เมษายน 29, 2024

    กป.อพช. เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศห้ามชุมนุมและต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ภาคประชาชนได้แสดงออกในช่วงการประชุม APEC 2022 อย่างมีศักดิ์ศรี

    Share

    วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เผยแพร่แถลงการณ์เรื่อง รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศห้ามชุมนุมและต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ภาคประชาชนได้แสดงออกในช่วงการประชุม APEC 2022 อย่างมีศักดิ์ศรี โดยมีเนื้อหาดังนี้

    แถลงการณ์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

    เรื่อง รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศห้ามชุมนุมและต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ภาคประชาชนได้แสดงออกในช่วงการประชุม APEC 2022 อย่างมีศักดิ์ศรี

    เวทีประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ที่ประเทศไทยกำลังจัดให้มีการประชุมในระหว่างวันที่ 14 – 18 พฤศจิกายน 2565 ถือเป็นเวทีระดับโลกอีกเวทีหนึ่งที่จะมีการเจรจาผลประโยชน์ในทางธุรกิจของกลุ่มทุนชั้นนำ โดยการสร้างวาทกรรมอันสวนหรูว่าเป็นระบบเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular- Green- Economy Model (BCG) มาเป็นแนวคิดพื้นฐานเพื่อเสนอต่อประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมทั้งหมด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ารายละเอียดในการเจรจาที่จะเกิดขึ้นจากเวทีนี้จะมีทั้งผลกระทบกับประชาชนไทยและประชาคมโลกโดยรวมอย่างแน่นอน

    การแสดงออกของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมในการประชุมเวทีผู้นำระดับโลกเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่สามารถทำได้ ทั้งยังถูกยอมรับในทางสากลว่าการแสดงออกดังกล่าวคือสังคมอารยะที่รัฐบาลจะต้องรับฟังแม้จะเป็นความคิดความเห็นที่แตกต่างก็ตาม  

    ดังนั้น การที่รัฐบาลประยุทธ์ประกาศห้ามชุมนุมในช่วงที่มีการประชุมเอเปคในระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายนนี้ ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร สะท้อนให้เห็นได้ถึงวิธีคิดของความเป็นเผด็จการที่ยังหลงเหลืออยู่ ที่ยังต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด และยังสร้างความชอบธรรมด้วยการสร้างคำอธิบายว่าต้องการเห็นการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่สงบเรียบร้อยเพื่อให้เป็นหน้าตาของประเทศอย่างสมภาคภูมิ ทั้งยังเชิญชวนโดยการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์อย่างมหาศาลให้ประชาชนไทยร่วมรู้สึกในการเป็นเจ้าภาพที่ดี แต่กลับไม่ใส่ใจที่จะเปิดเผยข้อมูล อันเป็นข้อเท็จจริงของข้อตกลงที่มีการเจรจากันก่อนหน้านี้ ที่กำลังจะนำมาสร้างพิธีกรรมลงนามของผู้นำประเทศทั้งหลายในวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ และสังคมจะต้องร่วมกันจับตาสถานการณ์การคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายปิดปากหลังจากนี้

    ในนามของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. (ระดับชาติ) ขอประณามการปิดกั้นและการปิดพื้นที่เพื่อการแสดงออกของประชาชนที่รัฐบาลได้มีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่ห้ามชุมนุมตามที่ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งพื้นที่ห้ามชุมนุมตามประกาศนั้น คือการปิดกั้นภาคประชาชนไม่ให้มีพื้นที่เพื่อการแสดงออกบนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การคุกคามและเข้าควบคุมสิทธิเสรีภาพภายใต้ข้อบังคับของประกาศดังกล่าวนั้นด้วย เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวในทันที และต้องสร้างความเข้าใจกับสังคมไทยต่อการแสดงออกในเรื่องนี้ว่าเป็นสิทธิ์ที่สามารถกระทำได้ และถือเป็นมาตรฐานสากลที่ประชาคมโลกล้วนให้การยอมรับ อันถือเป็นเรื่องพื้นฐานแห่งรัฐที่จะต้องให้การเคารพ

    แถลง วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565

    Related

    Lanner Joy : การเดินทางของซุปเปอร์ฮีโร่ Healthtech สตาร์ทอัพสัญชาติเชียงใหม่ กับการรักษาโรคไมเกรนด้วยจิตวิญญาณนวัตกร

    เรื่องและภาพ: ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์ เมื่อเดินลัดเลาะเข้าไปในย่านศิริมังคลาจารย์ นอกจากคาเฟ่ในตรอกซอกซอยที่หลบซ่อนจากความวุ่นวายในโซนนิมมานฯ หากสังเกตดี ๆ ย่านแห่งนี้เป็นฐานทัพของบริษัทสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย  ไม่น่าเชื่อว่าในพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตรในหัวมุมด้านทิศตะวันตกของคูเมืองเชียงใหม่ จะเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมทางสุขภาพที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตผู้คนมากมาย และในพื้นที่เล็ก...

    เปิดแคมเปญ ‘คนเหนือต้องได้ตรวจปอด’ ดันคนภาคเหนือ ต้องได้รับการคัดกรองมะเร็งปอด ตามระบบหลักประกันสุขภาพ

    สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, และวาระเชียงใหม่ ขอเชิญทุกท่าน ร่วมลงชื่อ "ผลักดัน" ให้คนเหนือในพื้นที่เสี่ยงสูงจากผลกระทบปัญหาฝุ่นควัน ได้รับ "การคัดกรองมะเร็งปอด"...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...