เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย
ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง
การเลือกตั้งเทศบาลที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 นี้ นับเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาลครั้งที่ 2 หลังการยึดอำนาจของ คสช. ที่แช่แข็งท้องถิ่นมายาวนานกว่าจะเปิดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาลอีกครั้งในปี 2564
สำหรับภาคเหนือของประเทศไทยมีเทศบาลระดับเทศบาลนครทั้งสิ้น 6 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลนครเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แม่สอด พิษณุโลก และนครสวรรค์ แต่เทศบาลนครพิษณุโลกได้จัดการเลือกตั้งไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม
‘เทศบาลนคร’ นอกจากจะเป็นเทศบาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดทั้งในด้านของงบประมาณและจำนวนประชากรในพื้นที่แล้วยังเป็น องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ที่โยงใยกับ อปท. ระดับจังหวัดอย่าง อบจ. อย่างแยกกันไม่ขาด เห็นได้จากผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกทีผ่านมา ที่ ศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ อดีต รองนายก อบจ. สังกัด ของ มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก หลายสมัย สามารถเอาชนะ เปรมฤดี ชามพูนท หัวหน้าทีม “ลูกนเรศวร” อดีตนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก 5 สมัย
Lanner พาคุณสำรวจอีก 5 แห่งที่จะเลือกตั้งพร้อมกันในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ ว่าใครคือผู้ท้าชิง ใครคือผู้หนุนหลัง และการเมืองท้องถิ่นภาคเหนือกำลังเคลื่อนตัวไปในทิศทางใด

นครเชียงราย ศึก 2 ขั้ว หน้าใหม่ชนหน้าเก่า

เริ่มต้นด้วยเทศบาลนครเชียงราย จังหวัดที่เมื่อครั้งการเลือกตั้งนายก อบจ. ก็ได้สร้างสีสันบนหน้าสื่อ จากกรณีผู้ชนะเอาปี๊บคลุมหัวล้อเลียนนายใหญ่พรรคเพื่อไทย ในสนามการเลือกตั้งนายกเล็กครั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครเพียง 2 คน ได้แก่ เบอร์ 1 ศราวุธ สุตะวงค์ ผู้สมัครจาก พรรคประชาชน และเบอร์ 2 วันชัย จงสุทธานามณี ผู้สมัครในนาม ทีมวันชัย

ศราวุธ สุตะวงค์ – ผอ.แซน ผู้สมัครหน้าใหม่ในสังกัดพรรคประชาชน อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งตั้งอยู่เขตอำเภอเมือง นั่นอาจเป็นเหตุให้เขามีคะแนนเสียงและความนิยมส่วนตัวอยู่บ้าง และน่าจะหวังพึ่งพาคะแนนเสียงของพรรคส้มหนุนเสริม เนื่องจากในการเลือกตั้ง สส. รอบที่ผ่านมาพรรคส้มได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง ทั้งสองเงื่อนไขน่าจะเหตุให้พรรคส้มเลือกส่งผู้สมัครลงชิงชัยในรอบนี้ ทั้งที่เมื่อปี 2564 คณะก้าวหน้ามิได้ส่งผู้สมัครรายใด
ทั้งนี้ ศราวุธ เป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาชน เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าตนเคยถูกพรรคก้าวไกล เชิญชวนมาเป็น สส. แต่ก็ได้ปฎิเสธไป ดร.ศราวุธ เสนอนโยบายหลัก 4 ด้านในการลงสมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงราย ได้แก่ เมืองสะอาด – แก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าลดขยะจากต้นทางเพื่อลดงบฝังกลบกว่า 40-60 ล้านบาทต่อปี เมืองสีเขียว – พัฒนาเมืองตามเป้าหมายของสหประชาชาติ เมืองปลอดภัย – ติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ดูแบบเรียลไทม์เหมือนต้นแบบจากนครศรีธรรมราช เมืองสุขภาวะ – ยกระดับการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบาง พร้อมพัฒนาศูนย์การแพทย์ให้เข้าถึงง่ายขึ้น
ศราวุธมีนโยบายในการจัดการปัญหาในพื้นที่เทศบาลนครเชียงราย อย่างการแก้ปัญหามูลนก ถนนเดินได้ พัฒนาสวนตุงและโคมให้เป็นสวนสาธารณะครบวงจร และจัดระบบขนส่งด้วยรถ EV เชื่อมสถานที่สำคัญภายในเมือง รวมไปถึงการนำงบประมาณมาวางแผนร่วมกับ “สภาพลเมือง” ที่มีตัวแทนประชาชนและผู้เชี่ยวชาญ ก่อนผ่านสภาเทศบาล

วันชัย จงสุทธานามณี เจ้าของเจ้าอี้นายกเทศมนตรีฯเชียงรายคนล่าสุดได้กลับมาลงแข่งขันในสนามนายกเล็กอีกครั้ง ซึ่งสนามนี้เป็นสนามที่วันชัยเชียวชาญและมีความได้เปรียบมากที่สุด เนื่องจากดำรงตำแหน่งมายาวนานตั้งแต่ปี 2538 แม้จะเคยพ่ายแพ่ในการเลือกตั้ง สส. เมื่อปี 2554 หลังลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย แต่สำหรับสนามเทศบาล และโดนตัดสิทธิ์ลงสมัครสนามเทศบาลเมื่อปี 2551 แต่วันชัยและตระกูลจงสุทธานามณี ก็สามารถทวงเก้าอี้คืนมาได้ในปี 2555 และครองตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน
วันชัย มีคู่สมรสคือ “รัตนา จงสุทธานามณี” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง ปัจจุบันรัตนาดำรงเป็นที่ปรึกษาของรองนายก ภูมิธรรม เวชยชัย แห่งพรรคเพื่อไทย
ข้อสังเกตหนึ่ง คือ ในการเลือกตั้งนายกเล็กเชียงรายรอบนี้ไม่ปรากฏชื่อ สมพงษ์ กูลวงศ์ คู่แข่งสังกัดพรรคเพื่อไทยที่ขับเคี่ยวกับวันชัยในสนามเทศบาลมาตลอด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากข้อตกร่วมระหว่าง สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช กับ รัตนา จงสุทธานามณี สองนางพญาที่ขับเคี่ยวกันในสนาม อบจ. มาโดยตลอด
แต่ยังคงมีกระแสข่าวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย แล้วว่า รัตนาและบ้านจงสุทธานามณีไม่ได้ช่วยเหลือพรรคเพื่อไทยและสลักจฤฎดิ์อย่างเต็มกำลังจึงทำให้ผ่ายแพ้การเลือกไปในท้ายที่สุด และยิ่งในวาระที่นายก อบจ.เชียงราย มีความใกล้ชิดกับหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและวันชัยก็เคยเป็นผู้สมัคร สส. พรรคภูมิใจไทย ยิ่งน่าจับตามมองว่าองคาพยพของแต่ละพรรคจะปฏิบัติตนในการเลือกตั้งรอบนี้อย่างไร
ทาง 3 แพร่งเมืองเชียงใหม่ การกลับมาของบ้านใหญ่ในอ้อมอกเพื่อไทย นครเชียงใหม่ ไปทางไหนต่อ

จังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในสมรภูมิที่จับตามองมาต่อเนื่องตั้งแต่การเลือกตั้ง สส. เมื่อปี 2566 หลังพรรคเพื่อไทยสูญเสียเก้าอี้แชมป์ให้กับพรรคก้าวไกลหลายที่นั่ง ทั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงพรรคเพื่อไทยก็ตาม นอกจากนั้นเชียงใหม่ยังถูกประกาศว่าเป็นบ้านเกิดของ “นายใหญ่” แห่งพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อต้นปี นายใหญ่ถึงขั้นกลับมาออดอ้อนขอคะแนนเสียงจากชาวเชียงใหม่ถึงที่ กระทั่งได้รับชัยชนะในสนาม อบจ. แต่ก็เรียกได้ว่า “หืดขึ้นคอ”
ตั้งแต่สิ้นสุดการเลือกตั้ง สส. เมื่อปี 2566 และดีลจับมือปีศาจของนายใหญ่ การเมืองท้องถิ่นในเชียงใหม่เรียกได้ว่า เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน และการ “จัดระเบียบใหม่” พรรคเพื่อไทยไม่ใช่แบรนด์ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอีกต่อไป บ้านใหญ่หลายบ้านก็แสดงท่าทีถอยห่างจากนายใหญ่และพรรคแดงอยู่เนืองๆ
สำหรับวาระการเลือกตั้งนายกเทศบาลนครเชียงใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นการแข่งจันระหว่างผู้สมัคร 4 คนจาก 4 สังกัด ได้แก่ หมายเลข 1 ปนันรัตน์ วิริยะกุลศานต์ ผู้สมัครจาก กลุ่มเพื่อเชียงใหม่ หมายเลข 2 ธีรวุฒิ แก้วฟอง ผู้สมัครจาก พรรคประชาชน หมายเลข 3 อัศนี บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครจาก กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม หมายเลข 4 การย์วิชญ์ วงษ์ทอง ผู้สมัครจาก พรรคก้าวอิสระ และหมายเลข 5 ว่าที่ร้อยเอก จอห์นนพดล วศินสุนทร ผู้สมัครในนามอิสระ
ผู้สมัคร 2 จาก 5 คนเป็นผู้สมัครหน้าเดิมและสังกัดเดิม คือ หมายเลข 2 “ธีรวุฒิ แก้วฟอง” อดีตผู้สมัครนายกเทศบาลฯ ในนามคณะก้าวหน้า ครั้งนี้ธีรวุฒิกลับสู่สนามอีกครั้งในนามสังกัดพรรคส้ม (พรรคประชาชน) ผู้สมัครหน้าเดิมคนต่อมา คือ หมายเลข 3 “อัศนี บูรณุปกรณ์” อดีตนายกเทศบาลฯ เชียงใหม่ และแชมป์เก่าจากการเลือกตั้งรอบที่แล้ว ในการเลือกตั้งรอบนี้อัศนียังอยู่สนามการแข่งขันและมิได้โยกย้ายไปสังกัดใหม่แต่อย่างใด โดยผู้สมัครทั้ง 2 ต่างเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งรอบนี้ ล้อไปกับการแข่งขันระหว่างพรรคส้มและพรรคแดงในการเลือกตั้งระดับชาติ
ธีรวุฒิ แก้วฟอง – เหมา ผู้สมัครการพรรคประชาชน เป็นอดีตข้าราชการประจำสำงานจังหวัดใหญ่เชียง ทำงานข้าราชการมาต่อเนื่องกว่า 20 ปี (พ.ศ.2544-2564) จากนั้นจึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และเปิดตัวเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในนามคณะก้าวหน้า ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในสนามการเมืองท้องถิ่นของธีรวุฒิ โดยในการเลือกตั้งนายกเทศบาลฯเมื่อครั้งปี 2564 เขาสามารถกวาดคะแนนได้เพียง 6,797 คะแนน เป็นอันดับ 3 จากผู้สมัครฯ ทั้งหมด แต่ยังคงสานต่อการทำงานอยู่ต่อเนื่องและกลับมาลงแข่งขันอีกครั้งในการเลือกตั้งนายกเทศบาลฯ ปี 2568 ที่กำลังจะมาถึง

อัศนี บูรณุปกรณ์ – นายกหน่อย แชมป์เก่าจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2564 กลับมาแข่งขันในสนามเดิม โดยยังประกาศตัวลงสมัครในนาม “กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม” ซ้ำยังประกาศขอเป็นตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยและขอใช้โลโก้พรรคในการเลือกตั้งนายกฯเทศบาลรอบนี้ หลังจากที่ตระกูลบูรณุปกรณ์ หันหลังให้กับพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ปี 2566 ถือเป็นกลับมาจับมือกันอีกครั้ง
แม้จะอายุยังน้อยแต่อัศนีมิใช่หน้าใหม่ในการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่แต่อย่างใด เขาเป็นลูกชายของ ประพันธ์ บูรณุปกรณ์ อดีตรองนายกเทศบาลฯเชียงใหม่ อดีตรองนายก อบจ. เชียงใหม่ และอดีต สว.เชียงใหม่ อัศนีถือเป็นตัวแทนจาก “ตระกูลบูรณุปกรณ์” บ้านใหญ่เชียงใหม่ ที่ส่งต่อตำแหน่งนายกเทศบาลฯเชียงใหม่ให้กับคนในบ้านมาตั้งแต่ปี 2543 โดยบ้านบูรณปกรณ์มีความผูกพันกับพรรคเพื่อไทยและมีความสัมพันธ์อันดีกับ เจ๊แดง (เยาวภา วงศ์สวัสดิ์) มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2544 ที่ตระกูลบูรณุปกรณ์ และตระกูลชินวัตร ร่วมเป็นพันธมิตรทางการเมือง ใต้ร่มพรรคไทยรักไทย
(เจ๊แดง เป็นหนึ่งในคนที่มีอิทธิพลทางการเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ อดีต สส.เชียงใหม่ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และหัวหน้ากลุ่มวังบัวบาน เป็นภรรยาของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร และพี่สาวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
แต่ความขัดแย้งเริ่มต้นใน ปี 2562 หลัง บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ หลายสมัย นั้นเริ่มมีความใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐ นำไปสู่การแตกหักของ 2 ตระกูล ในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ เมื่อปลายปี 2563 ที่พรรคเพื่อไทยส่ง พิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ. คนปัจจุบัน แข่งกับ บุญเลิศ และเอาชนะไปได้ ส่งผลให้บุญเลิศหันหลังให้กับการเมืองท้องถิ่น และถือเป็นจุดแตกหักใหญ่ของตระกูลบูรณุปกรณ์และพรรคเพื่อไทยแบบที่เรียกได้ว่าหันมาจับมือกันได้ยาก
ความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกครั้งภายหลังตัวแทนจากบ้านบูรณุปกรณ์ที่หลายคนรู้จักคือ กุ้ง – ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ลูกพี่ลูกน้องกับนายกหน่อย ที่เลือกแตกหักกับพรรคเพื่อไทยอีกครั้งในปี 2566 หลังจากที่พรรคฯ ไปจับมือกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
นอกจากนี้ ทัศนีย์ คนจากตระกูลบูรณุปกรณ์ จะแตกหักกับพรรคเพื่อไทยแล้ว ก่อนหน้านี้ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ปี 2544 ตระกูลบูรณุปกรณ์ และตระกูลชินวัตร ร่วมเป็นพันธมิตรทางการเมือง ใต้ร่มธงไทยรักไทย กอดคอร่วมสู้ศึกเลือกตั้งทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ ปี 2562 ความหวาดระแวงในตัวบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ กรณีมีความใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐ นำไปสู่การแตกหักของ 2 ตระกูล ในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ เมื่อปลายปี 2563
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งนายกเทศบาลฯเชียงใหม่รอบนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางวาระที่การเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่กำลังจัดระเบียบใหม่ ส่งผลให้เกิดภาวะความไม่แน่นอนและการแย่งชิงอำนาจนำในหมู่บ้านใหญ่บ้านต่าง ๆ ในเชียงใหม่มาต่อเนื่อง กรณีการแย่งชิงการเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยระหว่างนายกหน่อย และผู้สมัครหน้าใหม่ อย่าง ปนันรัตน์ วิริยะกุลศานต์ เป็นภาพสะท้อนอย่างดีของสภาวะความไม่แน่นอนและการแย่งชิงอำนาจนำในหมู่บ้านใหญ่ทั้งหลาย

ปนันรัตน์ วิริยะกุลศานต์ – หยก ผู้สมัครหน้าใหม่ที่เคยสวมเสื้อพรรคเพื่อไทยหาเสียงอยู่ช่วงเวลาหนึ่งก่อนนายกหน่อยประกาศตัวเป็นตัวแทนทางการจากพรรคเพื่อไทย จนต้องหันมาหาเสียงในนาม “กลุ่มเพื่อเชียงใหม่” แทน เธอเป็นลูกสะใภ้อดีตรองนายก อบจ.เชียงใหม่ (เจ้ปุ้ย – วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับนายกก๊อง (พิชัย เลิศพงศ์อดิศร) นายก อบจ. เชียงใหม่คนปัจจุบัน อย่างไรก็ดี จากรายงานของสำนักข่าวคมชัดลึก ระบุว่าทั้งเจ้ปุ้ยและหยก ต่างไม่ใช่สายตรงหรืออยู่ในวงโคจรของเจ๊แดงแต่อย่างใด
ในขณะที่ผู้สมัครอีก 2 ท่าน คือ การย์วิชญ์ วงษ์ทอง จากพรรคก้าวอิสระ ประกาศจุดยืนสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ โดยมี กชพร เวโรจน์ หรือมาดามหยกเป็นหัวหน้าพรรคและให้การสนับสนุน อีกท่าน คือ จอห์น นพดล วศินสุนทร ผู้สมัครอิสระเพียงคนเดียว อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์และเคยลงสมัครเลือกตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เมื่อปี 2559
การเมืองที่เปลี่ยนไป นครลำปาง แชมป์เก่าหายไป คนใหม่เข้ามา

ในการเลือกตั้งระดับเทศบาลนครในภาคเหนือมีเพียงเทศบาลนครลำปางเท่านั้น ที่ไม่ปรากฏหน้าแชมป์เก่าจากการเลือกตั้งสมัยที่แล้วกลับมาลงแข่งขัน นอกจากนั้นยังเป็นเทศบาลนครที่มีผู้สมัครแข่งขันมากที่สุดในภาคเหนือด้วยเช่นกัน ประกอบด้วย เบอร์ 1 ณรงค์ พินธิสืบ สังกัด กลุ่มความสุขลำปาง เบอร์ 2 กิตติภูมิ นามวงค์ ลงสมัครในนามอิสระ เบอร์ 3 ปุณณสิน มณีนันทน์ จาก กลุ่มลำปางก้าวหน้า เบอร์ 4 อำนวย วรญาณกุล ตัวแทนจาก พรรคประชาชน เบอร์5 สุระโยธิน ธนะสุวัตถิ์ สังกัด กลุ่มลำปางสร้างสรรค์ และเบอร์ 6 กิตติ จิวะสันติการ จาก กลุ่มนครลำปาง

เริ่มต้นที่ผู้สมัครคนแรก ณรงค์ พินธิสืบ นักธุรกิจท้องถิ่นประจำเมืองลำปาง เป็นเจ้าของธุรกิจหลายประเภทไล่ตั้งแต่ร้านอาหาร โรงแรม ไปจนถึงบ้านจัดสรร ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในเขตพื้นที่เทศบาลนครลำปางทั้งสิ้น ณรงค์ประกาศตัวจะลงสมัครเลือกตั้งในตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2561 และผ่านสนามเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครลำปางมาแล้วครึ่งหนึ่งเมื่อปี 2564 แต่ก็ผ่ายแพ้ไปด้วยคะแนนลำดับที่ 4 จาก 5 คน การเลือกตั้งครั้งนี้เขายังกลับมาแข่งขันอีกครั้ง

เช่นเดียวกับ กิตติภูมิ นามวงค์ – หมอภูมิ ผู้สมัครอิสระ ที่กลับมาลงสมัครแข็งขันอีกครั้ง หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งไปเมื่อสมัยที่แล้วด้วยคะแนนอันดับสุดท้าย อย่างไรก็ตาม กิตติภูมิ ไม่ใช่หน้าใหม่สำหรับการเมืองท้องถิ่นลำปาง เขาเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครลำปางมาแล้วเมื่อปี 2555 และดำรงตำแหน่งมาต่อเนื่องถึงปี 2564 อันเนื่องมาจากนโยบายการแช่แข็งท้องถิ่นของ คสช.
อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของกิตติภูมิเมื่อครั้งปี 2555 เขาออกหาเสียงในนามกลุ่มภูมิลำปางมิใช่ในนามอิสระเช่นปัจจุบัน นอกจากนั้น ก่อนกิตติภูมิจะพ้นวาระได้มีเหตุขัดแย้งรุนแรงภายในเทศบาลนครลำปาง โดยเฉพาะกรณีสั่งชะลอจัดซื้อจัดจ้างทุกรายการก่อนพ้นวาระเมื่อต้นปี 2564 ซึ่งน่าจะส่งผลให้กิตติภูมิสูญเสียเครือข่ายทางการเมืองไปมาก แม้จะพยายามกลับมาลงสมัครในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีครั้งที่ผ่านมา แต่กลับได้รับคะแนนเป็นอันดับสุดท้าย

ผู้สมัครคนถัดมา คือ ปุณณสิน มณีนันทน์ เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่เคยลงสมัครในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว แม้จะผ่ายแพ้ไปแต่คะแนนของเขาก็อยู่ในอันดับที่ 2 และคะแนนห่างกับผู้ชนะประมาณ 900 คะแนนเท่านั้น สำหรับประวัติส่วนตัวของปุณณสิน เขาเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการหอการค้าจังหวัดลำปาง จึงมีความเป็นได้สูงที่เขาจะมีความสัมพันธ์อันดีกับผผู้ประกอบการหลายคนในจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองลำปาง นอกจากนั้นตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในหอการค้าจังหวัดลำปาง เขามักเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานรัฐหลากหลายหน่วยงาน ก่อนจะประกาศตัวเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกเทศบาล

ต่อมาคือ อำนวย วรญาณกุล ผู้สมัครนายกเทศมนตรีสังกัดพรรคประชาชน และนับเป็นผู้สมัครคนแรกของพรรคส้มในการเลือกตั้งเทศบาลนครลำปาง เนื่องจากในการเลือกตั้งเมื่อครั้งปี 2564 คณะก้าวหน้ามิได้ส่งผู้สมัครลงชิงขัย แต่ชื่อ อำนวย วรญาณกุล ก็มิใช่ชื่อที่คนลำปางจะไม่คุ้นเคย เขาเคยดำรงตำแหน่ง ส.อบจ.ลำปาง อำเภอเมือง เขต 2 มาก่อนหน้าจะกระโดดลงชิงชัยในสนามการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีฯ ลำปางรอบนี้
ในส่วนประวัติส่วนตัวของอำนวยเขาจบปริญาโทและเอกในสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรมจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยตามลำดับ โดยหัวข้อการวิจัยทั้งระดับโทและเอกต่างศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว-ชุมชนในจังหวัดลำปางทั้งสิ้น

สุระโยธิน ธนะสุวัตถิ์ ผู้สมัครหน้าใหม่ในการเลือกตั้งรอบนี้และลงพื้นที่หาเสียงในนามกลุ่มลำปางสร้างสรรค์ เขาเป็นหนึ่งในผู้บริหารและเจ้าของ JJ Park โครงการพัฒนาอสัหาริมทรัพย์ในพื้นที่อำเภอเมืองลำปาง และยังประกอบธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ ร้านซูชิ หรือสถาบันสอนภาษาต่างประเทศและคอมพิวเตอร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองลำปาง เช่นเดียวกับผู้สมัครคนก่อนหน้า สุระโยธิน แม้จะเพิ่งลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งเทศบาลฯลำปางเป็นครั้งแรก แต่เขาก็มิใช่คนไกลการเมืองท้องถิ่นลำปางแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้ลูกชายของเขา บุญธฤต ธนะสุวัตถิ์ ก็เพิ่งชนะการเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่ง ส.อบจ.ลำปาง อำเภอเมืองเขต 1 เป็นสมัยที่สองไปเมื่อต้นปี
นอกจากนั้น ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ สุระโยธิน จะมีความใกล้ชิดกับนักการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายสัมพันธ์ที่เขามีต่อนักการเมืองใน อบจ.ลำปาง เนื่องจากภรรยาของเขา (นพวรรณ ธนะสุวัตถิ์) เคยเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูก ปปช. กล่าวหาในคดีทุจริตการขุดคลอกลำน้ำของ อบจ.ลำปางร่วมกับจำเลยอีก 9 ราย หนึ่งในนั้นคือ อดีตนายก อบจ.ลำปาง (สุนี สุขประสงค์ดี)

ผู้สมัครคนสุดท้าย คือ กิตติ จิวะสันติการ อดีตรองนายกเทศมนตรีนครลำปาง และอดีตสมาชิกเทศบาลหลายสมัย ในการเลือกตั้งครั้งนี้กิตติเข้ามารับหน้าที่นำทัพการเลือกตั้งเทศบาลแทน นิมิตร จิวะสันติการ ผู้แชมป์เก่าที่ครั้งนี้วางมือจากตำแหน่งส่งต่อหน้าที่ให้หลายชายอย่างกิตติเป็นผู้สานงานการเมืองต่อ กิตติวนเวียนอยู่ในการเมืองท้องถิ่นลำปางมาตั้งแต่ปี 2548 ในตำแหน่งสมาชิกเทศบาล (สท.) ก่อนจะค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสภาเทศบาล และรองนายกเทศมนตรีตามลำดับ
ประวัติส่วนของกิตติตามคำให้สัมภาษณ์ของเขา กิตติจบการศึกษาด้านวิศวกรรมมาก่อนจะได้รับเลือกตั้งเป็น สท. ส่งผลให้เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีฯ เขารับผิดชอบดูแลกองการช่างและกองสวัสดิการสังคม
จากรายชื่อ นามสกุล และประวัติส่วนตัวของผู้สมัครตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครลำปางทั้ง 6 คน จะเห็นทุกคนต่าง “มีของ” และเครือข่ายทางการเมืองในมือทั้งสิ้น น่าจะส่งผลให้การเลือกตั้งในพื้นที่เทศบาลนครลำปางมีความคึกคักมิใช่น้อย
นครแม่สอด แข่งกันในบ้านเลือกในบ้าน ใครจะอยู่ใครจะไป

แม่สอดเป็นอีกหนึ่งเทศบาลนครที่บรรยากาศการเลือกตั้งมีความคึกคัก ปรากฏผู้สมัครแข่งขันตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครแม่สอดทั้งสิ้น 5 คน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครแม่สอดมีผู้สมัครชิงชัยมากขนาดนี้ ประกอบด้วย เบอร์ 1 กุล เครือวีระ จากกลุ่มแม่สอดก้าวหน้า เบอร์ 2 ประเสริฐ ปวงละคร สังกัดกลุ่มคนรักแม่สอด เบอร์ 3 ณัฐพล กิจศักดาภาพ ตัวแทนจากพรรคประชาชน เบอร์ 4 เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ จากกลุ่มพัฒนานครแม่สอด และ เบอร์ 5 ถิรยุทธ ฉันติกุล ผู้สมัครอิสระ

เริ่มต้นที่ กุล เครือวีระ – รองเบิ้ม อดีตรองนายกเทศมนตรีนครแม่สอดชุดล่าสุดที่เพิ่งหมดวาระไป ในการเลือกตั้งเทศบาลฯแม่สอดรอบนี้รองเบิ้มแยกตัวออกมาลงสมัครขอชิงชัยด้วยตัวเองภายใต้สังกัดกลุ่มแม่สอดก้าวหน้า รองเบิ้มแลดูมีความใกล้ชิดกับ สส.ปั้น – ภาคภูมิ บูลย์ประมุข สส.ตาก เขต 3 ในขณะที่เครือข่ายทางการเมืองของรองเบิ้มยังไม่ปรากฎชัดเจนมากนัก เนื่องจากทีมงานและผู้สมัคร สท. ในนามกลุ่มแม่สอดก้าวหน้าต่างเป็นหน้าใหม่ทางการเมืองท้องถิ่นสิ้น ทั้งที่รองเบิ้มเคยดำรงตำแหน่งทั้งรองนายกและประทานสภาเทศบาลฯแม่สอด

ในขณะที่ ประเสริฐ ปวงละคร – นายกเสริฐ แชมป์เก่าจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วและอดีต สท.แม่สอดหลายสมัย กลับมาลงสนามแข่งขันอีกครั้งพร้อมทีม สท. ชุดเก่าหลายคนในนามกลุ่มคนรักแม่สอด แต่เดิมนายกเสริฐก็เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองเสริฐ รองนายกเทศมนตรีในทีมของ นายกฟอ ก่อนทั้งคู่จะแตกหักกันจนประเสริฐถูกปลดออกจากตำแหน่ง ภายหลังจึงได้นำทีมคนรักแม่สอดกลับมาแข่งขันกับทีมของนายกฟอ ในสนามเลือกตั้งเทศบาลฯแม่สอดเมื่อปี 2564 และสามารถกุมชัยชนะเหนืออดีตนายกไปได้ด้วยคะแนนที่มากกว่าเท่าตัว

ผู้สมัครคนต่อมา คือ เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ – นายกฟอ อดีตนายกเทศมนตรีแม่สอดหลายสมัย ในการเลือกตั้งครั้งนี้เขายังคงกลับมาลงสมัครชิงชัยอีกครั้ง โดยยังคงหาเสียงในนามกลุ่มพัฒนานครแม่สอดนายกฟอ ถือว่าเป็นคนเก่าคนแก่ของการเมืองท้องถิ่นแม่สอดเลยก็ว่าได้ เนื่องจากได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศบาลตั้งแต่ปี 2537 ในขณะนั้นเทศบาลแม่สอดยังมีสถานเป็นเพียงเทศบาลตำบล ก่อนจะได้รับการยกระดับเป็นเทศบาลเมือง และเทศบาลนครตามลำดับ โดยตลอดระยะเวลา นายกฟอ ครองชัยชนะในสนามเทศบาลฯแม่สอดตลอดมา เห็นจะมีเพียงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเท่านั้นที่ นายกฟอ ประสบกับความพ่ายแพ้

ต่อมาคือ ผู้สมัครจากพรรคประชาชน ณัฐพล กิจศักดาภาพ – ผู้ช่วยอู๋ อดีตผู้ช่วย สส.ปอนด์ (รัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ) สส.ตาก เขต 2 โดยสนามนายกเทศบาลฯแม่สอดจะถือเป็นสนามการเมืองแรกของผู้ช่วยอู๋ และครั้งแรกของพรรคส้มในสนามการเมืองท้องถิ่นแม่สอดเช่นกัน

ผู้สมัครคนสุดท้ายคือ ถิรยุทธ ฉันติกุล – รองชอก อดีตรองนายกเทศมนตรีฯแม่สอดในทีมของ นายกฟอ ก่อนหน้าประเสริฐ (นายกเสริฐ) ในการเลือกตั้งครั้งนี้รองชอกบินเดียวกลับเข้าสู่สนามการเมืองเทศบาลในนามอิสระ
จากข้อมูลผู้สมัคร 4 จาก 5 คน เราจะเห็นว่าเป็นนักการเมืองหน้าเก่าในแม่สอดเกือบทั้งหมด และทุกคนล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์กับ ดร.ฟอ อดีตนายกเทศบาลมนตรีหลายสมัย แต่ ดร.ฟอ เองก็สูญเสียฐานคะแนนไปมากจากการเลือกตั้งรอบที่แล้ว จึงเสมือนเป็นการเปิดทางให้นักการเมืองหน้าเก่าหลายคนที่ลาวงการไปแล้วกลับเข้ามาลองแข่งขันในสนามเทศบาลแม่สอดแห่งนี้อีกครั้ง ขณะเดียวกันพรรคประชาชนแลดูจะมุ่งหวังฐานคะแนนเดิมของตนที่เพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด
ท้าชนอดีตเจ้านาย บ้านใหญ่สู้พรรคใหม่ ใครจะยึดนครนครสวรรค์

สนามการเลือกตั้งเทศบาลนครเมืองปากน้ำโพรอบนี้มีผู้สมัครลงแข่งขันมีเพียง 2 รายได้ ได้แก่ เบอร์ 1 วรวุฒิ ตันวิสุทธิ์ สังกัดพรรคประชาชน และเบอร์ 2 จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ จากทีมพัฒนาบ้านเมือง

นครสวรรค์เป็นพื้นที่ที่สำคัญที่พรรคประชาชนมุ่งหวังที่จะตีแตกให้ได้ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เทศบาลนครนครสวรรค์ที่ล่าสุดก็เพิ่งได้ สส. พรรคส้มคนแรกในพื้นที่ ในครั้งนี้พรรคประชาชนตัดสินใจส่ง วรวุฒิ ตันวิสุทธิ์ – เฮียซัว อดีตรองนายกเทศมนตรีฯนครสวรรค์ภายใต้ทีมบริหารของ จิตตเกษมณ์ ผู้สมัครอีกคน แต่ครั้งนี้เฮียซัวเลือกแยกตัวมาลงแข่งขันตำแหน่งนายกเทศมนตรีฯ หลังปล่อยให้ตระกูลนิโรจน์ครองความยิ่งใหญ่ในพื้นที่เมืองสี่แควมายาวนาน
เฮียซัว ได้ร่วมหาเสียงกับพรรคประชาชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา และเปิดตัวเป็นผู้สมัครนายกเล็กนครสวรรค์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง โดยที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าและผู้นำจิตวิญญาณสีส้มเดินทางมาเปิดตัวเฮียซัวด้วยตัวเอง สำนักข่าวคมชัดลึกตั้งข้อสังเกตว่าธนาธรแลดูจะมีความสนใจและมุ่งหวังจะตีตลาดการเมืองท้องถิ่นปากน้ำโพอย่างมาก เห็นได้จากการเอ่ยถึงความฝันในการพัฒนาตัวเมืองนครสวรรค์อยู่หลายครั้งในหลายโอกาส
อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครคนที่เฮียต้องต่อกรด้วยคือ จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ – นายกตูม อดีตแชมป์เก่าและอดีตนายกเทศมนตรีฯนครสวรรค์ 4 สมัย นายกตูมเข้าสู่การเมืองท้องถิ่นตั้งแต่ 2535 ในตำแหน่ง สจ.นครสวรรค์ ก่อนจะมุ่งเป้ามาเอาดีในการเมืองเทศบาลฯนครสวรรค์ เริ่มต้นจากตำแหน่ง สท. เมื่อปี 2538 จากนั้นจึงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีฯนครสวรรค์ในปี 2547 และครองตำแหน่งมาอย่างยาวนาน กระทั่งในการเลือกตั้งรอบนี้นายกตูมก็ยังคงกลับมาลงแข่งในนาม ทีมพัฒนาบ้านเมือง

ตระกูลนิโรจน์ ของนายกตูมถือได้ว่าเป็นบ้านใหญ่ประจำอำเภอเมืองนครสวรรค์ โดยเริ่มต้นจากการประกอบกิจการค้าขายของ ถาวร นิโรจน์ (บิดานายกตูม) ในตลาดปากน้ำโพ ก่อนที่ก่อร่างสร้างตัวจากกิจการฟาร์มไก่ “ถาวรฟาร์ม” ร่วมกับการได้สิทธิสัมปทานรถโดยสารทั่วภาคเหนือ ส่งผลให้ตระกูลนิโรจน์เถลิงความยิ่งใหญ่ทางการเมืองในพื้นที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ และผูกขาดตำแหน่งนายกเทศบาลมาอย่างยาวนาน
นอกจากนั้น ยังเคยมีสมาชิกของตระกูลอย่าง ภิญโญ นิโรจน์ ดำรงตำแหน่งเป็น สส. นครสวรรค์เขตอำเอเมือง อย่างไรก็ดีในการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา ตระกูลนิโรจน์กลับพ่ายแพ้ผู้สมัครหน้าใหญ่จากพรรคก้าวไกล ส่งผลให้บ้านใหญ่หลายบ้านต้องมีการปรับตัว อาทิ การปรับเปลี่ยนขบวนการหาเสียงเลือกตั้ง อบจ.นครสวรรค์ ที่เพิ่งผ่านไป กลุ่มพัฒนาบ้านเมืองและกลุ่มนครสวรรค์บ้านเราได้จับมือกัน ตั้งกลุ่มใหม่ชื่อ พัฒนานครสวรรค์บ้านเรา ลงหาเสียงในสนาม อบจ. แต่ในสนามเทศบาลนครนครสวรรค์รอบนี้ ทีมของนายกตูมยังคงหาเสียงให้ชื่อทีมพัฒนาบ้านเมืองตามเดิม
อ้างอิง
- Thai PBS. (6 พฤษภาคม 2555). “วันชัย” ชนะเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเชียงราย โค่นแชมป์เก่าจากสายเพื่อไทย. ใน Thai PBS. https://www.thaipbs.or.th/news/content/83226
- คมชัดลึก. (8 มกราคม 2568). เกม ย.ย. “สลักจฤฎดิ์” สุดคึก “อบจ.เชียงราย” จงสุทธานามณี ลับลวง. ใน คมชัดลึก. https://www.komchadluek.net/blogs/scoop/thong-yuttaphop/595415
- คมชัดลึก. (11 มีนาคม 2568). ศึกนครเชียงใหม่ “อัศนี” บ้านใหญ่ “บูรณุปกรณ์” สายเจ๊ กดดัน ปนันรัตน์ ถอดเสื้อแดง. ใน คมชัดลึก. https://www.komchadluek.net/scoop/thong-yuttaphop/599083
- คมชัดลึก. (18 เมษายน 2568). ศึกสี่แคว “ธนาธร” ฝันเทศบาลสีส้มล้ม “จิตตเกษมณ์” สะท้านบ้านใหญ่ปากน้ำโพ. ใน คมชัดลึก. https://www.komchadluek.net/scoop/thong-yuttaphop/600960
- จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ. (15 กุมภาพันธ์ 2564). แนะนำผู้สมัคร นายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครสวรรค์ เบอร์ 2. https://www.facebook.com /jittahkasem/posts/-แนะนำผู้สมัคร-นายกเทศมนตรี-เทศบาลนครนครสวรรค์-เบอร์-2ชื่อ-นายจิตตเกษมณ์-นิโรจน์/5403813326358408/
- THE STANDARD TEAM. (31 มีนาคม 2568). การเมืองเดินหน้าตามวาระ บรรยากาศรับสมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่คึกคัก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ร่วมให้กำลังใจผู้สมัคร. ใน The Standard. https://thestandard.co/chiang-mai-mayor-election-candidate-registration/
- ประชา บูรพาวิถี. (28 กรกฎาคม 2567). “บูรณุปกรณ์” บนทางแยก เลือกหนทาง “ชินวัตร-ก้าวไกล”. ใน กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/politics/1137685
- ฐานเศรษฐกิจ. (2 ตุลาคม 2567). เพื่อไทย ดัน “หยก ปนันรัตน์” สู้เลือกตั้งนายกเล็กเชียงใหม่. ใน ฐานเศรษฐกิจ. https://www.thansettakij.com/politics/608325
- ผู้จัดการออนไลน์. (19 มีนาคม 2568). “อัศนี บูรณุปกรณ์” เปิดตัวทางการ ประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเล็กนครเชียงใหม่รักษาแชมป์ในนามพรรคเพื่อไทย. ใน ผู้จัดการออนไลน์. https://mgronline.com/local/detail/9680000026379
- ผู้จัดการออนไลน์. (31 กันยายน 2563). ระส่ำหนัก! นายกเล็กนครลำปางสั่งชะลอจัดจ้างทุกรายการแม้แต่ค่าสูบส้วม ของบจ่าย กฟภ.ย้ายสายไฟลงดิน. ใน ผู้จัดการออนไลน์. https://mgronline.com/local/detail/9630000093126
- ว่าที่ร้อยตรี ดร.จอห์นนพดล วศินสุนทร. https://www.facebook.com/johnnopadon.vasinsunthon.2024
- แนวหน้า. (31 มีนาคม 2568). สนามเลือกตั้ง ‘เทศบาลนครเชียงราย’ 2 ขั้วสมัครคึกคักวันแรก!. ในแนวหน้า. https://www.naewna.com/local/873788
- หอการค้าจังหวัดลำปาง. https://www.thaifranchisecenter.com/links/show.php?id=285
- ประทีป นันทะผาบ. (7 มีนาคม 2568). “สุระโยธิน ธนะสุวัตถิ์ หัวหน้ากลุ่มลำปางสร้างสรรค์ เปิดตัวชิงนายกเทศมนตรีนครลำปาง ชูสโลแกนขอเป็นนายกฯ 24 ชั่วโมง. ใน 77ข่าวดี. https://www.77kaoded.com/news/prateep/21345
- มติชนออนไลน์. (6 กันยายน 2566). ศาลสั่งจำคุกอดีตนายก อบจ.ลำปาง 116 ปี คดีทุจริต จ้างเหมาขุดลอกลำน้ำ เสียหาย 100 ล้านบาท. ใน มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/politics/news_4165528
- เทศบาลนครแม่สอด. (29 มีนาคม 2568). ทน.แม่สอด นับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีนครแม่สอด (อย่างไม่เป็นทางการ). ใน เทศบาลนครแม่สอด. https://www.nakhonmaesotcity.go.th/webs/th/grouppage/2/detail-news/N0004529.html
- ฐานเศรษฐกิจ. (13 เมษายน 2564). ลมเปลี่ยนทิศพิสูจน์นายกเสริฐ ฝีมือพัฒนา‘นครแม่สอด’. ใน ฐานเศรษฐกิจ. https://www.thansettakij.com/business/475613
- สยามรัฐ. (9 เมษายน 2568). สนามการเมืองคึกคัก ผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครแม่สอดเปิดศึกยกแรก. ใน สยามรัฐออนไลน์. https://siamrath.co.th/n/613926
- สยามรัฐ. (19 เมษายน 2568). “สส.ปอนด์” ขี่รถมอไซค์พ่วงข้าง พา “ผช.อู๋” ผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครแม่สอด เบอร์ 3 พรรคประชาชน อ้อนขอคะแนนเสียงจากชาวชุมชน. ใน สยามรัฐออนไลน์. https://siamrath.co.th/n/616119
- ผู้นำท้องถิ่น. (9 มีนาคม 2564). “เทอดเกียรติ ชินสรนันท์” นายกตลอดกาลนครแม่สอด พ่ายเลือกตั้ง!. ใน ผู้นำท้องถิ่น online. https://poonamtongtin.com /เทอดเกียรติ-ชินสรนันท์/
- อปท. นิวส์. (29 มีนาคม 2564). ผลคะแนนการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครลำปาง อย่างไม่เป็นทางการ. ใน อปท. นิวส์. https://www.opt-news.com/news/16666

ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย
เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