พฤษภาคม 2, 2024

    พื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม ณ หมู่บ้านแม่คองซ้ายและแม่ป่าเส้า เชียงใหม่

    Share

    21 ธันวาคม 2565

    เรื่อง : นันทัชพร ศรีจันทร์

    ภาพ : กัญญ์วรา หมื่นแก้ว


    เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือได้จัดเวทีประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม ณ หมู่บ้านแม่คองซ้ายและแม่ป่าเส้า ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 07.30 – 15.00 น.

    ภาพ : กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    ชุมชนแม่คองซ้ายและแม่ป่าเส้า เป็นชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานประมาณปี พ.ศ.2479 โดยตั้งถิ่นฐานบริเวณลำห้วยแม่คองซ้าย ทั้งนี้รัฐได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ในปี พ.ศ.2521 ชุมชนแม่คองซ้ายและบ้านแม่ป่าเส้า ได้เข้าร่วมการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นไปตามความร่วมมือและแนวทางการแก้ไขของขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ตามบันทึกข้อตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 และตามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564


    ทั้งนี้หมู่บ้านแม่คองซ้ายและแม่ป่าเส้าเป็นหนึ่งใน 486 ชุมชนทั่วประเทศที่ได้รับความเห็นชอบในการจัดให้มีโฉนดชุมชนในปี 2554 ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 1 กุมภาพันธุ์ 2565 กรณีขอให้ยกระดับโฉนดชุมชนให้เป็นรูปแบบหนึ่งในการจัดการที่ดินตามมาตรา 10 (4) พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบานที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) รับหลักการเพื่อพิจารณาต่อไป

    ในเวลา 08.50 น. มีการกล่าวทักทายผู้เข้าร่วมงานในหัวข้อการจัดการทรัพยากรในฐานะตัวแทนชาติพันธุ์ และตัวแทนเยาวชนคนเมือง  และเวลา 10.30 น.มีการปักหมุดหมายพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต และวัฒนธรรมตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 และพื้นที่โฉนดชุมชนแม่คองซ้าย-แม่ป่าเส้า


    ต่อมา 13.00 น.มีการร่วมเสวนาในหัวข้อ “มุมมองชาติพันธุ์ คนกับป่า และสิทธิชุมชน กับอนาคตการจัดการที่ดินและทรัพยากรของไทย” ระหว่าง นายอำเภอเชียงดาว, กฤตภาส ขันทะธงสกุลดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.16, ธรีเดช พิชัย นายกองค์กรบริการส่วนตำบลเมืองคอง, กอบกุล ตั้งใจสู้ ตัวแทนชุมชนบ้านแม่คองซ้าย,พิรุณ กองแปง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, เฉลิมชัย วัดจัง กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน, สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

    ภาพ : กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    “เราต่อสู้เรื่องสิทธิที่พวกเราควรได้รับมา 29 ปีนับแต่การเข้าร่วมการต่อสู้กับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่เราควรได้รับอยู่แล้ว โดยการต่อสู้เชิงนโยบาย การทำงานระหว่างภาครัฐ, ภาคประชาสังคม เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย”
    กอบกุล ตั้งใจสู้ ตัวแทนชุมชนบ้านแม่คองซ้าย

    “นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า ปี พ.ศ.2562 ทำให้การทำงานระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากับชาวบ้านอิหลักอิเหลื่อขึ้น ชาวบ้านแค่เห็นเจ้าหน้าที่รัฐก็วิ่งหนีแล้ว ทางเราก็ทำงานยากขึ้น เราเข้าใจที่วิถีชีวิตของเขาอยู่กับป่า แต่คำสั่งจากส่วนข้างบนก็ทำให้เราลำบากใจ” กฤตภาส ขันทะธงสกุลดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.16

    “กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำหนดผืนป่า แต่ไม่ใช่การจัดการ อีกทั้งประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย มีการบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนเข้าไปในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันไม่ได้สอดคล้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560” สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น


    “ที่มาของปัญหาที่ดินในประเทศไทยมาจากหลายปัญหาทั้งการจัดการทรัพยากร สถานการณ์ทางการเมือง เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ อีกทั้งเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการเรื่องที่ดินนับตั้งแต่ปี 30 เป็นต้นมาทำให้เห็นว่าสิทธิไม่ได้มาจากการร้องขอ แต่มาจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ ไม่มีใครมีอำนาจในการผูกขาดเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป” เฉลิมชัย วัดจัง กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน


    ภายในงานมีการจัดบูธแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์และข้อมูลของหมู่บ้านแม่คองซ้ายและแม่ป่าเส้า บูธให้ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ชีวมณฑลดอยหลวงเชียงดาว จากเขตุรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และบูธกาแฟจากการผลิตของชาวบ้านในชุมชนแม่คองซ้ายและแม่ป่าเส้า

    โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดให้มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมบ้านแม่คองซ้ายและแม่ป่าเส้าดังต่อไปนี้

    1. เพื่อนำเสนอรูปธรรมการจัดการพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ด้านการศึกษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม สถานะ การจัดการทรัพยากร

    2.เพื่อรณรงค์ให้พื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมตามมติคณะรัฐนตรีดังกล่าว เป็นที่รับทราบต่อสาธารณะ ผลักดันให้มีการปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ และนำเสนอแนวทางการไปสู่การแก้ไขเชิงนโยบายต่อไป

    3.เพื่อจัดทำแผนการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม สนับสนุนให้เกิดพื้นที่ในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นต้นแบบคุ้มครองวัฒนธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน 

    Related

    เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ยื่นหนังสือถึง นายก-ผู้ว่าฯ แนะค่าจ้างขั้นต่ำ 700 บาท/วัน

    1 พฤษภาคม 2567 เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จัดขบวนแห่ผ้าป่าเสนอข้อเรียกร้องและยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในเนื่องโอกาสวันแรงงานสากล ปี 2567 ณ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่...

    เศรษฐกิจพัง ค่าแรงยังขึ้นไหม? สำรวจการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วโลกในปี 2024 นี้ ประเทศไหนขึ้นบ้าง

    1 พ.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันแรงงานสากล หลายประเทศทั่วโลกมักจะมีการประกาศขึ้นค่าแรงในวันนี้ แต่ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ทั่วโลกเจอวิกฤติการณ์โควิด-19...

    ยก ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ เป็นบุคคลสำคัญล้านนา ดันวันเกิดหรือวันมรณภาพเป็น “วันศรีวิชัย”

    วันที่ 29 เมษายน 2567 วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ร่วมกับ มูลนิธิครูบาศรีวิชัย จัดกิจกรรมงานวันครูบาเจ้าศรีวิชัย เปิดถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ...