22 เมษายน 2568 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำกก-อิง-โขง ร่วมกับนักวิชาการและชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก จัดเวทีพูดคุยและยื่นข้อเสนอ 7 ข้อถึงรัฐบาล ที่ห้องประชุมสายน้ำกก ศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรม CCF ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เรียกร้องให้เร่งจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐ-ประชาชน แก้ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนจากการทำเหมืองแร่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ วิถีชีวิต และเศรษฐกิจของชุมชนริมแม่น้ำกกทั้งใน จังหวัดเชียงราย และ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
จิรภัทร์ กันธิยาใจ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านร่มไทย ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พื้นที่ลานริมน้ำกกที่เคยใช้เป็นที่เล่นน้ำกลับไม่สามารถใช้งานได้ หญ้าขึ้นสูง และไม่มีใครกล้าลงเล่นน้ำ ขณะที่ในช่วงฤดูแล้งกลับมีน้ำไหลมา พร้อมดินโคลน ทำให้แพริมฝั่งได้รับความเสียหาย การซ่อมแซมก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่มีคนกล้าลงไปเก็บกู้
จิรภัทร์ยังระบุว่า ประชาชนในพื้นที่จำนวนหนึ่งยังไม่สามารถกลับเข้าอยู่อาศัยในบ้านเดิมได้ เนื่องจากบ้านยังไม่ได้รับการซ่อมแซมหลังน้ำท่วมก่อนหน้านี้ ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพประมงก็ไม่สามารถลงน้ำหาปลาได้อย่างที่เคย ชาวบ้านหลายรายจึงประสบปัญหารายได้ลดลง
ด้านเครือข่ายชาวบ้านในตำบลท่าตอน ระบุว่า น้ำในแม่น้ำกกมีลักษณะขุ่นและนิ่ง ส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่ต้นน้ำหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแม่น้ำโดยตรง และหันมาใช้น้ำประปาภูเขาแทน แม้สามารถบรรเทาได้บางส่วน แต่ปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจยังคงเป็นข้อกังวลสำคัญ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ซบเซาลง และกลุ่มหาปลาที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้

นอกจากนี้ ยังพบว่าบางชุมชนมีปัญหาเรื่องการไม่กล้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐ แม้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการสัมผัสน้ำ เช่น อาการคันผิวหนัง ทำให้ปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด
ในพื้นที่บ้านฟาร์มสหกิจ ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ชาวบ้านรายหนึ่งสะท้อนว่า ตั้งแต่บ้านถูกน้ำกกท่วมเมื่อฤดูฝนปีก่อน จนถึงปัจจุบันก็ยังมีน้ำท่วมอยู่ เนื่องจากคันกั้นน้ำของเอกชนยังไม่ได้รับการซ่อมแซม ส่งผลให้น้ำกกยังคงไหลเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัย และเมื่อตรวจพบว่ามีสารปนเปื้อนในแม่น้ำเพิ่มเข้ามาอีก ยิ่งทำให้การดำรงชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้น แม้มีหน่วยงานภาครัฐลงพื้นที่ตรวจสอบ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไข
ชาวบ้านในตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระบุว่า แม่น้ำกกเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความผูกพันกับลำน้ำ ทั้งการหาสัตว์น้ำ พืชน้ำ และการท่องเที่ยว เช่น ล่องแพ หรือนั่งช้างในแม่น้ำ ปัจจุบันกิจกรรมเหล่านี้ต้องหยุดลง ช้างจากบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรไม่สามารถลงแม่น้ำได้ ขณะที่ประชาชนที่เคยบริโภคปลาจากแม่น้ำก็เริ่มกังวลว่าจะมีสารพิษตกค้างสะสมในร่างกาย เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่มีข้อมูลแจ้งเตือนอย่างชัดเจน
ที่บ้านเชียงแสนน้อย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สุขใจ ยานะ อายุ 72 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน ระบุว่า ปีนี้ถือเป็นช่วงที่ชาวบ้านประสบปัญหาอย่างหนัก แม่น้ำกกในพื้นที่มีระดับน้ำที่ผันผวน ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งเชื่อว่าได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำของเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนใต้ของประเทศจีน นอกจากนี้ น้ำในแม่น้ำกกยังมีลักษณะขุ่นและนิ่ง จนไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

สุขใจ ยังรายงานว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบปลาหลายชนิดที่จับได้มีลักษณะผิดปกติ เช่น ปลาแข้ ปลาคัง ปลากด มีตุ่มขึ้นบริเวณหัวและหนวด ซึ่งชาวบ้านกังวลว่าอาจเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรือโลหะหนักที่ปนเปื้อนในแม่น้ำ
ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเชียงราย ระบุว่า ปัญหาการปนเปื้อนของสารหนูในแม่น้ำกกมีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมเหมืองแร่ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มชาติพันธุ์ว้า ซึ่งอยู่นอกอำนาจรัฐของเมียนมาอย่างเป็นทางการ
สืบสกุลชี้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวไม่สามารถจัดการได้ด้วยกลไกการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับเมียนมาเท่านั้น แต่จำเป็นต้องขยายวงเจรจาให้ครอบคลุมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่เหมือง และรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นแหล่งทุนสำคัญของบริษัทที่ได้รับสัมปทานเหมืองในพื้นที่ดังกล่าว
โดยอ้างอิงข้อมูลจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ พบว่า พื้นที่ชายแดนรัฐฉานที่ติดกับประเทศไทยมีการเปิดสัมปทานเหมืองแร่กว่า 300 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นเหมืองทองคำ แร่แมงกานีส และแร่หายาก โดยมีบริษัทจากจีนเป็นผู้ดำเนินการหลัก และยังมีนักลงทุนจากออสเตรเลีย รัสเซีย และอิตาลีเข้ามาร่วมลงทุนด้วย

ในส่วนของการตรวจสอบน้ำภายหลังการร้องเรียนจากประชาชน มีการเก็บตัวอย่างน้ำจากแม่น้ำกกเพื่อตรวจวิเคราะห์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ รวม 6 จุด ผลการตรวจพบว่าทุกจุดมีสารหนูเกินค่ามาตรฐาน อย่างไรก็ตาม สืบสกุลตั้งข้อสังเกตว่า การตรวจวิเคราะห์ใช้เวลานานกว่าครึ่งเดือน เนื่องจากจังหวัดเชียงรายยังไม่มีศูนย์ตรวจคุณภาพน้ำประจำพื้นที่ ทำให้การแจ้งเตือนและรับมือสถานการณ์ล่าช้า
เขายังระบุเพิ่มเติมว่า แม้จะมีการยื่นหนังสือถึงสถานกงสุลเมียนมา และมีเวทีสาธารณะหลายครั้ง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณตอบสนองเชิงนโยบายจากภาครัฐไทยอย่างชัดเจน แม้กระทั่งในการเยือนของผู้นำเมียนมาล่าสุดก็ไม่มีการหยิบยกปัญหานี้ขึ้นหารือ
ในด้านการติดตามผลกระทบ สืบสกุลตั้งข้อสังเกตว่า ยังไม่มีการตรวจสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณภาพปลา หรือผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร แม้จะเป็นประเด็นที่ชาวบ้านในพื้นที่กังวลอย่างต่อเนื่อง
เขาวิเคราะห์ว่า กลไกที่รัฐไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาที่มีความซับซ้อนทางภูมิรัฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการจัดการปัญหามลพิษข้ามพรมแดน และยังขาดหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบายในประเด็นนี้โดยตรง
สืบสกุลยังสะท้อนข้อกังวลจากประชาชนในพื้นที่ว่า ปัจจุบันยังขาดข้อมูลที่เป็นระบบเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ ทั้งในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เนื่องจากสารโลหะหนักสามารถสะสมในแหล่งน้ำและห่วงโซ่อาหาร และก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพแม้ในช่วงที่ยังไม่มีอาการแสดงชัดเจน
สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เปิดเผยว่า จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของชาวบ้านในลุ่มน้ำกก พบว่าปัจจุบันแม่น้ำกกอยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่าเป็น “แม่น้ำเป็นพิษ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในหลายมิติ ทั้งด้านสุขภาพ อาชีพ และความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มที่ประกอบอาชีพประมง การเกษตร และการทำนาริมแม่น้ำ
สมเกียรติระบุว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่สามารถหาทางออกจากปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และยังคงมีความกังวลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขาดความชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐในการรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำปนเปื้อน

ในกรณีที่มีการพบปลาติดเชื้อบริเวณปากแม่น้ำกกที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งชาวบ้านสังเกตพบตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และยังคงพบในปีนี้ ทางสมาคมและชาวบ้านมีข้อสงสัยถึงสาเหตุของการติดเชื้อ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานเพื่อเก็บตัวอย่างปลาที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น มีตุ่มหรือรอยโรค เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์
ในส่วนของข้อเสนอเชิงนโยบาย สมเกียรติเน้นย้ำว่า รัฐบาลควรเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำกก โดยเฉพาะการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และภาคการเกษตร ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อมั่นว่าคุณภาพน้ำและคุณภาพดินมีความปลอดภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการตรวจสอบและรายงานผลอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
นอกจากนี้ สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตยังเสนอให้ภาครัฐมีนโยบายเชิงบูรณาการสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำกกและแม่น้ำสาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำโขงตอนบน โดยควรยกระดับพื้นที่เหล่านี้ให้เป็น “พื้นที่ต้นแบบ” ในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงระบบ ทั้งในด้านมลพิษทางน้ำ ปัญหาหมอกควัน และภัยพิบัติน้ำท่วม เพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤตที่กำลังทวีความรุนแรง และมีลักษณะของมลพิษข้ามพรมแดน
ทั้งนี้เครือข่ายฯ ได้มีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งในแหล่งกำเนิดมลพิษ ระหว่างทาง และผู้รับผลพิษ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำกก จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ภายใน 30 วัน
2. เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำสาย อย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ
3.สร้างความร่วมมือกับประเทศเมียนมา และกลุ่มกองกำลังว้า เพื่อเพิ่มจุดเก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน ตลอดลำน้ำกก น้ำสาย ทั้งพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ทำเหมืองในรัฐฉาน ประเทศพม่า และพื้นที่แม่น้ำกกในประเทศไทย
4.การสร้างระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่ง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำจังหวัดเชียงราย
5.การขยายขอบเขตการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นการลุกล้ำหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดลุ่มน้ำ
6.เปิดการเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนมา กองกำลังชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่สัมปทานเหมือง และประเทศจีน เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ โดยมีกลไกระดับอาเชียนบวกประเทศ
7.การแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานในทุกระดับให้มีสัดส่วนของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบภาคประชาสังคม
ในการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่าน ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคประชาชน ซึ่งระบุว่าได้ยกเรื่องเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว และจะติดตามถามรัฐบาลต่อไปว่าจะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร โดยย้ำว่า แม้ฝ่ายค้านจะทำงานยาก แต่ปัญหาของประชาชนควรได้รับการแจ้งเตือนและรับมืออย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะภัยพิบัติ อุทกภัย และสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
ทั้งนี้ เครือข่ายย้ำว่า การรับมือกับปัญหาน้ำกกในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงในชีวิต วิถีเศรษฐกิจ และสิทธิเข้าถึงทรัพยากรที่ควรได้รับการจัดการร่วมกันอย่างโปร่งใส และยั่งยืน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...