เรื่อง: กองบรรณาธิการ / JET in Thailand
ผลงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้ซีรีส์คอนเทนต์ ‘พลังงาน / คน / ภาคเหนือ’ จากความร่วมมือระหว่าง Lanner และ JET in Thailand
หากถามคนไทยว่า…
ไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ผลิตจากเชื้อเพลิงอะไรมากที่สุด?
คงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนักที่ ‘เขื่อน’ มักจะเป็นหนึ่งในคำตอบที่เราได้ยินอยู่เสมอ แม้ในความเป็นจริงการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนของไทย ณ ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 3% (ไม่นับรวมการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในสปป. ลาว)
เหตุที่เขื่อนยังคงเป็นภาพจำของใครหลายคนเมื่อพูดถึงการผลิตไฟฟ้า เพราะเขื่อนกับคนไทยอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลากว่า 60 ปี นับตั้งแต่ ‘เขื่อนยันฮี’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘เขื่อนภูมิพล’ เขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในปี 2507 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเดินหน้าสู่การพัฒนาไฟฟ้าอย่างจริงจังเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และเขื่อนถือเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าสมัยใหม่สำหรับประเทศไทยในยุคนั้น ภายใต้การพึ่งพาทรัพยากร ‘น้ำ’ ที่ไทยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์
บทความนี้จะชวนสำรวจการพัฒนาไฟฟ้าของภาคเหนือในยุคที่รัฐไทยเร่งสร้าง ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมทั้งชวนตั้งคำถามถึงความมั่นคงนี้เป็นไปเพื่อทุกคนหรือไม่ และร่องรอยของการพัฒนานั้น ได้ทิ้งอะไรไว้ให้คนท้องถิ่นบ้าง
ก้าวแรกความมั่นคงทางพลังงานยุคสงครามเย็น และแผนพัฒนาจากรัฐ(ส่วนกลาง)
แม้กิจการไฟฟ้าจะเริ่มขยายตัวไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยตั้งแต่ช่วงปี 2470 แต่แสงสว่างจากไฟฟ้าก็มิใช่สิ่งที่คนทั่วไปในต่างจังหวัดจะเข้าถึงได้ง่ายอย่างปัจจุบัน ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าหลักของประเทศอย่างโรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสน กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางในจังหวัดพระนครและธนบุรี (หรือกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน)
เมื่อเกิดสงครามสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งประสบความเสียหายจากการถูกทิ้งระเบิด เกิดสถานการณ์ไฟฟ้าขาดแคลนในจังหวัดพระนครและธนบุรีเป็นเวลาหลายปี ประกอบกับเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังสงครามโลกสิ้นสุด ความต้องการไฟฟ้าในพระนครและธนบุรีจึงพุ่งสูงขึ้นราว 129 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าวัดเลียบและสามเสนมีเพียง 70 เมกะวัตต์
ทำให้รัฐบาลซึ่งนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (8 เม.ย. 2491-16 ก.ย. 2500) เห็นถึงความจำเป็นต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่สูงขึ้น การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ หรือเขื่อน จึงถูกนำมาพิจารณาอีกครั้ง หลังมีความพยายามมาตั้งแต่ปี 2472 แต่ก็ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะเหตุจากภาวะสงคราม ความผันผวนทางการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 รวมถึงขาดแคลนงบประมาณและความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้า

ที่มา: ผลงานของ ม.ล. ชูชาติ กำภู กรมชลประทานพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล.ชูชาติ กำภู ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 16 ธันวาคม 2512
