ชาวบ้านปวดตาหลังลงคลองผันน้ำ จากแม่น้ำกก ด้านสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต จี้รัฐเร่งเจรจาข้ามแดน

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.00 น. มูลนิธิสยามเชียงราย จุดริมกก รับแจ้งเหตุชาวบ้านเมืองงิม หมู่ 4 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย เกิดอาการปวดแสบตาและตาบวมหลังลงคลองผันน้ำจากแม่น้ำกกเพื่อหาของที่ตกหล่นในน้ำ โดยคลองดังกล่าวเป็นคลองส่งน้ำจากโครงการฝายชลประทานเชียงราย ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตรของชุมชน

ภาพ: PO OM

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ มูลนิธิสยามเชียงราย จุดบริการตำบลริมกก ได้เข้าไปตรวจสอบอาการของชาวบ้านดังกล่าว ระบุว่าอาการของชาวบ้านไม่ใช่การระคายเคืองจากแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมทั่วไป แต่อาจเป็นการอักเสบจากสารปนเปื้อนในน้ำ โดยหลังเกิดเหตุผู้ป่วยพยายามรักษาเบื้องต้นด้วยน้ำเกลือและยาล้างตา ก่อนเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลริมกก ล่าสุดเตรียมส่งต่อเพื่อแพทย์วินิจฉัยว่าอาการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสารพิษในน้ำหรือไม่

ภาพ: PO OM

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พบสารหนูและโลหะหนักปนเปื้อนในแม่น้ำกกเกินค่ามาตรฐานตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีคำเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแม่น้ำโดยตรง

ล่าสุด 6 พฤษภาคม 2568 สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจาระหว่างประเทศ 4 ฝ่าย ได้แก่ ไทย เมียนมา กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ในรัฐฉาน และจีน เพื่อแก้ปัญหาการปล่อยสารพิษจากเหมืองต้นน้ำในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นต้นเหตุหลักของการปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนไทยในภาคเหนือ

สมาคมฯ ยังได้เสนอแผนแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 7 ข้อ เช่น การตั้งคณะทำงานแบบมีส่วนร่วมเพื่อตรวจสอบและจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ การเปิดเผยข้อมูลคุณภาพน้ำอย่างโปร่งใส การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเฝ้าระวังแหล่งมลพิษในรัฐฉาน รวมถึงการตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำถาวรในพื้นที่ลุ่มน้ำกก

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า “ในสถานการณ์ที่ปลาในแม่น้ำกกเริ่มมีลักษณะผิดปกติ เราได้ประสานกับชาวประมงเพื่อนำตัวอย่างปลาส่งตรวจหาสารปนเปื้อนกับสำนักงานประมงจังหวัดเชียงรายแล้ว คาดว่าจะทราบผลในอีก 3 สัปดาห์” พร้อมระบุว่าการเจรจาระดับระหว่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเป็นปัญหาข้ามพรมแดนที่เกินขีดความสามารถของท้องถิ่นในการจัดการ

ภาพ: สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

แม่น้ำกกมีความยาวรวมประมาณ 285 กิโลเมตร โดยไหลเข้าประเทศไทยที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และไหลผ่านจังหวัดเชียงรายก่อนบรรจบแม่น้ำโขงที่บ้านสบกก อำเภอเชียงแสน ปัจจุบันแม่น้ำกกถือเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพมากที่สุดสายหนึ่งของประเทศไทย โดยมีพันธุ์ปลาไม่น้อยกว่า 71 ชนิด และสัตว์น้ำสำคัญ เช่น นากใหญ่ธรรมดา ที่ยังพบกระจายตัวอยู่ตลอดสองฝั่งแม่น้ำกก

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำกกยังคงวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องต่อผลกระทบระยะยาวจากสารพิษ ทั้งในด้านสุขภาพ วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม โดยเครือข่ายลุ่มน้ำกก-อิง-โขง ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการป้องกันและฟื้นฟูแบบบูรณาการในสามระยะ ได้แก่ การตรวจสอบคุณภาพน้ำ-ปลา-สัตว์น้ำในแม่น้ำสายต่าง ๆ การขยายขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และการสื่อสารข้อมูลต่อชุมชนเพื่อการปรับตัวและรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่จังหวัดเชียงรายร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่), สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย และกรมควบคุมมลพิษ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำแม่น้ำกก บริเวณอำเภอเมืองเชียงราย และแม่น้ำสายในเขตอำเภอแม่สาย พบว่าน้ำในแม่น้ำกกมีสีขุ่นผิดปกติ คุณภาพน้ำอยู่ในระดับ “พอใช้ถึงเสื่อมโทรม” และตรวจพบ สารหนูเกินค่ามาตรฐาน ทั้งในน้ำและตะกอนดิน แม้ตะกอนจะยังไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์หน้าดิน แต่เจ้าหน้าที่เน้นย้ำว่าประชาชนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำโดยตรง รวมถึงการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค

ทางจังหวัดจึงออกคำแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้น้ำจากแม่น้ำกกและแม่น้ำสายโดยเด็ดขาด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้รีบล้างร่างกายด้วยน้ำสะอาด และหากมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ มีอาการทางระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ส่วนผู้ใช้น้ำประปายังคงสามารถใช้ได้ตามปกติ โดยการประปาส่วนภูมิภาคยืนยันว่ากระบวนการผลิตยังเป็นไปตามมาตรฐาน WHO และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง