เรื่องและภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
“รถตู้รับส่งนักเรียนจ.ลำปาง ประสบอุบัติเหตุ ด.ญ.ชั้นป.1 เสียชีวิต บาดเจ็บอีกกว่า 10 ราย คนขับอ้างถนนลื่น จยย.ขับมาเบียดทำให้เสียหลัก”
พาดหัวข่าวข้างต้น เป็นประเด็นที่อาจเคยผ่านหูผ่านตาหลายคนมาบ้าง เมื่อ 24 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องราวน่าสลดใจที่ชวนให้เกิดการตั้งคำถามถึง “ความปลอดภัยบนท้องถนนของเด็กและเยาวชนในประเทศไทย” ได้เป็นอย่างดี และในวันนี้ (24 พฤษภาคม 2568) เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ล่วงเลยมาจนครบ 1 ปีแล้ว เราจึงอยากชวนให้ลองกลับมามองประเด็นนี้กันอีกครั้ง เพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงของความปลอดภัยบนท้องถนนของเด็กไทย ว่าได้ถูกแก้ไข หรือยกระดับให้ปลอดภัยมากขึ้นจากเดิมแล้วบ้างหรือยัง
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 6.30 น. มีรายงานว่า เกิดอุบัติเหตุรถตู้รับส่งนักเรียน ทะเบียน ขน-7072 ลำปาง เสียหลักหลุดโค้งตกลงไปข้างถนนประมาณ 10 กว่าเมตร บริเวณถนนสายเมืองปาน-ลำปาง ช่วงบ้านสบค่อม อ.เมืองลำปาง สภาพรถพลิกหงายท้อง ทำให้เด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กหญิงชั้น ป.1 โรงเรียนปงสนุก ซึ่งคาดว่านั่งแถวหลังสุดและถูกกระเด็นออกจากรถก่อนถูกรถทับเสียชีวิต เนื่องจากสภาพของรถตู้ที่พลิกหงายท้องมีลักษณะที่นั่งเป็นเบาะนั่งเหล็กแบบแถวยาว จากการสอบถาม แสงจันทร์ หญิงคนขับรถวัย 60 ปี เล่าว่า หลังจากที่รับนักเรียนกว่า 25 คนจากหลายหมู่บ้านเพื่อไปส่งตามโรงเรียนต่างๆ ในตัวเมือง รถตู้ของเธอก็ได้เสียหลักจากถนนลื่นและมีรถจักรยานยนต์เบียด ทำให้เกิดเหตุสลดดังกล่าว
อุบัติเหตุบนท้องถนนที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของเด็กไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มีเพียงเหตุการณ์นี้ในจังหวัดลำปางเท่านั้น ข้อมูลจาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้เห็นได้ว่า ระหว่างปี 2562-2564 เกิดอุบัติเหตุรถโรงเรียนรวม 38 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 431 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวม 9 ราย
มองสถานการณ์รถโรงเรียนในไทย ปลอดภัยแค่ไหน
ข้อมูลจาก คู่มือการจัดระบบรถโรงเรียนให้ปลอดภัยและเป็นธรรม พบว่า สาเหตุหลักของการบาดเจ็บและเสียชีวิตของนักเรียนที่ใช้รถโรงเรียน พบได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ กรณีลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถ ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กเล็ก อายุระหว่าง 3 – 6 ปี ที่ถูกลืมทิ้งไว้ในรถหลังจากรับส่งนักเรียนเสร็จแล้ว และ กรณีอุบัติเหตุทางถนนบนเส้นทางไปกลับระหว่างบ้านและโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพฤติกรรมของผู้ขบรถ ที่ประมาทเลินเล่อและโครงสร้างรถที่ไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาของรถโรงเรียน หรือที่เราๆ คนเหนือเรียกกันคุ้นปากว่า ‘รถเดือน’ คือการที่ในปัจจุบันหน่วยงานรัฐยังไม่มีข้อมูลจำนวนรถโรงเรียน ที่ให้บริการรับส่งนักเรียนในประเทศไทย ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอย่างแท้จริงว่ามีจำนวนเท่าไร ทำให้ไม่สามารถให้การช่วยเหลือและดูแลความปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง
“เหตุการณ์วันนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ 6 โมง แต่กว่าจะรู้ว่าเด็กเป็นใคร เป็นลูกศิษย์โรงเรียนไหน ก็เกือบ 9 โมงแล้ว เสียเวลาไปหลายชั่วโมงมากๆ เพราะว่าเราไม่มีฐานข้อมูลกลาง”
ปอ-วิมล ตุ้ยแก้ว หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดลำปาง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เล่าว่า ในวันที่เกิดเหตุสามารถสะท้อนปัญหาของรถโรงเรียนได้หลายจุด ทั้งในเรื่องของ “ฐานข้อมูลที่ไม่เพียงพอ” ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น กลับไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าผู้เสียหายเป็นใคร เป็นเด็กนักเรียนสังกัดโรงเรียนไหน นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาจาก “การดัดแปลงสภาพรถ” ของผู้ประกอบการที่ไม่ทำตามระเบียบของกรมขนส่ง และการ “ไม่ตรวจเช็กสภาพรถตามกำหนด (ปีละ 2 ครั้ง) ” ทำให้รถโรงเรียนบางคันไม่มีความปลอดภัยในระดับมาตรฐาน
“สิ่งสำคัญที่เราพยายามผลักดันตอนนี้คือ มาตรฐานของรถรับส่งนักเรียน เพราะถ้ารถรับส่งไม่ปลอดภัย เช่น รถแออัด คนขับไม่มีมาตรฐาน หรือขับรถไม่ปลอดภัยเพราะมีปัญหาส่วนตัว เมาค้าง ทะเลาะกับคนในบ้าน ทุกอย่างก็เหมือนเดิม อีกเรื่องคือ ประกันภัยรถ (พ.ร.บ.) ตอนที่เด็กเสียชีวิต โชคดีที่รถยังมีประกันอยู่เลยได้เงินช่วยเหลือ 500,000 บาท แต่ถ้าไม่มี พ.ร.บ. มันก็จะหนักกว่านี้”
ปอเล่าอีกว่า เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มตระหนักถึงปัญหาอย่างแท้จริง และเห็นพ้องกันว่าควรมี “ฐานข้อมูลกลาง” ที่สามารถตรวจสอบได้ว่าเด็กขึ้นรถคันไหน คนขับชื่ออะไร เบอร์โทรศัพท์ติดต่อคืออะไร และมีเด็กจากโรงเรียนใดโดยสารมาบ้าง ซึ่งจะช่วยให้การประสานงานในภาวะฉุกเฉินเป็นไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าแต่ละโรงเรียนจะมีข้อมูลของตนเองอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุจริง ข้อมูลเหล่านี้กลับไม่เคยถูกรวมไว้ในที่เดียว ทำให้เกิดความล่าช้าและความสับสนในภาคสนาม ดังนั้น สภาองค์กรผู้บริโภคจึงเสนอให้ตั้ง “คณะกรรมการความปลอดภัยรถนักเรียน” ระดับจังหวัดขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน และผลักดันให้การดูแลความปลอดภัยรถนักเรียนเป็นงานระยะยาว ไม่ใช่แค่โครงการระยะสั้นที่จบไปตามงบประมาณ
ปอเสริมว่าอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือ “จิตสำนึกของคนขับ” หากคนขับมองเด็กนักเรียนที่โดยสารรถเหมือนเป็นลูกของตัวเอง เขาจะไม่กล้าขับประมาท และจะหาทางปรับปรุงพัฒนารถและบริการให้ปลอดภัยขึ้น ไม่ใช่ขับไปวันๆ อย่างที่พบกันบ่อยในปัจจุบัน เธอยังเผยว่า การพูดคุยกับผู้ประกอบการแบบตรงไปตรงมา โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่า หากเกิดอุบัติเหตุต้องชดเชย 5 แสนถึง 1 ล้านบาท เทียบกับการลงทุนดูแลรถปีละหมื่นสองหมื่น อย่างไหนคุ้มกว่ากัน กลับเป็นวิธีที่ได้ผล เพราะผู้ประกอบการเริ่มเข้าใจและยอมปรับตัวมากขึ้น
“สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดยังคงเป็น วิธีคิดแบบปล่อยปละละเลยที่ฝังรากอยู่ในระบบ โดยเฉพาะคำว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก’ ที่ยังได้ยินอยู่บ่อยๆ ขณะที่โครงสร้างของรัฐเองก็ยังไม่เอื้อต่อการร่วมมือแบบจริงจังระหว่างโรงเรียน ขนส่ง ท้องถิ่น และผู้ปกครอง โรงเรียนของรัฐหลายแห่งแม้อยากมีรถรับส่งที่ปลอดภัยให้เด็กใช้ แต่กลับติดปัญหาไม่มีงบประมาณ ไม่มีแผนรองรับ”
ปออธิบายเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคกำลังพยายามผลักดันให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการดูแลความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนมากขึ้น แต่ปัญหาคือ ท้องถิ่นสามารถดูแลได้แค่รถของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเท่านั้น ส่วนโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีอยู่มากในต่างจังหวัด ท้องถิ่นกลับไม่มีอำนาจเข้าไปจัดการได้โดยตรง จึงเกิดช่องว่างในการดูแลความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สภาฯ พยายามผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย เพื่อให้ทุกโรงเรียน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้หน่วยงานไหน ก็มีมาตรฐานความปลอดภัยที่เท่าเทียมกัน พร้อมย้ำว่า ความปลอดภัยของนักเรียนควรเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแล ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนสังกัดใคร
“ถ้าจะเปลี่ยนมันต้องทำใหม่ทั้งระบบเลย ต้องคิดตั้งแต่เรื่องสวัสดิการของนักเรียน ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และทัศนคติของผู้ให้บริการขนส่ง เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าทุกฝ่ายเห็นความสำคัญเรื่องนี้ร่วมกัน ระบบมันก็จะขยับได้จริง”
เมื่อความสะดวกคือความจำเป็น มุมมองของผู้ปกครองต่อบริการรถรับส่งนักเรียน
“เพราะเราต้องไปทำงานแต่เช้า แล้วยังต้องพาลูกไปโรงเรียนอีก บางทีมันก็ไม่ทัน รถนักเรียนเลยเป็นตัวเลือกที่ลงตัวที่สุด”
ผู้ปกครองนักเรียนรายหนึ่ง ได้ให้เหตุผลที่ตัดสินใจใช้บริการรถตู้รับส่งนักเรียนว่า การใช้บริการรถรับส่งนักเรียนถือเป็นทางเลือกแค่ไม่กี่ทางที่สามารถช่วยให้การจัดสมดุลระหว่างการทำงานและการดูแลลูกเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะข้อกังวลในช่วงเย็นที่ลูกเลิกเรียนเร็วกว่าเวลาเลิกงานของพ่อแม่ การปล่อยให้ลูกนั่งรอโดยลำพังไม่ใช่ทางเลือกที่สบายใจนัก ดังนั้น การที่มีคนขับรถมารับส่งทุกวัน ก็เหมือนมีคนคอยช่วยดูแลลูกแทนพวกเขาด้วย
แม้จะเป็นทางเลือกที่ดูจะช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนได้มาก ทั้งค่าน้ำมันและความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง แต่เบื้องหลังความสะดวกนั้นก็ต้องแลกมากับความกังวลใจเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เพราะไม่ใช่รถทุกคันจะมีความปลอดภัยเท่ากัน ผู้ปกครองจึงต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับคนขับรถ รวมทั้งคอยถามลูกเกี่ยวกับความสบายใจในแต่ละวัน
“พอมันเลี่ยงไม่ได้เราก็ต้องช่วยดูว่าคนขับมีอายุเยอะเกินไปไหม ขับรถปลอดภัยไหม รับเด็กเยอะเกินไปหรือเปล่า ตรวจสอบสภาพรถคร่าวๆ เช่น มีถังดับเพลิง มีเข็มขัดนิรภัยไหม มีการดัดแปลงเบาะโดยสารหรือเปล่า ถ้ารถถูกระเบียบ คนขับปลอดภัย เราก็วางใจได้อีกหน่อย”
ชีวิตคนขับรถโรงเรียนลำปาง เมื่อความปลอดภัยต้องแลกกับต้นทุนที่ไม่คุ้มค่า
“เราเป็นคนขับรถนอกจากจะต้องทำตามระเบียบแล้วเราก็ยังคอยดูแลเด็กๆ ในรถเหมือนดูแลลูกของตัวเอง เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่แค่ขับรถ แต่ต้องให้ความปลอดภัยกับเขาตลอดเส้นทางด้วย”
สำหรับ น้อย-อำพร ตันชุ่ม คนขับรถตู้รับ-ส่งนักเรียนใน จ.ลำปาง เธอมองว่าการขับรถรับส่งนักเรียนไม่ใช่แค่อาชีพ แต่คือความรับผิดชอบที่มากกว่าแค่พาเด็กไปถึงโรงเรียนอย่างตรงเวลา เพราะเธอไม่เพียงแต่เป็นคนขับ แต่ยังทำหน้าที่ดูแลเด็กๆ เหมือนลูกหลานตลอดเส้นทาง อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังของความใส่ใจนั้นกลับเต็มไปด้วยข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยที่ดูเหมือนจะเป็นภาระของคนขับเพียงฝ่ายเดียว
“บางคันที่เขายังต้องรับเด็กเยอะกว่าที่กำหนดไว้ เพราะต้องการให้คุ้มทุน คือค่ารถที่เก็บจากผู้ปกครองก็ไม่สามารถเรียกเก็บแพงได้มาก ถ้าเก็บแพงก็ไม่มีใครใช้บริการ”
น้อยเล่าว่า สำหรับผู้ประกอบการ รายได้ที่ได้จากการเก็บค่าโดยสารเฉลี่ยคนละ 900–1,000 บาทต่อเดือนเมื่อหักค่าน้ำมันและค่าบำรุงรักษาแล้วแทบไม่เหลือกำไรใดๆ ยิ่งหากยึดตามกฎหมายที่จำกัดจำนวนผู้โดยสารไว้ไม่เกิน 11 คน รายได้ก็ยิ่งลดลง จนทำให้คนขับบางรายเลือก “ฝ่าฝืน” เพื่อความอยู่รอด
“ถ้าจะให้รถรับส่งเด็กปลอดภัยจริงๆ คนขับควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น อุดหนุนค่าน้ำมัน หรือมีงบช่วยเหลือจากส่วนต่างที่ผู้ปกครองไม่สามารถจ่ายเพิ่มได้ เพราะถ้ารถตู้รับเด็กน้อย รายได้ก็ยิ่งไม่พอ”
แม้จะมีเครือข่ายหรือสมาคมรถนักเรียนที่พยายามกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย เช่น การจัดที่นั่งใหม่ให้เหมาะสม หรือการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐในรูปแบบที่จับต้องได้ เช่น การช่วยเหลือค่าน้ำมันหรือเงินอุดหนุนรายหัว การทำให้รถโรงเรียนปลอดภัยอย่างแท้จริงก็เป็นเรื่องยาก เพราะสุดท้ายแล้ว ความปลอดภัยที่รัฐคาดหวัง กลับถูกฝากไว้กับคนขับที่แทบจะไม่มีแรงเหลือให้ “แลก” อีกต่อไป
ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สามแนวทางจากต่างประเทศ สร้างระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย
ประเทศที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเด็กนักเรียนระหว่างทางไปโรงเรียน ได้พิสูจน์แล้วว่าการจัดการที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเสียสละของคนขับเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัย “ระบบ” ที่ครอบคลุม ทั้งในแง่กฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน และการสนับสนุนจากรัฐ