ประจวบเหมาะกับภาวะสงครามเย็นที่เริ่มเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ปี 2491 รัฐบาลจอมพล ป. ที่เริ่มผูกมิตรกับสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำปีกเสรีนิยม การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนจึงเริ่มมีความหวังอีกครั้งด้วยความช่วยเหลือด้านการเงินและความรู้การพัฒนาประเทศให้เป็นสมัยใหม่จากสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อกีดกันการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
อย่างไรก็ดี ความช่วยเหลือดังกล่าวยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่นัก สาเหตุหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของจอมพล ป. ที่ไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้าแทรกแซง และความหวาดระแวงของสหรัฐฯ ต่อตัวจอมพล ป. ที่เริ่มมีท่าทีใกล้ชิดกับประเทศจีนซึ่งเป็นศัตรูของกลุ่มประเทศโลกเสรี ทำให้สหรัฐฯ ยังคงสงวนท่าทีการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย
แต่แล้วเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. ในปี 2500 ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนที่จะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ อย่างเต็มกำลัง ทั้งความช่วยเหลือด้านการเงินผ่านธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank) ตลอดจนความช่วยเหลือด้านความรู้และแนวทางการพัฒนาจาก USAID (United Stage International Development) รวมถึงหน่วยงานที่ปรึกษาของสหรัฐฯ อีกมากมาย
การขึ้นสู่อำนาจของจอมพล สฤษดิ์ พร้อมกับการยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในฐานะมหามิตร ได้เปิดทางให้สหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยเต็มรูปแบบผ่านเงื่อนไขการให้กู้ยิมเงินและเงินช่วยเหลือเพื่อพัฒนาประเทศ นำไปสู่การวางแผนพัฒนาจากส่วนกลางเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและการสร้างชาติสมัยใหม่ผ่าน ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ’ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ประกาศใช้แผนฉบับแรกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2504 โดยกำหนดให้ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐต้องพัฒนาเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังวลีของจอมพลสฤษดิ์ที่ว่า ‘น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ’
‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ จึงถูกสถาปนาขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงของชาติ โดยมีสหรัฐฯ เป็นกองหนุนสำคัญ ทำให้อำนาจการวางแผนพัฒนาไฟฟ้าไทยอยู่ในมือของรัฐส่วนกลางจากกรุงเทพฯ โดยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 ได้กำหนดเป้าหมายสำคัญด้านการพัฒนาไฟฟ้า นั่นก็คือ ก่อสร้างเขื่อนยันฮีให้แล้วเสร็จในปี 2506
เขื่อนยันฮี: จากน้ำมันสู่น้ำ และเปิดศักราชไฟฟ้าไทยสมัยใหม่
การเกิดขึ้นของเขื่อนยันฮี เริ่มในปี 2492 เมื่อหม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน เล็งเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ผลิตไฟฟ้า จึงได้เสนอความเห็นต่อรัฐบาลจอมพล ป. ต่อมาปี 2494 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าทั่วราชอาณาจักร เพื่อดูแลการจัดหาและสำรวจแหล่งพลังงานในประเทศ โดยมอบหมายให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่จะก่อสร้างเขื่อน กระทั่งพบว่าบริเวณเขายันฮี อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เป็นพื้นที่เหมาะสมต่อการสร้างเขื่อนมากที่สุด
ประเทศไทยจึงเริ่มวางแผนก่อสร้างเขื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2496 โดยว่าจ้างบริษัท EBASCO Services Inc. จากสหรัฐฯ เข้ามาสำรวจและวางแผนภายใต้โครงการ ‘เขื่อนผลิตไฟฟ้ายันฮี’ ทำให้เขื่อนซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่สหรัฐฯ พึ่งพาระหว่างปี 2473 ถึง 2503 ถูกส่งออกมายังไทย
สาเหตุอีกประการที่รัฐบาลไทย ณ ขณะนั้น เลือกสร้างเขื่อนซึ่งอาศัย ’น้ำ’ ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ‘น้ำมัน’ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ประเทศไทยใช้ในการผลิตไฟฟ้ากำลังขาดแคลนอย่างมาก ผลักดันให้ไทยต้องหันไปพึ่งพาเชื้อเพลิงอื่นโดยมุ่งเน้นการจัดหาแหล่งพลังงานในประเทศอย่างพลังงานน้ำ หรือถ่านหิน เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
การก้าวสู่ทศวรรษ 2500 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของไทยในด้าน ‘การเปลี่ยนผ่านพลังงาน’ ทั้งเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าสู่การพัฒนาไฟฟ้าสมัยใหม่ด้วยการสร้างเขื่อนในประเทศ พร้อมกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานโดยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นตัวกำหนดทิศทาง
การสร้างเขื่อนยันฮีซึ่งเป็นของใหม่ในยุคนั้นต้องใช้งบประมาณถึง 2,000 ล้านบาท ขณะที่ไทยมีงบประมาณเพียง 700 ล้านบาท จึงมีแผนที่จะกู้เงินจากธนาคารโลก 1,300 ล้านบาท แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากพรรคฝ่ายค้านอย่างหนัก นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเห็นว่าใช้งบประมาณสูง ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และการกู้เงินจากต่างประเทศจะกลายเป็นหนี้สินระยะยาวสำหรับคนรุ่นหลัง อีกทั้งถูกต่อต้านเรื่องการสร้างเขื่อนอาจส่งผลให้น้ำท่วมถึงจังหวัดเชียงใหม่ และมูลค่าของไม้สักและไม้เศรษฐกิจที่จะจมอยู่ใต้เขื่อนอีกนับหมื่นล้าน โดยนายน้อย ทินราช ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในสภาว่า
“เขื่อนยันฮีจะก่อหนี้สิน จะก่อความผูกพันให้แก่ประชาชนไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท…
บ้านเมืองกำลังอดอยาก ข้าวกำลังยาก หมากกำลังแพง รัฐบาลควรเลิกเสียเรื่องสร้างเขื่อนยันฮีนี้เอง
เอาเงินไปช่วยปากช่วยท้อง ช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดี…
ส่วนราษฎรแม้ว่าจะไม่มีไฟฟ้าไปถึง เขาก็มีต้นยาง ที่จะไปหาน้ำมันยางไป (จุดไฟสว่าง) ใช้ได้อยู่แล้ว…
(เขื่อนยันฮี)… ไม่จำเป็น… (ทั้ง) ยังจะเป็นเหตุที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดินเรา…”
(ที่มา: 50 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)
แม้จะถูกต่อต้านจากส.ส. ฝ่ายค้านจนถึงขั้น ‘วอล์คเอ๊าต์’ จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่สุดท้ายโครงการยันฮีก็ผ่านมติของที่ประชุมสภาฯ และเดินหน้าต่อ โดยมีการเปลี่ยนชื่อจากเขื่อนยันฮีเป็น ‘เขื่อนภูมิพล’ และก่อตั้งการไฟฟ้ายันฮี(กฟย.) ในปี 2500 เพื่อดูแลการก่อสร้างเขื่อน
ภาพ (ซ้าย) หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวการวอล์คเอ๊าต์ของฝ่ายค้านเพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อนเขื่อนยันฮี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นการเมืองที่พรรคฝ่ายค้านใช้ต่อสู้กับพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. ที่กำลังครองอำนาจขณะนั้น (ขวา) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2500 (ก่อนที่รัฐบาลจอมพล ป. จะถูกจอมพล สฤษดิ์ ทำการรัฐประหาร 4 วัน) รัฐบาลไทยและธนาคารได้ลงนามในสัญญากู้เงินจากธนาคารโลกจำนวน 66 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำมาสร้างเขื่อนยันฮี นับเป็นมูลค่าเงินกู้สูงสุดที่ธนาคารโลกเคยอนุมัติ


กระบวนการก่อสร้างเขื่อนได้เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ โดยพึ่งพาผู้รับเหมาจากสหรัฐอเมริกา ร่วมกับประเทศอื่น ๆ (ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศโลกเสรี) มาเป็นที่ปรึกษาในการก่อสร้าง ในระหว่างการก่อสร้าง มีชาวต่างชาติร่วมทำงานจำนวน 192 คน และมีคนไทยที่เป็นข้าราชการปฏิบัติงานในฝ่ายต่างๆ 556 คน ลูกจ้างประจำ/ชั่วคราว 940 คน มีคนงานประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจนถึงแก่ชีวิตรวมทั้งสิ้น 39 คน
การก่อสร้างเขื่อนนอกจากจะใช้กำลังคนนับพัน ยังต้องใช้ทรัพยากรอย่างคอนกรีตเป็นจำนวนมากถึง 300,000 ตัน รัฐบาลจึงได้ก่อตั้ง ‘บริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด’ โดยใช้แหล่งเหมืองหินในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และได้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะในยุคแรก ที่จังหวัดลำปาง (กำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์) เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในระหว่างการก่อสร้างเขื่อนยันฮี รวมถึงจำหน่ายให้ประชาชนในจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และลำปาง ขณะที่ส่วนกลางได้มีการเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้จังหวัดพระนครและธนบุรีในระหว่างที่เขื่อนยันฮีกำลังก่อสร้าง
ในปี 2507 การก่อสร้างเขื่อนยันฮีแล้วเสร็จ และประเทศไทยก็ได้เข้าสู่ยุคทองแห่งการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยมีการก่อสร้างเขื่อนกระจายไปในภูมิภาคต่างๆ อีกหลายแห่ง รวมถึงเขื่อนท่าปลา(เขื่อนสิริกิติ์) จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่


ความมั่นคงทางพลังงานที่แลกมาด้วยน้ำตาคนชนบท
เบื้องหลังภาพอันงดงามของเขื่อนภูมิพลซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของประเทศในยุคนั้น กลับแฝงไว้ด้วยผลกระทบที่ผู้คนในชนบทภาคเหนือต้องแบกรับไว้โดยไม่มีทางเลือกอื่น เพราะการสร้างเขื่อนนำมาซึ่งการเวนคืนที่ดินจากชาวบ้านเพื่อใช้สร้างอ่างเก็บน้ำ ชุมชนบริเวณนั้นต้องจมอยู่ใต้บาดาล เป็นเหตุให้ต้องอพยพชาวบ้าน 5,000 ครัวเรือน ออกจากพื้นที่ ได้แก่ อําเภอสามเงา จังหวัดตาก อําเภอฮอด อําเภอจอมทอง อําเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ และอําเภอลี้ จังหวัดลําพูน โดยภาครัฐมีการจ่ายเงินทดแทน และจัดสรรที่ดินสําหรับนิคมสร้างตนเองรวมทั้งสร้างสาธารณูปโภคให้ใหม่


ชาวบ้านจาก 12 หมู่บ้านในตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก คือหนึ่งในกลุ่มราษฎรที่ต้องย้ายออกจากบ้านของตนเอง โดยเริ่มต้นขึ้นในปี 2503 บางส่วนย้ายขึ้นไปตั้งหมู่บ้านใหม่บนภูเขา ซึ่งต้องเดินทางเข้า-ออกด้วยเรือ บางส่วนตัดสินใจย้ายออกไปตั้งรกรากใหม่ในจังหวัดอื่น และมีบางส่วนที่ยืนยันจะอาศัยอยู่ที่เดิม โดยเปลี่ยนจากการอาศัยอยู่ในบ้านแบบทั่วไปมาอาศัยอยู่บนเรือแพ ขณะที่คนกลุ่มใหญ่ได้อพยพไปยังที่อยู่อาศัยใหม่ชื่อว่าหมู่บ้าน ‘ชลประทานรังสรรค์’ ที่ทางกรมชลประทานจัดสรรให้ อยู่ห่างจากเขื่อนภูมิพลราว 12 กิโลเมตร
บทความ พลังน้ำบ้านนา – ไฟฟ้าเขื่อนภูมิพล” เปิดมรดกการพัฒนาต้านภัยคอมมิวนิสต์ และชีวิตคนชลประทานรังสรรค์เมกะโปรเจกต์ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวจาก ชลอ ถนัดวณิชย์ อดีตครูวิชาสังคม โรงเรียนสามเงาวิทยาคม ซึ่งเติบโตในหมู่บ้านชลประทานรังสรรค์ เธอเล่าว่า
“พอชาวบ้านเริ่มรู้ข่าวว่าจะทำเขื่อนในช่วง พ.ศ. 2496 เริ่มกังวลสับสน ผ่านไปสักพักทางการใส่ชุดสีกากีมา คนบ้านนากลัวมาก เขาสั่งอะไรก็ทำ ทำไปด้วยความหวาดกลัว มีคนต่อสู้คัดค้านเหมือนกัน แต่ก็ถูกทางการเรียกตัวไป”
หมู่บ้านในพื้นที่จัดสรรใหม่ก็ไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยของชาวบ้านสมัยนั้น สภาพผังแบ่งเป็นซอยชัดเจนเหมือนหมู่บ้านจัดสรรปัจจุบัน มีถนนหลักเชื่อมภายใน ครูชลอยังเล่าถึงการจัดสรรที่ดินทำกินว่า
“ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เอากระดาษพิมพ์เขียวให้คนมาลง คนบ้านนาก็มาลงครอบครัวละ 1 ไร่ เป็นที่ดินที่ทางชลประทานจัดสรรไว้ให้ สภาพตอนแรกเป็นป่าดงดิบ มีไม้สัก 3 คนโอบอยู่ในการที่จะทำบ้านต้องถาง แต่ก่อนไม่มีถนนที่เรียบๆ แบบในพิมพ์เขียว”
ขณะที่บันทึกของ ปราโมช มาลาทอง อดีตข้าราชการครูโรงเรียนผดุงวิทย์ ตำบลบ้านนา จาก ‘เสียงเรียกของคนเหนือเขื่อน’ โดย สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ในวารสารเมืองโบราณ บันทึกไว้ว่า
ระหว่างการอพยพ รัฐสัญญาว่าจะมีตำรวจดูแล จะมีที่ทำกิน และจะได้ทำงานกับชลประทาน แต่สุดท้ายทุกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ก่อนการรื้อถอนบ้าน แกนนำชาวบ้านหลายชุมชนพยายามประชุมต่อรองค่าทำขวัญต่อรัฐให้สูงขึ้น แต่เมื่อชลประทานทราบเรื่อง ก็มีคำสั่งห้ามประชุม และขู่ว่าจะจับกุมผู้ก่อความไม่สงบในข้อหาผู้ก่อกวนความไม่สงบภายใน ชาวบ้านจึงจำต้องยอมจำนน
กระบวนการย้ายถิ่นเต็มไปด้วยอุปสรรค เส้นทางน้ำมีทั้งน้ำวนและไหลเชี่ยว ต้นไม้โค่นขวางทาง ชาวบ้านต้องใช้แพไม้ไผ่บรรทุกคนและของ ถ่อไปตามน้ำ บางแพชนต้นไม้แตกกระจาย ทรัพย์สินจมหาย บรรยากาศเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น “เหงื่อหรือน้ำตาคนอื่นดูไม่รู้นอกจากเจ้าตัวเท่านั้นจะรู้ว่าเหงื่อหรือน้ำตา”
เช่นเดียวกับชะตากรรมของชาวบ้านแม่งูด ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถูกบังคับให้ย้ายไปอยู่พื้นที่จัดสรรใหม่ในอำเภอดอยเต่า แต่ชาวบ้านตัดสินใจปักหลักอยู่ที่เดิม ด้วยเห็นว่าพื้นที่ใหม่อาจถูกน้ำท่วมเช่นกัน และไม่อยากย้ายไปอยู่ที่นั่นเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่าทึบน่ากลัว อีกทั้งไม่มีการเตรียมสาธารณูปโภครองรับ การตัดสินใจครั้งนั้นต้องแลกมาด้วยการถูกรัฐเวนคืนที่ดินทำกิน โดยมีการจ่ายค่าชดเชยให้เฉพาะผู้มีเอกสารสิทธิ์ น.ส. 3 ในอัตรา 400 บาท/ไร่
เมื่อเขื่อนเปิดใช้งาน ปรากฏมี ’น้ำเท้อ’ ท่วมบ้านเรือนและที่ทำกิน ทำให้ชาวบ้านจำต้องตัดสินใจทิ้งบ้านเรือนไปอยู่ที่ใหม่ แต่ยังอาศัยพื้นที่ทำกินเดิมทำนาในช่วงน้ำลด ซึ่งก็เจอกับปัญหาน้ำขึ้น-นำ้ลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ สุดท้ายชาวบ้านต้องตัดสินใจย้ายไปตั้งชุมชนใหม่อีกครั้ง ห่างจากที่เดิมประมาณ 2 กิโลเมตร และอาศัยอยู่จนถึงปัจจุบัน


ฝันร้ายของชาวบ้านแม่งูดยังไม่จบเพียงเท่านี้ แม้จะผ่านการย้ายชุมชนมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ชุมชนแห่งนี้อาจต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียที่อยู่อาศัยอีกครั้งหากโครงการผันน้ำยวมถูกผลักดันให้เดินหน้าต่อ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภค และ ‘ผลิตไฟฟ้า’ ใช้งบประมาณกว่า 88,745 ล้านบาท(ข้อมูล ณ เดือน มีนาคม 2566) ซึ่งจะต้องมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมและอ่างเก็บน้ำในอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมสถานีสูบน้ำผ่านอุโมงค์คอนกรีตยาว 61 กิโลเมตร มีการเจาะอุโมงค์ทะลุผืนป่ารอยต่อ 3 จังหวัด(แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่) เพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ปากอุโมงค์บริเวณบ้านแม่งูด

นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในชนบทภาคเหนือที่ต้องเสียสละถิ่นฐานบ้านเกิด วิถีชีวิต และที่ดินทำกิน เพื่อให้ได้มาซึ่ง ’เขื่อน’ โครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกั้นทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ ตอบสนองต่อการใช้น้ำภาคการเกษตร จัดการกับปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ
ชะตากรรมของคนเหนือ…เมื่อเขื่อนยันฮีเดินหน้าสู่เขื่อนบนแม่น้ำโขง
แม้ 30 ปีให้หลัง การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศอย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วงก์ หรือโครงการผันน้ำยวม ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อได้สำเร็จ เขื่อนปากมูล จ. อุบลราชธานี จึงเป็นเขื่อนแห่งสุดท้ายที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 2533-2537 พร้อมกับ ‘บันไดปลาโจน’ ที่กลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลวในการแก้ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของภาครัฐ
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลุกขึ้นมาต่อสู้ของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ร่องรอยบาดแผลจากการพัฒนาที่มาพร้อมคราบน้ำตาล้วนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน แต่อีกด้านก็เป็นผลจากการที่ไทยหันไปพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างก๊าซเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้านับตั้งแต่มีการขุดพบก๊าซในอ่าวไทยและนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2524
อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของคนเหนือกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ามิได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ หากแต่ย้ายจากเขื่อนในประเทศสู่การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาในเขตประเทศเพื่อนบ้านอย่างสปป.ลาว โดยมีจุดเริ่มต้นในเวลาไล่เลี่ยกับที่เขื่อนปากมูลใกล้ก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และสปป. ลาว ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) เรื่องความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าในสปป. ลาว เป็นครั้งแรก ในปี 2536 เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งกลับมาขายให้ไทยโดยมีกฟผ. เป็นผู้รับซื้อ
ผลกระทบจากเขื่อนจึงได้ขยายจากในประเทศสู่ผลกระทบข้ามพรมแดน ปัจจุบัน กฟผ.ได้เซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในสปป. ลาวรวม 13 แห่ง เป็นเขื่อนที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าขายให้ไทยแล้ว 9 แห่ง อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 แห่ง คือ เขื่อนหลวงพระบาง และอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนปากลาย เขื่อนปากแบง และเขื่อนเซกอง 4A/4B ทั้ง 4 เขื่อนมีแผนผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบในปี 2573-2576
ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นเขื่อนต่างประเทศ และรัฐมักจะยกเหตุผลเรื่อง ‘เขื่อนเป็นพลังงานสะอาด’ ราวกับว่าสิ่งนี้คือใบอนุญาตสำหรับการสร้างเขื่อนต่อไปในยุคที่ต้องบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในความเป็นจริง ผลกระทบก็มิได้ถอยออกห่างจากประเทศไทยและคนภาคเหนือแต่อย่างใด โดยเฉพาะกรณีเขื่อนปากแบงซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยบริเวณแก่งผาได ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ประมาณ 96 กิโลเมตร อาจทำให้คนเชียงรายต้องเสี่ยงต่อผลกระทบน้ำท่วมจากภาวะ ‘น้ำเท้อ’ ขึ้นมาถึงอย่างน้อยในเขตอำเภอเชียงของ ยังไม่นับว่าการสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงจะกลายเป็นอ่างเก็บสารพิษโลหะหนักจากการทำเหมืองในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซ้ำเติมปัญหาสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขงอยู่ ณ ขณะนี้
เป็นเวลากว่า 60 ปี จากการสร้างเขื่อนในประเทศสู่เขื่อนต่างประเทศ คนเหนือยังคงอยู่กับผลกระทบจากการพัฒนาที่ชื่อว่า ’เขื่อน’ ต่อไป เป็นชะตากรรมที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย นั่นก็คือ โครงสร้างการพัฒนาไฟฟ้าที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้มีสิทธิร่วมตัดสินใจ แม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนจากการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาสู่แผนพลังงานที่ชื่อว่า ‘พีดีพี’ เพื่อกำหนดว่าโรงไฟฟ้าหรือเขื่อนจะไปตั้งอยู่ที่ไหน จังหวัดใด แต่โครงสร้างหรือแผนทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็ยังคงกำหนดให้คนในภูมิภาคต้องเป็นผู้เสียสละ เพื่อแลกกับความมั่นคงทางพลังงาน ในวันที่ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานมากเกินความจำเป็น และประชาชนยังคงต้องแบกรับภาระต้นทุนทุกอย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ค่าก่อสร้างไปจนถึงการการันตีกำไรให้ผู้ผลิตผ่านบิลค่าไฟ
บทเรียนนี้จึงไม่ควรเป็นแค่ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม แต่เป็นการตอกย้ำว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ละเลยสิทธิและเสียงของคนในพื้นที่ ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม’
อ้างอิง
- ณัฐพล ใจจริง. (2563). ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
- นเรศ สัตยารักษ์. (2549). ทิศทางพลังงานไทย: Energy vision. สำนักประชาสัมพันธ์ กระทรวงพลังงาน
- มรกต ลิ้มตระกูล (ผู้เรียบเรียง). (2546). โครงการศึกษาวิจัยและจัดทำประวัติการพัฒนาพลังงานของประเทศไทย ชุดที่ 4 (เล่มที่ 6) ประวัตินโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการเปิดเสรีด้านพลังงาน. กรุงเทพฯ: บริษัท เบอร์รา จำกัด
- ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 85 ตอนที่ 25 วันที่ 19 มีนาคม 2511, การไฟฟ้ายันฮี งบดุลงวด 30 กันยายน 2510
- สุดแดน วิสุทธิลักษณ์. “เสียงเรียกของคนเหนือเขื่อน.” เมืองโบราณ
- World Bank. (1963). RESTRICTED FILE COPYT CT t2 r4 Xpy Report No. TO- 349a. in documents1.worldbank.org/curated/en/391291468116644110/txt/multi-page.txt
- โครงการเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก
- ที่ระลึกงานทำบุญอายุครบ 60 ปี ม.ล. ชูชาติ กำภู
- ที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนภูมิพล 17 พฤษภาคม 2507
- ผลงานของ ม.ล. ชูชาติ กำภู กรมชลประทานพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล.ชูชาติ กำภู ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 16 ธันวาคม 2512
- ‘ผันน้ำยวม’ เมื่อแม่น้ำร้องไห้ บนการพัฒนาที่มองไม่เห็นชีวิต
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่หนึ่ง ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2504-2506)
- แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่หนึ่ง ระยะที่สอง (พ.ศ. 2507 – 2509)
- แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สอง (พ.ศ. 2510 -2514)
- ยันฮีมา บ้านนาหาย
- รายงานวิจัยวิถีการดำรงชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำภูมิพล (รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน)
- 50 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...