เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการขยายตัวของเหมืองแร่เอิร์ธ ในพื้นที่ตอนใต้ของเมืองสาด รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายแดนอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพียง 25 กิโลเมตร โดยการทำเหมืองดังกล่าวอาจส่งผลให้สารเคมีจากกระบวนการผลิตไหลลงสู่แม่น้ำสายต้นน้ำกก ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณท้ายน้ำทั้งฝั่งไทยและเมียนมากว่าหนึ่งล้านคน
จากภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง แสดงให้เห็นว่าเหมืองแร่แรร์เอิร์ธที่อยู่ห่างจากแม่น้ำกกทางตะวันออก 3.6 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2566 ส่วนอีกแห่งที่อยู่ทางตะวันตก 2.6 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่กลางปี 2567 จากหลักฐานภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุด แสดงให้เห็นบริเวณขุดเจาะที่มีลักษณะเป็นบ่อน้ำขุดลึกเรียงรายเป็นวงกลมหลายชั้น ซึ่งเหมืองแร่ดังกล่าวมีรูปแบบใกล้เคียงกับเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในรัฐคะฉิ่นตอนเหนือของเมียนมา พื้นที่ซึ่งก่อนหน้านี้ตรวจพบการขุดแร่หายากอย่างเทอร์เบียม (Terbium: Tb) และดิสโพรเซียม (Dysprosium: Dy) ในปริมาณมาก โดยมีบริษัทจากจีนเป็นผู้ดำเนินการหลัก
แร่แรร์เอิร์ธมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในเทคโนโลยีหลากหลายด้าน ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ตโฟน จอภาพ และหูฟัง ไปจนถึงพลังงานสะอาดอย่างแม่เหล็กถาวรในกังหันลมและรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยีทางการทหาร เช่น ระบบนำวิถี ดาวเทียม และเรดาร์ ตลอดจนอุตสาหกรรมแสงและเลเซอร์อย่างหลอดไฟ LED และอุปกรณ์เรืองแสงต่าง ๆ ซึ่งประเทศจีนเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้ประเทศจีนคือผู้ผลิตและส่งออกแร่แรร์เอิร์ธรายใหญ่ที่สุดในโลก และมีบริษัทข้ามชาติหลายแห่งที่มีบทบาทสำคัญ อาทิ China Northern Rare Earth Group ผู้ผลิตแร่แรร์เอิร์ธรายใหญ่ที่สุดของโลก ดำเนินกิจการในเขตมองโกเลียใน, China Minmetals Rare Earth Co., Ltd. บริษัทในเครือของรัฐจีน มุ่งเน้นการผลิตแร่หนัก และลงทุนในต่างประเทศ, Chinalco Rare Earth & Metals Co., Ltd. ในเครือบริษัทอลูมิเนียมของรัฐ ดำเนินเหมืองในมณฑลเจียงซี, Xiamen Tungsten Co., Ltd. บริษัทที่มีบทบาททั้งในแร่ทังสเตนและแรร์เอิร์ธ มีสายสัมพันธ์กับเหมืองในเมียนมา และ Grirem Advanced Materials Co., Ltd. บริษัทผลิตวัสดุขั้นสูงจากแร่แรร์เอิร์ธ ส่งต่อสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามในปี 2564 รัฐบาลจีนได้จัดตั้ง “China Rare Earth Group” ขึ้นในปี 2021 เพื่อควบรวมกิจการของบริษัทขนาดใหญ่หลายราย กลายเป็นบรรษัทแห่งชาติที่ควบคุมห่วงโซ่อุปทานแร่แรร์เอิร์ธเกือบทั้งหมดในประเทศ
รายงานยังระบุว่า วิธีการสกัดแร่แรร์เอิร์ธที่ใช้ในรัฐคะฉิ่น เป็นการทำเหมืองแบบ “ละลายแร่” ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยการเจาะท่อส่งสารเคมีลงในเนินเขาเพื่อให้แร่ละลาย จากนั้นจึงสูบสารละลายเหล่านี้เข้าสู่บ่อพักน้ำ และเติมสารเคมีเพิ่มเติมเพื่อแยกสกัดแร่ โดยกระบวนการสกัดแร่จะใช้สารเคมีความเป็นพิษสูง เช่น กรดซัลฟิวริก ไนตริก และแอมโมเนีย ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำ และอากาศ และอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ ทั้งในรูปของโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคผิวหนัง ไปจนถึงความผิดปกติของระบบประสาทและความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเกิดในระยะยาว พื้นที่ที่ถูกใช้ในการทำเหมืองมักกลายเป็น “พื้นที่เสีย” (dead zones) ซึ่งไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้โดยง่าย สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการละลายแร่แทรกซึมลงในชั้นดินและแหล่งน้ำ ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพจนไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลง สิ่งมีชีวิตในลำน้ำ เช่น ปลา หอย กุ้ง ต้องเผชิญกับสารพิษจนถึงขั้นสูญพันธุ์ ส่วนสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่บริเวณป่ารอบเหมืองก็ถูกบีบให้ย้ายถิ่นหรือเสียชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ นอกจากนี้ การขุดเจาะและเปิดหน้าดินทำให้เกิดการชะล้างหน้าดินอย่างรุนแรง เพิ่มความเสี่ยงต่อการพังทลายของดิน ดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝน ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อพื้นที่ทำเหมืองเท่านั้น แต่ยังอาจลุกลามไปยังพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของชุมชนโดยรอบ
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่บันทึกไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองแร่แรร์เอิร์ธ ในรัฐคะฉิ่น โดยเฉพาะผลกระทบจากกระบวนการละลายแร่ในดินซึ่งส่งผลให้เกิดดินถล่ม รวมถึงมลพิษที่ปนเปื้อนทั้งน้ำใต้ดินและผิวดิน ส่งผลให้ปลาและสัตว์ป่าล้มตายจำนวนมาก ขณะที่พืชผลทางการเกษตรก็พบการปนเปื้อนสารเคมี
ผลกระทบเหล่านี้อาจลุกลามข้ามพรมแดน สร้างความเสี่ยงต่อชุมชนที่อยู่ท้ายแม่น้ำในประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ทั้งนี้ มีการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝั่งชายแดนเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองทั้งหมดต่อสาธารณะโดยทันที เพื่อให้สามารถป้องกันผลกระทบเชิงระบบได้อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...