เหลียวหลัง แลหน้า: ขบวนการ ‘คนอยู่กับป่า’ เมื่อการปักหมุดประชาธิปไตย เริ่มจากชายขอบ

เรื่อง : ศรีนิธิรินทร์ ชื่นวณิช

ภาพ : ปรัชญา  ไชยแก้ว

อาจเป็นถ้อยคำที่สรุปบทเรียนสำคัญของคนตัวเล็กตัวน้อยในพื้นที่ชายขอบ ที่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อแค่สิทธิในที่ดินทำกิน หากแต่หมายถึงการปักหมุดประชาธิปไตยจากฐานรากของสังคมไทย ที่รัฐไม่เคยยอมรับ

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ย้อนเล่าถึงโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘คจก.’ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2534 ยุครัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยมีทั้งกองทัพและกรมป่าไม้เป็นเจ้าภาพหลัก

แม้รัฐจะอ้างว่าโครงการนี้ช่วยดูแลคนจน แต่ในความจริง คจก. คือเครื่องมือภายใต้แนวคิด ‘ความมั่นคง’ ที่สืบทอดจากยุคสงครามเย็น รัฐหยิบยกภัยคอมมิวนิสต์และการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ มาเป็นเหตุผลในการเร่งรัดผลักดันนโยบาย

ผลที่เกิดขึ้นจริง คือความรุนแรงต่อชุมชน ไล่รื้อ เผาทำลายบ้านเรือน บังคับย้ายถิ่นฐาน ชาวบ้านจำนวนมากต้องสูญเสียทั้งที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตดั้งเดิม

กระแสต้านเริ่มก่อตัวชัดเจนในปี 2535 เมื่อประชาชนจากกว่า 47 หมู่บ้าน จับมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน นิสิตนักศึกษา และเครือข่ายสลัม รวมตัวคัดค้านโครงการที่โรงแรมปากช่อง เขาแคนคู่ จังหวัดนครราชสีมา

แม้การเคลื่อนไหวครั้งนั้นจะยุติโครงการคจก. ลงได้ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการจุดประกายขบวนการประชาชนในการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน และการฟื้นฟูป่าชุมชนในระยะยาว

“การลุกขึ้นสู้ของประชาชน ไม่ใช่แค่เรียกร้องสิทธิ แต่คือการสร้างประชาธิปไตยจากฐานราก” นิติรัตน์กล่าว

อำนาจ รัฐ และป่าไม้

ทิศทางนโยบายป่าไม้ไทยหลายทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนชัดถึงการใช้อำนาจรัฐควบคุมทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นนโยบายป่าไม้แห่งชาติปี 2528 โครงการคจก. ปี 2534 มติ ครม. ปี 2541 ที่ทำให้การพิสูจน์สิทธิยากขึ้น หรือโครงการทวงคืนผืนป่าหลังรัฐประหารปี 2557 ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือควบคุมพื้นที่และลดบทบาทชุมชน

แม้ในยุครัฐบาลพลเรือน กรอบคิดนี้ก็ยังดำรงอยู่ รัฐออกแบบเงื่อนไขการเข้าถึงที่ดินตามมาตรฐานที่ไม่สอดคล้องกับความจริงของคนในป่า ความเหลื่อมล้ำจึงยังอยู่ และเมื่อเวลาผ่านไป ขบวนการประชาชนก็ขยายตัวจากกลุ่มชาติพันธุ์หรือเกษตรกร สู่เครือข่ายสลัม สมัชชาชาวนา ขบวนการเขื่อนปากมูล สมัชชาคนจน และผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายพัฒนารูปแบบต่างๆ

จากอดีต สู่ปัจจุบัน

ช่วงทศวรรษ 2530–2540 คือยุคทองของการรวมตัวของขบวนการประชาชนที่หลากหลาย ทั้งการต้านโครงการขนาดใหญ่ การแสดงพลังในเวทีนานาชาติ เช่น กรณีคัดค้าน WTO หรือท่อก๊าซไทย–มาเลเซีย

ขบวนการนี้เติบโตสู่ยุค 2550 ด้วยการก่อตั้งเครือข่าย P-Move เพื่อต่อรองกับรัฐ และปกป้องนักปกป้องสิทธิชุมชน

เมื่อถึงยุค 2560 การตื่นตัวของคนรุ่นใหม่เติมเชื้อไฟให้การต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านร่างกฎหมายควบคุมองค์กรภาคประชาสังคม (NPO Bill) หรือปกป้องพื้นที่ เช่น กรณี SAVEบางกลอย หรือหยุดนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ความเคลื่อนไหวท้องถิ่นจึงหลอมรวมกับพลังเมืองใหญ่ กลายเป็นพลังทางการเมืองที่รัฐมองข้ามไม่ได้

“การเรียนรู้อดีต เพื่อตั้งหลักอุดมการณ์ให้มั่นคง สำคัญต่อการสร้างอำนาจประชาชน และการเปลี่ยนแปลงสังคม” นิติรัตน์ย้ำ

สิทธิ ศักดิ์ศรี และอนาคตที่ประชาชนกำหนดเอง

ขบวนการที่เติบโตจากการคัดค้านคจก. ไม่ได้สู้เพื่อที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่ยังสถาปนาสิทธิในการดำรงชีวิต ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกำหนดอนาคตด้วยตนเอง

แนวคิดว่าชุมชนสามารถดูแลป่าและทรัพยากรได้อย่างสมดุล ไม่ใช่แค่ข้อเรียกร้อง แต่กลายเป็นหลักสำคัญของประชาธิปไตยจากฐานราก

ขบวนการนี้ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องที่ดิน แต่ยังเป็นพลังทางการเมืองที่ยังคงท้าทายโครงสร้างอำนาจจนถึงปัจจุบัน

ศ.เกียรติคุณ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของขบวนการประชาชนที่เติบโตขึ้น ขณะที่รัฐยังคงโครงสร้างอำนาจแบบเดิม

แม้ประชาชนจะเปลี่ยนแปลง แต่รัฐกลับใช้กลไกเดิม กีดกัน จำกัดวง และทำให้ขบวนการอ่อนแอ ผ่านวาทกรรมลดทอนศักดิ์ศรี โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์และคนในป่า

ตัวอย่างชัดคือคำว่า ‘ชาวเขา’ และภาพจำว่าพวกเขาเป็นผู้บุกรุกป่า หรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด วาทกรรมเหล่านี้ถูกส่งต่อถึงชนชั้นกลาง เพื่อสร้างพันธมิตรทางความคิดกับรัฐ

ยุคเผด็จการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือภาพสะท้อนชัดเจน รัฐและทุนร่วมมือกันแปรสมบัติส่วนรวมเป็นทรัพย์สินเอกชน ภายใต้คำว่าทรัพยากรร่วม แต่ในทางปฏิบัติ กลับเปิดทางให้ทุนผูกขาด

“ประชาชนเติบโต แต่รัฐไม่เปลี่ยน ปัญหาจึงวนซ้ำ”

ขบวนการประชาชนเริ่มก่อตัวตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 ในฐานะวัฒนธรรมชุมชน แต่เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยน การพึ่งตลาดเพิ่มขึ้น ความเป็นปัจเจกชัดเจนขึ้น เครือข่ายเริ่มเปราะบาง

วันนี้ ขบวนการต้องหันกลับมาเชื่อมสิทธิ พลเมือง เกษตร การจัดการทรัพยากร และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประชาสังคมอิสระจากรัฐ และท้าทายนโยบายได้จริง

“การเติบโตของประชาชนต้องดึงชนชั้นกลางกลับมาเป็นพวกเดียวกัน เพื่อลบภาพจำผิดๆ ที่รัฐสร้างไว้”

สองแนวทางต่ออนาคตการต่อสู้

เมื่อรัฐไม่เปลี่ยน ขบวนการต้องชัดเจนยิ่งขึ้น

หนึ่ง คือสร้างความเข้มแข็งให้ขบวนการมีโครงสร้างเหนียวแน่น

สอง คือเปิดโปงสิ่งที่รัฐซ่อน โดยเฉพาะการแปรสมบัติสาธารณะเป็นของเอกชน เพื่อให้สังคมเห็นความจริง

การต่อสู้วันนี้ไม่ใช่แค่ทวงสิทธิ แต่คือการต่อรองความหมายของอนาคตที่ประชาชนต้องกำหนดเอง

“เราจะเห็นอนาคตของสังคม ก็ต่อเมื่อเราเรียนรู้ทางเดินที่ผ่านมา และเข้าใจเกมรัฐให้ลึกซึ้ง เพื่อสร้างพลังประชาชนที่แข็งแรงกว่าเดิม” อรรถจักร์ทิ้งท้าย

ศรีนิธิรินทร์ ชื่นวณิช

นักศึกษาฝึกงาน Lanner จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มฟล. ผู้หลงรักซีรีส์วาย สนุกกับการถ่ายติ๊กต็อก และมีความฝันอยากเป็นไอดอลที่ได้เต้นบนเวที แต่ในช่วงเวลานี้ ขอเรียนจบให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง