ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
22 พฤษภาคม 2568 กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมจากหลายอำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอนกว่า 200 คน ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ศาลากลาง และต่อ ส.ส.ในพื้นที่ เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาราคากระเทียมตกต่ำอย่างรุนแรงและไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ “ชะลอการนำเข้ากระเทียมจากต่างประเทศ” และ “พยุงราคากระเทียมไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 50 บาท”
ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร ได้แก่ นายทินกร ปุรณวิทย์, นายอาวุธ ขยันดี และนายนิรันดร์ จันทร์แค้น นายก อบต.ห้วยผา ระบุว่า แม้ที่ผ่านมาสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจะเสนอแนวทางการตลาดถึง 5 มาตรการ เช่น การเชื่อมโยงผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคและโรงงานโดยตรง การจัดตลาดเฉพาะกิจ และขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมให้ใช้กระเทียมไทยเป็นวัตถุดิบ แต่แนวทางเหล่านี้ “ช่วยได้ไม่ถึง 5%” ของกระเทียมที่ล้นตลาดกว่า 4,400 ตัน ทำให้สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย
นอกจากนี้ยังมีการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ ส.ส.ในพื้นที่ รวมถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เพื่อขอให้รัฐบาล
- ชะลอการนำเข้ากระเทียมจากต่างประเทศเป็นเวลา 3–6 เดือน
- กำหนดโควต้านำเข้าให้เหมาะสมกับผลผลิตในประเทศ
- เข้มงวดการลักลอบนำเข้าและทำลายของกลางที่เคยถูกนำมาประมูล
- พยุงราคากระเทียม ให้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 50 บาท (ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 40 บาท)
- ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนที่มีศักยภาพทางการตลาด

เกษตรกรชี้ว่า ปัญหากระเทียมราคาตกและไม่มีพ่อค้ารับซื้อไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็น “ปัญหาเรื้อรังนานกว่า 20 ปี” ที่ยังไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน จากที่เคยถึงขั้นปิดถนนสายหลักเข้าเมืองหลายครั้งในอดีต ชาวบ้านเชื่อว่ามาตรการจากภาครัฐที่ผ่านมาเพียงแค่ “สวยหรูแต่จับต้องไม่ได้” และเปิดช่องให้กลุ่มการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ผ่านโครงการเยียวยาแบบเฉพาะกิจ
“วันนี้เราไม่ได้มาเอาเงิน เรามาเรียกร้องโครงสร้างตลาดที่เป็นธรรม เพื่อให้ลูกหลานยังมีอนาคตอยู่ในอาชีพเกษตรกรรม” ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรกล่าวทิ้งท้ายอย่างเคร่งเครียด พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยด่วน ก่อนวิกฤตนี้จะลุกลามไปถึงฤดูกาลหน้า

เบื่องต้นสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เสนอแนวทางเบื้องต้นในการกระจายผลผลิตกระเทียมจากเกษตรกรสู่ตลาดปลายทางโดยตรง เพื่อบรรเทาวิกฤตราคาตกต่ำที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยมีทั้งหมด 5 แนวทางหลัก ดังนี้
1.การเชื่อมโยงการจำหน่ายผลผลิตกระเทียมจากผู้รวบรวมหรือเกษตรกรของจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปสู่ผู้ค้ารายใหญ่ในต่างจังหวัดผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความพร้อม
2.การเชื่อมโยงการจำหน่ายกระเทียมมัดแต่งแล้ว จากผู้รวบรวมหรือเกษตรกรของจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ในต่างจังหวัดผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความพร้อม
3.การเชื่อมโยงการจำหน่ายกระเทียมแกะกลีบเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง โดยสำนักงานพาณิชย์ได้สานกับผู้รับจ้างจัดงานแสดงสินค้าในงานแม่ฮ่องสอนม่วนใจ ระหว่างวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2568 ให้จัด Layer เข้ามาเจรจารับชื้อกระเทียมแกะกลีบจากเกษตรกรหรือผู้รวบรวมที่มีความพร้อมของจังหวัด
4.สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาสถานที่ให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะนำกระเทียมไปจำหน่ายปลีกให้กับผู้บริโภคโภคโดยเบื้องต้น ศูนย์การค้า เจ.เจ.มอลล์ ยินดีให้สถานที่ในการจำหน่ายสินค้าหากผู้ประกอบการมีความประสงค์จะจำหน่ายในสถานที่ใด สำนักงานฯ จะดำเนินการประสานให้ต่อไป
5.เห็นควรมีหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าภายใน ขอให้ประสานกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้กระเทียมเป็นวัตถุดิบ เพิ่มปริมาณการใช้กระเทียมไทยเป็นวัตถุดิบหลักในการแปรรูปสินค้า เพื่อเพิ่มปริมาณความต้องการกระเทียมไทย อันจะส่งผลให้เกิดการรับซื้อกระเทียมเพิ่มมากขึ้นโดยพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอนพื้นพื้นที่ที่มีการปลูกกระเทียมมากที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...