ละลานล้านนา: ล้านนายาสูบ ประวัติศาสตร์ ‘มูลี’ ใต้ม่านควันพ่อเลี้ยงและการเมืองล้านนา 

เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล

ยาสูบและสังคมล้านนาสัมพันธ์กันมายาวนาน ทั้งในมิติทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง ด้วยเพราะคนล้านนารู้จักใช้ประโยชน์จากยาสูบมาตั้งแต่ในอดีต  

ในทางวัฒนธรรม คนล้านนานิยมนำยาสูบทำเป็น ‘มูลี’ (บุหรี่) คือมวนยาสูบด้วยใบตอง ใบจาก กระดาษ แล้วพกไปสูบขณะทำไร่ทำสวน เพื่อใช้ควันยาสูบขับไล่ยุงและแมลงไม่ให้มารบกวน หรือนำไปใช้ในงานพิธีต่างๆ เช่น การเลี้ยงผี การขึ้นท้าวทั้งสี่ การสืบชะตาสะเดาะเคราะห์ หรือจะเป็นการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวที่การขอต่อมูลีกันสามารถสร้างความคุ้นเคย และก่อให้เกิดสัมพันธภาพอันดีในเวลาต่อมาได้

ทางด้านเศรษฐกิจ คนล้านนาจำนวนมากได้รับผลประโยชน์จำนวนมากจากยาสูบ โดยเฉพาะในช่วงหลังทศวรรษ 2480 ที่รัฐได้รวบเอากิจการยาสูบที่เคยเป็นของบริษัทต่างชาติเข้ามาดำเนินงานเอง และได้ให้ความสำคัญกับการรับซื้อใบยาสูบภายในประเทศเป็นหลัก ดังที่ คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวไว้ถึงผลประประกอบการอันน่าประทับใจของการทำยาสูบใน จ.แพร่ ไว้ว่า “ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนบ้านจากเรือนมุงคาฝาแฝกมาเป็นเรือนฝากระดานหลังคามุงกระเบื้อง มีจักรยานให้ลูกขี่ไปโรงเรียน และที่สำคัญที่สุด ได้ทำให้หนี้เก่าซึ่งมีรุงรังเมื่อครั้งยังทำนาแต่อย่างเดียวนั้นได้หมดไป”   

ส่วนในทางการเมือง ยาสูบได้ทำให้คนล้านนากลุ่มหนึ่งได้เลื่อนชนชั้นและฐานะพร้อมกับมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น บ้างก็ได้เป็น ‘พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง’ คือมีอำนาจทางเศรษฐกิจ และบ้างก็ได้ชื่อว่าเป็น ‘เจ้าพ่อ’ คือมีทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและบทบาทในทางการเมือง เช่น ‘ณรงค์ วงศ์สุวรรณ’ พ่อเลี้ยงเมืองแพร่และนักการเมืองคนสำคัญในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 

ดังนั้นแล้ว เรื่องราวของกิจการยาสูบในภาคเหนือควรที่จึงควรที่จะได้นำมาเล่าสู่กันฟัง เพราะถือได้ว่ามีความน่าสนใจไม่แพ้กับเรื่องราวของกิจการป่าไม้

1.สังคมล้านนากับยาสูบ: การเข้ามาของ ‘เวอร์จิเนีย’

คนล้านนากับยาสูบมีความผูกพันกันมายาวนานนับร้อยๆ ปี  อ้างอิงได้จากภาพวาดหนุ่มสาวชาวล้านนาที่สูบมูลีกันอย่างม่วนอ๋ก ม่วนใจ๋ ในงานจิตรกรรมฝาผนังของวัดสำคัญๆ อาทิ วัดภูมินทร์ จ.น่าน และวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่

หนุ่มสาวชาวล้านนาสูบมูลี วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม 

การเสพใบยาสูบเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมล้านนา โดยยุคแรกๆ ยาสูบที่นิยมใช้กันในล้านนาจะเป็นพันธุ์พื้นเมืองหรือที่เรียกกันว่า “ยาเมือง” เป็นยาสูบใบหนาและมีรสฉุนกว่ายาสูบที่นำเข้าจากเมืองนอก ซึ่งยาเมืองนี้ก็จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่ที่มาของยาสูบ เช่น ยาปง หรือยาป๋ง จาก อ.ปง จ.พะเยา, ยาช่อแล จาก ต.ช่อแล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, ยาแพล่ จาก จ.แพร่, ยาสอง จาก อ.สอง จ.แพร่ เป็นต้น  

ทั้งนี้ มีข้อมูลปรากฏว่ายาสองคือยาสูบพื้นเมืองล้านนาชื่อดังและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ไม่เว้นกระทั่งข้าราชการชาวสยาม เช่น พระยาศึกษาสมบูรณ์ (มล.แหยม อินทรางกูร) ข้าราชการสยามได้ไปตรวจราชการที่เมืองแพร่ ในปี พ.ศ. 2455 และได้ทดลองสูบยาสอง ถึงกับออกปากว่าเป็นยาสูบที่รสชาติดีและมีกลิ่นหอม

นอกเหนือจากพันธุ์ยาสูบแล้ว ชาวล้านนายังแยกประเภทของยาสูบออกเป็น 2 ประเภท ซึ่งเกณฑ์การแบ่งคือความฉุนของใบยา ได้แก่ “ยาขื่น” คือ ยาสูบชนิดฉุน และ “ยาจางหรือยาจ๋าง” คือยาสูบชนิดจืด โดยชาวล้านนาจะถือว่ายาจางหรือยาจ๋างเป็นของเด็ก ขณะที่ยาขื่นจะเป็นของหนุ่มสาว และหากเป็นของผู้สูงวัย ก็จะเป็นยาที่ขื่นมากขึ้นไปเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ดี ภาพของยาสูบพื้นบ้านล้านนาค่อยๆ เลือนหายไป ในช่วงทศวรรษ 2470 เนื่องด้วยรัฐบาลสยามได้ดำเนินการขยายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมออกไปยังส่วนภูมิภาค รวมถึงที่มณฑลพายัพ มีการก่อตั้งโรงเรียนดังกล่าวขึ้นที่บริเวณ ‘ดงแม่โจ้’ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และมีครูใหญ่คนแรกคือ พระช่วงเกษตรศิลปากร (ช่วง โลจายะ)

โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม แม่โจ้ ที่มา: MAEJO UNIVERSITY ARCHIVES

จุดมุ่งหมายในการก่อสร้างโรงเรียนก็เพื่อให้เป็นที่ฝึกหัดครู และเป็นพื้นที่ทดลองการปลูกพืชชนิดใหม่ โดยทำงานร่วมกับสถานีทดลองกสิกรรมของกรมเกษตร ซึ่งผลลัพธ์อย่างหนึ่งของการก่อตั้งโรงเรียนครั้งนั้นคือ ได้มีการนำเข้าและทดลองเพาะ ‘เวอร์จิเนีย’ ยาสูบสายพันธุ์มาจากอเมริกาขึ้นในภาคเหนือ ซึ่งได้นับว่าเป็นการเหยียบย่างสู่ดินแดนล้านนาอย่างเป็นทางการของยาสูบสายพันธุ์ดังกล่าว

การทดลองเพาะปลูกใบยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียในครั้งนั้น ดำเนินการโดย หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ ผู้ริเริ่มนำรถแทรกเตอร์มาใช้เป็นคนแรก หรือที่อาจจะรู้จักกันทั่วไปในฐานะผู้ให้กำเนิด ‘แตงโมบางเบิด’

การทำไร่ยาสูบ ‘เวอร์จิเนีย’ ในอดีตของอเมริกา ที่มา: https://nemiroffusa.com/virginia-tobacco 

ต่อมาในปี 2477 บริษัท บี.เอ.ที  บริษัทยาสูบต่างชาติที่มีโรงงานในไทย ได้เริ่มทดลองเพาะปลูกและบ่มใบยาสูบเวอร์จิเนียขึ้นบ้าง ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ก่อนจะขยายออกไปยัง จ.เชียงราย เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าใบยาสูบจากต่างประเทศ ในระยะนั้น กิจการยาสูบของต่างชาติเจริญเฟื่องฟู มีผลกำไรเฉลี่ยได้มากถึงร้อยละ 35 โรงงานจึงมีความต้องการใบยาสูบมากขึ้น ซึ่งจุดนี้เองที่ส่งผลให้คหบดีในล้านนาจำนวนหนึ่งริ่มสนใจในกิจการยาสูบ กล่าวคือ สนใจที่จะทำไร่ยาสูบเวอร์จิเนีย รวมไปถึงทำโรงคัดแยกและโรงบ่มเพาะใบยา แล้วขายผลผลิตให้แก่ให้โรงงานนั่นเอง

กรรมวิธีการปลูก เก็บเกี่ยว และการบ่มยาสูบเวอร์จิเนีย

การปลูกยาสูบเวอร์จิเนียมักเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน จึงมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยใบยาสูบ 2 ใบแรกจะถูกเด็ดทิ้ง และจะเริ่มเก็บที่ใบยาสูบใบที่ 3 ขึ้นไป ซึ่งเมื่อนำไปบ่มแล้วก็จะมีชื่อเรียกที่ต่างกันไป คือยาสูบใบที่ 3 เรียกว่า ‘ยาตี๋น’ ยาสูบใบที่ 4 – 5 เรียกว่า ‘ยาก๋าง’ หรือ ‘ยาจ๋าง’ จะมีกลิ่นไม่ฉุนมากและรสชาติดีกว่ายาตี๋น ส่วนใบที่เหลือจะเรียกว่า ‘ยาป๋าย’

ส่วนของกรรมวิธีการปลูกยาสูบ จะเริ่มจากการเตรียมดิน การจัดหา ‘ลูกยา’ หรือยาสูบต้นเล็กๆ เพื่อนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ จากนั้นก็ดูแลต่อไปจนกระทั่งใบยาสูบแก่พอที่จะหักได้แล้วก็นำมาบ่มให้สุกได้ที่ หั่นเส้นฝอย นำไปตากแดดไว้อีกหลายวัน ก่อนจะรวบรวมเป็นตั้งยาสูบ ห่อ และนำไปขาย

ในส่วนของการบ่มใบยาก็มีกระบวนการผลิตหลายขั้นตอนเช่นกัน โดยจะเริ่มตั้งแต่การเกี่ยวหรือเสียบใบยาศุบเข้ากับไม้ราว แล้วนำไปบรรจุเข้าเตาบ่ม ซึ่งต้องมีการควบคุมอุณหภูมิมิให้ดี จากนั้นจึงจะนำมากคัดแยกแล้วอัดหีบห่อ ก่อนจะส่งขายให้โรงงานยาสูบต่อไป ซึ่งในขั้นตอนการบ่มนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะอาศัยใช้แรงงานผู้มีทักษะเฉพาะ โดยเฉพาะทักษะการควบคุมอุณหภูมิและการคัดแยกสีของใบยาสูบ 

2.เศรษฐกิจล้านนากับยาสูบ: นายทุนและชาวไร่ยาสูบ

ในช่วงทศวรรษ 2480 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายกีดกันการค้าต่างชาติเป็นนโยบายหลักของ ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลก็ได้เล็งเห็นว่ากิจการยาสูบและธุรกิจบุหรี่ของไทยกระทำโดยชาวต่างชาติเป็นหลัก ดังั้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของตน จึงได้เข้าควบคุมกิจการดังกล่าว โดยมีกระบวนการคือ

– ปี 2481 ออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับแรก 

– ปี 2483 รัฐทยอยซื้อโรงงานยาสูบต่างชาติและจัดตั้ง “กองยาสูบ” เพื่อบริหารกิจการ ที่ต่อมาคือ ‘โรงงานยาสูบ’

– ปี 2486 ออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับที่ 2 โดยผูกขาดกิจการยาสูบเป็นของรัฐทั้งหมด และเริ่มอบรมวิธีการทำไร่ยาสูบให้แก่ผู้ที่สนใจ 

ด้วยการดำเนินนโยบายและการเข้าควบคุมกิจการยาสูบของรัฐบาล เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้กิจการยาสูบเจริญเฟื่องฟูมากขึ้นในดินแดนล้านนา ก่อให้เกิดการทำแปลงเพาะปลูกยาสูบเวอร์จิเวียร์ไปทั่วภาคเหนือ รวมถึงมีการก่อสร้างโรงคัดแยกใบยาและโรงบ่มใบยาขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.แพร่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาสูบขนาดใหญ่ของภูมิภาค และเนื่องจากการทำยาสูบมีหลายขั้นตอนและกระบวนการ ดังนั้นจึงส่งผลให้ชาวล้านนาจำนวนนับหมื่นๆ คนได้เข้ามาเป็นแรงงานในกิจการยาสูบ

นายทุนยาสูบ

กล่าวไว้แล้วว่าคหบดีล้านนาเริ่มสนใจทำกิจการยาสูบตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2470 โดยได้ทวีความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเกิดแปลงยาสูบ โรงคัดแยกใบยา และโรงบ่มยาสูบ ขึ้นทั่วไป และบางส่วนก็หลงเหลือมาให้พบเห็นได้ในปัจจุบัน

ในการศึกษาของ ศรธนา วังสาร และชาติชาย มุกสง ระบุว่าบรรดานายทุนยาสูบที่ประกอบกิจการในภาคเหนือ สามารถจำแนกโดยใช้ ‘ภูมิหลัง’ เป็นเกณฑ์ ได้ 2 กลุ่ม คือ 

1.กลุ่มนายทุนป่าไม้ คือ กลุ่มที่เป็นอดีตพนักงานบริษัทป่าไม้ผู้เคยทำงานกับนายจ้างชาวต่างชาติ และได้ผันตัวมาทำกิจการยาสูบ อาทิ แสน วงศ์วรรณ พ่อเลี้ยงยาสูบเมืองแพร่ ผู้เคยประกอบกิจการป่าไม้ร่วมกับ บริษัท อีสต์ เอเชียติ๊ก จำกัด และเจ้าของกิจการโรงเลื่อยเทพวงศ์ ใน อ.เด่นชัย ช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะขยับมาทำกิจการยาสูบในพื้นที่ จ.แพร่ ในนามของบริษัท เทพวงศ์ จำกัด และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก

2.กลุ่มพ่อค้าและข้าราชการ คือ กลุ่มคหบดีและข้าราชการที่หันมาสนใจและลงทุนในกิจการยาสูบ เช่น ชื่น สิโรรส อดีตศึกษาธิการ อ.แม่ริม และครูใหญ่คนแรกของโรงฝึกหัดครูหรือวิทยาลัยครูเชียงใหม่ ผู้เป็นเจ้าของบริษัทแม่ปิงยาสูบ ดูแลกิจการโรงบ่มยาสูบขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ริมถนนสายเชียงใหม่ – ฮอด ซึ่งประกอบด้วยอาคารบ่มทั้งสิ้น 35 หลัง และเพิ่มขึ้นเป็น 50 หลัง ในช่วงหลังปี 2529 ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ฟาร์มทุ่งเสี้ยว จำกัด ก่อนจะมีการยุติกิจการบ่มใบยาสูบอย่างถาวรในปี  2538 และได้รับการปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นกิจการโรงแรม ‘เก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท’ 

อนึ่ง จะขอกล่าวให้ชัดเจนว่ากิจการยาสูบของบรรดานายทุนนี้ หมายถึง กิจการโรงบ่มใบยาสูบเป็นสำคัญ

ชื่น สิโรรส เจ้าของบริษัทแม่ปิงยาสูบ ที่มา: หนังสือชีวประวัติ นายชื่น สิโรรส

ชาวไร่ยาสูบ

ชาวไร่ยาสูบถือเป็นกำลังสำคัญในกิจการยาสูบของทุกพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกหรือประกอบกิจการยาสูบ ไม่เฉพาะแค่ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งสามารถจำแนกออกโดยใช้ ‘สถานะ’ หรือหน้าที่เป็นเกณฑ์ได้ 2 กลุ่ม คือ

1.ชาวไร่ยาสูบที่เป็นแรงงาน เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมาก เนื่องจากหมายรวมทั้งผู้ทำงานในแปลงเพาะปลูกใบยา เป็นผู้คัดแยกใบยาสูบในโรงคัดแยก และเป็นผู้ขนส่ง บรรจุ และควบคุมอุณหภูมิในโรงบ่มใบยาสูบ  โดยส่วนมากชาวไร่กลุ่มนี้จะสังกัดกับ ‘สถานีบ่ม’ ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งในกิจการยาสูบที่ดูแลและบริหารงานโดยบรรดานายทุนยาสูบ

ทังนี้ กล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีคุณูปการอย่างมากต่อกิจการยาสูบ เพราะการทำยาสูบนั้นจำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะที่ต่างกันออกไปตามแต่ละขั้นตอน เช่น การแยกคัดใบยาต้องดูลักษณะสีใบยาเป็น การบ่มที่ใช้เวลา 3 – 5 วัน ต้องชำนาญการควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งผู้ที่รังสรรค์ให้กรรมวิธีในแต่ละขั้นตอนดำเนินต่อไปได้ก็คือชาวไร่ยาสูบในกลุ่มนี้นั่นเอง

ชาวไร่ยาสูบขณะทำงานในโรงบ่มใบยา บริษัทแม่ปิงยาสูบ จ.เชียงใหม่ ที่มา: Nationaal Museum van Wereldculturen (NMVW) / National Museum of World Cultures (NMWC), Netherlands.

2.ชาวไร่ยาสูบที่เป็นผู้บ่ม กล่าวคือ เป็นชาวไร่ยาสูบที่ทำกิจการบ่มใบยาควบคู่ไปด้วย ชาวไร่กลุ่มนี้เริ่มปรากฏเกิดขึ้นในช่วงปี 2506 เนื่องมาจากการส่งเสริมของโรงงานยาสูบ ที่ได้คัดเลือกชาวไร่ยาสูบในสังกัดมาแล้วหัดให้บ่มใบยาด้วยตนเอง โดยพิจารณาจากเงื่อนไข เช่น เคยเป็นชาวไร่ในสังกัดของสถานีมาก่อน มีแรงงานในครอบครัวที่ช่วยงานได้ ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ชาวไร่ที่จะสร้างโรงบ่มต้องมีเนื้อที่อย่างน้อย 2 ไร เป็นต้น

ทั้งนี้ ชาวไร่ยาสูบที่เป็นผู้บ่มมักใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก โดยพนักงานสำนักงานไร่ยาสูบจะคอยให้คำแนะนำชาวไร่กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ซึ่งระบบเช่นนี้ทำให้ชาวไร่ได้เป็นเจ้าของผลประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งชาวไร่ที่เป็นผู้บ่มก็มักจะมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าชาวไร่ยาสูบที่เป็นแรงงาน ส่งผลให้หลายรายกลายเป็นผู้มีฐานะดีในชุมชนและสามารถสนับสนุนลูกหลานให้ไปประกอบอาชีพที่มีหน้ามีตามากขึ้นได้ เช่น ครู ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น

3. (นัก) การเมืองล้านนากับยาสูบ

นอกเหนือไปจากการทำให้นายทุนกลายเป็น ‘พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง’ และทำให้ชาวไร่ส่วนหนึ่งได้มีอันจะกิน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็ได้เป็นนายทุนขนาดย่อมในระดับชุมชนแล้ว ยาสูบยังถือเป็นฐานอำนาจทางการเมืองด้วย 

แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดแต่กรณีของ ณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ก็สะท้อนได้ชัดเจนว่ามีนายทุนยาสูบจำนวนหนึ่งได้อาศัยผลประโยชน์และเครือข่ายจากการประกอบกิจการยาสูบเป็นรากฐานในการก้าวเข้าสู่สนามการเมือง โดยเฉพาะในการก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองครั้งแรกเมื่อปี  2522 ในสังกัดพรรคกิจสังคม ซึ่ง ณรงค์ วงศ์วรรณ ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นกว่า 90,000 คะแนน ด้วยเพราะมีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบเป็นฐานเสียงสำคัญ 

ณรงค์ วงศ์วรรณ หรือพ่อเลี้ยงณรงค์ เป็นบุตรชายของ “แสน วงศ์วรรณ” (สกุลเดิม คือ ผาทอง) บิดาของ อนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตนายก อบจ.ลำพูน และ อนุวัธ วงศ์วรรณ นายก อบจ.แพร่หลายสมัยคนปัจจุบัน ณรงค์เป็นพ่อเลี้ยงยาสูบเจ้าของบริษัทเทพวงศ์ จำกัด จากเมืองแพร่  โดยก่อนจะเป็นนักการเมือง พ่อเลี้ยงณรงค์ได้ดูแลกิจการยาสูบของผู้เป็นพ่อ โดยทำหน้าที่ดูแลสถานีบ่มหรือโรงบ่มใบยาสูบในสังกัดของบริษัทที่ตั้งอยู่ใน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง 

ทั้งนี้ มีการศึกษาที่ทำการสำรวจเอกสารการประชุมคณะกรรมการจัดการของโรงงานยาสูบตั้งแต่ในช่วงระหว่างปี 2491 – 2513 พบว่า ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นนายทุนยาสูบที่มักจะมีผู้มาเสนอให้ซื้อหรือรับช่วงต่อกิจการโรงบ่มยาสูบมากที่สุด และในระยะนั้นบริษัทเทพวงศ์ จำกัด ก็ได้ทำการส่งออกใบยาสูบกว่าร้อยละ 40–49 ของปริมาณส่งออกทั้งหมดของประเทศ และกลายเป็นผู้ส่งออกใบยาสูบที่ใหญ่ที่สุดของปรเะทศในที่สุด

อันที่จริง ณรงค์ วงศ์วรรณ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในหลายรัฐบาล และภาพจำในฐานะนักการเมืองที่สำคัญสุดคือ การถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังพรรคสามัคคีธรรมเขาเป็นหัวหน้าพรรคชนะการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม 2535 ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด หากแต่ก็มีเหตุการณ์ที่ มาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาขณะนั้น ออกมาประกาศว่าณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นผู้ที่ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด 

แม้ณรงค์ วงศ์วรรณ จะปฏิเสธและระบุว่าว่าเหตุดังกล่าวเป็นการจงใจสร้างเรื่องขึ้นเพื่อกีดกันไม่ให้ตัวเขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองทั้ง 5 พรรค อันได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทยและพรรคราษฎร ที่เคยสนับสนุนเขา ได้เปลี่ยนสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จนเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนเรียกร้องนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นชนวนเหตุพฤษภาทมิฬ ในเวลาต่อมา  

ปัจจุบันกิจการยาสูบที่มีชื่อเสียงของภาคเหนือในอดีตได้ยุติกิจการไปมากแล้ว ซึ่งอาจจะด้วยการเข้ามาตีตลาดของบุหรี่จากต่างประเทศ หรือการรณรงค์ลด ละ เลิก บุหรี่ ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนเลิกสูบบุหรี่  หรืออาจจะด้วยนโยบายประกันราคายาสูบของการยาสูบที่ไม่มีคุณภาพ สร้างแต่ปัญหาและภาระให้แก่ชาวไร่ยาสูบเป็นอย่างมาก ผู้เขียนเองก็ไม่อาจทราบ

รู้เพียงว่า หากพวกเราคนรุ่นหลังอยากที่จะพบเห็นหรือสัมผัสถึงบรรยากาศของการทำกิจการยาสูบในอดีตได้อยู่บ้าง ก็ยังคงจะพอทำได้ โดยการเข้าไปตามหาสิ่งเหล่านั้นจากกิจการใหม่ๆ เช่น โรงแรม รีสอร์ท คาเฟ่ หรือร้านกาแฟ ที่สร้างขึ้นบนพื้นที่หรือตัวอาคารที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ต้องของกิจการยาสูบ แต่ทว่าเมื่อไปสัมผัสแล้ว จะรู้สึกได้ถึงบรรยากาศของกิจการยาสูบ หรือบรรยากาศใดๆ ที่นอกเหนือไปจากนั้น ก็เห็นทีจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลนั่นแล

อ้างอิง:

  • กาญจนี คำบุญรัตน์. หลังม่านไร่ยาสูบที่เกาะวงษ์เกียรติ์ทศวรรษก่อน เรื่องยาฆ่าแมลงและความลำบากในวิถีชีวิต. ออนไลน์. https://www.silpa-mag.com/culture/article_5576 
  • กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. ยาสูบ พืชพรรณพลังใบ สูบกันมานานนับ 1,000 ปี. ออนไลน์ https://www.silpa-mag.com/culture/article_151943 
  • ล้านนาคำเมือง. มูลีซีโย. ออนไลน์. https://www.matichonweekly.com/column/article_624617 
  • สิทธิชัย วิมาลา. ประวัติโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคเหนือ. ออนไลน์. https://archives.mju.ac.th/?p=148 
  • ศรธนา วังสาร และชาติชาย มุกสง. อุตสาหกรรมยาสูบกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองแพร่ พ.ศ. 2481 – 2509. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ฉบับที่ 21 (มกราคม – มิถุนายน) 2568.
ปวีณา หมู่อุบล

อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนัก (ลอง) เขียน อนาคตไม่แน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง