เรื่อง : ศรีนิธิรินทร์ ชื่นวณิช
ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เดน เชียงใหม่ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และเครือข่ายนักวิชาการ จัดเวที “27 ปี การพิสูจน์สิทธิคนอยู่กับป่าภายใต้มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541” เปิดพื้นที่สะท้อนปัญหา แลกเปลี่ยนมุมมอง และตั้งคำถามกับกระบวนการพิสูจน์สิทธิในเขตป่า ที่ตลอด 27 ปีผ่านมา หลายคนบอกว่า ‘พิสูจน์สิทธิ’ คือเครื่องมือของรัฐในการควบคุม ไม่ใช่การคืนความเป็นธรรมให้ชาวบ้าน
เวทีครั้งนี้มีผู้แทนจากทุกภาคส่วน ทั้งตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ตัวแทนการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ
เสียงจากภาคประชาชน เราไม่ใช่ผู้บุกรุก แต่คือผู้บุกเบิก
จรัสศรี จันทรอ้าย จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สะท้อนความจริงจากคนอยู่กับป่า ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานก่อนรัฐประกาศเขตป่า แต่กลับถูกกล่าวหาว่าบุกรุก โดยเฉพาะในยุค คสช. ที่ใช้อำนาจพิเศษและคำสั่งต่างๆ เช่น คำสั่ง 66/2557 เป็นเครื่องมือจัดการคนในพื้นที่
“กระบวนการพิสูจน์สิทธิกลายเป็นเรื่องของรัฐฝ่ายเดียว ไม่มีส่วนร่วมของชุมชน เช่นกรณีอุทยานผาแดง ใช้แค่ภาพถ่ายทางอากาศกล่าวหาชาวบ้าน ทั้งที่เราทำกินที่นี่มานาน” จรัสศรีกล่าว พร้อมย้ำว่า
“เราไม่ใช่ผู้บุกรุก แต่คือผู้บุกเบิก เราอยู่ที่นี่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ”
อยู่กับป่า ไม่ใช่อาชญากรรม
ศักดิ์ดา แสงมี จากสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า เสนอว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนฐานคิด รัฐต้องยอมรับว่าคนอยู่กับป่าดูแลป่าได้ ไม่ใช่มองว่าการอยู่กับป่าคืออาชญากรรม งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าชุมชนท้องถิ่นคือผู้พิทักษ์ป่าตัวจริง หากรัฐเปิดให้มีส่วนร่วมและสนับสนุนอย่างเหมาะสม
“ต้องใช้แนวทางจัดการร่วม (Co-management) แบบโครงการจอมป่า ขยายผลให้ครอบคลุม และเปิดพื้นที่ให้ชุมชนบริหารจัดการเอง สร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับรัฐ” ศักดิ์ดากล่าว
เขาเสนอให้ย้อนดูบทเรียนจากสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย เพื่อนำมาปรับใช้กับการขับเคลื่อนของสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่าในปัจจุบัน
มุมมองภาครัฐ ยอมรับปัญหา แต่ยังติดข้อจำกัด
ตัวแทนรัฐอย่าง กริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ยอมรับว่ากระบวนการพิสูจน์สิทธิที่อิงตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 มีข้อจำกัดจริง ทั้งเรื่องงบประมาณ บุคลากร และเครื่องมือ
อย่างไรก็ตาม กริชสยามยังยืนยันว่า ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือที่สุด
“หลักฐานพิสูจน์สิทธิไม่มีอะไรแม่นยำเท่าภาพถ่ายทางอากาศ” เขากล่าว
พิศุทธิ์ ลักษวุธ จากกรมป่าไม้ เสริมว่า ปัญหาใหญ่คือภาพถ่ายที่ใช้อ้างอิงส่วนใหญ่มาจากปี 2545 ห่างจากปีที่ออกมติจริง (2541) แถมบุคลากรที่เชี่ยวชาญการอ่านภาพถ่ายมีจำนวนน้อย ทำให้การพิสูจน์สิทธิล่าช้าและไม่ครอบคลุม
ชลธิศ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ มองว่า การจัดการที่ดินของรัฐไทยเป็นกระบวนการที่ยืดยาวและซับซ้อน จุดเปลี่ยนสำคัญคือ มติครม. 16 กันยายน 2540 ที่เปิดทางให้ประชาชนในพื้นที่ป่าได้รับสิทธิอยู่อาศัยและทำกิน หากพิสูจน์ได้ว่าอยู่มาก่อนรัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ต่อมา มติครม. 30 มิถุนายน 2541 ยืนยันหลักการเดิมและขยายแนวทางแก้ไขปัญหา
แต่ในทางปฏิบัติ ช่วงปี 2541-2557 กลายเป็น “ยุคแช่แข็ง” ของการพิสูจน์สิทธิ เพราะแม้มีมติแต่ขาดเครื่องมือทางกฎหมายรองรับ โดยเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์
ชลธิศอธิบายว่า หากประชาชนพิสูจน์ได้ว่าครอบครองพื้นที่มาก่อนปี 2479 (ก่อนรัฐประกาศเขตป่าหวงห้าม) ก็มีสิทธิอยู่โดยสมบูรณ์ ส่วนการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าในปัจจุบันทำได้หากอยู่ภายใต้กรอบหน่วยงานกำกับดูแล และไม่มีการบุกรุกใหม่ โดยได้สรุปว่า ปัญหาหลักไม่ใช่การขาดนโยบาย แต่คือการขาดกลไกที่ทำให้นโยบายขับเคลื่อนได้จริง ทำให้ผู้คนในพื้นที่ต้องติดอยู่กับความไม่ชัดเจนในสิทธิของตนเอง
มติ ครม. ที่ไม่มีเครื่องมือรองรับ: ประตูไม้สักที่เปิดไม่ได้
เฉลิมชัย วัดจัง จาก Land Watch Thailand เปรียบเปรยว่า มติ ครม. ฉบับนี้เหมือนประตูไม้สักที่ดูสวย แต่เปิดเข้าไปกลับว่างเปล่า เพราะไม่มีเครื่องมือหรือมาตรการรองรับสิทธิคนอยู่กับป่าอย่างแท้จริง
“คำว่า ‘พิสูจน์สิทธิ’ สะท้อนแนวคิดที่รัฐเป็นผู้ตัดสิน แต่ประชาชนต้องไปยืนยันสิทธิของตัวเองกับรัฐ ทั้งที่อยู่มาก่อนรัฐเสียอีก” เฉลิมชัยกล่าว พร้อมเสนอให้เปลี่ยนจาก “พิสูจน์สิทธิ” เป็น “รับรองสิทธิ” ที่ชุมชนไม่ต้องไปยื่นขอ แต่รัฐต้องยอมรับสิทธิที่ชุมชนมีอยู่จริง
เขาย้ำว่าต้องทบทวนกฎหมายและนโยบายที่ออกในยุครัฐประหารทั้งหมด เพราะขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน
เสียงจากสภา รัฐซ้อนปัญหา ไม่ซ้อนสิทธิ
เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เลขานุการคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร สะท้อนว่า ปัญหาทับซ้อนระหว่างที่ดินรัฐกับที่ดินชุมชนสูงถึง 32 ล้านไร่ แต่การแก้ปัญหาของรัฐไม่สอดคล้องกับขนาดของปัญหา
เขาเสนอให้แยกบทบาทการบริหารจัดการที่ดินและป่าไม้ออกจากกัน กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และปฏิรูประบบกฎหมายที่ดินป่าไม้ทั้งหมด โดยชุมชนต้องมีส่วนร่วมจริง ไม่ใช่แค่ถูกเชิญไปประชุม
“งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทใน 7 ปี ได้เอกสารสิทธิแค่ 5% ของพื้นที่ป่าสงวน ทั้งที่รัฐบอกว่าจะคืนสิทธิให้ประชาชน” เลาฟั้งกล่าว
รากปัญหา เป้าหมายป่า 40% ที่ไม่มีเหตุผล
ประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ชี้ชัดว่าต้นตอของปัญหาคือเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า 40% จากนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ปี 2508 และ 2532 ที่ไม่มีหลักฐานวิชาการรองรับ
“ประเทศไทยเคยมีพื้นที่ป่าแตะระดับ 40% แค่ไม่กี่ปี และไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ป่าโดยละเลยชุมชน” ประยงค์เสนอให้ยกเลิกนโยบายป่า 40% และเปลี่ยนบทบาทของกรมป่าไม้จากหน่วยงานควบคุม เป็นหน่วยงานสนับสนุนการจัดการที่ดินโดยชุมชน
ความล้มเหลวของรัฐในนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ไม่ได้อยู่ที่การไม่มีนโยบาย แต่เกิดจากวิธีการวัดผล การดำเนินการที่คลาดเคลื่อน และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่า ‘ป่า’ รวมถึงการไม่ฟังเสียงของภาคประชาชนและผู้ที่อยู่ในพื้นที่จริง
ประการแรก รัฐใช้ตัวชี้วัดที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยประเมินความสำเร็จของนโยบายผ่านตัวเลขพื้นที่สีเขียวรวม ซึ่งนับรวมทั้งป่าธรรมชาติ ป่าปลูก และพื้นที่สีเขียวอื่นๆ โดยไม่แยกประเภทของระบบนิเวศ ตัวเลขจึงอาจสูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงการเพิ่มขึ้นของ “ป่าที่มีคุณภาพ” เพราะเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ
ประการที่สอง มีการนับพื้นที่ผิดซ้ำซ้อน เช่น พื้นที่ที่เคยปลูกไม้เศรษฐกิจไว้ก่อน ก็ถูกนับซ้ำอีกในโครงการใหม่ และยังนับไม้ปลูกเชิงเดี่ยวเป็น ‘ป่า’ ทั้งที่ขาดความหลากหลายทางชีวภาพและไม่ใช่ระบบนิเวศที่สมบูรณ์
ประการที่สาม รัฐขาดระบบตรวจสอบภาคสนาม แม้จะใช้ภาพถ่ายดาวเทียมติดตามพื้นที่ป่า แต่ไม่มีการลงพื้นที่อย่างเป็นระบบ จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าพื้นที่ที่เห็นว่าเป็นป่าในภาพถ่ายนั้น มีต้นไม้หรือระบบนิเวศอยู่จริงหรือไม่ การพึ่งพาเทคโนโลยีโดยไม่ตรวจสอบหน้างาน ทำให้การประเมินขาดความแม่นยำ
ประการที่สี่ รัฐมองข้ามบทบาทของชุมชนท้องถิ่น การเพิ่มพื้นที่ป่าในหลายกรณีดำเนินไปโดยไม่คำนึงถึงชุมชนที่อยู่กับป่ามาก่อน นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างนโยบายของรัฐกับสิทธิในการจัดการพื้นที่ของคนในพื้นที่ การดำเนินนโยบายแบบส่วนกลางจึงไม่เชื่อมโยงกับบริบทจริง
ประการที่ห้า รัฐมุ่งเน้นการปลูกป่าเพื่อเศรษฐกิจมากกว่าการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยสนับสนุนไม้โตเร็วหรือไม้เศรษฐกิจ แล้วนับเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า ทั้งที่พื้นที่เหล่านี้ไม่สามารถทดแทนป่าธรรมชาติได้ เป้าหมายจึงบิดเบือนจากการอนุรักษ์สู่เป้าทางเศรษฐกิจ
27 ปี มติ ครม. พิสูจน์สิทธิคนอยู่กับป่า จึงยังเป็นเพียงนโยบายที่สวยหรูบนกระดาษ หากรัฐไม่เปิดใจฟังเสียงคนที่อยู่กับป่าจริงๆ ประตูไม้สักบานนี้ ก็จะยังคงปิดอยู่เหมือนเดิม

ศรีนิธิรินทร์ ชื่นวณิช
นักศึกษาฝึกงาน Lanner จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มฟล. ผู้หลงรักซีรีส์วาย สนุกกับการถ่ายติ๊กต็อก และมีความฝันอยากเป็นไอดอลที่ได้เต้นบนเวที แต่ในช่วงเวลานี้ ขอเรียนจบให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก