พฤษภาคม 5, 2024

    อยู่รอดปอดพัง: เสียงจากแคมป์คนไทใหญ่ในเชียงใหม่ต่อปัญหาฝุ่น PM 2.5

    Share

    เรื่อง: ณัฏฐชัย ศรีเจริญ, นันทัชพร ศรีจันทร์

    ภาพ: นันทัชพร ศรีจันทร์

    ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงขั้นวิกฤติที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งยังส่งผลให้เกิดปัญหาภาคเศรษฐกิจตามมาอีกหลายระลอก สาเหตุหลักส่วนหนึ่งเกิดจากการทำ ‘เกษตรพันธะสัญญา’ (Contract framing) ที่ภาครัฐได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2549 ได้มีมติสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนพม่า ลาว กัมพูชา ภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS ส่งผลให้พื้นที่นับล้านไร่เช่นในรัฐฉานของพม่า และในภาคเหนือของประเทศไทยกลายเป็นภูเขาข้าวโพด

    “เบื้องหลังไร่ข้าวโพด เบื้องลึกเขาหัวโล้นและไฟป่า” บทความของฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ระบุว่า ช่วงหลังปี 2557 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงหน้าแล้งหลังฤดูทำนา โดยเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ชื่อโครงการสานพลังประชารัฐ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่ามีเกษตรกรสนใจร่วมโครงการถึง 114,775 ราย บนพื้นที่ ประมาณ 1,000,000 ไร่ อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) มาทำ สัญญาสินเชื่อถึงจุดรับสมัคร มีตัวแทนจากสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มาอบรมให้ความรู้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งตั้งจุด รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกเมล็ด

    การปลูกข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์กลายเป็นรูปแบบการพัฒนา เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมตามนโยบายสนับสนุนของรัฐภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาและการขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ นี่เองนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผืนป่า เพื่อเป็นที่เพาะปลูกข้าวโพด และการสูญเสียพื้นที่ป่าไปก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดฝุ่นควันทางอากาศ กลายเป็นวิกฤตที่คุกคามทั้งสภาพแวดล้อมของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน อีกทั้งยังกลายเป็นฝุ่นควันข้ามแดมปกคลุมลุ่มแม่น้ำโขงด้วย

    แม้จะเป็นปัญหาที่เราทุกคนต่างเผชิญกับมันแบบซึ่งหน้า แต่ในความหมายของเรา อาจมี “เขา” ที่ไม่ถูกนับรวม แต่ก็เผชิญปัญหาเดียวกัน ภายใต้ฝุ่นควันเดียวกัน

    เสียงจากแคมป์คนงานก่อสร้าง

    ในขณะที่ชาวเชียงใหม่ทุกคนยังต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด หาวิธีป้องกันตนเองตามแต่ศักยภาพของแต่ละคนในวันที่ค่าฝุ่นสูงจนเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ บางคนมีกำลังมากพอที่จะซื้อเครื่องฟอกอากาศ บางคนมีกำลังแค่ซื้อหน้ากากอนามัย N95 แต่ในมุมหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ยังมีคนที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่น โดยไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารหรือความรู้เกี่ยวกับความอันตรายหรือวิธีการป้องกันตนเองอย่างถูกวิธีจากฝุ่น PM2.5 ด้วยซ้ำ พวกเขาคือพี่น้องแรงงานชาว “ไทใหญ่” ที่ทำงานในเมืองเชียงใหม่

    ในแคมป์คนงานก่อสร้างชั่วคราวที่อยู่ข้าง ๆ หมู่บ้านจัดสรรชื่อดังในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ คนไทใหญ่กว่า 70 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่นี่ แม้จะบอกว่าที่นี่เป็นแคมป์ชั่วคราว แต่หลายคนที่อยู่ที่นี่ก็ต่างบอกกันว่าน่าจะชั่วโคตรมากกว่าชั่วคราว ผนังและตัวบ้านที่ทำมาจากไม้อัดบาง ๆ และหลังคาสังกะสี ภายในโล่งโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก สะดวกพอที่จะนำพาฝุ่นควันให้เข้ามาปกคลุมถึงข้างใน นอกจากนี้ ภายในแคมป์ยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือและข้อมูลข่าวสารที่มากพอในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5

    “ในแคมป์ก็ไม่มีใครที่จะรู้จริง ๆ ว่ามันเป็นฝุ่นแบบนี้ เพราะในแคมป์ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่คนไทยด้วย บางคำก็ฟังไม่ออกเลย ถ้ามีหน่วยงานเค้ามาให้ความรู้แบบ 2 ภาษาเรื่องวิธีการรับมือ วิธีการดูแลตัวเองก็น่าจะดี”

    ใบเฟิร์น-ศิริวิภา ศรีคำ อายุ 15 ปี ชาวไทใหญ่ เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ฝุ่นในเชียงใหม่ที่ต้องเผชิญ รวมไปถึง “ช่องว่าง” ที่รัฐไม่มีมาตราการในการดูแลที่ทั่วถึงพอ ทั้ง ๆ ที่แรงงานชาวไทใหญ่รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติต่างเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทำให้เมืองเชียงใหม่เดินต่อไปได้

    ตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษเผยว่าเชียงใหม่ยังตรวจพบฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินมาตรฐาน 3 บริเวณ คือ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว, ต.หางดง อ.ฮอด และต.ศรีภูมิ อ.เมือง โดยระดับ PM2.5 ในอากาศสูงสุดที่จุดตรวจ อ.ฮอด ที่สูงถึง 168 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดย Rocket Media Lab เปิดเผยว่าในปี 2021 เชียงใหม่มีวันที่อากาศคุณภาพอากาศดี อยู่ในเกณฑ์สีเขียวเพียง 62 วัน คิดเป็น 16.99% และชาวเชียงใหม่ต้องอยู่กับวันที่ไม่มีอากาศดี (สีเขียว) เลยถึง 5  เดือนด้วยกัน ซึ่งก็คือเดือนมีนาคม มกราคม กุมภาพันธ์ เมษายน และธันวาคม ตามลำดับ ส่งผลให้คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่รวม 1,379.05 มวน

    “ฝุ่นก็เยอะค่ะ บางทีก็ต้องใส่แมสก์เพราะว่าเวลาออกไปข้างนอก ปกติข้างนอกถ้าขับรถก็เห็นชัดเลยแต่ว่าช่วงนี้มีฝุ่นเยอะก็ทำให้บางทีฝุ่นก็เข้าตา เวลาขับรถไปน้ำตาไหลตลอดเลย ก็เลยต้องใส่แว่น ปกติไม่เคยใส่แว่นเลย ช่วงที่ฝุ่นแรง ๆ ทรมานค่ะ เคยเลือดกำเดาไหลครั้งหนึ่ง 1 วันเป็นประมาณ 2 รอบ” ใบเฟิร์นกล่าว

    เข้าถึงที่ไม่ถึง

    ด้วยความไม่สะดวกของแรงงานในแคมป์หลายคน ทั้งเรื่องข้อจำกัดของภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัย เราถามต่อไปโดยไม่ระบุตัวตนของผู้ให้สัมภาษณ์ที่นั่งล้อมวงกันว่าเข้าใจเรื่อง PM2.5 เข้าใจเรื่องปัญหาฝุ่นควันไหม คำตอบที่ได้คือทุกคนรู้ว่ามันคือปัญหาฝุ่นควัน แต่ไม่เข้าใจว่าจะต้องดูแลตัวเองยังไง

    ในขณะที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงเครื่องฟอกอากาศได้ โดยราคาเครื่องฟอกอากาศอย่างต่ำในท้องตลาดอยู่ที่ 2,900 บาท แต่สำหรับคนในแคมป์ราคานี้อาจจะจ่ายไหว แต่ถ้าซื้อมาก็เหมือนเอาเงินไปละลายเล่น เพราะเครื่องฟอกอากาศจะทำงานได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในห้องที่เป็นรูปแบบปิด ซึ่งสวนทางกับแคมป์ชั่วคราวชั่วโคตรแบบนี้ ยิ่งถ้าถามว่าแล้วหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ช่วยเหลืออะไรหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่.. ไม่รู้เลยว่าหน่วยงานไหนรับผิดชอบ แต่แค่แมสก์ยังไม่มีแจกเลย ซื้อเองตลอด”

    แรงงานชาวไทใหญ่ส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและข้อมูลข่าวสารในการป้องกันตนเองและความอันตรายจากฝุ่น PM2.5 มีเพียงคนที่พอจะอ่านภาษาไทยออกและสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอายุไม่มากนักเท่านั้นที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ดา-จิตรลดา สุริยวงค์ ชาวไทใหญ่วัย 22 ปี เล่าให้ฟังว่า

    “ส่วนมากเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ทางอินเทอร์เน็ต เราอ่านข่าวสารเราก็รู้ แต่คนส่วนใหญ่ในแคมป์ไม่ได้เข้าถึงข่าวสารก็รู้แค่ว่ามันอันตราย แต่ไม่รู้ว่ามันอันตรายขนาดไหน มีผลกระทบรุงแรงขนาดไหน ต้องปัองกันตัวเองอย่างไร”

    เมื่อทุนใหญ่ไม่ต้องจ่าย เหลือทิ้งชะตากรรมที่ปล่อยเบลอ

    ด้วยหน้าที่งานที่ต้องทำงานในพื้นที่แจ้งของแรงงานชาวไทใหญ่ที่ต้องทำงานกลางแจ้งทำให้พวกเขาต้องสูดดมฝุ่น PM2.5 อยู่ทุกวัน อีกทั้งอากาศก็ร้อนระอุก็ไม่สะดวกที่จะใส่หน้ากากอนามัยในเวลาทำงานได้ ป้าคำ อายุ 55 ปี เล่าให้ฟังว่า

    “มันใส่แมสก์ก็ไม่ไหว มันร้อนเกินไป ถ้าใส่แมสก์อาจจะเป็นลมตายก่อน” และป้าคำ ได้กล่าวถึงความรับรู้เรื่องฝุ่น PM2.5 ภายในแคมป์คนงานว่า “ยังไม่มีคนมาบอกอะไรเลย ถ้าเขามาบอกเราจะได้ระวัง เราไม่รู้เราก็อยู่กันไปเรื่อย มันก็อันตราย ไม่ได้ศึกษา ไปทำงานอย่างเดียว อันตรายแค่ไหนก็ไม่รู้ รู้อยู่มันอันตรายแต่ไม่รู้ว่าแค่ไหน”

    จากบทความของ อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคาม เรื่อง  “กิน ‘ไส้กรอก’ สะเทือนถึง ‘ฝุ่นควัน’ ปัญหา PM2.5 ที่รัฐไทยแก้ไม่ตก แต่ เกษตรกรต้องกลายเป็นแพะรับบาป” ระบุว่า ในเดือนมีนาคม 2566 ประเทศไทยพบจุดความร้อนสูงถึง 5,572 จุด ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 5 ปี ส่วน ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา พบจุดความร้อน 10,563 จุด และ สปป.ลาว 9,652 จุด แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ จุดความร้อนทั้งหมดล้วน สัมพันธ์กับจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาของทั้ง 3 ประเทศ โดยเฉพาะในที่ราบสูงที่ชาวบ้านหลายครัวเรือนลงมือเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้กลายเป็นไร่ข้าวโพด 

    ซึ่งการการทำเกษตรพันธะสัญญาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งให้บริษัทเอกชนนี้ บริษัทฯ ไม่มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการกับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพด จึงเป็นการผลักภาระให้เกษตรในการแบกรับค่าใช้จ่ายในการกำจัดทั้งหมด จึงทำให้เกษตรจำเป็นต้องใช้วิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุด นั่นคือการ “เผา” ประกอบกับการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดของภาครัฐ ทำให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังคงเรื้อรังและรุนแรงขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างมายาคติให้เกษตรเป็นแพะรับบาปในปัญหานี้ ในขณะที่เราก็ยังไม่ได้เห็นการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพจากภาครัฐเลย

    เสียงของคนไทใหญ่ไม่กี่เสียงนี่อาจเป็นเสียงสะท้อนที่ฉายภาพให้เห็นถึงความละเลยจากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา

    อย่างน้อยก็ใช้อากาศเดียวกัน

    ที่ผ่านมาในสมัยของรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด โดยมีทั้งทั้ง 5 ฉบับ แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลประยุทธ์กลับไม่ตอบสนองและปัดตกไปทั้งหมด 3 ฉบับ นั่นคือของ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับพรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล และฉบับประชาชน มีที่ผ่านเพียง 2 ฉบับเท่านั้น เนื่องจากทั้ง 3 ฉบับมีความขัดแย้งกับ พ.ร.บ.การเงินฯ พร้อมกับการดอง พ.ร.บ.อากาศสะอาด และไม่พูดถึงอีก

    แม้ในตอนนี้ประชาชนไทยส่วนใหญ่จะเฝ้ารอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยรัฐบาลก้าวไกล ได้ผนึกกำลังกับ 7 พรรคการเมือง เพื่อผลักดันวาระร่วม 23 ข้อ 5 แนวทางขับเคลื่อน  และเรื่องของการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็เป็นข้อตกลงแนวทางบริหารประเทศ ในข้อที่ 22 คือ การสร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควัน รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด

    ต้อ (นามสมมุติ) ชาวไทใหญ่วัย 32 ปี ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่านี่อาจจะเป็นการผลักดันที่เอื้อให้รัฐมองเห็นเรามากกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วที่ปล่อยทิ้งพวกเราไว้กับฝุ่นควัน

    “เป็นเรื่องที่ดีเลย เพราะเราใช้อากาศหายใจร่วมกัน เราก็ควรที่จะผลักดัน แต่การผลักดันเรื่องนี้คนงานอย่างพวกเราเองยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ ถ้าองค์กรหรือหน่ายงานกำลังผลักดันอยู่เข้าไปให้ความรู้กับคนงานข้ามชาติในพื้นที่ต่าง ๆ จะดีมาก หรือถ้ารัฐสามารถผลักดันได้เลยก็น่าจะดี”

    แม้จะผ่านพ้นฤดูฝุ่นควันไปแล้ว สุขภาพของผู้คนในแคมป์ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นถึงความอันตรายในช่วงที่ผ่านมา “อาจจะรอด แต่ปอดอาจจะพัง” คงเป็นเสียงพูดสุดท้ายก่อนบทสนทนา และพบกันใหม่ในฤดูฝุ่นปีถัดไป?


    อ้างอิง

    เกี่ยวกับผู้เขียน  
    นันทัชพร ศรีจันทร์ โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP) ดูโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://journalismbridges.com

    Related

    Lanner Joy : จากใจผู้สร้างสเปซศิลปะ SOME SPACE ที่อยากเห็นเด็กศิลป์รุ่นใหม่ทำงานที่รักได้โดยไม่ต้องย้ายไปเมืองอื่น

    เรื่องและภาพ: ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์ เป็นเวลานานแล้วที่ไม่ได้มาเยือนชุมชนควรค่าม้า ฐานทัพของ Addict Art Studio สตูดิโอที่ทำให้เทศกาลศิลปะชุมชนในเชียงใหม่กลายเป็นหมุดหมายประจำปีของใครหลายคน วันนี้เราได้กลับมาอีกครั้งเพื่อพบกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง...

    นัดแสดงออกหน้าสถานกงศุลสหรัฐฯ เชียงใหม่ ร้องหยุดสนับสนุนสงครามในปาเลสไตน์

    4 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. เกิดการแสดงออกเรียกร้องเพื่อให้สหรัฐฯ ยุติการสนับสนุนการอิสราเอลทำสงครามในปาเลสไตน์ ณ...

    และนี่คือเสียงของ We are the 99% ฟังเสียง 6 แรงงานที่อยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี

    เรื่อง: วิชชากร นวลฝั้น ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานสากล (International Workers’...