์ตรวจเองในพื้นที่

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำแม่น้ำข้ามพรมแดนลุ่มน้ำโขงเหนือ ครั้งที่ 1/2568 โดยมีหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และภาคประชาชนจากจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

การประชุมมุ่งวางกรอบแก้ปัญหามลพิษในลำน้ำสำคัญของภาคเหนือ ได้แก่ แม่น้ำโขง แม่น้ำกก และแม่น้ำสาย ซึ่งล้วนเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านชายแดนไทย-เมียนมา โดยที่ผ่านมาพบปัญหาสารปนเปื้อนที่อาจเชื่อมโยงกับกิจกรรมเหมืองแร่ในฝั่งเมียนมา

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบคุณภาพน้ำ และเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะในประเด็นน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบความมั่นใจของประชาชนโดยตรง

มีการหยิบยกข้อมูลการตรวจสารปนเปื้อนจากบริเวณเหนือและใต้เขื่อนเก็บน้ำเชียงราย ซึ่งพบระดับสารหนูและโลหะหนักต่ำกว่าค่ามาตรฐานหลังน้ำไหลผ่านเขื่อน นำไปสู่ข้อสังเกตว่าเขื่อนอาจช่วยดักตะกอนสารพิษได้บางส่วน อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นว่าจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม

สืบสกุล รัฐยังไม่พร้อมเรื่องข้อมูล เสนอมหาวิทยาลัยตั้งศูนย์ตรวจน้ำเอง

ภายหลังการประชุม ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ติดตามสถานการณ์สารปนเปื้อนในแม่น้ำโขง แม่น้ำกก และแม่น้ำสาย เผยว่าข้อจำกัดสำคัญของรัฐในประเด็น “การขาดโครงสร้างข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในพื้นที่” ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเฝ้าระวังและจัดการปัญหาสารพิษข้ามพรมแดนอย่างทันท่วงที 

“เราต้องการข้อมูลที่อัปเดต ทันท่วงที แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ในลุ่มน้ำกก สายและโขง ข้อมูลกลับล่าช้า เพราะหน่วยตรวจยังอยู่ที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่” สืบสกุลกล่าว

ข้อเสนอ ตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ตรวจคุณภาพน้ำโดยมหาวิทยาลัยในพื้นที่

ดร.สืบสกุลจึงเสนอให้ 3 มหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงรายร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์ติดตามและตรวจสอบคุณภาพน้ำ” เพื่อรองรับสถานการณ์ระยะยาว โดยให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงดูแลแม่น้ำกก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายรับผิดชอบแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตรวจสอบแม่น้ำโขงในช่วงเชียงแสนถึงเวียงแก่น

เขาย้ำว่าการมีห้องแล็บตรวจสารโลหะหนักในดิน น้ำ สัตว์น้ำ และพืชผลภายในจังหวัดเอง จะทำให้ข้อมูลสามารถใช้ตัดสินใจได้ทันที ทั้งในเชิงสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

“เราไม่ได้ต้องการแค่ข้อมูลจากกระทรวง เราต้องการข้อมูลจากบ้านของเราเอง เพื่อจะได้เฝ้าระวัง เตือนภัย และต่อรองได้ทันเวลา” สืบสกุล กล่าว

นอกจากข้อเสนอเชิงโครงสร้าง ดร.สืบสกุลยังเน้นว่าการแก้ไขปัญหาสารพิษในแม่น้ำข้ามพรมแดน ต้องมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านแนวคิด “เปลี่ยนผู้ได้รับผลกระทบให้เป็นผู้ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง” โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน:

1.สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ประชาชนควรมีสิทธิรู้ข้อมูลคุณภาพน้ำทุกระดับ และรัฐควรถ่ายทอดสดการประชุมเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะให้ติดตามอย่างใกล้ชิด

2.สร้างความเข้าใจและทักษะทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มมีความรู้เกี่ยวกับมลพิษข้ามพรมแดน รวมถึงสามารถใช้เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำขั้นต้นได้ด้วยตนเอง

3.เปิดพื้นที่ให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ส่งเสริมบทบาทภาคประชาชน ภาคศิลปวัฒนธรรม และองค์กรปกครองท้องถิ่น ในการกำหนดทิศทางแก้ไขปัญหาของพื้นที่

“แม้เรายังไม่มีอำนาจในการจัดการมลพิษที่ต้นทางในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน แต่เรายังมีโอกาสสร้างระบบข้อมูลที่เชื่อถือได้ในฝั่งไทย เพื่อใช้เป็นฐานในการต่อรองและตัดสินใจร่วมกัน” ดร.สืบสกุล กล่าว

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง