แอมเนสตี้ไทย ยื่นจดหมายเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค 2022 ควรมีบทบาทยุติการนองเลือดในเมียนมา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยยื่นหนังสือและข้อเรียกร้องถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 ควรจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมหารือเพื่อให้ทางยุติการนองเลือดที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาและยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา โดยมี นางนลินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการรับมอบหนังสือและข้อเรียกร้อง

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผย เป็นเวลาเกือบสองปีหลังการทำรัฐประหาร ประชาชนกว่า 1.4 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานในเมียนมา อีก 12,839 คนถูกควบคุมตัวในสภาพที่ไร้มนุษยธรรม และอย่างน้อย 73 คนตกเป็นนักโทษประหาร โดย 4 คนถูกประหารชีวิตไปแล้ว รวมถึงมีเด็ก 7.8 ล้านคนที่ต้องออกจากโรงเรียน กองทัพเมียนมาได้สังหารผู้ชุมนุมประท้วงและประชาชนทั่วไปหลายร้อยคน และอีกหลายพันคนเสียชีวิตจากการขัดแย้งกันด้วยอาวุธที่เกิดขึ้นทั่วประเทศภายหลังรัฐประหาร

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังนำ 2,129 รายชื่อของประชาชนในประเทศไทยที่ร่วมเรียกร้องผ่านแคมเปญออนไลน์บนเว็บไซต์ Change.org เพื่อแสดงเจตจำนง “ยุติการนองเลือดในเมียนมา” มอบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และมอบสำเนาถึง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ประจำปี 2022 (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ควรมีบทบาทสำคัญในการร่วมหารือเพื่อยุติการนองเลือดในประเทศเมียนมาและแสดงพลังในการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา

โดยทาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ดังนี้

  1. รัฐบาลไทยต้องใช้วิธีการทุกอย่างที่เป็นไปได้ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างชายแดน
  2. ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน กลุ่มพหุภาคี และองค์การระหว่างประเทศเช่นหน่วยงานในสหประชาชาติเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและด้านมนุษยธรรมในเมียนมา
  3. รับผู้ขอลี้ภัยและประกันการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศไทย รวมทั้ง ละเว้นจากการเนรเทศหรือการส่งกลับของผู้ขอลี้ภัยชาวเมียนมา และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ขอลี้ภัยและหยุดการดำเนินคดีกับพวกเขาระหว่างพำนักในประเทศไทย
  4. หน่วยงานของรัฐต้องออกประกาศ ระเบียบ หรือกฎกระทรวงอย่างเป็นทางการแก่ผู้ประกอบการธุรกิจและรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบของบริษัทอย่างเต็มที่ที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กองทัพเมียนมาและหน่วยงานในเครือในฐานะผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน

“กองทัพเมียนมาเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเพิกเฉยต่อ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ของอาเซียน ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2564 ทางกองทัพเมียนมารับปากว่าจะดำเนินการตาม แต่ก็ล้มเหลวและไม่สามารถหยุดกองทัพกองทัพเมียนมาในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มากขึ้นต่อประชาชนชาวเมียนมาได้”

“ทางการไทยในฐานะรัฐภาคีอาเซียนและในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกต้องแสดงท่าทีอย่างเร่งด่วนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเมียนมา ทั้งการการสนับสนุนให้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งการไม่บังคับส่งกลับผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยที่หลบหนีมาจากความรุนแรง และต้องให้การประกันว่าภาคธุรกิจหรือรัฐวิสาหกิจของไทยจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา และหน่วยงานในเครือในฐานะผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และต้องเรียกร้องให้กองทัพเมียนมารับฟังเสียงจากประชาชนชาวเมียนมาซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักด้วย”

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง