สถานการณ์การสู้รบตามแนวชายแดนไทย–เมียนมา บริเวณรัฐกะเหรี่ยงใกล้เมืองเมียวดี ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2568 เมื่อกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และพันธมิตรเปิดฉากโจมตีขบวนทหารเมียนมาที่มุ่งหน้าไปเสริมกำลังยังฐานยุทธศาสตร์ “เต่บอโบ่” (Tee Baw Boe) จนสามารถสกัดและทำลายขบวนได้สำเร็จ พร้อมจับเป็นและยึดอาวุธจำนวนมาก
ทหารเมียนมาข้ามฝั่งไทย ก่อนย้อนกลับแนวรบ
รายงานจาก Than Lwin Khet News ระบุว่า ทหารเมียนมาราว 64 นายจากฐานวาเล่ได้พยายามเดินทางอ้อมเข้าฝั่งไทยผ่านพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ก่อนกลับเข้าสู่ฝั่งเมียนมาใกล้กับหมู่บ้านส่อเส่เมียง ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการ DKBA (Democratic Karen Benevolent Army) โดยมีเป้าหมายเพื่อหลบหลีกแนวรบและเข้าเสริมกำลังฐานเต่บอโบ่ที่ถูกโจมตี
วิดีโอที่ชาวบ้านบันทึกไว้เผยให้เห็นขบวนทหารเดินเรียงแถวอยู่ริมถนนฝั่งไทย โดยมีรถจักรยานยนต์ติดป้ายทะเบียนไทย และรถยนต์พวงมาลัยซ้าย ซึ่งยิ่งตอกย้ำข้อสงสัยถึงการข้ามพรมแดนอย่างไม่เป็นทางการในสถานการณ์ที่ควรมีการควบคุมเข้มงวด

แม้ภายหลัง พันเอก ณัฐกร เรือนติ๊บ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจราชมนู จะสั่งการให้เพิ่มกำลังลาดตระเวนและเตรียมอาวุธสนับสนุนตามแผนเผชิญเหตุเพื่อป้องกันการรุกล้ำอธิปไตย แต่การปรากฏตัวของทหารเมียนมาบนฝั่งไทยก็สร้างคำถามต่อกลไกการควบคุมพื้นที่และบทบาทของไทยในวิกฤตข้ามแดนครั้งนี้
KNLA ปะทะหนัก ยึดตัว-ยึดอาวุธ
ต่อมาในวันที่ 28 พฤษภาคม KIC News รายงานว่า ขบวนทหารเมียนมาดังกล่าวซึ่งมีจำนวนมากกว่า 70 นาย ถูก KNLA และพันธมิตรซุ่มโจมตีใกล้แม่น้ำแมกกะลอ จนแตกกระเจิง โดยสามารถจับเป็นได้กว่า 30 นาย และมีทหารเสียชีวิตจำนวนมาก ต่อมาในช่วงเช้า KNLA ได้เปิดเผยภาพถ่ายเพิ่มเติมแสดงให้เห็นการจับกุมทหารเมียนมาเพิ่มอีก 10 นาย พร้อมยึดอาวุธเพิ่มเติมจากการกวาดล้างขบวนที่กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ฐานเต่บอโบ่

การปฏิบัติการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ KNLA ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2568 โดยเริ่มจากแนวรบในพื้นที่กองพลที่ 7 ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และขยายลงมาสู่เขตกองพลที่ 6 บริเวณแนวหน้าเมืองเมียวดี เป้าหมายหลักคือการ “เคลียร์ฐานทหารเมียนมา” ออกจากแนวชายแดนเพื่อจัดตั้ง “แนวกันชนปลอดทหาร” (Safe Zone) สำหรับพลเรือน
ฐานทัพหลายแห่งที่กำลังถูกโจมตีในปัจจุบัน เดิมเคยเป็นฐานของ KNLA ก่อนจะถูกยึดโดยกองทัพเมียนมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา KNLA ยืนยันว่าปฏิบัติการครั้งนี้จะดำเนินต่อไปจนกว่าพื้นที่จะปลอดจากกำลังทหารรัฐบาล
ผลกระทบต่อพลเรือน ผู้อพยพทะลักเข้าไทย
การสู้รบอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีผู้อพยพชาวเมียนมาจำนวนมากหลบหนีภัยเข้ามายังฝั่งไทย โดย Mae Sot Media รายงานว่า มีผู้อพยพอย่างน้อย 290 คน ข้ามฝั่งเข้าพักในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 3 แห่งในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ได้แก่ วัดมอเกอร์ไทย ตำบลวาเล่ย์ จำนวน 232 คน วัดบ้านหมื่นฤาชัย ตำบลพบพระ จำนวน 24 คน และคริสตจักรบ้านหมื่นฤาชัย ตำบลพบพระ จำนวน 34 คน
แหล่งข่าวในพื้นที่เปิดเผยว่า ชาวบ้านมีความรู้สึกทั้งเดือดร้อนและคาดหวังต่อสถานการณ์การสู้รบที่เกิดขึ้น โดยบางส่วนแสดงความกังวลอย่างมากต่อการใช้กำลังของทหารเมียนมา โดยเฉพาะอาวุธหนัก เช่น ปืนใหญ่และอากาศยานโจมตี ซึ่งทำให้พื้นที่อยู่อาศัยไม่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งกลับสนับสนุนปฏิบัติการของ KNLA โดยเห็นว่านี่คือโอกาสที่จะขจัดอิทธิพลของทหารเมียนมาออกจากพื้นที่อย่างจริงจัง หลายคนคาดหวังว่าหากจะมีการรบ ก็ควรเป็นการรบที่ถึงที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่โจมตีแล้วถอนกำลังกลับ เพราะนั่นยิ่งทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อและไม่ยั่งยืน
เสียงสะท้อนจากชุมชนตอกย้ำว่าการดำรงอยู่ของฐานทหารเมียนมาในพื้นที่ คือรากของความหวาดกลัวที่ฝังลึกในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน และทำให้พวกเขารอคอยการเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนาน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...