พฤษภาคม 2, 2024

    ความรุนแรงของรัฐกับหลักการสากลในการสลายการชุมนุมจากฝรั่งเศสถึงไทย

    Share

    26 ธันวาคม 2565

    ภาพ : ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

    16 ธันวาคมที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ได้จัดฉายภาพยนตร์สารคดี ‘The Monopoly of Violence’ และเสวนาในหัวข้อเรื่องความรุนแรงของรัฐกับหลักสากลในการสลายการชุมนุม ตั้งแต่เวลา 18.00 – 21.30 น. ณ ท่าแพอีส ( Thapae East ) จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักจากแคมเปญ  ‘Write For Rights’ เขียนเปลี่ยนโลก แคมเปญรณรงค์สิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลกประจำปี 2565 เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนผ่านเหตุการณ์จริง โดยกิจกรรมสิทธิมนุษยชนศึกษาทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของวิธีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  

    ภาพ : ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

    โดยหนึ่งกรณีของแคมเปญในปีนี้คือ ซีเน็บ เรอดวนย์ ผู้ถูกสังหารโดยระเบิดแก๊สน้ำตาที่ยิงโดยตำรวจในประเทศฝรั่งเศส จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมซึ่งตรงกับเนื้อหาจริงในภาพยนต์สารคดี The Monopoly of Violence กำกับโดย เดวิด ดูเฟรสเนอ พูดถึงเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในฝรั่งเศสขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในปี 2018

    หลังฉายภาพยนต์จบมีการพูดคุยเพื่อชวนค้นหารายละเอียดที่อยู่ในภาพยนต์ในแง่มุมต่าง ๆ ถึงความรุนแรงของรัฐกับหลักการสากลในการสลายการชุมนุม โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักกิจกรรมทางการเมืองและถั่วเขียว นักศึกษาจากชมรมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีความคิดเห็นสำคัญคือ

    ภาพ : ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

    “เราจะยอมรับเสรีภาพในการชุมนุมได้มากน้อยขนาดไหน ถ้าเราเริ่มต้นโดยพื้นฐานว่าการชุมนุมเป็นเเสรีภาพสำคัญในระบอบการปกครองแบบนี้ เพราะเมื่อไหร่จะห้ามการชุมนุมมันต้องชัดเจนจริง ๆ ว่ามันนำมาซึ่งความรุนแรง เพราะการชุมนุมไหนที่มันไม่ชัดเจนและยังคาดเดาไม่ได้ต้องปล่อยให้เขาชุมนุมไปก่อน และถ้าบรรยากาศความรุนแรงเกิดขึ้นค่อยไปจัดการ เพราะฉะนั้นมันนำมาสู่คำตอบที่ว่าเห็นคนชุมนุม การชุมนุมหรือสลายการชุมนุม มันต้องเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการชุมนุมมันนำไปสู่ความรุนแรงชนิดที่มันควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่การชุมนุมที่เราเห็นทั่วไปที่มีคนเขวี้ยงขวดออกมาขวดเดียว ก็ถูกระดมยิง” 

    – สมชาย ปรีชาศิลปกุล


    ภาพ : ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

    “จากเหตุการณ์ในภาพยนตร์ทางประเทศฝรั่งเศสยังมีการเปิดอกพูดคุยประนีประนอมกัน แต่ประเทศไทยไม่เปิดให้มีการพูดคุยกันเลย เราไม่ได้เห็นบทสนทนาระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจเลยในสังคมไทย เช่นเหตุการณ์ในภาพยนตร์เราจะเห็นบทสนทนาของผู้หญิงคนหนึ่งกับตำรวจคนหนึ่งที่สนทนากันไปมา บทสนทนามันฟ้องอะไรได้หลายอย่าง มันเต็มไปด้วยการดูหมิ่น ดูแคลน มันเต็มไปด้วยการเหยียดกันไปมา มันเต็มไปด้วยการใช้ภาษาในความเป็นผู้ชายที่เป็นตำรวจกับนักข่าวที่เป็นผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกันผมกลับสงสัยว่าทำไมยังมีโอกาสได้คุยกัน แต่พื้นฐานที่สุดของบ้านเราคือไม่มีโอกาสได้คุยกันนะครับ การคุยกันของเราไม่ได้คุยผ่านภาษาพูด แต่คุยกันผ่านอะไรสักอย่างหนึ่งที่มันสามารถหยิบยื่นความตายให้กับเราได้ เพราะฉะนั้นนี้คือความแตกต่างกันค่อนข้างมาก” 

    – ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ


    ภาพ : ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

    “รัฐสมัยใหม่มาพร้อมกับทุนนิยมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของรัฐทุนนิยมคือกรรมสิทธิเอกชน เนื่องจากทำให้บุคคลหรือนิติบุคคลมีสิทธิการครอบครองอย่างไม่มีขีดจำกัด  และแน่นอนหากมีสิทธิการครอบครองอย่างไม่มีขีดจำกัด บางทีมันไปครอบครองสมบัติส่วนรวม ซึ่งมันมีผลต่อการดำเนินชีวิตของคน มันก็เลยทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขึ้นมา ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีทุนนิยมนั้นเมื่อก่อนยังมีสิทธิการครอบครองอย่างจำกัดอยู่โดยมีสังคมเข้ามากำกับดูแล แต่พอไม่มีสังคมเข้ามากำกับดูแลคือทุนนิยมให้ตลาดเข้ามาเป็นตัวกำกับแทนสังคม พูดง่าย ๆ คือไม่มีอะไรกำกับดูแล มันจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาในสังคมทันที พอเกิดความขัดแย้งสิ่งที่ตามมาก็คือใช้วิธีรัฐแบบตำรวจหรือทหารเข้ามาจัดการปัญหา เพราะสิ่งที่รัฐทุนนิยมกลัวที่สุดคือม็อบ ม็อบที่มาเรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจนี้แหละ”

    – ภัควดี วีระภาสพงษ์ 


    ภาพ : ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

    “รัฐหาความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ซึ่งทางคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเราจะเห็นผลกระทบตามมา เช่น หมายต่าง ๆ หรือพรก.ฉุกเฉิน กลับกันทางฝั่งของคนที่สนับสนุนรัฐบาล เขาไม่ได้ถูกกระทำความรุนแรงจากรัฐเลย อีกอย่างรัฐยังเอื้อให้เกิดการชุมนุมของพวกเขาด้วย เราจึงมองว่าการที่รัฐพยายามปิดปากฝั่งของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยและพยายามสร้างความกลัวให้กับประชาชนโดยใช้ความรุนแรง โดยเขาพยายามให้ข้ออ้างว่าการที่เขาทำไปแบบนั้น คือการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติบ้านเมือง แต่ข้ออ้างนั้นมันกลับกันกับเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาสลายการชุมนุม เราจะเห็นเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้เห็นค่าความมนุษย์ขนาดนั้น”

    – ถั่วเขียว


    ‘Write for Rights’ กิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่สุดในโลก เพื่อรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่สุดในโลก ซึ่งผู้คนนับล้านทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของผู้อื่น โดยกิจกรรมนี้ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 21 แล้ว สามารถร่วมเป็นส่วนของแคมเปญ ‘Write for Rights’ – เขียน เปลี่ยน โลก’ โดยรวมลงชื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ที่ https://www.aith.or.th/ และ https://bit.ly/3Y6tEpL

    สามารถรับชมเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/lanner2022/videos/1588988514888283 

    Related

    “ความรวยของเขา มาจากความจนของเรา” เครือข่ายแรงงานภาคเหนือเดินขบวน-จัดเวทีชูค่าแรงต้องเพียงพอเลี้ยงครอบครัว

    วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันกรรมกรสากล (International Workers’ Day) คือวันที่จะให้ทุกคนได้ระลึกถึงหยาดเหยื่อของผู้ใช้แรงงาน...

    แผน ‘NAP’ เครื่องมือด้านสิทธิมนุษยชนดักจับฝุ่นพิษข้ามแดน

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ ในช่วงที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน หลายคนมักโฟกัสไปที่ฝุ่นจากการเผาไหม้ตอข้าวโพด แต่แท้จริงแล้วยังมีอีกหนึ่งแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษที่น่ากังวลไม่แพ้กัน นั่นคือฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม อาจกล่าวได้ว่าฝุ่นพิษจากไร่ข้าวโพดข้ามแดนเกิดขึ้นเป็นฤดู แต่ฝุ่นภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเกือบทั้ง...

    เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ยื่นหนังสือถึง นายก-ผู้ว่าฯ แนะค่าจ้างขั้นต่ำ 700 บาท/วัน

    1 พฤษภาคม 2567 เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จัดขบวนแห่ผ้าป่าเสนอข้อเรียกร้องและยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในเนื่องโอกาสวันแรงงานสากล ปี 2567 ณ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่...