“เราเป็นคนร่วมวัฒนธรรม” คนละครเชียงใหม่ แถลงเรียกร้องหยุดความรุนแรงไทย–กัมพูชา หวั่นรอยร้าวลุกลามระยะยาว

24 กรกฎาคม 2568 ชายแดนไทย-กัมพูชาเกิดเหตุปะทะอย่างรุนแรง บริเวณปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ก่อนลุกลามเป็นวงกว้างครอบคลุม 6 พื้นที่ตลอดแนวชายแดน โดยกองทัพบกไทยระบุว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน ด้วยการใช้อาวุธหนักรวมถึงจรวด BM-21 และปืนใหญ่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย บาดเจ็บ 14 ราย (ข้อมูลเมื่อ เวลา 12.05 น.)

เอกสารข่าวจากกองทัพบก ระบุว่า เหตุปะทะเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 07.35 น. หน่วยเฉพาะกิจที่ดูแลพื้นที่ปราสาทตาเมือนรายงานว่า ได้ยินเสียงอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ของฝ่ายกัมพูชาบินวนอยู่บริเวณหน้าปราสาทตาเมือนธม แม้ไม่สามารถมองเห็นตัวอากาศยานได้ด้วยสายตา แต่เสียงที่ได้ยินนั้นชัดเจน

ภาคประชาชนและกลุ่มศิลปินเชียงใหม่ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหว โดย ‘ลานยิ้มการละคร’ ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเสียใจต่อความสูญเสีย พร้อมเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง และหยุดการสร้างความเกลียดชังระหว่างชาติพันธุ์

ประภัสสร คอนเมือง สมาชิกจากกลุ่มลานยิ้มการละคร ให้สัมภาษณ์กับ Lanner ว่าสถานการณ์นี้สร้างความหนักใจและความกังวลเป็นอย่างมาก เพราะมีครอบครัวและคนรู้จักอยู่ในพื้นที่ชายแดนที่มีความตึงเครียดสูง และการปิดด่านในเมืองทำให้เกิดความวุ่นวาย

“อันดับแรกเลย คือ เรารู้สึกหนักใจและกังวลมาก เพราะพี่สาวเราอยู่ชายแดนที่อรัญประเทศ ตอนนี้สถานการณ์ตึงเครียด มีประกาศปิดด่านในเมือง โรงเรียนประกาศให้ไปรับลูกหลาน ทั้งเร่งรีบและวุ่นวาย เราก็ห่วงครอบครัวมาก”

ประภัสสรเล่าว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เธอและเพื่อนศิลปินจากทั้งอาเซียนและเอเชีย พยายามใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงวัฒนธรรม สร้างความเข้าใจ รวมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันอย่างเป็นมิตรเพื่อสานความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่สิ่งที่ทำให้เธอเจ็บปวดในตอนนี้คือ ความพยายามที่ตนเองและเพื่อนศิลปินร่วมสร้างขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลับถูกความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนี้ ทำลายสะพานแห่งความสัมพันธ์นั้นลงอย่างรวดเร็ว

“อีกเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด คือ ในฐานะคนที่ทำงานเครือข่ายที่เกี่ยวกับศิลปินจากทั้งอาเซียนและเอเชีย เรารู้สึกเสียใจที่สิ่งที่เราพยายามทำ คือการใช้ศิลปะและวัฒนธรรมเป็นจุดร่วม เพื่อแชร์ประสบการณ์และโอกาสระหว่างกัน กลับถูกเหตุการณ์นี้ทำลาย”

ก่อนหน้าการยิงกันเพียงไม่กี่วัน เธอเห็นคลิปวิดีโอจากเพื่อนชาวกัมพูชา ซึ่งสะท้อนความรู้สึกเกลียดชังต่อประเทศไทยผ่านภาษาศิลปะ ซึ่งเธอยอมรับว่าเป็นสัญญาณอันตรายที่ทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ได้ห่างไกลหรือเป็นเพียงการเมืองระดับสูง แต่กำลังซึมลึกลงมาในสายเลือดของศิลปะ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ร่วมของผู้คน

เธอยังย้อนถึงประสบการณ์ในเทศกาลศิลปะที่เชียงใหม่เมื่อปีก่อน ซึ่งมีศิลปินกัมพูชาเข้าร่วม แต่กลับต้องเจอกับสายตาและท่าทีแปลกแยกจากคนในพื้นที่ สะท้อนความเปราะบางของบรรยากาศระหว่างประเทศที่เริ่มตึงเครียด

“ตอนนั้นเรากลัวมาก กลัวว่าความขัดแย้งนี้จะบานปลายจนยากที่จะเยียวยา แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ”

ประภัสสรยังเล่าว่า ก่อนหน้าการปะทะกันไม่กี่วัน เธอเห็นคลิปวิดีโอของเพื่อนศิลปินชาวกัมพูชา ที่สื่อถึง ความรู้สึกเกลียดชังต่อประเทศไทยผ่านภาษาศิลปะ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายว่าสถานการณ์ขัดแย้งไม่ได้อยู่แค่ระดับการทูตหรือการทหาร แต่กำลังซึมลึกลงในระดับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์

“ก่อนเกิดเหตุการณ์ยิงกัน เราเห็นเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่กัมพูชาโพสต์คลิปที่สื่อถึงความเกลียดชังระหว่างไทยกับกัมพูชา คลิปนั้นสะท้อนความขัดแย้งในเชิงศิลปะและวัฒนธรรม เรารู้สึกว่าเรื่องนี้ใกล้ตัวเราเกินกว่าจะเมินเฉย และเราเชื่อว่าในวงการเครือข่ายของเรา ยังไม่มีการเหยียดเชื้อชาติหรือความเกลียดชังแบบสุดโต่งแบบนั้น”

เธอมองว่า ไทยและกัมพูชามีรากวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันมาก ทั้งด้านศิลปะและประเพณี ควรเป็นเมืองพี่เมืองน้อง ไม่ใช่เป็นคู่ขัดแย้ง และตั้งคำถามต่อรัฐบาลทั้งสองฝ่ายที่ดูเหมือนจะเน้นสร้างความแตกต่างและความเกลียดชัง มากกว่าการหาจุดร่วมเพื่อสันติภาพ

“ในยุคที่โซเชียลมีเดียทำให้ทุกอย่างขยายตัวเร็ว ความเกลียดชังที่เกิดบนคีย์บอร์ดนั้นกลับกลายเป็นเรื่องจริงในพื้นที่จริง มีคนตายจริง แต่นักยุยงปลุกปั่นกลับไม่ได้อยู่ในพื้นที่เหล่านั้น”

ประภัสสรยังอธิบายอีกว่า หากปล่อยให้เรื่องเล็กๆ อย่างข้อพิพาทชายแดนขยายกลายเป็นการเหยียดชาติพันธุ์ หรือมองวัฒนธรรมอีกฝ่ายด้วยสายด้อยค่า เราอาจได้เห็นความแตกแยกที่ลึกและกว้างไกลยิ่งขึ้นในอนาคต ไม่ใช่แค่ระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่ทั่วทั้งภูมิภาค

“เราเจ็บปวดที่พยายามทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจผ่านศิลปะและวัฒนธรรม แต่กลับเจอเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เราเองก็ยังนั่งคิดกับตัวเองว่า ถ้าในอนาคตยังต้องทำงานด้านนี้อยู่ เราจะไปในทิศทางไหน และจะช่วยกันยังไงได้บ้าง”

สถานการณ์ในครั้งนี้ ไม่เพียงแค่สะท้อน ความตึงเครียดทางการทหาร หากยังเผยให้เห็น รอยร้าวทางวัฒนธรรม ที่อาจลุกลามในระยะยาว หากไม่มีความพยายามอย่างจริงจังในการสร้างสันติภาพและความเข้าใจร่วมระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง