เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (สคพ.1) จังหวัดเชียงใหม่ รายงานผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินจากแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลลงสู่แม่น้ำกก แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาย พบว่าหลายจุดมีค่าปนเปื้อนของสารหนูและตะกั่วเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด
ส่วนผลการตรวจน้ำผิวดินก่อนที่จะลงแม่น้ำโขง 2 จุด บริเวณจุดก่อนที่แม่น้ำกกไหลลงแม่น้ำโขง ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พบค่าสารหนูเกินมาตรฐานอยู่ที่ 0.031 mg/L และ จุดแม่น้ำกกไหลลงแม่น้ำโขง ผ่านบริเวณสบกก ที่บ้านแซว ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ผลการตรวจวัด พบว่ามีสารหนูที่เกินมาตรฐาน อยู่ที่ 0.036 mg/L (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 0.01 mg/L)
ส่วนผลการตรวจแม่น้ำสาย จุดแรก บ้านหัวฝาย ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีโลหะหนักที่เกินมาตรฐาน 2 พารามิเตอร์ คือ ตะกั่วอยู่ที่ 0.058 mg/L (มาตรฐานอยู่ที่ 0.05mg/L) และสารหนูอยู่ที่ 0.044 mg/L จุดที่สอง สะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ 2 ต.แม่สาย มีโลหะหนักที่เกินมาตรฐาน 2 พารามิเตอร์ คือ ตะกั่วอยู่ที่ 0.063 mg/L และสารหนูอยู่ที่ 0.045 mg/L จุดที่สาม บริเวณบ้านป่าซางงาม ม.6 ต.เกาะช้าง มีโลหะหนักที่เกินมาตรฐาน 2 พารามิเตอร์ คือ ตะกั่วอยู่ที่ 0.066 mg/L และสารหนูอยู่ที่ 0.049 mg/L
การได้รับสารหนูในปริมาณสูง อาจก่อให้เกิดอาการเฉียบพลัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และผิวหนังพุพอง ส่วนผลระยะยาวมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร และตับ รวมถึงโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และไตวายเรื้อรัง โดยผู้ได้รับสารมักแสดงอาการผิวคล้ำผิดปกติ และมือเท้าหนา
ในกรณีของสารตะกั่ว หากเข้าสู่ร่างกายจะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ไต และระบบเลือด โดยเฉพาะในเด็กอาจทำให้พัฒนาการทางสมองและพฤติกรรมบกพร่อง ส่วนอาการเฉียบพลันได้แก่ ปวดหัว อ่อนแรง และอาเจียน
การปนเปื้อนของสารพิษในแม่น้ำเหล่านี้ ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศน้ำจืด ทั้งการลดความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในน้ำ เช่น แพลงก์ตอน พืชน้ำ แมลงน้ำ หอย และปลา อีกทั้งยังทำให้คุณภาพน้ำลดลงจนบางพื้นที่อาจกลายเป็น “พื้นที่ตาย” ที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงอยู่ได้
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...