เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล
ผลงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้ซีรีส์คอนเทนต์ ‘พลังงาน / คน / ภาคเหนือ’ จากความร่วมมือระหว่าง Lanner และ JET in Thailand
ปัจจุบันการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้คนในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นการหุงหาอาหาร การติดต่อสื่อสาร การประกอบอาชีพ หรือการคมนาคม ล้วนแต่ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น ความสำคัญของไฟฟ้ามีมากถึงขั้นที่บางครั้งเมื่อเกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ชีวิตของใครๆ หลายคนก็ดูเหมือนหยุดชะงักไปทันที และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าสภาพสังคมและการใช้ชีวิตในช่วงก่อนที่จะมีไฟฟ้านั้นเป็นอย่างไร ไฟฟ้าเริ่มเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของชาวเหนือตั้งแต่เมื่อไหร่ และอย่างไร
แรกเริ่มเดิมทีก่อนมีไฟฟ้าในล้านนา
ย้อนกลับไปในสังคมล้านนาช่วงก่อนปี 2341 แสงสว่างยามค่ำคืนมีที่มาจากเชื้อเพลิงหรือแหล่งพลังงานที่หาได้ตามธรรมชาติ เช่น ยางไม้ และไขมัน (จากทั้งพืชและสัตว์) โดยนำมาผ่านกรรมวิธีการแปรรูปให้เป็นขี้ไต้ น้ำมัน หรือเทียนไข แล้วนำมาใช้ร่วมอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น ตะคัน หรือเชิงเทียน
หลังจากปี 2431 เริ่มมีการนำเข้าน้ำมันก๊าดจากต่างประเทศ เช่น รัสเซีย ทำให้คนล้านนาหันมาใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิงในการให้แสงสว่างแทนสิ่งของอย่างเดิม เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้งานง่าย ไม่มีเขม่าควัน และที่สำคัญคือให้แสงสว่างยาวนานกว่า
น้ำมันก๊าดกลายเป็นที่สินค้าที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาวล้านนา ถึงขั้นที่ เมื่อปี 2496 ได้มีการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันก๊าดแทนเทียนในงานแห่เทียนเข้ามาพรรษมา ดังที่ หนังสือพิมพ์คนเมือง ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม ได้พาดหัวข่าวให้เป็นที่รับรู้ทั่วกันว่า “…คณะข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนในอำเภอสันทราย มีมติร่วมกันว่าปีนี้จะไม่จัดหล่อเทียนพรรษาเช่นอำเภออื่นๆ แต่ได้พร้อมใจกันสละทรัพย์ซื้อน้ำมันก๊าดเป็นจำนวนมากไปถวายตามวัดต่างๆ เป็นจำนวน 13 วัด…”[1]
กล่าวได้ว่าในช่วงเวลาก่อนที่คนล้านนาจะเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าเฉกเช่นปัจจุบัน คนล้านนาต่างพึ่งพาวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น อาทิ ยางไม้ ไขมันพืชและสัตว์ ในการสร้างแสงสว่างยามค่ำคืน ขณะเดียวกันก็ได้เปิดรับเอาสิ่งของใหม่ ๆ อย่าง น้ำมันก๊าด เข้ามาปรับใช้ในบริบทสังคมของตนเอง เพื่อให้การใช้ชีวิตมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น




อีเล็กตีสตี ในจดหมายของสีโหม้
ข้อค้นพบที่น่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องพลังงานกับคนล้านนา คือ แม้ในยุคสมัยที่พลังงานไฟฟ้ายังไม่เข้าถึงพื้นที่ภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2437 เริ่มปรากฏหลักฐานที่ยืนยันมีถึงการมีอยู่และการรับรู้เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ตามคำบอกเล่าด้วยตัวหนังสือในจดหมายของ ‘สีโหม้’
สีโหม้ หรือสีโหม้ วิชัย เป็นบุตรชายของหนานวิชัยและนางวันดี ซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์และมีความใกล้ชิดกับมิชชันนารี โดยเฉพาะครอบครัวของหมอชีค หรือนายแพทย์มาเรียน อะลอนโซ ชีค (Marian Alonzo Cheek)
ในช่วงปี 2433 – 2434 ภรรยาของหมอชีคเกิดอาการเจ็บป่วยและต้องเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเดินทางพร้อมกับลูกสาวเล็กๆ อีก 2 คน หนานวิชัยจึงได้มอบหมายให้สีโหม้ร่วมเดินทางไปสหรัฐอเมริกากับครอบครัวของหมชีค เพื่อช่วยดูแลเด็กน้อยทั้งสอง การร่วมเดินทางสู่ดินแดนสหรัฐฯ ทำให้สีโหม้ได้รับการจดจำว่าเป็น ‘คนเมืองคนแรกที่ได้ไปอเมริกา’
ในช่วงระหว่างที่อยู่สหรัฐอเมริกา สีโหม้มักเขียนจดหมายถึงพ่อและแม่ที่เชียงใหม่อยู่เสมอ โดยเรื่องราวส่วนใหญ่เป็นการเล่าถึงสภาพบ้านเมือง สิ่งของ และความเจริญต่าง ๆ ที่พบเจอในดินแดนใหม่แห่งนี้ พร้อมกับนำมาเปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมของกรุงเทพ ฯ และเชียงใหม่
ทั้งนี้ ในบรรดาจดหมายทั้งหมดที่สีโหม้เขียน มีอยู่ฉบับหนึ่งที่กล่าวถึง นวัตกรรมในเมืองซานฟรานซิสโกซึ่งที่ชื่อว่า ‘อีเล็กตีสตี’ (Electricity) สีโหม้เปรียบเทียบนวัตกรรมใหม่นี้ว่าเสมือนกับ ‘พลุ’ ที่ “…ยามกลางคืนก็ยังติด ดูสว่างเหมือนกลางวัน…” และอธิบายถึงการทำงานของอีเล็กตีสตีเอาไว้ว่า “…มันเป็นสาย สายลวดน้อยในโคมแก้วนั้น กันเถิงเวลาต้องไปเปิดที่หลอดมัน แล้วไฟจะลงแจ้ง…”[2]

คำแปล: แซนแฟนซิสโก๋นี้ติเสียตี้แผ่นดินบ่อเปียงถนน เมืองกว้างขวางผ่อสุดเจ้นต๋า มีตึกใหย่ตึกสูงก่อนัก มีโฮงจักตี้ธำของต่างๆ ก่อนักนับบ่อแป๊ แต่ก่อนนั้นเขากั๋วแผ่นดินไหวนักจิ่งบ่อมีตึกสูง ที่มา: คอลัมน์ล้านนาคำเมือง
แม้คนล้านนาจำนวนหนึ่งจะได้รู้จักกับอีเล็กตีสตีผ่านคำบอกเล่าของสีโหม้ แต่อีเล็กตีสตีหรือพลังงานไฟฟ้าก็ยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของชาวล้านนา จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงระหว่างปี 2469 – 2488 อันเป็นช่วงเวลาที่กิจการไฟฟ้าเริ่มขยายตัวออกจากพื้นที่กรุงเทพ

กำเนิดองค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค: จากแรกมีไฟฟ้าในสยาม สู่แรกมีไฟฟ้าในล้านนา
สำหรับประวัติศาสตร์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย มักระบุว่าตรงกันว่า ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2427 จากการที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ได้สั่งซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สายเคเบิ้ล และหลอดไฟมาจากประเทศอังกฤษ แล้วนำติดตั้งไว้เพื่อใช้งานที่พระบรมมหาราชวัง จากนั้นก็ส่งผลให้เกิดความนิยมใช้ไฟฟ้าแพร่หลายไปในวังและบ้านของชนชั้นนำสยาม รวมทั้งขยายไปสู่สถานที่ตั้งของหน่วยงานราชการและสถานประกอบการเอกชนต่างๆ
ความนิยมดังกล่าวนำไปสู่การลงทุนทำกิจการไฟฟ้าเพื่อการค้าขึ้น กิจการไฟฟ้าแรกของประเทศคือ บริษัทไฟฟ้าสยาม เป็นการลงทุนของชนชั้นนำสยามกลุ่มหนึ่ง นำโดย กรมหลวงสรรพสาตร์ศุภิจ (พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์), พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค), หลวงพินิจจักรภัณฑ์ (แฉล้ม อมาตยกุล) และหุ้นส่วนชาวต่างชาติ โดยสถานที่ตั้งของบริษัทและโรงไฟฟ้าอยู่ที่บริเวณวัดเลียบ ตรงข้ามกับโรงเรียนสวนกุหลาบ ทำให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “โรงไฟฟ้าวัดเลียบ”
บริษัทไฟฟ้าสยามหรือโรงไฟฟ้าวัดเลียบผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเครื่องจักรไอน้ำที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลัก เพราะสามารถหาได้ง่ายเนื่องจากแกลบเป็นวัสดุเหลือจากโรงสีข้าวที่มีเรียงรายริมแม่นำเจ้าพระยา ทั้งนี้ โดยสถานภาพแล้ว โรงไฟฟ้าวัดเลียบถือเป็นธุรกิจเอกชนขนานแท้ ไม่ใช่กิจการของรัฐบาลสยามในขณะนั้น แม้ว่าผู้ก่อตั้งหรือผู้ถือหุ้นจำนวนหนึ่งจะเป็นชนชั้นมูลนาย ดังเนื้อความที่อยู่ในหนังสือของกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศที่มีไปถึง ดร.ฟริตสชี ชาวต่างชาติผู้ทำหน้าที่จัดซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าให้แก่โรงไฟฟ้าสยามความว่า “…การกัมปนีไฟฟ้าสยามต้องถือว่าเปนแต่กำปนีไปรเวศ ไม่ได้เกี่ยวข้องเลยกับคอเวอนเวมนต์สยาม…”[3]
ทั้งนี้ ในช่วงแรก การจำหน่ายกระแสไฟฟ้ายังคงจำกัดอยู่เฉพาะที่ใจกลางกรุงเทพฯ และกลุ่มที่เข้าถึงบริการไฟฟ้าในช่วงเวลานั้น คือ ชนชั้นสูงชาวสยาม เจ้านายในราชสำนัก และบรรดาชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในบริเวณกรุงเทพชั้นใน ณ ช่วงเวลานี้ไฟฟ้าถูกใช้เพียงเพื่อให้แสงสว่างเท่านั้น และยังเป็นบริการที่มีราคาสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวัตถุให้แสงสว่างอื่น ๆ อย่างเทียนไขและตะเกียงน้ำมันก๊าด โดยอัตรค่าไฟฟ้า ณ เวลนั้น จะคำนวณจากอัตราค่าติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า อาทิ โคมไฟ สวิตช์ ก่อนครั้งหนึ่ง และเรียกเก็บค่าบริการกระแสไฟฟ้าเป็นรายเดือนตลอดการใช้บริการ
สำหรับการคิดค่าไฟฟ้ารายเดือน บริษัทจะคิดค่าบริการโคมไฟดวงละ 2 บาท อัตราการค่าบริการโคมไฟส่องสว่างตามท้องถนนก็ใช่อัตราค่าบริการเท่ากัน เพียงแต่มีรัฐบาลเป็นผู้จ่าย

บริษัทไฟฟ้าสยามดำเนินกิจการได้ประมาณ 3 ปี ก็ประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งด้านการเงิน เทคโนโลยี และการจัดการ เป็นเหตุให้มีเจ้าหนี้เป็นจำนวนมาก คณะผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นจึงตัดสินใจเลิกกิจการ เนื่องจากไม่มีเงินทุนจะดำเนินกิจการต่อไปได้ รัฐบาลจึงจำต้องเข้ามารับซื้อกิจการต่อพร้อมกับใช้เงินคืนแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยไม่เต็มใจนัก ทั้งนี้ เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐยังมองไม่เห็นความจำเป็นของการที่รัฐจะเข้าเป็นผู้ดำเนินกิจการไฟฟ้า ด้วยเพราะยังไม่ตระหนักว่าไฟฟ้ามีบทบาทสำคัญ และเป็นกิจการที่ยังไม่ก่อให้เกิดกำไร เนื่องจากไฟฟ้ามีราคาแพงและมีคุณประโยชน์เพียงการให้แสงสว่าง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ในระยะนั้นคนในสังคมทุกกลุ่มสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติแม้จะไม่มีไฟฟ้าใช้ ดังนั้นเมื่อจำต้องเข้าไปรับเอากิจการบริษัทไฟฟ้าสยามมาแล้ว รัฐบาลก็มองหานักลงทุนมารับช่วงกิจการไปทำต่อ ซึ่งก็ได้นักลงทุนชาวเดนมาร์กเข้ามาดำเนินกิจการไฟฟ้าแทน ภายใต้ชื่อบริษัทสยามอิเล็กตริซิตี้ คอมปานี ลิมิเต็ด

กระทั่งในตอนต้นสมัยรัชกาลที่ 6 ราวปี 2454 – 2456 รัฐบาลสยามได้จัดตั้งกิจการไฟฟ้าของตนเองขึ้น คือ โรงไฟฟ้าสามเสน ซึ่งนับได้ว่าเป็นกิจการไฟฟ้าแห่งแรกที่เป็นแห่งแรกของรัฐ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งโรงไฟฟ้านี้คือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของรัฐบาลที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของไฟฟ้าและผลกำไรที่บริษัทของชาวตะวันตกได้รับจากกิจการไฟฟ้า เพราะในช่วงขณะนั้นมีการใช้ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลาย ขณะที่รัฐเองก็มีภาระค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากต้องจ่ายค่าไฟให้กับหน่วยงานราชการและถนนสายต่างๆ จึงต้องการลดภาระค่าไฟที่ที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทเอกชนต่างชาติซึ่งผูกขาดกิจการไฟฟ้าไว้เพียงผู้เดียว
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าสามเสน เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2454 มีที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมสุขาภิบาล กรมพระนครบาล โรงไฟฟ้านี้ได้เปิดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าครั้งแรกในปี 2457 โดยจ่ายให้แก่โรงบรรจุผิ่นหลวงและการประปาเป็นที่แรกหลัก จากนั้นก็ขยายไปสู่กิจการอุตสาหกรรมของเอกชน เช่น บริษัทปูนซีเมนต์ บริษัทห้างร้าน โรงหนัง โฮเต็ล (โรงแรม) และที่พำนักอาศัยส่วนบุคคลของผู้มีฐานะ เช่น บ้านขุนนาง บ้านชาวจีน
ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าในส่วนกลางได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น มีกิจการไฟฟ้าทั้งที่ดำเนินงานโดนเอกชนและเป็นรัฐวิสหากิจ และบริบทเช่นได้ดำเนินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2484 อันเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สาธารณูปโภคหลายชนิดได้ถูกระเบิดทำลายเสียหาย รวมทั้งโรงไฟฟ้าสามเสนและโรงไฟฟ้าวัดเลียบ
สำหรับกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น เริ่มมีการขยายตัวตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2470 โดยมีการจัดตั้งกิจการไฟฟ้าในจังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการของส่วนภูมิภาคที่ยื่นความจำนงต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อขออนุญาตดำเนินการด้านไฟฟ้า เมื่อกิจการไฟฟ้าเริ่มแพร่ขยายมากขึ้น รัฐจึงมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายมากำกับดูแลและควบคุม
จึงมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกแห่งสาธารณชน พุทธศักราช 2471 ซึ่งกำหนดให้กิจการสาธารณูปโภคที่สำคัญ เช่น การรถไฟ รถราง การขุดคลอง การประปา การชลประทาน และการไฟฟ้า เป็นกิจการที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ โดยห้ามมิให้บุคคลทั่วไปประกอบกิจการเหล่านี้ เว้นแต่จะได้รับสัมปทานจากรัฐเสียก่อน
อย่างไรก็ดี กิจการไฟฟ้าในส่วนภูมิภาคนั้น รัฐจะให้สุขาภิบาลในแต่ละท้องที่เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อน และหากสุขาภิบาลที่ใดยังไม่พร้อม (ในด้านทุนทรัพย์) รัฐบาลก็จะให้สัมปทานแก่เอกชน ซึ่งภายหลังการออกพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ามีเอกชนมาขอสัมปทานเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลก็ให้อนุญาตเป็นรายๆ ไป โดยมีหลักเกณฑ์คือพิจารณาให้รัฐบาลจัดทำก่อน และเอกชนในท้องถิ่นค่อยเป็นลำดับต่อมา
สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ ปรากฏรายชื่อเอกชนที่เข้ามาสัมปทานกิจการไฟฟ้าในหลายจังหวัด เช่น พิษณุโลก มีทุนเอกชน 2 ราย คือนายลักกับนายเป้า และขุนธุราหิรัญรักษ์, อุตรดิตถ์ มีทุนเอกชน 3 ราย คือนายลักกับนายเป้า นายรามราคามาล และนายคุนเฮง และที่นครสวรรค์ มีทุนเอกชน 3 ราย คือนายทองคำ วิวะรินทร์ ขุนเรืองไทยพิทักษ์ และนายนาวาโทพระศรีมหาราชา
ในกรณีของเชียงใหม่ ปรากฏว่ามีทุนเอกชน 2 รายที่พยายามขอสัมปทานกิจการไฟฟ้า ได้แก่ บริษัทไฟฟ้า เชียงใหม่ จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส ร่วมกับชาวล้านนา และบริษัทของนาบิ อิโดะ พ่อค้าญี่ปุ่นที่เป็นคนในบังคับฝรั่งเศส แต่ไม่รับอนุญาตทั้ง 2 ราย เพราะรัฐบาลอนุมัติให้เทศบาลเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการ ในบทความเรื่อง เชียงใหม่เมื่อวาน ของ บุญเสริม สาตราภัย กล่าวว่ากิจการโรงไฟฟ้าแห่งแรกของเชียงใหม่เป็นของเทศบาลเชียงใหม่ ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่องดีเซล และตั้งอยู่ข้างสถานีรถไฟเชียงใหม่ ใกล้กับถังน้ำขนาดใหญ่ของสถานีรถไฟ

กิจการโรงไฟฟ้าในเชียงใหม่ที่ตั้งอยู่ข้างสถานีรถไฟนั้นได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติเพราะสภาวะสงครามทำให้ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ทางโรงไฟฟ้าจึงได้จำกัดช่วงเวลาให้ประชาชนใช้ไฟ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 17 นาฬิกา เรื่อยไปจน 21 นาฬิกา หรือสามทุ่ม และหากไฟฟ้าปิดแล้วแต่ยังมีผู้ต้องการใช้แสงสว่าง จำต้องหาตะเกียงน้ำมันก๊าดมาจุดโดยต้องใช้ผ้าหุ้มรอบโป๊ะไฟเอาไว้ เพราะต้องพรางแสงไฟป้องกันไม่ให้เครื่องบินทิ้งระเบิดมองเห็น[4]
กระทั่งในช่วงปี 2490 สภาพสังคมและเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นหลังจากสงคราม รัฐบาลได้เริ่มวางแผนกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการเร่งขยายกิจการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นใหม่และปรับปรุงกิจการไฟฟ้าเดิมให้ดียิ่งขึ้น จากนั้นจึงจัดตั้ง องค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขึ้นในปี 2497 เพื่อให้เป็นหน่วบงานรับผิดชอบการดำเนินกิจการจำหน่ายไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค โดยมีบทบาทที่สำคัญ ได้แก่ กระจายพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่พื้นที่ที่ยังเข้าไม่ถึงไฟฟ้า โดยกำหนดให้ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัท ชื่อ “บริษัทไฟฟ้า”, ลงทุนซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์ติดตั้งร่วมกับภาคเอกชน หรือรับซื้อกิจการไฟฟ้าของเอกชนที่มิอาจดำเนินการต่อได้ ถ้าเป็นการไฟฟ้าจังหวัด ให้เรียกว่า บริษัทไฟฟ้าจังหวัด[5] ทั้งนี้ก็เพื่อการอำนวยให้แต่ละท้องถิ่นได้มีไฟฟ้าใช้
โดยสรุปแล้วจึงอาจกล่าวได้ว่า เส้นทางการมีไฟฟ้าใช้ในภาคเหนือเริ่มต้นจากการมีไฟฟ้าใช้ที่ในส่วนกลางก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นก็ได้มีการกระจายการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าออกสู่ส่วนภูมิภาค โดยมีการจัดตั้งองค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขึ้นเพื่อทำให้เกิดการกระจายอำนาจการผลิตไฟฟ้าออกจากส่วนกลางสู่ภูมิภาคอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งในระยะนั้นทั้งเอกชนและรัฐต่างเป็นผู้มีบทบาทในการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้า ส่งผลให้หลายพื้นที่ในส่วนภูมิภาค รวมทั้งภาคเหนือ ได้มีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างแพร่หลาย
แต่ถึงอย่างนั้น ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ถึงตอนต้นทศวรรษ 2500 โฉมหน้าการผลิตพลังงานไฟฟ้าของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง ในแง่ที่อำนาจการผลิตไฟฟ้าซึ่งเคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐและทุนเอกชนในแต่ละท้องถิ่น ได้ถูกรวบเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของส่วนกลางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังปี 2512 คือภายหลังการก่อตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ด้วยทั้งปัจจัยความมั่นคงทางพลังงาน สงครามเย็น ความมั่นคงของรัฐชาติ การสนับสนุนของอเมริกา ซึ่งส่งผลต่อการวางนโยบายของรัฐ ณ ช่วงเวลานั้น
อ้างอิง
[1] หนังสือพิมพ์ “คนเมือง” ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม 2496 ใน อนุ เนินหาด. เชียงใหม่ พ.ศ. 2496 สังคมเมืองเชียงใหม่ เล่มที่ 17. เชียงใหม่. วนิดา เพรส. หน้า 131.
[2] กมลธร ปาละนันท์. โลกทัศน์ของสีโหม้ วิชัย ในยุคเปลี่ยนผ่านของสังคมล้านนา พ.ศ. 2432 – 2481. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2561. หน้า 64.
[3] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.5 น.5 .10/1, เรื่อง กำปนีไฟฟ้าล้มละลาย มีเรื่องห้างบรัชร้องขอเงินที่ติดค้าง, 23 กันยายน 2435.
[4] เสมียนนารี. หน้าตาเมืองเชียงใหม่ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2. ออนไลน์. https://www.silpa-mag.com/history/article_92636
[5] การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค. รวมประวัติความเป็นมา. ออนไลน์. https://www.pea.co.th/about-pea/history-detail#nav-tab-84
[6] วิภารัตน์ อ่องดี. พัฒนาการของกิจการไฟฟ้าในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2427 – 2488. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2534.

ปวีณา หมู่อุบล
อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนัก (ลอง) เขียน อนาคตไม่แน่นอน