หากเราลองมองที่การจัดการระบบความปลอดภัยของเด็กในประเทศฟินแลนด์ ก็จะเห็นได้ว่า ฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเด็กที่พักอยู่ไกลโรงเรียน จะได้รับบริการรถรับส่งฟรี โดยที่เทศบาลมีหน้าที่จัดหาและตรวจสอบคุณภาพรถอย่างเข้มงวด รถทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดแอลกอฮอล์ และมีการประเมินความเสี่ยงของเส้นทางด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ยกระดับมาตรฐานหลังเกิดเหตุการณ์เศร้าสลดจากการลืมเด็กไว้ในรถ รัฐบาลจึงกำหนดให้รถกว่า 44,000 คันทั่วประเทศต้องติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับ กล้องวงจรปิด และระบบเตือนภัย นอกจากนี้ยังมีการมีส่วนร่วมจากชุมชน โดยสมาคมผู้ปกครองและครูร่วมกันจัดทำแผนที่เส้นทางปลอดภัย เพื่อเฝ้าระวังจุดเสี่ยงรอบโรงเรียนทุกปี
ประเทศสิงคโปร์ เน้นการกำกับดูแลเชิงระบบ รถรับส่งนักเรียนต้องมีเข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิง และผ่านการตรวจสภาพปีละสองครั้ง โดยมีผู้ดูแลประจำรถช่วยดูแลเด็กเล็ก ระบบ GPS ยังช่วยให้ผู้ปกครองติดตามลูกได้แบบเรียลไทม์ พร้อมกับปลูกฝังระเบียบวินัยให้เด็กปฏิบัติตามกฎระหว่างเดินทาง
ทั้งสามประเทศชี้ให้เห็นว่า ความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนไม่ใช่ภาระของคนขับลำพัง แต่เป็นผลจาก “การออกแบบระบบ” ที่คิดมาแล้วทุกจุด ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงการปฏิบัติรายวัน ซึ่งประเทศไทยอาจเรียนรู้และนำไปปรับใช้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพ่อแม่ คนขับรถ และเด็กนักเรียนได้มากกว่าที่เป็นอยู่
รายการอ้างอิง
Bedok Transport. (n.d.). Going back to school: Bus safety basics. https://www.bedoktransport.com/going-back-to-school-bus-safety-basics/
Child in the City. (2024, September 6). Finland’s commitment to child road safety seals EU award. https://www.childinthecity.org/2024/09/06/finlands-commitment-to-child-road-safety-seals-eu-award/
City of Oulu. (n.d.). Way to school and school transportation. https://www.ouka.fi/en/support-learning-and-attendance/way-school-and-school-transportation
Kela. (n.d.). School transport subsidy. https://www.kela.fi/school-transport-subsidy
Kyodo News. (2022, October). Japan to mandate safety devices in 44,000 buses after kid’s death. https://english.kyodonews.net/news/2022/10/5cc93ce69304-japan-to-mandate-safety-devices-in-44000-buses-after-kids-death.html
PPTV Online. (2024, พฤษภาคม 24). รถตู้รับส่งนักเรียนประสบอุบัติเหตุ ด.ญ.ชั้นป. 1 เสียชีวิต เจ็บอีกกว่า 10 ราย. PPTVHD36. https://www.pptvhd36.com/news/อาชญากรรม/224570
Riverside Primary School. (n.d.). Safety advice for students taking school bus. https://www.riversidepri.moe.edu.sg/safety-advice-for-students-taking-school-bus/
Safe Routes Partnership. (n.d.). Japan. https://www.saferoutespartnership.org/resourcecenter/japan
สภาองค์กรของผู้บริโภค. (2566). คู่มือการจัดระบบรถโรงเรียนให้ปลอดภัยและเป็นธรรม. https://www.tcc.or.th/wp-content/uploads/2023/06/คู่มือการจัดระบบรถโรงเรียนให้ปลอดภัยและเป็นธรรม.pdf

สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร