14 พฤษภาคม 2568 บุคลากรและอดีตบุคลากร นักศึกษาและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมตัวกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงอธิการบดีและนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกร้องให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีการละเมิดจริยธรรมทางวิชาการอย่างจริงจังและเปิดเผย หลัง ผศ.ดร. สุรชัย จงจิตรงาม ยื่นเรื่องร้องเรียนการแอบอ้างผลงานวิชาการของตนไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจนแม้จะผ่านมาแล้วครบ 1 ปี โดยมี ชัชพล กุลโพธิสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานมหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกมารับหนังสือ
ในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า การคัดลอกผลงานวิชาการ (Plagiarism) ถือเป็นความผิดร้ายแรงในวงวิชาการ และเป็น “อาชญาวิชาการ” ที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือของสถาบันการศึกษาอย่างรุนแรง โดยมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกต่างมีมาตรการป้องกันและลงโทษเพื่อยืนยันหลักจริยธรรมและความซื่อสัตย์ทางวิชาการ

แม้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมีข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมผู้บริหารและบุคลากร พ.ศ. 2566 ซึ่งบัญญัติชัดเจนว่า การปลอมแปลงหรือแอบอ้างผลงานวิชาการถือเป็นการกระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง แต่กรณีร้องเรียนของ ผศ. ดร. สุรชัย กลับไร้ความชัดเจนในการดำเนินการและไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้า

กลุ่มผู้ยื่นจดหมายเห็นว่าการเพิกเฉยหรือยืดเยื้อในการดำเนินการจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะสถาบันวิชาการที่พึงยึดถือความโปร่งใสและธรรมาภิบาล พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 2 ประการ ได้แก่
1.มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการสอบสวนเรื่องร้องเรียนดังกล่าวอย่างเป็นอิสระ โปร่งใส ตรงไปตรงมา และอยู่ภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่าต้องการให้เรื่องเงียบหาย
2.ต้องมีการชี้แจงสาธารณะว่ากระบวนการสอบสวนได้ดำเนินมาถึงขั้นตอนใด และคาดว่าจะสามารถวินิจฉัยได้ภายในระยะเวลาเท่าใด หากพบว่ามีการกระทำผิดจริง ต้องมีการลงโทษตามความเหมาะสมเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว สุรชัย ชี้ปัญหาเป็นทั้งระบบ ย้ำต้องเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยกับ สุรชัย ภายหลังเวทีเสวนา อาชญาวิชาการ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไว้ว่า การรวบรวมรายชื่ออาจารย์ผู้สนับสนุนในกรณีนี้เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงปัญหาภาพรวมในแวดวงสถาบันการศึกษา ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว และไม่ใช่แค่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง เขาย้ำว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเพียง “ยอดของภูเขาน้ำแข็ง” ที่โผล่พ้นผิวน้ำให้สาธารณชนเห็นเท่านั้น ขณะที่ปัญหาในเชิงโครงสร้างยังดำรงอยู่ในระบบและส่งผลกระทบต่อบุคลากรจำนวนมาก ซึ่งหลายกรณีไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ
“ลองถามคนใกล้ตัว หลายคนก็เคยเจอปัญหาแบบเดียวกัน” สุรชัย กล่าว พร้อมเน้นย้ำว่า หากไม่มีการลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง ปัญหานี้จะยังคงสืบทอดและส่งผลต่อคนรุ่นหลังโดยเฉพาะบุคลากรรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการ
“ผมเองอายุเกิน 50 แล้ว อาจไม่ได้อยู่ในระบบนี้อีกนาน แต่คนรุ่นน้องเขายังต้องทำงานต่อไปอีกหลายสิบปี เราควรลุกขึ้นมาทำบางอย่าง เพื่อไม่ให้น้องๆ ต้องเผชิญกับสิ่งที่เราเคยเจอ” สุรชัย กล่าว
ทั้งนี้ สุรชัย ได้ทิ้งท้ายในอีกหนึ่งประเด็นกรณีคลิปวิดีโอ พิสดารนคร อารยธรรมจากบรรพชน ที่เผยแพร่ทาง YouTube ปรากฏชื่อของตนว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมงาน โดยยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการผลิตวิดีโอดังกล่าว

“ผมไม่ได้มีส่วนร่วมในการถ่ายทำ วางสคริปต์ หรืออยู่ในทีมผลิตวิดีโอนี้แม้แต่น้อย ชื่อของผมควรปรากฎในส่วนหนังสือต้นฉบับเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละส่วนกันโดยสิ้นเชิง” ผศ. ดร.สุรชัย ระบุ
พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ผู้จัดทำลบชื่อของตนออกจากวิดีโอดังกล่าวโดยทันที เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดในวงกว้างว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในวิดีโอ ซึ่งไม่เป็นความจริง และอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือในทางวิชาการ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...