จากแม่เมาะถึงหงสา กับแผน PDP ที่หายไป ในวันที่โลกเดินหน้าปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เรื่อง: กองบรรณาธิการ / JET in Thailand

ผลงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้ซีรีส์คอนเทนต์ ‘พลังงาน / คน / ภาคเหนือ’ จากความร่วมมือระหว่าง Lanner และ JET in Thailand

ปัจจุบันทั่วโลกต่างกล่าวถึงแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน ก๊าซ และมุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เมื่อเดือนกันยายน 2567 ประเทศต้นกำเนิดโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างอังกฤษ ได้ยุติเดินเครื่องโรงไฟฟ้า Ratcliffe-on-Soar ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายที่ถูกปลดออกจากระบบ หลังจากก่อนหน้านี้อังกฤษได้ทยอยปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งแต่ปี 2543 และเดินหน้าจริงจังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนเหลือเป็นศูนย์ ถือเป็นการสิ้นสุดยุคผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของอังกฤษอย่างเป็นทางการ และเริ่มศักราชใหม่ในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลม พร้อมกับลงทุนพัฒนาระบบสายส่ง เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายใช้พลังงานสะอาดภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า

แต่ทว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกและแห่งเดียวของภาคเหนือยังคงเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเรื่อยมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 65 ปี โดยไม่มีท่าทีว่าจะหมดอายุลงเมื่อไหร่ ท่ามกลางการเงียบหายไปกว่า 1 ปี ของร่างแผนพลังงานฉบับใหม่ หรือ  ‘PDP2024’  ที่เป็นตัวกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาไฟฟ้าของไทย

เหมืองถ่านหินแม่เมาะ ปฐมบทของโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคเหนือ

ถ่านหินถือเป็นพลังงานที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนาน ส่วนใหญ่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลักประมาณ 64%  ที่เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ผลิตปูนซีเมนต์ ปูนขาว โรงบ่มใบยาสูบ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต้องใช้หม้อต้ม (Boiler) เช่น การผลิตกระดาษและเส้นใย

ก่อนถ่านหินจะเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า อาจย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการทำเหมืองแร่ถ่านหินเป็นครั้งแรกในปี 2443 ที่จังหวัดกระบี่ ต่อมาในปี 2460 กรมการรถไฟ ได้สำรวจหาแหล่งเชื้อเพลิงอื่นมาใช้สำหรับหัวรถจักรไอน้ำทดแทนฟืน จนพบแหล่งถ่านหินขนาดใหญ่ในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่  

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยมีความจำเป็นต้องเร่งมองหาแหล่งเชื้อเพลิงอื่น ๆ สำหรับผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้มอบหมายกรมชลประทานสำรวจด้านพลังน้ำจนเป็นที่มาของการสร้างเขื่อนภูมิพลในจังหวัดตาก และให้กรมทรัพยากรธรณีสำรวจถ่านหินลิกไนต์ 

การสำรวจถ่านหินครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างปี 2493 – 2497 โดยร่วมกับองค์กร USOM จากสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการค้นพบแหล่งถ่านหินลิกในต์ในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และจังหวัดกระบี่ รัฐบาลจึงได้จัดตั้งหน่วยงาน ‘องค์การลิกไนต์’ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘องค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์’) ในปี 2497 เพื่อดูแลกิจการเหมืองถ่านหินทั้งสองแห่ง 

กิจการเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่แม่เมาะจึงได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นั้นมา ในระยะแรกถ่านหินถูกนำไปจำหน่ายให้แก่โรงบ่มใบยาสูบในภาคเหนือ โรงงานของการรถไฟที่จังหวัดนครราชสีมา และโรงปูนซีเมนต์ของบริษัทชลประทานซีเมนต์ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์  ซึ่งรัฐบาลได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ใช้ในการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล

ซึ่งการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลก็ได้ทำให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะในยุคแรก เพื่อนำกระแสไฟฟ้าไปใช้ในการสร้างเขื่อน โดยในปี 2502 มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นในบริเวณเดียวกับที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแม่เมาะปัจจุบัน เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์ เริ่มผลิตไฟฟ้าเมื่อปี 2503 จนกระทั่งปี 2521 ได้ยุติการใช้งาน

ในปี 2512 ได้มีการก่อตั้ง ‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย’ หรือ กฟผ. โดยรวม 3 หน่วยงานด้านไฟฟ้าได้แก่ 1) องค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ (ดูแลเหมืองถ่านหินแม่เมาะและกระบี่) 2) การไฟฟ้ายันฮี (ดูแลการสร้างเขื่อนภูมิพลและโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ) และ 3) การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ (ดูแลการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนน้ำพุง) เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้อำนาจในการดูแลกิจการไฟฟ้าถูกรวบเข้ามาอยู่ในมือรัฐเต็มรูปแบบ กฟผ. จึงกลายเป็นรัฐวิสาหกิจหนึ่งเดียวที่ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบการผลิตและส่งไฟฟ้ากระจายไปทั่วประเทศ 

ต่อมาในปี 2515 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กฟผ. ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 1-3 โดยใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะ และเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในปี 2521 กลายมาเป็นโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่คนทั่วไปรู้จักในยุคปัจจุบัน 

ตั้งแต่ปี 2521 ถึงปัจจุบัน โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีหน่วยผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 14 หน่วย รวม 3,005 เมกะวัตต์ หยุดเดินเครื่องแล้ว 7 หน่วย และมีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่รวม 2,220 เมกะวัตต์ รับผิดชอบการผลิตไฟฟ้าให้ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ซึ่งในแผนพัฒนาไฟฟ้าฉบับปัจจุบัน หรือ PDP2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) ได้กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 15 เพิ่มเติ่ม จำนวน 600 เมกะวัตต์ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8-9 ที่กำลังจะหมดอายุลง โดยมีแผนจ่ายไฟเข้าระบบปี 2569 

จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะถึงหงสา มรดกผลกระทบจากการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน  

กระบวนการผลิตไฟฟ้าที่แม่เมาะ เริ่มจากการขุดถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้า แล้วนำไปบดให้เป็นผงถ่านเพื่อป้อนเข้าสู่เตาเผา ความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้จะถูกนำไปต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอน้ำที่มีแรงดันสูงเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งในกระบวนการเผาไหม้ของถ่านหินนี้เองทำให้เกิดก๊าซที่มีฤทธิ์เป็นกรดอย่างไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2)  และซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2) รวมถึงฝุ่นพิษ PM2.5 และสารปรอท โดยเฉพาะก๊าซซัลเฟอร์ฯ มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดภาวะ ‘ฝนกรด’ ในแม่เมาะ  

ผู้คนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้เผชิญกับปรากฏการณ์ฝนกรดเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2535 ส่งผลให้มีชาวบ้านและพนักงานโรงไฟฟ้าเจ็บป่วยนับพันคน ต้นไม้ถูกละอองกรดไหม้หงิกงอ วัวควายเกิดบาดแผลเน่าตามผิวหนังและล้มตายเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น กฟผ. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้จ่ายเงินชดเชยให้ผู้ป่วยรวมถึงค่าเสียโอกาสในการทำงานรวม 9 ล้านบาท  และในปี 2538 ฝนกรดก็ได้เกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ทำให้กฟผ. ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบกว่า 30 ล้านบาท

จากการศึกษาร่วมกันของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาและติดตามสถานการณ์เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2537 – 2542 หลังเกิดผลกระทบรุนแรงในปี 2535  ระบุว่าสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศเกิดจากกระบวนการทำเหมืองและผลิตไฟฟ้า ทำให้มีฝุ่นควัน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมจำนวนมาก รวมถึงฝุ่นขี้เถ้าหลังการเผาไหม้

แม้กฟผ. ได้ยอมรับว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะเป็นต้นกำเนิดของปัญหามลพิษ และเริ่มติดตั้งระบบดักจับก๊าซซัลเฟอร์ฯ ในโรงไฟฟ้าที่สร้างใหม่ หน่วยที่ 11-12 เมื่อปี 2538 รวมถึงวางแผนติดตั้งระบบดักจับก๊าซซัลเฟอร์ฯ ในโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม แต่ทว่าปัญหายังคงเกิดขึ้นซ้ำซากกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและประชาชน 

ปี 2546 เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ จำนวน 2 คดี โดยคดีแรก ฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายด้านสุขภาพ 131 ราย ส่วนคดีที่ 2 ฟ้องเพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่แม่เมาะ และให้กฟผ.หยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษ กระทั่งปี 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีที่ 1 ให้กฟผ. จ่ายค่าชดเชยจำนวน 24 ล้านบาท จากการได้รับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ส่วนคดีที่ 2 ให้กฟผ. ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยให้ติดม่านน้ำลดฝุ่น ถมขุมเหมือง ปลูกต้นไม้ 

คำตัดสินของศาลในครั้งนี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่ว่าผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของผู้คนที่อยู่อาศัยรอบเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าได้เกิดขึ้นจริง และเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ซึ่งกว่าความยุติธรรมจะเดินทางมาถึง ภาคประชาชนต้องใช้เวลาต่อสู้ยาวนานถึง 12 ปี 

ภาพผลกระทบจากการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าที่แม่เมาะ ได้ส่งผลสะเทือนต่อสังคมไทยในหลายมิติ ทั้งข้อถกเถียงและการตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ที่ได้กับสิ่งที่ต้องสูญเสียไป รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า พลังงานที่ได้ชื่อว่ามีราคาถูก  ส่งผลให้ในช่วงปี 2540-2560 ภาคประชาชนในหลายพื้นที่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่มาจากการกำหนดนโยบายของรัฐผ่านการจัดทำแผน PDP อาทิ โรงไฟฟ้าบ้านกรูด-บ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา จังหวัดกระบี่และสงขลา พร้อมกับพยายามเสนอทางออกให้รัฐพัฒนาและส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการวางแผนพัฒนาไฟฟ้าของประเทศที่ช่วยปลดล็อกปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและประชาชนในพื้นที่

ในระหว่างที่กระแสการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศกำลังคุกกรุ่น ปี 2553 กฟผ. ได้เซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา สปป. ลาว จำนวน 1,473 เมกะวัตต์ ภายใต้บันทึกความเข้าใจ(MOU) เรื่องความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าในสปป. ลาว และเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าขายให้ไทยปี 2558 ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าหงสาได้ใช้ถ่านหินลิกไนต์ผลิตไฟฟ้าเช่นเดียวกับที่แม่เมาะ และตั้งอยู่ห่างจากชายแดนไทยบริเวณด่านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เพียง 32 กิโลเมตร โดยมีบริษัทเอกชนไทยอย่าง บริษัท ราช กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) และบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จํากัด (มหาชน) ถือหุ้นรวมกันเป็นสัดส่วน 80% 

จากแม่เมาะถึงหงสา ทำให้คนเหนือที่อยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะมาแล้วกว่า 65 ปี (และยังคงต้องอยู่ร่วมกันต่อไป) มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ได้ผลกระทบข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาไปจนถึงประมาณปี 2583  ตามอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่กำหนดไว้ 25 ปี ซึ่งผลจากการศึกษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นใน 8 หมู่บ้านของอําเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ในปี 2564-2565 ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน ในจังหวัดน่าน ประเทศไทย กรณีความเสียงจากการแพร่กระจายมลพิษข้ามพรมแดนลาว-ไทย พบว่า โรงไฟฟ้าหงสา อาจมีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น 

  • ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ถูกพัดพามาจากสปป.ลาว ตกสะสมบริเวณบ้านภูคําและบ้านวังผา 
  • ก๊าซที่มีฤทธิ์เป็นกรด(SO₂ และ NO₂) จากโรงไฟฟ้าหงสาตกสะสมบริเวณบ้านนํ้ารีพัฒนา บ้านกิ่วจันทร์ และบ้านนํ้าช้าง 
  • ดินมีค่าเป็นกรด (ค่า pH ประมาณ 4-5) บริเวณบ้านกิ่วจันทร์ บ้านนํ้าช้าง บ้านนํ้ารีพัฒนา บ้านห้วยโก๋น บ้านสบปืน บ้านห้วยทรายขาว
  • พืชที่ปลูกมีผลผลิตลดลง พืชบางชนิดเกิดโรคหรือมีความผิดปกติ ในทั้ง 8 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนํ้าช้าง บ้านสบปืน บ้านง้อมเปา บ้านด่าน บ้านกิ่วจันทร์ บ้านห้วยโก๋น บ้านนํ้ารีพัฒนา บ้านห้วยทรายขาว 
  • พบสารปรอทสะสมในปลา ในระดับที่ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ต้องเฝ้าระวังบริเวณแหล่งนํ้าต่างๆ

ในวันที่โลกเริ่มบอกลาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ข้อมูลจาก International Energy Agency(IEA) พบว่า ณ สิ้นสุดปี 2566 มี 84 ประเทศทั่วโลก ได้ประกาศปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือไม่มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ โดยมี 37 ประเทศ (จาก 84 ประเทศ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศในยุโรป ได้ประกาศเป้าหมายไว้ในแผนระดับชาติ และระบุปีชัดเจนถึงวันที่ประเทศจะปลอดจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 

นอกจากนี้ ในเวบไซต์ Beyond fossil fuels รายงานว่า 23 ประเทศในยุโรปได้ประกาศเป้าหมายปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว โดยมี 5 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม ออสเตรีย สวีเดน โปรตุเกส อังกฤษ ได้ยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินโดยสิ้นเชิง ณ ปัจจุบัน และกำลังจะตามอีก 2 ประเทศในปีนี้ ได้แก่ ไอร์แลนด์ และสโลวาเกีย ส่วนที่เหลือ 9 ประเทศมีเป้าหมายปลดระวางให้ได้ภายในปีค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งเป็นปีที่กลุ่มประเทศในยุโรป และ OECD ได้ตั้งเป้ายกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อให้เป็นไปตามความข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยมีอีก 7 ประเทศได้ตั้งเป้าหมายหลังจากปีค.ศ. 2030 ซึ่งทั้งหมดจะมีการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปีค.ศ. 2040 (พ.ศ. 2583)  

เป้าหมายการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินของ 23 ประเทศในยุโรป ที่มา: https://beyondfossilfuels.org/europes-coal-exit/

ส่วนประเทศอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินถึง 62% หลังจากที่ปราโบโว ซูเบียนโต ชนะเลือกการตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว ได้ประกาศเป้าหมายเลิกใช้ถ่านหินภายในปีค.ศ. 2040 เป็นการเลื่อนเป้าหมายให้เร็วขึ้นจากเดิม 10 ปี 

1 ปีที่แผน PDP2024 หายไป คนเหนือจึงยังคงต้องอยู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป 

สำหรับประเทศไทย ได้ปรากฏเป้าหมายปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปีค.ศ. 2040 (พ.ศ. 2583)   เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย โดยถูกระบุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ(LT-LEDS) เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) ในปีค.ศ 2065 ตามที่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันโอชา ได้ประกาศไว้ในเวทีการประชุม COP26 เมื่อ 5 ปี ที่แล้ว

แต่ทว่าในร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2567-2580 หรือ PDP2024 ซึ่งเป็นเข็มทิศสำคัญในการกำหนดทิศทางพัฒนาไฟฟ้าของไทย กลับยังคงกำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 7% ในปี 2580 และมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 2,673 เมกะวัตต์ อยู่ในระบบจนถึงสิ้นสุดแผน(ณ ปี 2580) ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 14 (600 เมะกะวัตต์) และโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา (1,473 เมกะวัตต์) รวมถึงโรงไฟฟ้าที่อยู่ในระหว่างพัฒนาโครงการ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ หน่วยที่ 15 (600 เมกะวัตต์) 

การที่ร่างแผน PDP2024 ซึ่งเป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรกของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ไม่ได้ระบุวันหมดอายุของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้เป้าหมายและแผนการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทยหายไปจากสมการของการพัฒนาพลังงาน เพราะการบอกลาโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรป จำเป็นต้องมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมถึงกลไกสนับสนุนด้านการเงิน กฏหมาย/กฏระเบียบต่างๆ ตลอดจนแผนรองรับแรงงานที่อยู่ในเหมืองและโรงไฟฟ้า การชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แผนการฟื้นฟูพื้นเหมืองและโรงไฟฟ้า ฯลฯ ทั้งหมดคือฟันเฟืองสำคัญที่คอยขับเคลื่อนให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานเกิดขึ้นจริง และดำเนินไปอย่างยุติธรรมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  ไม่ใช่เพียงข้อความที่ระบุไว้ในเอกสาร 

ที่ผ่านมาทาง JustPow ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนยื่นข้อเสนอต่อร่างแผน PDP2024 ผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ให้มีการพิจารณาปรับปรุงแผน โดยหนึ่งในข้อเสนอคือ ให้ยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินผลิตไฟฟ้า แต่ทว่าผ่านไปแล้วกว่า 1 ปีที่ร่างแผน PDP2024 ยังคงเงียบหายโดยไม่มีการประกาศใช้ และไม่มีเสียงตอบรับว่าการยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินตามข้อเสนอของภาคประชาชนจะถูกกำหนดไว้ในแผน PDP หรือไม่

ยิ่งเป้าหมายและแผนการเปลี่ยนผ่านถูกทำให้ทอดยาวออกไปนานเท่าใด โอกาสที่คนเหนือจะได้บอกลาโรงไฟฟ้าถ่านหินยิ่งช้ามากขึ้น หากแผน PDP ฉบับใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปจากร่างแผนเดิม เท่ากับว่าคนเหนืออาจต้องอยู่กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะและโรงไฟฟ้าหงสาไปอีก 12 ปี เป็นอย่างน้อย 

ท่ามกลางความเงียบงันของร่างแผน PDP2024 ได้แต่หวังว่าข้อเรียกที่ผ่านมาของภาคประชาชนจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งในการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่  และไม่เงียบหายไปอย่างที่เป็นมา เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าอาจกลายเป็นความอยุติธรรมสำหรับประชาชนเช่นกัน

อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง