หลังจากที่พายุ ‘วิภา’ ได้เคลื่อนตัวเข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 ทำให้หลายพื้นที่เกิดฝนตกหนัก ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดดินโคลนถล่ม นํ้าป่าไหลหลาก และปริมาณนํ้าในแม่นํ้าเพิ่มสูงขึ้น กระทั่งนํ้าได้เข้าท่วมจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบหนัก แม้ว่าหน่วยงานท้องถิ่นในจังหวัดจะมีการตั้งรับเหตุการณ์นํ้าท่วมไว้ล่วงหน้าแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งภัยธรรมชาติได้ โดยเฉพาะน่านที่นํ้าท่วมสูงกว่าเมื่อปลายปี 2567 อย่างไรก็ตามศึกครั้งนี้ยังไม่จบ เมื่อแม่นํ้ายมที่ไหลผ่านจังหวัดแพร่ได้ส่งต่อมวลนํ้ามายังจังหวัดสุโขทัย เมืองแห่งมรดกโลกที่มีโบราณสถานที่สำคัญหลายแห่ง
สัญญาณเตือนได้เริ่มขึ้นเมื่อคืนวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ จังหวัดสุโขทัย ได้สั่งเปลี่ยนระดับการแจ้งเตือนเป็นธงแดง สื่อถึงระดับแม่นํ้ายมที่อยู่ในระดับวิกฤตและเสี่ยงเกิดนํ้าท่วมในพื้นที่ริมแม่นํ้ายม อีกทั้งยังเตือนให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
กระทั่งเช้าวันที่ 26 กรกฎาคม เวลา 06.24 น. ผนังกั้นน้ำริมนํ้ายม บริเวณหมู่ 1 ตำบลปากแคว อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ไม่สามารถต้านทานมวลนํ้าได้ ส่งผลให้นํ้าได้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ริมนํ้า ทางด้านตลาดไตรรัตน์ ตำบลธานี อำเภอเมือง นํ้าได้ทะลักเข้าตลาด พ่อค้าแม่ค้าต่างรีบขนย้ายสินค้าหนีนํ้า ประชาชนไม่สามารถเข้าไปจับจ่ายซื้อสินค้าได้
สถานการณ์ได้เลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อผนังกั้นนํ้าบริเวณสะพานแม่ย่า ไม่สามารถต้านทานมวลนํ้าที่มาเร็วและแรงอีกต่อไปได้ ส่งผลให้เมื่อเวลา 07.00 น. นํ้าได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แจ้งเตือนฉุกเฉินขั้นสูงสุด ระบุว่า น้ำเริ่มล้นตลิ่งที่อำเภอเมือง และ อำเภอศรีสำโรง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบพื้นที่ริมแม่น้ำที่อำเภอศรีสำโรง (ตำบลวังใหญ่, ตำบลวังทอง) อำเภอเมืองสุโขทัย (ตำบลปากแคว, ตำบลยางซ้าย , ตำบลปากพระ ตำบลธานี)ให้รีบยกของขึ้นที่สูงทันที รีบเคลื่อนย้ายรถไปในที่สูง อพยพไปยังศูนย์พักพิงในพื้นที่ถ้าจำเป็น เคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ไปยังที่ปลอดภัย และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
นพฤทธิ์ ศิริโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องพายุวิภาส่งผลให้ในช่วงวันที่ 22 ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดพะเยาแพร่และสุโขทัย โดยโครงการชลประทานจังหวัดสุโขทัยได้แจ้งถึงสถานการณ์น้ำเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 เวลา 15.00 น. ที่สถานี Y.14B อำเภอศรีสัชนาลัย วัดปริมาณน้ำได้ที่ 741.30 ลบ.ม./วินาที โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังนี้ 1. อำเภอศรีสำโรง สถานการณ์ น้ำผุดใต้สะพานสิริปัญญารัต ส่งผลให้ไหลทะลักเข้าท่วม ตำบลวังใหญ่ ตำบลวังทอง 2. อำเภอเมืองสุโขทัย สถานการณ์แรงดันน้ำทำให้แนวกระสอบน้ำทะลักไหลเข้าท่วมพื้นที่ ได้แก่ หมู่ 1 ตำบลปากแคว (น้ำล้นพนังกั้นน้ำ) ชุมชนวัดคูหาสุวรรณ ชุมชนพระแม่ย่า ส่วนการให้ช่วยเหลือเบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมสรรพกำลังช่วยเหลือในเบื้องต้น อาทิ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และเร่งอพยพขนย้ายผู้ประสบภัย
แม้ว่ามวลนํ้าจะถาโถมเข้ามาท่วมอย่างต่อเนื่อง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ท้อถอย ยังคงพยายามอุดพนังกั้นนํ้าที่แตกหัก เพื่อชะลอนํ้าให้ได้มากที่สุด เช่น บริเวณวัดคูหาสุวรรณ ได้ดำเนินการอุดรอยรั่วของผนังกั้นนํ้าได้สำเร็จ แต่ก็ยังมีนํ้าซึมออกมาเล็กน้อย และอาจป้องกันได้ชั่วคราวเท่านั้น หากนํ้ายังเพิ่มสูงต่อเนื่องพยังกั้นนํ้าอาจพังได้อีกครั้ง
นพฤทธิ์ ศิริโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ยังได้ถอดบทเรียนสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุ “วิภา” ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย โดยแบ่งเป็น 6 พื้นที่ด้วยกัน ดังนี้
1. พื้นที่ หมู่ 6 ตำบลวังใหญ่ อำเภอศรีสำโรง
จุดเกิดเหตุ : บริเวณกำแพงตอม่อใต้สะพานสิริปัญญารัตน์
สาเหตุ : เกิดน้ำผุดใต้กำแพงตอม่อใต้สะพาน ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ตำบลวังทอง
แนวทางแก้ไข : 1.เสริมกระสอบทราย Big Bag อุดรอยรั่ว 2.อุดช่องโหว่กำแพงตอม่อใต้สะพานหลังน้ำลด
ปัญหา/อุปสรรค : รอยรั่วอยู่ใต้น้ำไม่สามารถหาได้และแก้ไขได้ช่วงน้ำท่วมต้องรอน้ำลด
2. ชุมชนวัดคูหาสุวรรณ ตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย
จุดเกิดเหตุ : ช่องกำแพงกั้นน้ำนมหน้าวัด
สาเหตุ : แรงดันน้ำสูงทำให้แนวกระสอบทรายพัง
แนวทางแก้ไข 1.เสริมกระสอบทราย , Big Bag 2.ใช้ฐานเสาไฟฟ้าคอนกรีตเสริม
ปัญหา/อุปสรรค : ปริมาณแรงดันน้ำมากยากในการดำเนินการวางกระสอบทราย
3. ชุมชนพระแม่ย่า ตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย
จุดเกิดเหตุ : สะพานแม่ย่า ข้ามน้ำยม
สาเหตุ : แนวกระสอบทรายหัวท้ายสะพานรับแรงดันน้ำไม่ไหว พังเสียหาย
แนวทางแก้ไข : 1.เสริมแผ่นไม้กั้นน้ำ 2.วางกระสอบทราย 3.ใช้ฐานเสาไฟฟ้าคอนกรีต
ปัญหา/อุปสรรค : ปริมาณน้ำมากการดำเนินการลำบาก
4. พื้นที่หลังโรงเบียร์ช้าง ชุมชนวังหิน
จุดเกิดเหตุ : พื้นที่หลังโรงเบียร์ช้าง
สาเหตุ : แรงดันน้ำทำให้กระสอบทรายแนวกั้นพัง
แนวทางแก้ไข : วางกระสอบทรายใหม่ให้แข็งแรง
ปัญหา/อุปสรรค : เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำสูง
5. ถนนนิกรเกษม ตำบลธานี
จุดเกิดเหตุ : บริเวณหน้าสำนักงานเหล่ากาชาดสุโขทัย
สาเหตุ : แรงดันน้ำสูง กระสอบทรายที่วางกันน้ำพังทลาย
แนวทางแก้ไข : วางกระสอบทรายbig bag
ปัญหา/อุปสรรค : ปริมาณและแรงดันน้ำมาก
6. หมู่ 11 ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก
จุดเกิดเหตุ : บริเวณสะพานยายน้อย
สาเหตุ : น้ำล้นคันคลองยมน่าน
แนวทางแก้ไข : 1.วางกระสอบทราย 2.ใช้เครื่องจักรกลเสริมแนวคัน
ปัญหา/อุปสรรค : กระแสน้ำเชี่ยว ทำงานลำบาก
27 กรกฎาคม 2568 กระสอบทรายที่นำมาอุดรอยรั่วของผนังกั้นนํ้าในลายจุดไม่สามารถรับมวลนํ้าจากแม่นํ้ายมได้อีกต่อไป ทำให้กำแพงกระสอบทรายได้พังทลายลง พร้อมกับมวลนํ้าที่ได้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัยอีกครั้ง เช่นบริเวณหน้าจวนผู้ว่าฯ หรือบริเวณถนนนิกรเกษม และหลังวัดปากแคว ในคืนวันเดียวกันนั้น เวลา 23.00 น. มีคำสั่งให้ปิดสะพานพระร่วง เนื่องจากพบว่าสะพานชำรุด และมีน้ำผุดตามรอยบวม ทำให้ต้องปิดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
สถานการณ์ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 28 กรกฏาคม 2568 แม้จะไม่มีฝนตกหนักแล้วก็ตาม แต่มวลนํ้าจากแม่นํ้ายมยังเพิ่มขึ้น และไหลรุนแรงอยู่ ซึ่งทำให้บ้านเรือนหลังหนึ่งในหมู่ 2 ตำบลบ้านนา อำเภอศรีสำโรง ถูกนํ้าพัดพังทลายไปต่อหน้าต่อตา ทางด้าน พฤทธิ์ ศิริโกศล ผู้ว่าราชการจังกวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า เวลา 06.00 น. ได้เกิดเหตุคันแม่น้ำยมแยกตัว ประมาณ 15 เมตร บริเวณ หมู่ 2 ตำบลบ้านนา อำเภอศรีสำโรง จ.สุโขทัย ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน เบื้องต้นบ้านพังเสียหาย 1 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน ดังนี้ ต.บ้านนา ประมาณร้อยกว่าครัวเรือนใน หมู่ 2 หมู่ 5 และหมู่ 3 โดยได้อพยพประชาชนไปพักที่ศูนย์พักพิง อบต.บ้านนา ซึ่งมวลน้ำที่หลากมาปัจจุบันไหลข้ามถนนเส้น 1195 สุโขทัย – วังไม้ขอน ส่วนหนึ่ง และไหลลงคลองตาเป้า (คลองก้างปลา) ลงทะเลหลวงต่อไป
ถอดบทเรียนทุกปี แต่ก็ยังมีนํ้าท่วมให้เห็นทุกปี
แม้จะมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นํ้าท่วมซํ้าซากทุกปีในจังหวัดสุโขทัย แต่ยังดูเหมือนว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง แม้ประชาชนจะเตรียมรับมือแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถคาดเดาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างแม่นยําว่าในปีนี้จะหนักหรือเบากว่าปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักเกิดขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อมรับมือ โดยพนังกั้นน้ำบางจุดชำรุด หรือไม่มีการเสริมความแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง และท่อระบายน้ำอุดตันและมีขนาดเล็กในเขตเทศบาล ทำให้ระบายน้ำไม่ทัน อีกทั้งการจัดการน้ำลุ่มน้ำยมยังไม่มีประสิทธิภาพ โดยลุ่มน้ำยมเป็นลุ่มน้ำเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีเขื่อนกั้นน้ำตอนบนอย่างเป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ดีในช่วงวิกฤต และการประสานงานระหว่างจังหวัดต้นน้ำ (เช่น แพร่ อุตรดิตถ์) และปลายน้ำ (สุโขทัย พิษณุโลก) ยังไม่เป็นระบบ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...