เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น
จากทีมที่เคยลุ้นหนีตกชั้นในไทยลีก 2 และเผชิญปัญหาทางการเงินเรื้อรังจนต้องพึ่งพาการยืมนักเตะและเงินทุนจากสโมสรอื่น วันนี้ชื่อของ “ลำปาง เอฟซี” กลับมาเป็นที่จับตาอีกครั้งในสถานะที่น่าวิตกยิ่งกว่าเดิม
ย้อนกลับไปในฤดูกาล 2564–65 ลำปาง เอฟซี พลิกสถานการณ์อย่างเหลือเชื่อ กลายเป็น “ทีมม้ามืด” ที่สามารถผ่านรอบเพลย์ออฟเอาชนะ ชัยนาท ฮอร์นบิล และ ตราด เอฟซี คว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นสู่ ไทยลีก หรือ ลีกสูงสุดของประเทศไทย ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร สร้างความภาคภูมิใจให้แฟนบอลเมืองรถม้ามหาศาล
แต่หลังจากช่วงเวลาแห่งความหวังเพียงไม่นาน วิกฤตลูกใหม่ก็ถาโถมเข้าใส่ เมื่อล่าสุด กลุ่มทุนหลักของทีมประกาศถอนตัว จากการสนับสนุนสโมสร ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการโดยตรง จนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้ ทางสโมสรได้ทำหนังสือของดส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันในฤดูกาล 2568-69 หลายกระแสคาดการณ์ว่าทีมอาจประสบปัญหาทางการเงิน และถูกซื้อไปเพื่อผลประโยชน์ของทีมคู่แข่งที่กำลังจะตกชั้น หรือนี่อาจถึงทางตันสโมสรฟุตบอลของชาวลำปาง
จุดกำเนิดรถม้ามรกตจากแฟนบอลท้องถิ่น
สโมสรฟุตบอล ‘ลำปาง เอฟซี’ เริ่มเคลื่อนไหวครั้งแรกจากการสนับสนุนของกลุ่มแฟนบอลที่อยากให้จังหวัดลำปางมีสโมสรฟุตบอลอาชีพเหมือนจังหวัดอื่นๆ ในโซนภาคเหนือ โดยเริ่มแรกเป็นเพียงการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในกลุ่มแฟนบอล แต่ปัญหาคือยังขาดผู้ริเริ่มก่อตั้งและกลุ่มทุนในการสนับสนุน ในที่สุดกลุ่มแฟนบอลก็ผลักดันการตั้งสโมสรได้สำเร็จในปี 2552 โดยมี ธนาธร โล่ห์สุนทร ดำรงตำแหน่งประธานสโมสร พร้อมด้วย ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร นายกสมาคมกีฬา จังหวัดลำปางในขณะนั้น ในฐานะที่ปรึกษาฯ และ ดร.สุนี สมมี นายก อบจ.ลำปางในขณะนั้น ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาฯ เช่นกัน รวมถึงได้แต่งตั้งให้ ณรงค์ พินธิสืบ อดีตกัปตันทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้รับหน้าที่ผู้จัดการทีมฯ ในปีแรกของการก่อตั้งสโมสร อีกทั้งยังกำเนิดฉายาที่ติดหูอย่าง ‘รถม้ามรกต’ โดยฉายาและตราสโมสรได้แรงบันดาลใจจาก ‘รถม้า’ ที่ตราประจำจังหวัดและ ‘สีมรกต’ ที่เป็นสีประจำจังหวัด
นักเตะท้องที่ผสมการเมืองท้องถิ่น
ในช่วงแรกที่ก่อตั้งทีม สโมสรฟุตบอลลำปาง เอฟซี ได้แต่งตั้งให้ จเร นุ่มสุวรรณ หรือ ‘โค้ชกุ้ง’ เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน โดยโค้ชกุ้งจะเน้นใช้เด็กในท้องที่เพื่อสร้างคำว่า “ท้องถิ่นนิยม” ให้กับลำปาง เอฟซี โดยแข้งหลักชุดนั้นได้แก่ เอกราช สบสาย, ชูชาติ บุตรพรม และ อาทิตย์ อ่อนคำ ซึ่งพูดได้เต็มปากว่าพวกเขาทั้ง 3 มักจะสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมจนกลายเป็นตัวหลักที่ลำปาง เอฟซี จะขาดไปไม่ได้
นอกจากจะใช้นักเตะท้องที่แล้ว หากดูรายชื่อฝ่ายบริหารสโมสรฟุตบอลลำปาง เอฟซีในยุคแรกนั้นจะพบว่าเป็นกลุ่ม ‘บ้านใหญ่’ ทางการเมืองอย่างตระกูล ‘โล่ห์สุนทร’ ซึ่งประธานสโมสรอย่าง ธนาธร โล่ห์สุนทร เข้าสู่งานการเมืองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี พ.ศ. 2550 ในสังกัดพรรคพลังประชาชน และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น แต่ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2554 ธนาธรได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทยแต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และล่าสุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยปี พ.ศ. 2566 ธนาธรได้ลงสมัครในสังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นสมัยที่ 2 ที่เขาชนะการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าในระหว่างที่เขาเป็น สส. เขาได้เป็นประธานสโมสรฟุตบอลลำปาง เอฟซี ควบคู่ไปด้วย
อีกทั้งเขายังมีความสัมพันธ์กับ ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ซึ่งเป็นบิดาของธนาธร และยังเป็นนายกสมาคมกีฬา จังหวัดลำปางในขณะนั้น โดยไพโรจน์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง ครั้งแรกในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2531 สังกัดพรรคเอกภาพ ต่อมาเปลี่ยนชื่อพรรคเป็นพรรคสามัคคีธรรม กระทั่งในการเลือกตั้งเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 จึงย้ายมาสังกัดพรรคชาติพัฒนา และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลชวน หลีกภัย ในปี พ.ศ. 2537 และในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในปี พ.ศ. 2539 จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2541 ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ได้เข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งอีกสมัย กระทั่งถูกตัดสิทธิทางการเมืองเนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรค และล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. สมัยที่ 8 ในสังกัดพรรคเพื่อไทย และเป็น สส. เขตที่อายุมากที่สุดที่ได้รับเลือกตั้ง คือ 82 ปี จะเห็นได้ว่าแม้จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองแต่ไพโรจน์ก็ไม่ได้ห่างหายไปไหน เขาได้เข้าไปเป็นนายกสมาคมกีฬาและได้ทำงานร่วมกับบุตรชายอย่างธนาธรที่เป็นทั้ง สส. และเป็นประธานสโมสรฟุตบอลลำปาง เอฟซี อาจเรียกได้ว่าพวกเขาได้คุมกีฬาทั้งจังหวัดเลยก็ว่าได้
จเร นุ่มสุวรรณ ให้สัมภาษณ์กับ SIAMSPORT เรื่องงบประมาณในการทำทีมขณะนั้นไว้ว่า “งบประมาณคิดเป็นตัวเลขคร่าวๆ เอาไว้อยู่ที่จำนวน 4 ล้านบาท โดยมาจากสมาคมกีฬา จ.ลำปาง, องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง รวมถึงสปอนเซอร์รายอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงติดต่ออย่างเป็นทางการ”
อีกทั้งเขายังยกเครดิตให้กับ ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร , สุนี สมมี และธนาธร โล่ห์สุนทร โดยเผยว่า “โดยการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลอาชีพลำปาง เอฟซี ในครั้งนี้คงต้องยกเครดิตให้กับ 3 ผู้ใหญ่ที่มีใจรักกีฬาอย่าง ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร นายกสมาคมกีฬา จ.ลำปาง ดร.สุนี สมมี นายกอบจ.ลำปาง รวมถึง สส.ธนาธร โล่ห์สุนทร ประธานสโมสรฯ ที่ช่วยกันผลักดันให้พวกเรามีวันนี้ได้ อย่างไรแล้วพวกเราจะเดินหน้าไปสู่ความหวังที่วางไว้ไม่ได้เลยหากไม่มีกลุ่มแฟนคลับพันธุ์แท้ที่ถือว่าเป็นแกนหลักสำคัญในการเข้ามาช่วยสนับสนุนทีมเหมือนกับที่เป็นอยู่ทุกวันนี้” ดูเหมือนว่าการสร้างทีมในขณะนั้นได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากกลุ่มบ้านใหญ่ทางการเมือง และหน่วยงานท้องถิ่น
ถึงเป็นทีมน้องใหม่แต่รถม้ามรกตไม่เคยกลัวใคร
ลำปาง เอฟซี เริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมแข่งขันลีกภูมิภาค ดิวิชัน 2 (ไทยลีก 4) โดยมีผู้สนับสนุนภายในจังหวัดเป็นอย่างดี เว็บไซต์ SIAMSPORT ได้สัมภาษณ์ ณรงค์ พินธิสืบ ผู้จัดการทีมลำปาง เอฟซี ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 โดยณรงค์กล่าวทิ้งท้ายในการสัมภาษณ์ครั้งนั้นไว้ว่า “แม้เราจะเป็นทีมน้องใหม่แต่เราก็หวังที่จะทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาแฟนฟุตบอลไทยว่าเราเองก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าทีมอื่นๆ มากสักเท่าไหร่นักหรอก ไม่เชื่อก็คอยติดตามดูให้ดีก็แล้วกัน”
ต่อมาในฤดูกาล 2558 ลำปางสามารถเลื่อนชั้นสู่ดิวิชัน 1 (ไทยลีก 2) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร แต่ต่อมาในปี 2563 ช่วงที่ สุโชค เลิศวัฒนาโกเมศ หรือ ‘เฮียยื้อ’ เป็นประธานสโมสรลำปาง เอฟซี เป็นช่วงที่ทีมต้องเผชิญกระแสข่าวกับการตัดสินใจ “ยุบทีม” เนื่องจากปัญหาด้านการเงินของสโมสร ซึ่งก็ได้รับการช่วยเหลือจาก สุเทพ ภู่มงคลสุริยา ประธานสโมสรหนองบัว พิชญ ด้วยการส่งตัวนักฟุตบอลจากอคาเดมี่ของหนองบัว พิชญ พร้อมกับงบประมาณการทำทีมส่วนหนึ่ง มาเป็นแรงสนับสนุนเพื่อให้ทีมลำปาง เอฟซี อยู่รอดในสนามฟุตบอลไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับการช่วยด้วยการส่งนักเตะอคาเดมี่มาให้ใช้ แต่นักฟุตบอลเหล่านี้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเล่นระดับไทยลีก 2 มาก่อน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากแฟนบอลถึงความพร้อมในการแข่งขันกับทีมอื่นในระดับเดียวกัน โดย สุโชค เลิศวัฒนาโกเมศ ได้ให้สัมภาษณ์กับ MAIN STAND เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ระบุถึงเป้าหมายในฤดูกาลแข่งขันดังกล่าวว่า “เป้าหมายของทีมเราในฤดูกาลนี้ คือการพัฒนาฝีเท้าของเด็กเหล่านี้มากกว่าจะมาคิดถึงเป้าหมายการเลื่อนชั้น หรือตั้งเป้าอะไรที่มันสูงขนาดนั้น เพราะทุกคนในทีมของเราตอนนี้ เรียกได้ว่าเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีประสบการณ์ในระดับไทยลีก 2”
ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ ในฤดูกาล 2564–65 สโมสรสร้างความตกใจให้กับแฟนบอล โดยเป็นทีมม้ามืดที่สามารถเลื่อนชั้นสู่ไทยลีกในฤดูกาลนั้น ซึ่งเป็นลีกสูงสุดได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร จากการเพลย์ออฟชนะสโมสรฟุตบอล ชัยนาท ฮอร์นบิล และสโมสรฟุตบอล ตราด ซึ่งสำหรับทีม ตราด ที่ทีมลำปางไม่เคยชนะเลยทั้งฤดูกาลแข่งขัน แต่กลับพลิกมาชนะในรอบเพลย์ออฟและคว้าตั๋วสู่ไทยลีกได้สำเร็จ
“คือบางทีมันก็เป็นเรื่องของดวง โชคชะตา และจังหวะเวลาด้วย ยกตัวอย่าง ลำปาง เอฟซี ฤดูกาลนี้เจอกับตราด เอฟซี 4 นัด ทีมของเราไม่เคยชนะเขาได้สักครั้ง เล่นในลีกปกตินี่ถึงกับแพ้เขาทั้งไปทั้งกลับเลยนะ ส่วนรอบเพลย์ออฟก็เสมอสองนัด ไม่เคยชนะตราด แต่สุดท้ายกลายเป็นเราที่ได้ไปไทยลีก”
สุโชค กล่าวกับ MAIN STAND
ตำแหน่งอยู่ไม่นาน แต่ตำนานจะอยู่ตลอดไป หลังจากจบฤดูกาลแข่งขัน 2565-66 ลำปาง เอฟซี กลับต้องพบความผิดหวัง เมื่อทีมตกจากชั้นไทยลีก และต้องไปเล่นในไทยลีก 2 ในฤดูกาล 2566-67 โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ซึ่งได้แต่งตั้ง ฐีระ สุวรรณสังข์ หรือ ‘เสี่ยเจี๊ยบ’ ดำรงตำแหน่งประธานสโมสรคนใหม่ และในส่วน สุโชค เลิศวัฒนาโกเมศ ผู้บริหารทีมคนเก่า จะขยับไปเป็นประธานที่ปรึกษาฯ ของทีมแทน
จากจุดสูงสุดโซนเหนือ สู่ทางตันไร้ทุนเดินต่อ
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 เว็บไซต์ BallThai รายงานว่า สโมสรลำปาง เอฟซี มีแนวโน้มในการยุบทีมมีสูงมากๆ เนื่องจากกลุ่มสตาฟฟ์ที่มาจากผู้สนับสนุนรายใหญ่ของทีมอย่าง ‘พิชญ’ เก็บข้าวของอุปกรณ์ซ้อมทั้งหมดออกจากสนามกีฬากลางจังหวัดลำปาง เพื่อนำกลับไปไว้ที่แคมป์ของทีม หนองบัว พิชญ ต่อมาในวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 สโมสรลำปาง เอฟซี ได้ส่งหนังสือแจ้งของดส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันในฤดูกาล 2568-69 เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น โดยระบุว่าไม่สามารถเตรียมความพร้อมด้านนักกีฬาและการจัดการภายในสโมสรได้ทัน จากเหตุการณ์นี้เองบริษัท ไทยลีก จำกัด ได้พิจารณาตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 2 ข้อ 17.2.1. ซึ่งระบุว่า กรณีที่ทีมจากไทยลีก 2 มีการลดจำนวนทีม (และทีมนั้นไม่ได้ตกชั้นตามเงื่อนไขปกติ) หรือทีมจากไทยลีก 1 ตกชั้นมาไม่ครบจำนวน ให้พิจารณาเสริมทีมจาก 3 อันดับสุดท้ายของไทยลีก 2 โดยเรียงตามลำดับคะแนนที่ดีที่สุด และต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน เพื่อให้มีทีมครบตามจำนวนที่สมาคมกำหนด (18 สโมสร) โดยในฤดูกาลที่ผ่านมาไทยลีก 2 เริ่มต้นด้วย 18 ทีม ก่อนที่สมุทรปราการ ซิตี้ จะถอนทีมออกไป ทำให้เหลือ 17 สโมสร และเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล พัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด จบอันดับที่ 16 และสุพรรณบุรี เอฟซี จบอันดับที่ 17 ซึ่งตามปกติจะต้องตกชั้นไปไทยลีก 3 แต่จากสถานการณ์ล่าสุดและการอ้างอิงระเบียบข้อบังคับข้างต้นทำให้ พัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด ซึ่งจบอันดับ 16 และมีคะแนนสะสมดีที่สุดในบรรดาทีมที่จะต้องตกชั้นใน 3 อันดับสุดท้าย จึงได้รับโอกาสสำคัญนี้กลับมาแข่งขันในไทยลีก 2 อีกครั้งภายใต้ชื่อ “BYD SEAL 5 ลีกสอง”
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยให้เห็นว่าสโมสรฟุตบอลลำปาง เอฟซี ประสบปัญหาทางการเงินมาเป็นระยะเวลานาน โดยสโมสรฟุตบอลลำปาง เอฟซี จดทะเบียนบริษัทในชื่อ ‘บริษัท สโมสรฟุตบอลลำปางเอฟซี จำกัด’ ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2563-2567 พบว่าบริษัทขาดทุนมาโดยตลอด

ในขณะที่รายชื่อกรรมการในปัจจุบันของบริษัท สโมสรฟุตบอลลำปางเอฟซี จำกัด พบว่ามีเพียงคนเดียวเท่านั้นคือ ปวีณ์วัฒน์ ห้าวเจริญ และเมื่อค้นข้อมูลลึกลงไปพบว่า ปวีณ์วัฒน์ เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสโมสรฟุตบอล พัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นทีมเดียวกับที่ได้มีสิทธิกลับมาแข่งขันในไทยลีก 2 อีกครั้ง ทำให้มั่นใจได้ว่ากลุ่มทุนใหม่ที่ได้เข้ามาบริหารสโมสรฟุตบอลลำปาง เอฟซี คือ พัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด
อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่ทำให้ลำปาง เอฟซี ขาดทุนต่อเนื่องมี 4 ประการด้วยกัน 1.ต้นทุนบริหารสูง แต่รายได้จำกัด เมื่อขึ้นไทยลีก 1 ในฤดูกาล 2565-66 สโมสรต้องลงทุนมหาศาลเพื่อปรับปรุงสนามกีฬากลางจังหวัด ให้ได้มาตรฐาน Club Licensing ใช้งบประมาณถึง 10 ล้านบาท ภายในระยะเวลาแค่ 2–3 เดือน เช่น การเพิ่มไฟส่องสว่าง ติดตั้งที่นั่ง วีเออาร์ ฯลฯ และแม้สโมสรพยายามหารายได้เชิงพาณิชย์ โดยประธานเข้าไปขายเสื้อเอง และมีรายได้จากยอดขายเสื้อเกิน 8 ล้านบาท แต่ก็ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่สูงขึ้นเช่นกัน 2.ขาดสภาพคล่อง จ่ายค่าแรงล่าช้า เว็บไซต์ GOAL รายงานว่า สโมสรประสบปัญหาค้างจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะและสตาฟฟ์เป็นเวลาหลายเดือน กระทั่งนักเตะเตรียมร้องเรียนไปยังสมาคมฟุตบอลฯ และฟีฟ่า ซึ่งก่อนหน้านี้ในไทยลีก 2 ก็เคยต้องปลดนักเตะหลายรายเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากสภาพคล่องไม่พอ 3.บริหารโดยกลุ่มทุนเล็ก ขาดแหล่งเงินทุนมั่นคง กลุ่มทุน “พิชญ” ที่เข้ามาบริหารทีม มีต้นทุนที่จำกัด และต่อมาประกาศไม่บริหารต่อในปี 2568-69 เพราะแบกรับภาระไม่ไหว ต้องหาผู้บริหารใหม่หรือเสี่ยงถูกยุบทีม และ4.แฟนบอลในท้องถิ่นมีจำกัด โดยรายได้จากการเข้าเชียร์ในสนามมีจำกัด ประกอบกับแฟนบอลส่วนใหญ่เป็นคนภายในจังหวัด ซึ่งรายได้ตรงนี้ไม่เพียงพอที่จะให้ทีมดำเนินต่อได้อย่างมั่นคง
ถึงทีมจะเปลี่ยนไป แต่จิตวิญญาณแฟนบอลรถม้ามรกตยังคงอยู่
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสโมสรฟุตบอลลำปาง เอฟซี ทำให้มีแฟนบอลลำปางต่างเข้าไปแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊ค Lampang FC สโมสรฟุตบอลลำปางเอฟซี โดยคอมเมนต์ส่วนใหญ่ต่างเสียใจและผิดหวังกับสโมสร เช่น “น่าเสียดายครับ เราผลงานดีแทบทุกปี เป็นสโมสรที่สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้แฟนบอลได้หลายเรื่อง การไม่ได้ไปต่อเพราะเหตุผลทางการเงิน เป็นอะไรที่เจ็บปวดสุดๆ ครับ” “คุณฆ่าทีมของเราได้ แต่คุณฆ่าจิตวิญญาณของพวกเราไม่ได้” หรือ “เห้ออ เสียใจ เสียดาย มีพบ ต้องมีจาก ทำเต็มที่ ตามเป้าหมายแล้ว ไทยลีก ลีกสูงสุดก็ไปมาแล้ว! จะอยู่ในใจเสมอ”
Lanner พูดคุยกับ กฤชเชาว์ ภูวิจิตร์ ซึ่งเป็นแฟนบอลลำปาง เอฟซี เกิดและโตที่จังหวัดลำปาง อีกทั้งยังเคยลงเล่นให้กับสโมสรลำปาง เอฟซีในระดับเยาวชนรุ่น U13 และ U 15 โดยกฤชเชาว์ เผยความในใจว่า เห็นลำปาง เอฟซี ตั้งแต่ยังไม่ได้เล่นในลีกอาชีพ เป็นเพียงทีมที่แข่งขันภายในจังหวัด เห็นจากแฟนบอลเพียงหยิบมือ จนได้เล่นลีกสูงสุดแฟนบอลก็เยอะขึ้น คนในจังหวัดก็มาเชียร์มากขึ้น ตอนนี้ตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้เห็นทีมบ้านเกิดตัวเองเล่นในระดับลีกสูงสุด แข่งขันกับทีมแนวหน้าของประเทศ แต่สิ่งที่ภูมิใจมากเลยก็คือนิตยสารฟุตบอลชื่อดังอย่าง FourFourTwo เคยจัดอันดับให้โลโก้ของสโมสรลำปางสวยงามเป็นอันดับ 2 จากทั่วโลก เป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจไม่เคยลืม ซึ่งเป็นช่วงที่กฤชเชาว์กำลังเล่นอยู่ในทีมเยาวชนของลำปาง เอฟซี ด้วยพอดี
จากข่าวที่เกิดขึ้นกฤชเชาว์รู้สึกเสียใจที่เห็นทีมบ้านเกิดของตัวเองไม่ได้ไปต่อ แม้จะไม่เห็นด้วยที่ทีมต้องถูกปล่อยขายและถูกซื้อไปเพื่อให้ทีมคู่แข่งรอดจากการตกชั้น แต่กฤชเชาว์ก็เขาใจว่ามันคือโลกธุรกิจ เงินเป็นสิ่งสำคัญในการหล่อเลี้ยงนักเตะ และทีมงาน ทำให้แม้ในใจจะผิดหวังแต่ก็ต้องเดินหน้าต่อไป
“ถ้ามองในโลกปัจจุบัน ฟุตบอลมันคือธุรกิจอยู่แล้ว ยังไงคุณก็ต้องหาเงินในการบริหารจัดการทีม ซึ่งความรู้สึกของแฟนบอลก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่ง คนที่จะเข้ามาบริหารก็ต้องเลือกว่าจะบริหารเข้าทางธุรกิจหรือแฟนบอล”
กฤชเชาว์ กล่าว
กฤชเชาว์ยังได้ฝากถึงแฟนบอลลำปางว่าเป็นกลุ่มที่อบอุ่นมาก แฟนบอลส่วนใหญ่น่ารักและเหนียวแน่นสามัคคีกันมาก ถึงเราจะผิดหวังในวันนี้ แต่นี่คือโลกความเป็นจริงที่ต้องก้าวข้ามความเสียใจไปให้ได้
Lanner ยังได้พูดคุยกับ ปาร์ค ทัพพสาร แฟนบอลทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด เผยความรู้สึกว่าตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลำปาง เอฟซี อีกทั้งยังเห็นใจแฟนบอลเพราะเป็นทีมจังหวัด ถือเป็นทีมภูธรที่มีผลงานดีต่อเนื่อง แต่หากมองในมุมมองของการทำธุรกิจ หากขาดเงินลงทุนทีมก็ไม่สามารถไปต่อได้ หากดำเนินการแบบขัดสนต่อไปแฟนบอลก็ทุกข์ใจเช่นกัน แต่ก็เห็นใจทั้งแฟนบอลและฝ่ายบริหาร เชื่อว่าทุกคนทำเต็มที่แล้ว สำหรับแฟนบอลด้วยกันแม้จะเชียร์คนละทีมแต่เราก็เป็นเพื่อนกัน หวังว่าแฟนบอลลำปาง เอฟซี จะผ่านพ้นความเสียใจนี้ไปได้

นักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคมรอบตัว และพยายามตามหาคำตอบเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้น