เปิดแผนที่เหมืองแร่จากต้นสู่ปลายน้ำกก เมื่อธุรกิจข้ามพรมแดน ทำลายสิ่งแวดล้อมข้ามชาติ

แม่น้ำกกจากต้นน้ำถึงปลายน้ำถือว่าเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญทางด้านทรัพยากร และชีวิตของผู้คนที่อยู่ริมฝั่งน้ำ แม่น้ำกกมีความยาวราว 285 กิโลเมตร เริ่มต้นจากเมืองท่าขี้เหล็กในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ไหลรวมกับแม่น้ำตันและลำน้ำสายย่อยอย่างน้ำหอม ก่อนทะลักเข้าสู่ไทยที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านหลายอำเภอในจังหวัดเชียงราย และไปสิ้นสุดที่จุดบรรจบกับแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน

สายน้ำนี้กำลังเผชิญภาวะวิกฤตจากสารปนเปื้อนในพื้นที่ต้นน้ำในรัฐฉานซึ่งส่งผลกระทบกับผู้คน วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จุดเริ่มต้นของประเด็นนี้เกิดขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม 2568 หลังจากชาวบ้านตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 700 คน ได้ร่วมกันเดินขบวนรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งปกป้องแม่น้ำกก หลังได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นต้นตอของมลพิษทางน้ำ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งในฝั่งไทยและเมียนมา โดยภัยพิบัติเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมชาติโดยตรง แต่เป็นผลสะสมจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ การเผาป่า และการทำเหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่รุกล้ำแหล่งต้นน้ำอย่างรุนแรง

ข้อมูลจากพื้นที่ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2566 การทำเหมืองทองคำได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามแนวแม่น้ำกกในเขตเมืองยอน ทางตอนใต้ของอำเภอเมืองสาด รัฐฉาน ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ส่งผลให้ระดับมลพิษในลำน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำกกทั้งในฝั่งไทยและเมียนมาต่างประสบกับน้ำหลากและโคลนถล่มรุนแรง หนักที่สุดในรอบหลายสิบปี สะท้อนความเปราะบางของระบบนิเวศที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤตอย่างแท้จริง

เหมืองทองคำใกล้แม่นํ้ากก ทางตอนใต้ของอำเภอเมืองสาด รัฐฉาน

ขณะเดียวกัน ในช่วงกลางปี 2566 เริ่มมีรายงานการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในเมืองยอน เขตพื้นที่รัฐฉาน ภายใต้การควบคุมของกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army – UWSA) ข้อมูลจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่เผยว่า ภาพถ่ายจากดาวเทียมตรวจพบพื้นที่ที่คาดว่าเป็นเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ ลักษณะเป็นบ่อวงกลมที่ถูกคลุมด้วยผ้าใบสีดำ ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกกราว 3.6 กิโลเมตร

การทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในเมียนมาสะท้อนความซับซ้อนของโครงสร้างอำนาจในพื้นที่ชายแดน โดยเหมืองแต่ละแห่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธที่ปกครองพื้นที่นั้น เช่น เหมืองในรัฐคะฉิ่นอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army – KIA) ซึ่งรัฐคะฉิ่นเป็นเขตเศรษฐกิจเหมืองแร่สำคัญของเมียนมา มีทรัพยากรทั้งหยก ทองคำ หินอ่อน และแร่แรร์เอิร์ธ ที่ดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่ไม่มีรัฐส่วนกลางควบคุมโดยตรง

เหมืองแร่แรร์เอิร์ธในเมืองยอน ห่างจากตะวันออกของแม่น้ำกก 3.6 กิโลเมตร 

สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า จีนเริ่มเข้ามาดำเนินกิจกรรมการทำเหมืองในพื้นที่ปางวา (Pangwa) ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนจีนตั้งแต่ปี 2559 โดยมุ่งขุดแร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) เพื่อนำกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ ข้อมูลระบุว่าเมียนมาติดอันดับ 3 ของโลกในด้านการผลิตแร่หายาก โดยรายงานจากองค์กร Global Witness ชี้ว่า ในปี 2561 เมียนมาผลิตแร่หายากต่ำกว่า 10,000 ตัน แต่หลังจากเกิดรัฐประหารในปี 2564 การผลิตกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในช่วงปี 2564–2566 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 40% และมีเหมืองเกิดขึ้นมากกว่า 300 แห่ง โดยในปี 2566 จีนรับซื้อแร่หายากจากเมียนมาถึง 41,700 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

แร่หายากถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) พลังงานลม โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ โดยที่จีนถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก แม้จะถูกมองว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาด แต่กระบวนการสกัดแร่กลับก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ป่าไม้และลำธารถูกทำลาย แหล่งน้ำเสื่อมโทรมลงจากสารเคมีที่ใช้ในการแยกแร่ ส่งผลให้ปลาและสัตว์น้ำล้มตายจำนวนมาก ขณะเดียวกันประชาชนและสัตว์ที่สัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษเหล่านี้มีอาการระคายเคือง เป็นพิษ หรือถึงขั้นเสียชีวิต

จะเห็นได้ว่าวิกฤตมลพิษในแม่น้ำกกที่กำลังเกิดขึ้น แม้มีต้นตอมาจากการทำเหมืองแร่ในฝั่งเมียนมา แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือปลายทางของแร่เหล่านี้กลับอยู่ที่ประเทศจีน ผ่านเครือข่ายของบริษัทตัวแทนที่เข้ามาลงทุนและส่งต่อวัตถุดิบสู่หลากหลายอุตสาหกรรม downstream อันซับซ้อน นั่นทำให้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขได้ง่ายด้วยการพูดคุยกับ “เพื่อนบ้าน” ตรงหน้า เพราะเพื่อนบ้านผู้นั้นเองก็เผชิญวิกฤตภายในประเทศอย่างหนักอยู่แล้ว วิกฤตน้ำกกจึงกลายเป็นปมปัญหาระดับภูมิภาคที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่ รัฐบาลจีน และรัฐบาลไทย ในการหาทางออกอย่างเร่งด่วนและรอบด้าน

พื้นที่คาดว่าเป็นเหมืองแรร์เอิร์ธห่างจากตะวันตกแม่นํ้ากก 2.6 กิโลเมตร

จากแผนที่ หากไล่เรียงตามลำน้ำกกจะเห็นภาพชัดเจนถึงความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่เหมืองกับสายน้ำ โดยจุดแรกคือ เหมืองทองคำ ซึ่งตั้งอยู่แนบชิดริมแม่น้ำกก ในเขตเมืองยอน ทางตอนใต้ของอำเภอเมืองสาด รัฐฉาน ถัดลงมาทางตอนใต้ในทิศตะวันออกของแม่น้ำกกประมาณ 3.6 กิโลเมตร จะพบ เหมืองแร่แรร์เอิร์ธ อีกแห่งที่ดำเนินการแล้ว และเมื่อเลื่อนลงมาทางทิศตะวันตก จะพบ เหมืองแร่แรร์เอิร์ธอีกแห่งที่คาดว่ากำลังก่อสร้าง อยู่ห่างจากแม่น้ำกกเพียง 2.6 กิโลเมตรหลังจากผ่านแนวเหมืองเหล่านี้ แม่น้ำกกจะไหลเข้าสู่ชายแดนไทยที่ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะไหลต่อไปยังหลายอำเภอในจังหวัดเชียงราย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นที่กระทบต่อกิจกรรมของมนุษย์เพียงเท่านั้นแต่ยังกระทบไปถึงธรรมชาติ อย่างปลาในท้องถิ่นที่เกิดอาการติดเชื้อ ส่งผลให้ชาวประมงและชาวบ้านได้รับผลกระทบตามๆ กันมา สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้รายงานได้รายงานจุดที่พบปลาติดเชื้อ ในแม่น้ำกก และแม่น้ำโขง ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ทั้งหมด 6 จุด เริ่มจากปี 2567 บริเวณจุดปากแม่น้ำกก ​28 เมษายน 2568 บริเวณปากแม่น้ำคำ บ้านสบคำ อำเภอเชียงของ 3 พฤษภาคม 2568 จุดฝายป่ายางมน ​ บ้านเมืองงิม ​ อำเภอเมืองเชียงราย 11 พฤษภาคม 2568 หาดฮ่อน แม่น้ำโขงบ้านหัวเวียง ​ อำเภอเชียงของ 16 พฤษภาคม 2568 แม่น้ำโขง หน้าวัดแก้ว บ้านวัดแก้ว อำเภอเชียงของ และ 17 พฤษภาคม 2568 แม่น้ำโขงบ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ 

ทั้งนี้ สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำถาวรในจังหวัดเชียงราย เพื่อทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ตะกอนดิน พืชผล และสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยข้อมูลที่ได้จะเป็นฐานสำคัญสำหรับการเยียวยา ฟื้นฟู และใช้ในการเจรจาระหว่างประเทศ พร้อมกันนี้ เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการคืนสิทธิการเข้าถึงข้อมูลแก่ประชาชน ภายใต้หลักการ “Right to Know” หรือสิทธิในการรับรู้ ซึ่งครอบคลุมถึงการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส การเข้าถึงผลการตรวจสอบสารปนเปื้อน และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดมาตรการป้องกันความเสี่ยงในพื้นที่ของตนเอง

วิกฤตแม่น้ำกกไม่ได้เป็นเพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ แต่คือภาพสะท้อนของความเชื่อมโยงซับซ้อนระหว่างการเมืองชายแดน การแสวงหาทรัพยากร และโครงสร้างอำนาจในระดับภูมิภาค เหมืองแร่ในรัฐฉานและรัฐคะฉิ่นที่ส่งแร่หายากเข้าสู่อุตสาหกรรมจีน กลายเป็นจุดตั้งต้นของมลพิษที่ไหลลงสู่ลำน้ำในประเทศไทย ท่ามกลางความเปราะบางของสิ่งแวดล้อมและความเงียบของกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง