กระตุ้นเศรษฐกิจแบบใดทำไมมีแต่ถนน ผ่าตัด ‘งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 68’ ภาคเหนือ

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

Summary 

  • แต่เดิมแล้ว งบประมาณก้อนนี้ถูกจัดเตรียมไว้สำหรับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล แต่โครงการดังกล่าวต้องถูกยกเลิกไป คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2568 ให้หน่วยงานราชการทุกระดับสามารถยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อของบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาทได้  
  • งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจใน 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมแล้วทั้งหมด 18,590,044,900 บาท ซึ่งคิดเป็น 16.11% ของงบประมาณทั้งหมด  
  • จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดที่ 6.2 พันล้านบาท ส่วนจังหวัดลำพูนได้รับงบประมาณน้อยที่สุดที่ 497 ล้านบาท  
  • กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดในภาคเหนือ โดยได้ไปกว่า 10,423 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งอยู่ในอันดับสองมากกว่าสองเท่า  
  • โครงการที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 10 อันดับแรกของกระทรวงคมนาคมในภาคเหนือล้วนเป็นโครงการ “ปรับปรุงถนน”  
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งข้อสังเกตว่า แม้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนอย่างมีนัยสำคัญ  

“โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568 วงเงิน 115,000 ล้านบาท คาดกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.4% เพิ่มการจ้างงาน 7.4 ล้านคน พบว่า 73% ของเม็ดเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนที่เหลือไปช่วยผลกระทบภาคการส่งออก เพิ่มผลิตภาพ และดิจิทัล ไปจนถึงภาคการท่องเที่ยว” 

ข้อความข้างต้นคือการสรุปเนื้อหาของงบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประจำปีงบประมาณ 2568 ซึ่งเดิมเป็นงบประมาณที่รัฐบาลกันเอาไว้เพื่อดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเงินดิจิตอล 1 หมื่นบาท แต่แล้วด้วยเงื่อนไขด้านความตึงเครียดทางการคลังของรัฐบาล และความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล ร่วมกับเงื่อนไขอื่น ๆ ส่งผลให้นโยบายดังกล่าวเป็นอันต้องล่มปากอ่าวไป 

รัฐบาลจึงได้ประกาศให้หน่วยงานราชการทุกระดับสามารถยื่นขอจัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท เปิดทางให้โครงการที่เคยถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก ได้รับการปัดฝุ่นขึ้นมาเสนอของบประมาณต่อรัฐบาล   

กระทั่ง รองนายกรัฐมนตรี (พิชัย ชุณหวชิร) ได้เสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 โดยมีโครงการผ่านการพิจารณาวงเงินทั้งสิ้น 115,375 ล้านบาท 

รายงานชิ้นนี้จึงจะพาทุกคนไปสำรวจงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนนี้ ว่าบรรจุ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ประเภทใดเอาไว้บ้าง หน่วยงานใดและโครงการใดได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด ไปจนถึงชวนทุกคนตั้งคำถามว่า งบประมาณก้อนนี้จะสามารถนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่?      

กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ ‘คมนาคม’ ได้มากสุด

หลังการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย หรือ เงินหมื่นดิจิตอล มีเหตุให้ล่มปากอ่าว ทำให้เมื่อสิ้นเดือนตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงต่าง ๆ เสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้งบประมาณกลางปี 2568 ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ที่แรกเริ่มเตรียมไว้เป็นเงินสำหรับโครงการเงินหมื่นดิจิตอล   

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab ที่คำนวนรายการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรืองบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจปีงบประมาณ 2568 สามารถย่อยออกมาเป็นงบประมาณใน 17 จังหวัดภาคเหนือที่ได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 18,590,044,900 บาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 16.11%  ของงบประมาณทั้งหมด (115,375,271,500 บาท) โดยจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับจัดสรรงบประมาณกว่า 6.2 พันล้านบาท และจังหวัดที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด คือ จังหวัดลำพูน ที่ 497 ล้านบาท โดยแบ่งได้ดังนี้

จังหวัด งบประมาณรวม (บาท) 
เชียงใหม่ 2,567,354,100 
เชียงราย 1,876,112,000 
ลำปาง 1,216,040,700 
ลำพูน 497,774,900 
แม่ฮ่องสอน 884,588,000 
พะเยา 732,640,500 
น่าน 852,674,800 
แพร่ 554,849,100 
ตาก 962,000,200 
สุโขทัย 1,101,990,700 
อุตรดิตถ์ 786,136,900 
กำแพงเพชร 1,016,316,500 
พิษณุโลก 907,282,200 
เพชรบูรณ์ 1,274,136,900 
พิจิตร 696,740,900 
นครสวรรค์ 1,582,309,400 
อุทัยธานี 1,081,097,800 

ในการกระตุ้นเศรษฐกิจงบประมาณปี 2568 จะจัดสรรผ่านทางกระทรวงต่างๆ ลงสู่ท้องถิ่นแต่ละจังหวัด โดยไม่ผ่านการมีส่วนร่วมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจสูงสุดในภาคเหนือ คือ กระทรวงคมนาคม ที่ได้รับงบประมาณกว่า 10,423 ล้านบาท สูงกว่ากระทรวงเกษตรฯ ที่ได้รับงบประมาณเป็นอันดับที่สอง มากกว่า 2 เท่าตัว ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นอันดับสุดท้าย โดยได้รับงบฯ เพียง 13.5 ล้านบาท 

แม้จะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทกลับถูกจัดสรรให้กับกระทรวงคมนาคม หน่วยงานผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทาง ซึ่งเป็นการลงทุนที่หวังผลระยะยาวและเป็นประโยชน์สาธารณะมากกว่า “การกระตุ้นเศรษฐกิจ” ในระยะสั้น เพื่อหวังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ดังที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศว่าเป็น “พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” โดยหากแบ่งรายจังหวัดตามกระทรวงจะแบ่งได้ดังนี้

จังหวัด กระทรวง งบประมาณ (บาท) 
เชียงราย กระทรวงคมนาคม 888,961,000.00 
  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 285,000,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 453,471,600.00 
  รัฐวิสาหกิจ 48,457,000.00 
  กระทรวงกลาโหม 154,583,900.00 
 กระทรวงวัฒนธรรม 42,700,000.00 
 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2,938,000.00 
เชียงใหม่ กระทรวงคมนาคม 1,371,837,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 562,832,400.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 240,696,700.00 
  รัฐวิสาหกิจ 311,988,000.00 
  กระทรวงวัฒนธรรม 80,000,000.00 
ลำปาง กระทรวงคมนาคม 456,133,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 246,580,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 506,444,600.00 
  รัฐวิสาหกิจ 6,883,100.00 
ลำพูน กระทรวงคมนาคม 303,285,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 72,281,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 116,631,400.00 
  รัฐวิสาหกิจ 2,335,000.00 
  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 3,242,500.00 
น่าน กระทรวงคมนาคม 490,184,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 298,635,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 59,355,800.00 
  กระทรวงวัฒนธรรม 4,500,000.00 
พะเยา กระทรวงคมนาคม 294,910,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 261,240,700.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 133,036,400.00 
  รัฐวิสาหกิจ 19,934,000.00 
  กระทรวงกลาโหม 20,567,400.00 
  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2,952,000.00 
แพร่ กระทรวงคมนาคม 327,090,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 39,288,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 87,519,000.00 
  รัฐวิสาหกิจ 53,578,100.00 
  กระทรวงกลาโหม 47,374,000.00 
แม่ฮ่องสอน กระทรวงคมนาคม 610,106,400.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 233,445,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 24,567,600.00 
  รัฐวิสาหกิจ 15,339,000.00 
  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 1,130,000.00 
ตาก กระทรวงคมนาคม 520,270,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 220,170,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 213,316,200.00 
  รัฐวิสาหกิจ 8,244,000.00 
กำแพงเพชร กระทรวงคมนาคม 423,769,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 444,946,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 103,709,500.00 
  รัฐวิสาหกิจ 890,000.00 
  กระทรวงวัฒนธรรม 42,500,000.00 
  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 502,000.00 
อุตรดิตถ์ กระทรวงคมนาคม 584,810,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 175,000,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 24,433,900.00 
  รัฐวิสาหกิจ 1,893,000.00 
สุโขทัย กระทรวงคมนาคม 525,071,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 428,543,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 84,223,800.00 
  กระทรวงกลาโหม 20,650,900.00 
  กระทรวงวัฒนธรรม 31,400,000.00 
เพชรบูรณ์ กระทรวงคมนาคม 1,079,830,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 33,800,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 103,297,000.00 
  รัฐวิสาหกิจ 34,764,000.00 
  กระทรวงกลาโหม 16,445,900.00 
  กระทรวงวัฒนธรรม 6,000,000.00 
พิษณุโลก กระทรวงคมนาคม 604,610,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 70,213,700.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 108,330,500.00 
  รัฐวิสาหกิจ 121,372,000.00 
  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2,756,000.00 
พิจิตร กระทรวงคมนาคม 479,871,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 9,450,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 133,417,600.00 
  รัฐวิสาหกิจ 11,454,800.00 
  กระทรวงกลาโหม 62,547,500.00 
นครสวรรค์ กระทรวงคมนาคม 1,091,181,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 230,900,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 35,018,800.00 
  รัฐวิสาหกิจ 95,314,000.00 
  กระทรวงกลาโหม 122,695,600.00 
  กระทรวงวัฒนธรรม 7,200,000.00 
อุทัยธานี กระทรวงคมนาคม 371,170,000.00 
 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 561,900,000.00 
  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 93,977,800.00 
  รัฐวิสาหกิจ 54,050,000.00 

กระตุ้นแบบเดิม ๆ แต่หวังผลลัพธ์ใหม่? 

เราจะเห็นได้ว่ากระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณที่ได้ชื่อว่า “กระตุ้นเศรษฐกิจ” มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในทุกจังหวัด โดยสามารถจำแนกโครงการ 10 อันดับแรกของกระทรวงคมนาคมที่ได้รับจัดสรรลงในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดังนี้ 

อันดับ โครงการ จังหวัด งบประมาณ (บาท) 
งานก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 117 ตอน ป่าขนุน – วังผาชัน จ.อุตรดิตถ์ อุตรดิตถ์ 73,000,000 
ปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าลงใต้ดิน ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่อ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 แห่ง แม่ฮ่องสอน 70,000,000 
งานบำรุงตามกำหนดเวลา ทางหลวงหมายเลข 101 ตอน แยกปากจั๊วะ – แยกเจริญราษฎร์ ตอน 2 จ.แพร่ แพร่ 40,000,000 
ปรับปรุงจุดเสี่ยงจุดอันตราย ถนนสาย ชม.3023 แยกทางหลวงหมายเลข 107 – บ้านแม่สลัก อ.ฝาง, แม่อาย จ.เชียงใหม่ 1 แห่ง เชียงใหม่ 35,000,000 
เพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัย ถนนสาย กพ.6070 ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร อ.เมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร 1 แห่ง กำแพงเพชร 35,000,000 
งานบำรุงตามกำหนดเวลา ทางหลวงหมายเลข 1 ตอน หางน้ำหนองแขม – บ้านหว้า จ.นครสวรรค์ นครสวรรค์ 35,000,000 
ปรับปรุงจุดเสี่ยงจุดอันตราย ถนนสาย ชม.3004 แยกทางหลวงหมายเลข 107 – บ้านหนองยาว อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 1 แห่ง เชียงใหม่ 35,000,000 
งานบำรุงตามกำหนดเวลา ทางหลวงหมายเลข 3005 ตอน นครสวรรค์ – โกรกพระ จ.นครสวรรค์ นครสวรรค์ 35,000,000 
ปรับปรุงจุดเสี่ยงจุดอันตราย ถนนสาย ชม.5036 แยกทางหลวงชนบท ชม.3035 – บ้านทุ่งเสี้ยว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 1 แห่ง เชียงใหม่ 35,000,000 
10 งานบำรุงพิเศษและบูรณะ ทางหลวงหมายเลข 122 ตอน ทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ด้านตะวันตก ตอน 1 จ.นครสวรรค์ นครสวรรค์ 35,000,000 

ดังที่เห็นจาก 10 อันดับโครงการที่ได้รับงบประมาณสูงสุดของกระทรวงคมนาคมต่างเป็นโครงการ “ปรับปรุงถนน” ทั้งสิ้น ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่างบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ ห่างจากเป้าหมายของมันไปไกล  

หากกล่าวด้วยความเห็นใจที่มีต่อรัฐบาล เหตุที่งบประมาณก้อนนี้ไม่สามารถตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นผลจากการไม่สามารถผลักดันนโยบายของพรรคแกนนำรัฐบาลให้เป็นจริงได้ 

งบประมาณที่เตรียมจัดสรรสำหรับนโยบายดังกล่าวจึงต้องนำออกมาเบิกจ่าย ประกอบกับกรอบเวลาที่บีบคั้น จึงนำไปสู่การที่รัฐบาลต้องประกาศให้กระทรวงต่าง ๆ สามารถส่งโครงการที่เคยไว้ในลิ้นชัก เสนอมาให้รัฐบาลพิจารณาได้ 

ท้ายที่สุด โครงสร้างการจัดสรรงบประเมินของไทย ซึ่งเดิมทีคุ้นเคยกับการอัดฉีดงบประมาณก้อนโตให้กับกระทรวงเจ้าพ่อโครงการอย่าง กระทรวงคมนาคม อยู่แล้ว จึงนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณในรูปแบบที่ “คุ้นเคย” ด้วยการอัดฉีดงบประมาณเข้าไป “ที่เดิม”  

โครงสร้างการจัดสรรงบประมาณที่ถ่ายเทเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากลงไปที่ถนนเช่นที่เกิดขึ้นกับงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 2569 ดำเนินมาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ประสิทธิภาพของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนในฐานะเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจเผยให้เห็นข้อจำกัดที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว  

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญว่า แม้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว บางปีอาจเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 ทว่า การลงทุนดังกล่าวกลับไม่ส่งผลให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ จากภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ    

ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดจากการที่กว่า 2 ใน 3 ของเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถูกจัดสรรให้กับโครงการที่มีลักษณะเป็นการ “ซ่อมสร้าง” เป็นส่วนใหญ่ อาทิ การซ่อมสร้างถนนทางหลวง โครงการชลประทาน และอาคารสำนักงาน  

โครงการประเภทนี้ แม้จะมีความจำเป็นในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ แต่โดยพื้นฐานแล้วไม่ได้มีศักยภาพในการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หรือดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมจากภาคเอกชนในลักษณะที่ก่อให้เกิดการต่อยอดทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง   

งบประมาณที่ใช้ไปกับการซ่อมแซมและปรับปรุงสิ่งที่เคยมีอยู่แล้วบ่อยครั้ง อาจบ่งชี้ถึงปัญหาด้านคุณภาพของการก่อสร้างในอดีต หรือการขาดการบำรุงรักษาที่เหมาะสม ซึ่งทำให้งบประมาณจำนวนมากถูกใช้ไปเพื่อแก้ไขปัญหาเดิมซ้ำ ๆ แทนที่จะเป็นการลงทุนที่สร้างมูลค่าเพิ่ม   

ในขณะเดียวกัน โครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนนั้น ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นของการก่อสร้าง ซึ่งหมายความว่าผลประโยชน์จากการลงทุนเหล่านี้ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ในระยะเวลาอันใกล้ได้เลย   

การที่งบประมาณส่วนใหญ่เป็น “ซ่อมสร้าง” ชี้ให้เห็นถึงการจัดสรรทรัพยากรที่อาจไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการกระตุ้นการลงทุนระยะยาว งบประมาณที่ใช้ไปกับการซ่อมแซมซ้ำๆ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาคุณภาพงานหรือการขาดการบำรุงรักษาในอดีต ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด 

สถานการณ์เศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนแล้วว่า การพัฒนาที่เอาถนนเป็นแกนนำ มิอาจนำมาซึ่งความรุ่มรวยทางเศรษฐกิจสู่ท้องถิ่นแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี โครงสร้างทางงบประมาณเดิมเช่นนี้ กลับเป็นมรดกส่งต่อไปที่งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 2568 อย่างเห็นได้ชัด  

รายการอ้างอิง 

  • Rocket Media Lab. (23 มิถุนายน 2568). งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้าน ถูกนำไปใช้เรื่องอะไร ผ่านหน่วยงานไหนบ้าง. Rocket Media Lab. https://rocketmedialab.co/economic-stimulus-budget/  
  • Rocket Media Lab. (23 มิถุนายน 2568). งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 2568 [ข้อมูลดิบ]. Rocket Media Lab. https://rocketmedialab.co/database-economic-stimulus-budget/  
  • วาราดา ทองจำนงค์ และ ปิติพัฒน์ ชูปลื้ม. (24 มิถุนายน 2568). สรุปโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568 วงเงิน 1.15 แสนล้านบาท คาดกระตุ้น GDP ได้ 0.4% เพิ่มการจ้างงาน 7.4 ล้านคน. The Standard. https://thestandard.co/thailands-2025-economic-stimulus-package/  
  • สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก. (6 มิถุนายน 2568). “มหาดไทย”​ เปิดไทม์ไลน์ ขอรับการจัดสรรงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท​. https://www.thaitv5hd.com/web/content.php?id=50957  
  • สภาองค์กรของผู้บริโภค. (1 กรกฎาคม 2568). เจาะงบ กระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 แสนล้าน สภาผู้บริโภคขอระบบขนส่งฯ ที่เป็นธรรม. สถาองค์กรของผู้บริโภค. https://www.tcc.or.th/01072568_economic-stimulus_article/  
  • เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ, กฤษฏิ์ ศรีปราชญ์, จารีย์ ปิ่นทอง, ศิริกัญญา ตันสกลุ, รจุา อดิศรกาญจน์, แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ และพิมพ์อร วัชรประภาพงศ์. (2560). การลงทุนเอกชนของไทย (1/3) : 8 ข้อเท็จจริงการลงทุนไทย. ธนาคารแห่งประเทศไทย. https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/research-and-publications/research/discussion-paper-and-policy-paper/6NetForeignDirectInvestment.pdf  
ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง