เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย
ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง
ในการเลือกตั้งเทศมนตรี 17 จังหวัดภาคเหนือที่เพิ่งผ่านพ้นไป ดูเหมือนว่าคำว่า “เปลี่ยน” จะเกิดขึ้นเฉพาะบนป้ายหาเสียงเท่านั้น ขณะที่ในความเป็นจริงนายกเทศฯ “คนเดิม” ยังคงครองเก้าอี้ในหลายพื้นที่โดยแทบไม่สะเทือนกับกระแสพรรคหรือความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับชาติ แม้จะมีหน้าใหม่ในสนามบ้าง แต่จำนวนเหล่านั้นกลับไม่อาจเทียบได้กับความเหนียวแน่นของเครือข่ายเดิม ไม่ว่าจะเป็นตระกูลการเมืองเก่า พรรคการเมืองระดับชาติที่แปลงร่างเป็นกลุ่มอิสระ หรือบ้านใหญ่ที่ยังควบคุมพื้นที่ผ่านทายาทและพันธมิตรทางการเมือง
ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองที่ได้แรงสนับสนุนอย่างถล่มทลายในเวทีระดับชาติกลับต้องเผชิญข้อจำกัดสำคัญในสนามท้องถิ่น ตั้งแต่ขาดเครือข่าย ขาดหัวคะแนน จนถึงการติดกับดักกรอบศีลธรรมที่ตนเองสร้าง
รายงานชิ้นนี้จะพาไปสำรวจปรากฏการณ์ “เปลี่ยนคนแต่ไม่เปลี่ยนใจ” ว่ามันสะท้อนอะไรบ้างต่อการเมืองระดับเทศบาล พร้อมชวนตั้งคำถามว่าการเมืองท้องถิ่นไทยกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน จะเป็นเวทีเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง หรือเพียงแค่การสืบทอดอำนาจในรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนชื่อกลุ่มแต่ไม่เปลี่ยนโครงสร้าง
บ้างเปลี่ยนคน แต่ส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนใจ
ในการเลือกตั้งนายกเทศบาล 17 จังหวัดภาคเหนือ ในเขตอำเภอเมืองของทุกจังหวัด ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า แชมป์เก่ายังคงสามารถรักษาเก้าอี้ได้ทั้งสิ้น 10 ที่นั่ง ดังนี้
1.เทศบาลนครเชียงราย – วันชัย จงสุทธานามณี (แชมป์เก่า)
2.เทศบาลนครเชียงใหม่ – อัศนี บูรณุปกรณ์ (แชมป์เก่า)
3.เทศบาลเมืองลำพูน – ประภัสร์ ภู่เจริญ (แชมป์เก่า)
4.เทศบาลเมืองน่าน – สุรพล เธียรสูตร (แชมป์เก่า)
5.เทศบาลเมืองตาก – ณพล ชยานนท์ภักดี (แชมป์เก่า)
6.เทศบาลเมืองสุโขทัย – พัฒสอน ดอนพิมพา (แชมป์เก่า)
7.เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ – ปรารถนา เอี่ยมวัฒนากุล (แชมป์เก่า)
8.เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ – เสกสรร นิยมเพ็ง (แชมป์เก่า)
9.เทศบาลนครนครสวรรค์ – จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ (แชมป์เก่า)
10.เทศบาลเมืองอุทัยธานี – ปานัดฌา ไทยเศรษฐ์ (แชมป์เก่า)
ขณะที่เทศบาลเมืองที่มีการเปลี่ยนหน้านายกเทศมนตรีประจำอำเภอเมืองมีทั้งสิ้น 7 เทศบาล ได้แก่
1.เทศบาลนครลำปาง – ปุณณสิน มณีนันทน์
นายกคนเดิม นิมิตร จิวะสันติการ ถอนตัวจากสนามนายกเล็ก อย่างไรก็ตามกลุ่มนครลำปางของเขายังคงสมัครแต่กลับแพ้การเลือกตั้ง
2.เทศบาลเมืองแพร่ – สุริยา อินต๊ะนอน
นายกคนเดิม โชคชัย พนมขวัญ ลงสมัครรับเลือกตั้งแต่แพ้
3.เทศบาลเมืองพะเยา – สัจจวิทย์ ลีลาวณิชย์
นายกคนเดิม สุมิตรา กัณฑมิตร ไม่ลงสมัครแข่งขัน นอกจากนั้น สัจจวิทย์ ยังเคยดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ในช่วงเวลาที่ สุมิตรา ดำรงตำแหน่ง
4.เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน – มัลลิกา จีนาคำ
นายกคนเดิม ปกรณ์ จีนาคำ ไม่ลงสมัครในรอบนี้ และยังมีสถานะเป็นพี่ชายของมัลลิกา
5.เทศบาลเมืองกำแพงเพชร – วุฒิชัย ศุภอรรถพานิช
นายกคนเดิม ชัยวัฒน์ ศุภอรรถพานิช ไม่ลงสมัคร แต่ วุฒิชัย มีสถานะเป็นลูกชายของชัยวัฒน์ และยังเคยดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ในสมัยที่ชัยวัฒน์ดำรงตำแหน่งนายกเล็กเมืองกำแพงเพชร
6.เทศบาลนครพิษณุโลก – ศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์
นายกคนเดิม เปรมฤดี ชามพูนท ลงสมัครแต่แพ้
7.เทศบาลเมืองพิจิตร – เฉลิมศักดิ์ กองกันภัย
นายกคนเดิม สุรพล เตียวตระกูล กลับมาลงสมัคร แต่พ่ายแพ้ไป
แม้ผลการเลือกตั้งจะแสดงว่ามีนายกเทศมนตรีเมืองหน้าใหม่ถึง 7 คน แต่จากการสำรวจประวัติของว่าที่นายกเล็กหน้าใหม่ทั้งเจ็ดพบว่า มีว่าที่นายก 3 คนที่มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นเครือข่ายทางเมืองกับนายกฯ คนเก่า ได้แก่ นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา แม่ฮ่องสอน และกำแพงเพชร
ขณะที่นายกเล็กคนใหม่มีเพียง 4 คน ได้แก่ ปุณณสิน มณีนันทน์ (ว่าที่นายกเทศมนตรีนครลำปาง) สุริยา อินต๊ะนอน (ว่าที่นายกเทศมนตรีเมืองแพร่) ศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ (นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก) และ เฉลิมศักดิ์ กองกันภัย (ว่าที่นายกเทศมนตรีเมืองพิจิตร)
ดังนั้น นายกเทศมนตรีเมือง 17 จังหวัดภาคเหนือ มีการเปลี่ยนนายกหน้าใหม่และกลุ่มใหม่จริงๆ เพียง 4 คนเท่านั้น สอดคล้องกับภาพรวมการเลือกตั้งเทศบาลทั้งหมดใน 17 จังหวัดภาคเหนือที่พบว่า แชมป์เก่าส่วนใหญ่ยังคงสามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้
เทศบาลนคร บ้างเปลี่ยนไป บ้างเปลี่ยนใหม่ เอายังไงต่อ
การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครทั้งหมด 6 แห่ง ผลปรากฏว่า แชมป์เก่าสามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้ 3 ที่นั่ง ได้แก่ วันชัย จงสุทธานามณี (เทศบาลนครเชียงราย) อัศนี บูรณุปกรณ์ (เทศบาลนครเชียงใหม่) และจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ (เทศบาลนครนครสวรรค์)
ขณะที่แชมป์เก่าที่ผ่ายแพ้ในการเลือกตั้งรอบนี้มีทั้งสิ้น 2 คน ประกอบด้วย เปรมฤดี ชามพูนท (แชมป์นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก) และ ประเสริฐ ปวงละคร (แชมป์นายกเทศมนตรีนครแม่สอด)
ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า โดยภาพรวมของนายกเทศมนตรีนั้นยังเป็น “คนเดิม” จะยังครองเก้าอี้ในหลายพื้นที่ แต่ก็มีบางกรณีที่ผลออกมา “พลิกล็อก” หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ในจังหวัดลำปางที่ได้นายกเทศมนตรีนครลำปาง “หน้าใหม่จริงๆ ” ซึ่งผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครลำปางในครั้งนี้ ผู้ที่คว้าชัยคือ ปุณณสิน มณีนันทน์ ซึ่งแม้จะเคยลงสมัครมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังนับเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ร่มเงาบ้านใหญ่อย่างชัดเจน จุดสำคัญอยู่ที่ นายกนิมิตร จิวะสันติการ อดีตนายกเทศมนตรี ซึ่งเลือกไม่ลงสมัครในครั้งนี้ แต่ส่งทีมงานของตนลงแทน กลับไม่สามารถแข่งขันได้เท่าเจ้าตัว สุดท้ายจึงพ่ายแพ้ให้กับปุณณสินผู้ที่สะสมคะแนนและลงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเบียดขึ้นสู่ตำแหน่งได้สำเร็จ
ส่งผลให้ในการเลือกตั้งเทศบาลนครภาคเหนือรอบนี้มีแชมป์เก่าที่สามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้ กับแชมป์เก่าที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งรอบนี้ (รวมถึงผู้สมัครสายตรงจากแชมป์เก่า) มีจำนวนเท่ากันที่ 3 คน
กล่าวคือ ในการเลือกตั้งเทศบาลระดับเทศบาลนครในภาคเหนือมีสัดส่วนแชมป์เก่าชนะการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง (เทศบาลนครเชียงราย เชียงใหม่ และนครสวรรค์) ขณะเดียวกันตำแหน่งนายกเล็กอีกครึ่งเปลี่ยนหน้าไป (เทศบาลนครแม่สอด ลำปาง และพิษณุโลก)
สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนนายกเทศมนตรีนครหน้าใหม่ในสัดส่วนครึ่งหนึ่ง คือ การแข่งขันกันเองระหว่างบ้านใหญ่ภายในจังหวัด จนทำให้ระเบียบการเมืองท้องถิ่นเดิมกำลังสิ้นสุดสภาพบังคับไป โดยเฉพาะในเขตปกครองขนาดย่อมลงมาอย่างเทศบาลที่ระเบียบการเมืองท้องถิ่นเสมือนอยู่ในภาวะสุญญากาศ บ้านใหญ่เดิมที่เคยเป็นพันธมิตรกันหรือยอมอยู่ภายใต้แสงของบ้านใหญ่ที่ใหญ่กว่าเริ่มถ่อยห่างจากกันและลงแข่งขันในสนามเทศบาลนคร
เทศบาลนครแม่สอด เป็นภาพสะท้อนภาวะสุญญากาศของระเบียบการเมืองท้องถิ่นและการแข่งขันกันเองระหว่างบ้านใหญ่ต่างๆ เนื่องจากในการเลือกตั้งรอบนี้ มีผู้สมัครลงชิงชัยตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครแม่สอดถึง 4 คน โดยทั้ง 4 เคยผนึกกำลังกัน และแต่ละคนต่างเคยดำรงตำแหน่งบริหารในเทศบาลนครแม่สอดในฐานะทีมเดียวกันมาแล้วด้วยซ้ำ
แต่แล้วหลังความพ่ายแพ้ของ นายกฝอ – เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกเล็กแม่สอดมาตั้งแต่ปี 2538 จวบจนปี 2564 การเมืองในเทศบาลนครแม่สอดก็เสมือนขาดอำนาจ นำไปสู่การแข่งขันกันระหว่างบ้านใหญ่ต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครือข่ายร่วมกับนายกฝอทั้งสิ้น ในการเลือกตั้งครั้งปี 2564 ประเสริฐ ปวงละคร อดีตรองนายกเล็กในทีมนายกฝอ สามารถคว้าชัยเหนือนายเก่าอย่างนายกฝอไปได้ กระทั่งการเลือกตั้งนายกเล็กแม่สอดที่ผ่านไปล่าสุด ผู้ชนะกลับเป็น รองเบิ้ม – กุล เครือวีระ อดีตรองนายกในทีมนายกฝอเช่นเดียวกัน
การสลับกันชนะไปมาระหว่างรองนายกในทีมนายกฝอ จึงเสมือนเป็นภาพสะท้อนถึงสภาวะสุญญากาศของระเบียบการเมืองท้องถิ่นในเทศบาลนครแม่สอดเป็นอย่างดี
เช่นเดียวกับ เทศบาลนครลำปาง ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้แชมป์เก่าอย่าง นิมิตร จิวะสันติการ ผู้ที่เคยมีสภาวะนำในทางการเมืองถอนตัวจากการเลือกตั้งรอบนี้ และส่งทายาททางการเมืองของตนเอง (กิตติ จิวะสันติการ) ลงแข่งขัน กลับส่งผลให้เกิดสภาวะสุญญากาศทางระเบียบการเมือง ท้ายที่สุด “ช่องว่าง” ในสภาวะสุญญากาศดังกล่าวนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของทายาทแชมป์เก่า และตำแหน่งนายกเล็กเทศบาลนครลำปางตกไปเป็นของ “ปุณณสิน มณีนันทน์” หน้าใหม่ในการเมืองเทศบาลฯ ลำปาง
อย่างไรก็ตาม การเมืองท้องถิ่นระดับเทศบาลนครลำปาง มิได้มีอำนาจนำที่ชัดเจนและแข็งแรงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ตำแหน่งนายกเทศมนตรีมีการสลับไปมา ยังไม่มีใครดำรงตำแหน่งยาวนานจนกลายเป็นบ้านใหญ่ที่ผูกขาดตำแหน่งนายกเล็กเหมือนที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นของภาคเหนือ จึงไม่น่าแปลกหากการเมืองท้องถิ่นของลำปางจะมีพื้นที่และช่องว่างให้หน้าใหม่สามารถขึ้นสู่อำนาจได้ โดยเฉพาะ ปุณณสิน ที่มีทุนทางเศรษฐกิจและสังคมระดับสูง นอกจากนั้น เขายังลงหาเสียงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่การเลือกตั้งรอบปี 2564 ซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับสอง จนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่สามารถชิงตำแหน่งเก้าอี้นายกฯ มาได้
เทศบาลนครพิษณุโลก เป็นเทศบาลนครอีกหนึ่งแห่งในภาคเหนือที่มีการเปลี่ยนหน้านายกเล็กจาก เปรมฤดี ชามพูนท แชมป์เก่ามากประสบการณ์ที่รอบนี้พ่ายแพ้ให้กับ ศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ อดีตรองนายก อบจ.พิษณุโลก ในทีม มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ที่ครั้งนี้เบนเข็มมาตีพื้นที่เทศบาลเต็มกำลัง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เปรมฤดี และ มนต์ชัย เพิ่งจะจับมือกันดัน จเด็ศ จันทรา ให้ชนะการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 เมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมานี่เอง
ถึงจะเคยจับมือกันดันจเด็ศ แต่มนต์ชัยและเปรมฤดีทั้งคู่ต่างอยู่คนละขั้วในการเมืองท้องถิ่นพิษณุโลกมาอย่างยาวนาน เปรมฤดี เป็นแกนนำกลุ่มการเมืองในเขตอำเภอเมือง ขณะที่ มนต์ชัย เป็นแกนนำกลุ่มการเมืองรอบนอก แม้ทั้งคู่ยังเป็นแกนนำเสื้อแดงในพิษณุโลกเหมือนกันและเคยจับร่วมกันในบางครั้ง แต่ยังไม่เคยลงรอยกันอย่างจริงใจ มนชัยมักท้าทายเปรมฤดีในการเลือกตั้งเทศบาลนครพิษณุโลกเสมอมา จึงทำให้การเมืองระดับเทศบาลยังไม่มีระเบียบที่ชัดเจนแต่อย่างใด เนื่องจากมีการท้าทายกันไปมาตลอดเวลา
ประกอบกับความท้าทายใหม่ในการเมืองท้องถิ่นพิษณุโลกอย่างพรรคส้ม ที่สามารถคว้าชัยในการเลือกตั้ง สส.เขต 1 ซึ่งเป็นเขตเทศบาลนครฯ ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ส่งผลให้เปรมฤดีต้องรับมือกับความท้าทายทั้งสองทาง คือ ความท้าทายจากพรรคส้มและมนชัยไปพร้อมกัน จนท้ายที่สุด เครือข่ายของมนต์ชัยสามารถคว้าชัยเหนือเปรมฤดีในการเลือกตั้งรอบที่มาจนได้
ขณะที่ เทศบาลนครเชียงราย และ เทศบาลนครนครสวรรค์ แม้แชมป์เก่าจะต้องเผชิญความท้าทายใหม่อย่างพรรคส้มเช่นเดียวกัน ในการเลือกตั้ง สส. เมื่อปี 2566 เขตเทศบาลทั้งสองแห่งก็ถูกพรรคส้มแย่งยึดตำแหน่ง สส. ไปได้ แต่ วันชัย จงสุทธานามณี (นายกเทศมนตรีนครเชียงราย) และ จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ (นายกเทศบาลนครนครสวรรค์) ยังคงสามารถรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้อย่างไม่อยากเย็นนัก
เงื่อนไขประการสำคัญน่าจะอยู่ที่เครือข่ายทางการเมืองของแชมป์เก่าทั้งสองยังคงเหนียวแน่นจากการดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ระเบียบการเมืองท้องถิ่นในเขตเทศบาลนครสวรรค์และเชียงรายยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ไม่มีบ้านใหญ่ประกาศตัวเป็นคู่แข่งขันอย่างจริงจัง จึงไม่มีช่องว่างจากภาวะสุญญกาศเช่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่เทศบาลนคร 3 แห่งที่กล่าวถึงก่อนหน้า
ขณะที่คู่ท้าชิงจากพรรคส้มในพื้นที่เทศบาลนครทั้ง 2 แห่ง กลับไม่มีเครือข่ายทางการเมืองในมือมากพอจะต่อสู้อย่างสมน้ำสมเนื้อกับแชมป์เก่าแต่อย่างใด มิหนำซ้ำ ผู้สมัครพรรคส้มยังถือเป็นหน้าใหม่ทั้งคู่ แม้ เฮียซัว – วรวุฒิ ตันวิสุทธิ์ ผู้สมัครชิงชัยนายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์จะเป็นคนหน้าเก่าในเทศบาลฯ แต่หากวัดเฉพาะสนามเลือกตั้ง เขาก็ยังเป็นหน้าใหม่ ขณะเดียวกัน ศราวุธ สุตะวงค์ ผู้สมัครชิงชัยพรรคส้มในเทศบาลนครเชียงรายก็เป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน อบจ.เชียงราย ไม่ได้มีเครือข่ายหรือกระทั่งผลงานการบริหารอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ทั้งคู่จึงเสียเปรียบแชมป์เก่าเป็นอย่างมาก
การเลือกตั้ง เทศบาลนครเชียงใหม่ น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ซับซ้อนที่สุด เนื่องจากมีเงื่อนไขซ้อนทับหลายเงื่อนไข โดยเฉพาะความซับซ้อนระหว่างพรรคการเมืองและบ้านใหญ่ในเมืองเชียงใหม่เอง โดยในการเลือกตั้งเทศบาลภาคเหนือครั้งนี้ มีเพียงเทศบาลนครเชียงใหม่เท่านั้นที่เป็นเสมือนการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองและบ้านใหญ่ไปในเวลาเดียวกัน
บูรณุปกรณ์ เชียงใหม่ บ้านใหญ่ และพรรคแดง
ในการเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ ผลการเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ว่าแชมป์เก่าอย่าง นายกหน่อย – อัศนี บูรณุปกรณ์ สามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้อย่างไม่ยากเย็น คะแนนทิ้งห่างผู้สมัครอันดับ 2 จากพรรคประชาชน มากกว่า 4 พันคะแนน และสานต่อเก้าอี้นายกเล็กเมืองเชียงใหม่ ทั้งในฐานะแชมป์เก่าและบ้านใหญ่แห่งเมืองช้างเผือก
ตระกูลบูรณุปกรณ์ ถือเป็นตระกูลการเมืองที่อยู่คู่การเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน โดยบ้านใหญ่หลังนี้เริ่มมีบทบาททางการเมืองทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2540 จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายเครือข่ายการเมืองไปในหลายระดับและหลายองค์การ โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองที่ตระกูลบูรณุปกรณ์สามารถครองความยิ่งใหญ่ได้จากการประกอบธุรกิจบริการและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ตำแหน่งนายกเล็กฯ เมืองเชียงใหม่เสมือนเป็นตำแหน่งที่สืบทอนผ่านทางสายเลือดบูรณุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม แต่เพียงแค่สายเลือดและนามสกุลไม่ใช่เงื่อนไขที่ทำให้ตระกูลบูรณุปกรณ์ครองความยิ่งใหญ่ได้ หากยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่รองรับอีกมาก เงื่อนไขสำคัญคือ “คนเสื้อแดง” และ “พรรคสีแดง”
ตระกูลบูรณุปกรณ์ มีพัฒนาการทางการเมืองควบคู่ไปกับการเติบโตของพรรคไทยรักไทยและการเมืองภาคประชนที่นำไปสู่การสถาปนากลุ่มคนเสื้อแดง แม้ปัจจุบันพรรคสีแดงจะเสื่อมมนต์ขลังไปมากแล้ว จะอย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังคงมีพลังในการเมืองเชียงใหม่คือ เครือข่ายคนเสื้อแดงในเชียงใหม่
แม้จะเป็นบ้านใหญ่ แต่คนในตระกูลบูรณุปกรณ์กลับมีความอิสระในตัวเองค่อนข้างสูงกว่าหลายบ้านใหญ่ เห็นได้จากกรณีของ กุ้ง – ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ กับ หน่อย – อัศนี บูรณุปกรณ์ ที่ทั้งคู่แม้จะนามสกุลเดียวกันและมีสถานะเป็นพี่น้องกัน แต่กุ้งเลือกจะถ่อยห่างจากพรรคแดงในขณะที่นายกหน่อยปฏิบัติต่างออกไป เขาเลือกผูกสัมพันธ์กับ เจ๊แดง (เยาวภา วงศ์สวัสดิ์) ผู้มากบารมีในการเมืองเชียงใหม่และแกนนำคนเสื้อแดงเชียงใหม่
การเข้าหาเจ๊แดง ด้านหนึ่งเป็นไปเพื่อบรรเทาความตรึงเครียดระหว่างตระกูลกับพรรคสีแดง หลังเกิดความหวาดระแวงกันในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 และการเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อต้นปี 2568 แต่อีกด้านเป็นการกระชับอำนาจและเครือข่ายการเมืองที่เคยสูญเสียไปกลับคืนมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเครือข่ายคนเสื้อแดงที่มีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่อย่างมาก
การประกาศตัวลงสมัครในนามเพื่อไทย นอกจากเสมือนเป็นเสียงจากสวรรค์ที่แต่งตั้งให้นายกหน่อยเป็นตัวแทนพรรคแล้ว อีกทางหนึ่งก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์บอกคนเสื้อแดงเชียงใหม่ว่านี่คือตัวแทนของเครือข่ายไปพร้อมกัน
นอกจากนั้น ชื่อเสียงของตระกูลบูรณุปกรณ์ในเชียงใหม่เรียกได้ว่าไม่ได้ช้ำเลือดช้ำหนองแต่อย่างใด พวกเขายังคงมีภาพลักษณ์ที่ดีทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นในเชิงบวก ยิ่งในระดับเทศบาลนครที่คนตระกูลบูรณุปกรณ์ได้ฝากผลงานไว้มากมาย จึงมิใช่เรื่องยากที่นายกหน่อยจะสามารถรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้
บทเรียนพรรคส้ม ทำยังไงจะชนะใจท้องถิ่น
หลังผ่านการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 พรรคก้าวไกลกวาดจำนวน สส. เข้าสภาเป็นอันดับหนึ่ง ส่งผลให้พรรคส้มเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แต่แล้วผลการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อต้นปีต่อเนื่องถึงการเลือกตั้งเทศบาลที่เพิ่งผ่านไป ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าคะแนนเลือกตั้งเมื่อครั้งปี 2566 ยังไม่สามารถถ่ายเทมาที่คะแนนเลือกตั้งท้องถิ่นได้อย่างตรงไปตรงมาเท่าที่คาดหวังไว้ แต่ก็ยังถือว่ามีพัฒนาการหากเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในนามคณะก้าวหน้าเมื่อปี 2563-2564
ในการเลือกตั้งเทศบาลภาคเหนือ ปรากฏผลว่าพรรคส้มสามารถคว้าเก้าอี้นายกเทศบาลได้ 1 แห่ง คือ เทศมนตรีตำบลเหมืองจี้ (พ.ต.ชนินทร พุฒิเศรษฐ์ – ผู้ชนะการเลือกตั้ง) อ.เมือง จ.ลำพูน ทำให้ลำพูนเป็นจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่พรรคก้าวไกลสามารถคว้าชัยมาได้ ทั้งในระดับ อบจ. และเทศบาล
จังหวัดลำพูนถือว่าเป็นตัวอย่างที่พรรคส้มน่านำมาถอดบทเรียนอย่างหนัก หลังสามารถสานต่อชัยชนะได้อย่างต่อเนื่อง ทั้ง สส. นายก อบจ. จวบจนนายกเทศมนตรี พรรคส้มสามารถล่อเลี้ยงคะแนนเสียงและชัยชนะได้อย่างน่าประทับใจ
ว่าที่นายกเทศบาลคนเดียวของพรรคส้มในภาคเหนือ คือ พ.ต.ชนินทร พุฒิเศรษฐ์ เป็นอดีตนายกเทศมนตรีตำบลเหมืองจี้และแชมป์เก่าจากการเลือกตั้งเทศบาลรอบที่แล้ว แต่ครั้งนี้เลือกสวมเสื้อส้มลงเลือกตั้งและสามารถป้องชัยชนะเอาไว้ได้ จึงส่งผลให้พรรคส้มสามารถแต้มสีส้ม 1 จุดในแผนที่สนามเลือกตั้งเทศบาลภาคเหนือในรอบนี้
การที่พรรคส้มเลือกพึ่งพาฐานคะแนนเสียงแชมป์เก่า/อดีตนักการเมืองท้องถิ่น ร่วมกับฐานคะแนนนิยมเดิมของพรรคไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพรรคประชาชน โดยเฉพาะพรรคส้ม จังหวัดลำพูน ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังพรรคส่งผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ. ซึ่งต่างมีฐานเสียงเดิมในกระเป๋าก่อนมาลงสมัครอยู่แล้ว อาทิ วีระเดช ภู่พิสิฐ ผู้ชนะตำแหน่งนายก อบจ. ลำพูน เขาเป็นทายาทบ้านใหญ่และอดีตประธานหอการค้าจังหวัด หรือ สุริยัน ปัญญา อดีต ส.อบจ. ที่หันมาสวมเสื้อส้มสานต่อตำแหน่ง เป็นต้น
รูปแบบที่พึ่งพาฐานคะแนนเสียงเดิมของผู้สมัครน่าจะเริ่มถูกนำไปปรับใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายพื้นที่ รวมถึงการเลือกตั้งเทศบาลในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งคือการส่ง ผอ.แซน – ศราวุธ สุตะวงค์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน อบจ.เชียงราย ที่น่าจะมีคะแนนส่วนตัวจากการทำงาน เข้าชิงชัยตำแหน่งนายกเทศบาลนครเชียงราย แม้จะแพ้การเลือกตั้ง แต่คะแนนที่ ผอ.แซน ได้รับก็มีมากถึง 12,362 คะแนน (ห่างกับคะแนนของผู้ชนะ 4,881 คะแนน) การพึ่งพาฐานคะแนนเสียงท้องถิ่นร่วมกับคะแนนนิยมของพรรคจึงน่าจะกลายเป็นโมเดลการทำงานการเมืองท้องถิ่นที่น่าสนใจของพรรคส้มในอนาคต
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการพึ่งพาที่กล่าวถึงข้างต้นมิได้ถูกนำไปปรับใช้ในทุกจังหวัด/ทุกพื้นที่แต่อย่างใด ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มิได้ดำเนินงานการเมืองท้องถิ่นในรูปแบบนี้ แต่อาศัย สส.พรรคส้มประจำจังหวัดเป็นแกนนำในการทำงานท้องถิ่น จังหวัดพิษณุโลก เป็นตัวอย่างที่ดีหากจะยกตัวอย่าง โดยเฉพาะเขตอำเภอเมือง พรรคส้มเลือกใช้บริการ หมออ๋อง – ปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นแกนนำและแนวหน้าในการลุยสนาม ไล่ตั้งแต่การเปิดตัว สิริพรรณ คุณประจักษ์นุกูล เป็นผู้สมัครนายก อบจ.พิษณุโลก ไปจนถึงการเปิดตัว ธนากร กลิ่นผกา เป็นผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ผู้สมัครเหล่านี้ต่างได้รับการสนับสนุนจากหมออ๋องทั้งสิ้น
การให้ สส. และ อดีต สส. ส้มประจำจังหวัดเป็นแกนนำในการหาเสียงยังปรากฎชัดในสนามเทศบาลนครแม่สอดเช่นกัน หลัง สส.ปอนด์ – รัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ผลักดันให้ ผู้ช่วยอู๋ – ณัฐพล กิจศักดาภาพ อดีตผู้ช่วยของตนลงสมัครชิงชัยตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครแม่สอด แต่ผลการเลือกตั้งปรากฏชัดว่าผู้สมัครนายกเทศบาลพรรคส้มของทั้ง 2 คน (ธนากร และณัฐพล) ผ่ายแพ้การเลือกตั้ง
ดังนั้น ในการเลือกตั้งเทศบาลรอบนี้พรรคส้มมีรูปแบบการทำงานการเมืองท้องถิ่น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) การพึ่งพาฐานคะแนนผู้สมัครร่วมกับคะแนนนิยมของพรรค และ 2) การให้ สส.พรรคส้มประจำจังหวัดเป็นแกนนำ จากผลการเลือกตั้งปรากฏว่ารูปแบบการทำงานท้องถิ่นแบบที่ 1 ประสบความสำเร็จในสนามการเมืองท้องถิ่นมากกว่า
ผศ.ดร.ณัฐกร วิเคราะห์ว่า แม้พรรคส้มจะสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองได้อย่างชัดเจนในระดับชาติ โดยเฉพาะในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 ที่คว้าเก้าอี้ไปได้จำนวนมาก และยังสามารถสานต่อกระแสความนิยมในระดับจังหวัดอย่างการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อต้นปี 2568 ได้อย่างแข็งแรง แต่เมื่อถึงสนามการเมืองระดับเทศบาล ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด กลับปรากฏว่า คะแนนนิยมเหล่านั้นไม่สามารถถ่ายเทลงมาได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ระยะเวลาห่างจากการเลือกตั้ง อบจ. เพียงไม่ถึงสามเดือน
ผศ.ดร.ณัฐกร ยังวิเคราะห์อีกว่า เหตุผลที่พรรคส้มได้รับความนิยมน้อยลงอาจไม่ใช่เรื่องของพลังพรรคที่อ่อนลง แต่เป็นเพราะ พฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละระดับนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในระดับชาติ เช่น การเลือกตั้ง สส. ผู้คนมักตัดสินใจจากอุดมการณ์และตัวพรรคเป็นหลัก หากชอบพรรคใด ก็พร้อมเทคะแนนให้ผู้สมัครในนามพรรคนั้น
แต่พอลงมาถึงระดับ อบจ. น้ำหนักในการตัดสินใจเริ่มเปลี่ยนไป ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเริ่ม “ลังเล” มากขึ้น และหันมาให้ความสำคัญกับ “ตัวบุคคล” ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ ความรู้จักคุ้นหน้า หรือผลงานในพื้นที่และเมื่อมาถึงระดับเทศบาล ซึ่งเป็นระดับที่ผู้สมัครต้องอยู่ในชุมชนเดียวกับผู้เลือกตั้ง ปัจจัย “พรรค” กลายเป็นเพียงป้ายด้านหลัง เวทีที่แท้จริงคือ “ตัวบุคคล” — ความสัมพันธ์ระดับหมู่บ้าน ระบบหัวคะแนน ทุนสังคม และการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยตัดสินเกม
กรณีของพรรคก้าวไกลจึงสะท้อนให้เห็นว่า การเมืองระดับล่างยังคงเดินด้วยตรรกะที่แตกต่างจากการเมืองระดับบนอย่างสิ้นเชิง และการจะชนะในสนามเทศบาลไม่สามารถพึ่งพาเพียงกระแสหรืออุดมการณ์พรรคเท่านั้น หากขาดเครือข่าย ความเชื่อมั่น และสายสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครกับชุมชน ก็ยากที่จะปักธงในสนามระดับเทศบาลได้
ยังมีเรื่องที่น่ากังวลสำหรับพรรคส้มในการทำงานการเมืองท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาฐานคะแนนเสียงของผู้สมัคร นั่นคือ กรอบการเมืองศีลธรรม ที่ครั้งหนึ่งพรรคส้มเคยร่วมสถาปนากรอบดังกล่าวขึ้น โดยเฉพาะการกล่าวโจมตีบ้านใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ หรือการผูกโยงการชนะเลือกตั้งเข้ากับการซื้อเสียงเป็นต้น กรอบทางศีลธรรมดังกล่าวกลายเป็นดาบสองคม ที่คมด้านหนึ่งหันออกไปโชว์ความเฉียบคมของ “การเมืองใหม่” แต่คมอีกด้านก็หันเข้ามาจ่อคอพรรคให้ขยับตัวยากหากมุ่งหวังการเติบโตของคะแนนในระดับท้องถิ่น
พรรคไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นพาหนะ ท้องถิ่นเลือกคน ไม่เลือกโลโก้
แม้จะปรากฏกลิ่นอายของพรรคการเมืองอยู่เนืองๆ ตลอดการเลือกตั้งท้องถิ่นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ผู้สมัครที่สามารถกวาดชัยชนะไปได้มากที่สุดกลับเป็นผู้สมัครจาก “กลุ่มอิสระ” ที่ประกาศตนไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง
กลุ่มอิสระเหล่านี้เกือบทั้งหมดหาเสียงในนาม กลุ่มคนรักท้องถิ่น มักใช้ชื่อกลุ่มในสอดคล้องกับพื้นที่และสื่อถึงความเป็นท้องถิ่นนิยม อาทิ ทีมพัฒนาบ้านเมือง กลุ่มฮักพะเยา หรือแม่สอดก้าวหน้า เป็นต้น และตลอดการลงพื้นที่หาเสียงในท้องถิ่นพวกเขามักประกาศยืนยันเสมอว่า “ไม่มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง”
หากเชื่อตามคำบอกว่า ไม่มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง เราก็อาจเชื่อได้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องตีความมิใช่ว่าจริงหรือไม่ที่พรรคการเมืองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง สิ่งที่เราต้องตีความอาจเป็นการทำความเข้าใจคำว่า “พรรคการเมือง” สำหรับผู้สมัครเหล่านี้เสียมากกว่า
ความหมายของพรรคการเมือง สำหรับผู้สมัครเหล่านี้อาจหมายถึงการลงสมัครในนามพรรคนั้นๆ หรือการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่ความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างนักการเมืองด้วยกันอาจไม่ถูกนับว่าเป็นความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง
เราสามารถพบเห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครนายกเล็กหลายคนกับ สส. ในจังหวัด อาทิ กุล เครือวีระ (ว่าที่นายกเล็กแม่สอด) ที่ปรากฏภาพความใกล้ชิดกับ สส.ปั้น – ภาคภูมิ บูลย์ประมุข จากพรรคพลังประชารัฐ หรือ วันชัย จงสุทธนามณี (ว่าที่นายกเล็กเชียงราย) ที่มีภรรยาคือ รัตนา จงสุทธานามณี ที่เพิ่งหันซบอกเพื่อไทยไปได้ไม่นาน แต่ทั้งคู่ยังคงลงหาเสียงในนามอิสระ และประกาศตัวไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง
การปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองเช่นนี้ หากมองจากมุมมองพรรคเป็นใหญ่ เราอาจมองได้ว่าการปฏิเสธความเกี่ยวข้องแบบนี้ก็มิต่างอะไรกับการโกหก แต่หากมองจากมุมความสัมพันธ์ในท้องถิ่นเราอาจต้องมองความเชื่อมโยงเหล่านี้อีกระดับ
กล่าวคือ พรรคการเมืองสำหรับนักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้มีความจำเป็นเฉพาะในการเลือกตั้งระดับชาติเท่านั้น แต่ในการเลือกตั้งท้องถิ่นปัจจัยที่พวกเขาพึ่งพามิใช่พรรคการเมือง แต่เป็นความนิยมส่วนตัว หัวคะแนน ระบบอุปถัมภ์ หรือกระทั่งผลงาน/ชื่อเสียงในอดีต
ฉะนั้น พรรคการเมืองจึงเสมือนเป็นแค่ “รถ” เท่านั้น เป็นรถที่มิได้ครอบครองถาวร หากแต่สามารถเปลี่ยนรถได้หากพวกเขาประเมินแล้วว่าสมรรถนะรถคันนี้ไม่เพียงพอที่จะพาพวกเขาไปถึงเส้นชัย
เราจึงได้เห็นภาพ “นายใหญ่” (ทักษิณ ชินวัตร) และบรรดาแกนนำพรรคการเมืองอื่นๆ อาทิ ชาดา ไทยเศรษฐ หรือ ธรรมนัส พรหมเผ่า ลงพื้นที่พบปะผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ด้านหนึ่งก็เป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์ แต่อีกด้านพวกเขาเหล่านี้ยังเป็น “เซลล์ขายรถ” ที่แห่ขายรถสีแดงบ้าง/สีน้ำเงินบ้าง ตามแต่ว่าพวกเขาจะสังกัดบริษัทรถแห่งใด
การมอง “พรรค” เป็น “รถ” นี้ สอดคล้องกับพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนที่แตกต่างกันในการเลือกตั้งแต่ละระดับ ในการเลือกตั้งระดับชาติ (การเลือกตั้ง สส.) บทบาทของพรรคการเมืองมีส่วนในการตัดสินใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา แต่ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ตัวตนของผู้สมัครมีบทบาทอย่างมากในการตัดสินในมอบคะแนนเสียง จึงส่งผลให้นักการเมืองท้องถิ่นเดิมที่เคยสร้างผลงานหรืออยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ที่ตนสังกัดอยู่จะมีแนวโน้มได้เปรียบกว่ามาก
พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคที่มีแนวการทำงานขายรถของพวกเขาในรูปแบบที่สอดคล้องกับพฤติกรรมเลือกตั้งแบบนี้ แตกต่างกับพรรคเพื่อไทยที่ครั้งนี้ให้นายใหญ่นำทัพในสนามท้องถิ่น แต่นายใหญ่กลับแสดงท่าทีอยากกินรวบ คือ ขายรถสีแดงคันเดียวให้กับลูกค้าทุกระดับ โดยอาศัยบารมีส่วนตัวของเซลล์ใหญ่
อย่างไรก็ตาม การขายแบบนายใหญ่กลับยิ่งตอกย้ำภาพเทาๆ ของการเมืองท้องถิ่นให้เด่นชัดยิ่งขึ้น กล่าวอย่างง่ายคือ ทำให้ทุกเรื่องกลายเป็นเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ของนักการเมืองระดับชาติไปเสียทั้งหมด ยิ่งประกอบกับภาพข่าวตีกันรายวันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นกลายเป็นเรื่องที่มีแต่ผลประโยชน์ของนักการเมืองไปในท้ายที่สุด หรือเราอาจเรียกได้ว่าเป็นการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องการทะเลาะกันของเซลล์ขายรถ
ฉัน (ประชาชน) หมดใจ หรือเธอไม่เปลี่ยนแปลง
จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ลดลงเป็นภาพสะท้อนที่ดีของการตอบโต้การเมืองแบบเซลล์ขายรถทะเลาะกันเช่นนี้ รายงานจาก กกต. พบว่าสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเทศบาล คือ ร้อยละ 63.80 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (มาใช้สิทธิ 10,363,490 คน จากทั้งหมด 16,242,865 คน) ลดลงจากเมื่อการเลือกตั้งเทศบาลปี 2564 ที่สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิอยู่ที่ร้อยละ 66.95 (มาใช้สิทธิ 12,851,612 คน จากทั้งหมด 19,196,612 คน)
หากเปรียบเทียบกับสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ที่ไม่ถึงร้อยละ 60 ของจำนวนผู้มีสิทธิ ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหนื่อยหน่ายและความเฉื่อยชาที่สังคมมีต่อการเมืองในระดับท้องถิ่นอย่างชัดเจน ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีเทศบาลตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ซึ่งแม้จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 747 คน แต่กลับมีผู้มาใช้สิทธิเพียง 10 คน และทั้ง 10 คนยังลงบัตรเสียทั้งหมด นี่ยังไม่นับรวมกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและความอ่อนแอของระบบราชการ ซึ่งล้วนมีส่วนกัดกร่อนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันทางการเมือง และตอกย้ำถึงสภาวะถดถอยที่น่ากังวลยิ่งขึ้น
ผศ.ดร.ณัฐกร เผยว่าปรากฏการณ์ “คนไม่เลือกตั้ง” ครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว หากแต่เป็นผลจากปัจจัยหลากหลายที่สะสมกันอย่างยาวนาน โดยแบ่งเป็น 6 ปัจจัยหลักที่ทำให้คนไม่ใช้สิทธิในสนามเทศบาลดังนี้
1.ขาดกระแสระดับชาติหนุนหลัง การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีพรรคการเมืองระดับชาติเข้ามาจุดกระแสให้ผู้คนตื่นตัว ต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผู้มีสิทธิส่วนใหญ่มักตัดสินใจตามกระแสพรรคหรือผู้นำพรรคที่ตนชื่นชอบ
2.วันเลือกตั้งไม่ใช่อุปสรรค แต่คนก็ยังไม่มา แม้จะจัดเลือกตั้งในวันอาทิตย์ และอยู่ในช่วงวันหยุดยาว 3 วัน ซึ่งเอื้อให้คนเดินทางกลับบ้านได้มากกว่าการเลือกตั้ง อบจ. แต่กลับพบว่าอัตราการใช้สิทธิน้อยกว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมือง
3.ภาพลักษณ์ทางลบของการเมืองท้องถิ่น สื่อและข่าวสารก่อนเลือกตั้งกลับเต็มไปด้วยข่าวผู้สมัครพัวพันยาเสพติด ทะเลาะวิวาท หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกเบื่อหน่าย และหมดศรัทธาต่อการเมืองท้องถิ่น
4.ความรู้สึกว่า “เลือกไปก็ไม่เปลี่ยนอะไร” มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าเสียงของตนไม่มีความหมายในระบบนี้ และการเลือกตั้งก็ไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงจริง จึงเลือกที่จะไม่เดินทางกลับไปใช้สิทธิ
5.โครงสร้างเศรษฐกิจที่ดึงคนออกจากถิ่นฐาน ระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ดึงคนออกจากท้องถิ่นไปทำงานในเมืองใหญ่ การกลับบ้านเพื่อเลือกตั้งจึงมีต้นทุนสูง โดยเฉพาะถ้าไม่มีเครือญาติลงสมัครหรือแรงจูงใจที่ชัดเจน คนเหล่านี้ก็มักเลือกที่จะไม่กลับ
6.กรณีของคนรุ่นใหม่และนักศึกษา เช่น ในกรณีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ปิดเทอมในช่วงเลือกตั้ง นักศึกษาที่มีชื่อในเชียงใหม่แต่กลับไปอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่ได้เดินทางกลับมาใช้สิทธิ และโดยทั่วไป คนรุ่นใหม่จำนวนมากยังรู้สึกว่า “การเมืองท้องถิ่นไม่อิน” เท่ากับการเมืองระดับชาติ
เจมส์ เอ. โรบินสัน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้ให้สัมภาษณ์กับทางบีบีซีไทย ในหัวข้อไทยเป็น “รัฐล้มเหลว” แล้วหรือไม่ ระหว่างการให้สัมภาษณ์ โรบินสัน กล่าวถึง “รัฐกระดาษ” อันหมายถึงรัฐที่กฎหมายหรือมีโครงสร้างที่ดูภายนอกแล้วยังดีและเหมือนจะเข้มแข็ง แต่ในความเป็นจริงกลับมิได้เป็นเช่นนั้น ขณะเดียวกันภาคประชาสังคมก็อ่อนแอด้วยเช่นกัน
หากมองรัฐกระดาษในลักษณะที่ย่อลงมาจากรัฐลงมาสู่ “ท้องถิ่น” การเลือกตั้งเทศบาลในครั้งนี้ยังพิสูจน์ว่า ท้องถิ่นยังมิได้ก้าวเข้าสู่สภาวะ “ท้องถิ่นกระดาษ” ยังมีการบังคับใช้กฎกติกาพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และยังมีพื้นที่ให้หน้าใหม่เข้าสู่การเมืองได้บ้าง
ในขณะที่ การเลือกตั้งสามารถดำเนินไปได้จนจบ และจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งก็ยังถือว่าเกินกว่าร้อยละ 60 ไม่ถดถอยลงไปเช่นที่เกิดในการเลือกตั้ง อบจ. ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนยังคงมีบทบาทในการเลือกตั้งไปจนถึงผลักดันผู้สมัครบางคนเข้าสู่อำนาจบริหารเพื่อผลักดันวาระสาธารณะบางอย่าง
ไม่ว่าอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับนักการเมืองท้องถิ่นที่เสมือนเป็นเซลล์ขายรถทะเลาะกันไปมากำลังสร้างความห่างเหินระหว่างการเมืองกับประชาชนออกไป จนประชาชนเสมือนเป็นเพียงฐานคะแนนเสียงในรูปแบบตัวเลขมากกว่าจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จนอาจส่งผลให้ต่อเนื่องในทางกลับ ที่ประชาชนเองก็ถ่อยห่างจากสถาบันการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
รายการอ้างอิง
- PPTV Online. (20 พฤษภาคม 2568). กกต.สรุปข้อมูลเลือกตั้งเทศบาล พร้อมสั่งเลือกตั้งใหม่ 11 เทศบาล. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/249032
- คมชัดลึก. (18 มีนาคม 2568). เสื้อแดงรู้สึกแปลกๆ “ทักษิณ” มาไวไปไว ชิ่งหนีศึกคนกันเอง “เปรมฤดี-ศิริชิน” เปิดศึกชิงนายกเล็กพิษณุโลก. ใน คมชัดลึก. https://www.komchadluek.net/scoop/thong-yuttaphop/599427
- ผู้จัดการออนไลน์. (12 พฤษภาคม 2567). เลือกตั้งท้องถิ่นนครพิษณุโลกเปลี่ยนขั้วชัด! บ้านใหญ่ทีมอดีตนายกเล็ก 5 สมัยพ่ายเกือบยกคณะ. ใน ผู้จัดการออนไลน์. https://mgronline.com/local/detail/9680000044142
- ผู้จัดการออนไลน์. (9 ธันวาคม 2567). บ้านใหญ่ “ย.ย.-จงสุทธนามณี” กรุยทางสางแค้นแทน ชน “วันไชยธนวงศ์” ชิง อบจ.เชียงรายทุกเก้าอี้. ใน ผู้จัดการออนไลน์. https://mgronline.com/local/detail/9670000118068
- ไทยรัฐออนไลน์. (12 พฤษภาคม 2568). ส่อง “ว่าที่นายกเทศมนตรี” เทศบาลเมือง-เทศบาลตำบล ที่พรรคประชาชนคว้าชัย. ใน ไทยรัฐออนไลน์. https://www.thairath.co.th/news/politic/2857916
- ปณิศา เอมโอชา. (14 พฤษภาคม 2568). ไทยเป็น “รัฐล้มเหลว” แล้วหรือไม่ บีบีซีไทยถาม-ตอบ กับผู้เขียน Why Nations Fail. ใน BBC News ไทย. https://www.bbc.com/thai/articles/cq85vll0pzyo
- ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย. (6 พฤษภาคม 2568). Local Watch: เลือกตั้งนายกเล็ก ใครเป็นใคร ใครจะโดน ใครจะร่วง 5 สนามเทศบาลนครภาคเหนือ. ใน Lanner. https://www.lannernews.com/06052568-02/
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...