คดีจบ แต่เงา คสช. ยังอยู่ ศาลฎีกายกฟ้อง “ทองแสง” คดีคาร์ม็อบอุตรดิตถ์ แต่สั่งปรับ “อนุรักษ์” 5 พัน ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ศาลฎีกาพิพากษาคดี “คาร์ม็อบอุตรดิตถ์” เหตุชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2564 โดยตัดสินให้ ทองแสง ไชยแก้ว พ้นผิดเนื่องจากไม่ได้ร่วมกิจกรรม แต่ลงโทษ อนุรักษ์ แก้ไข ปรับ 5,000 บาท ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการขับรถนำขบวนในกิจกรรมดังกล่าว ด้านทองแสงให้สัมภาษณ์กับ Lanner ว่า แม้ศาลจะยกฟ้อง แต่ต้องแลกด้วยการใช้ชีวิตในกระบวนการยุติธรรมยาวนานกว่า 4 ปี และตั้งคำถามต่อระบบกฎหมายที่ยังคงใช้คำสั่งยุค คสช. ในการพิจารณาคดี พร้อมเตือนว่าคดีลักษณะนี้จะยิ่งทำให้ประชาชนหวาดกลัว 

27 พฤษภาคม 2568 ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดี “คาร์ม็อบอุตรดิตถ์” ที่เกิดจากการชุมนุมของกลุ่ม อุตรดิตถ์ปลดแอก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 เพื่อต่อต้านการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงวิกฤตโควิด-19 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตัดสินให้ ทองแสง ไชยแก้ว คนทำงานด้านการเรียนรู้ของเยาวชนในจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียง ให้พ้นผิด แต่ตัดสินลงโทษปรับ อนุรักษ์ แก้ไข จำนวน 5,000 บาท ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมขบวนรถในการชุมนุม

แม้จะได้รับการยกฟ้อง แต่ ทองแสง ยืนยันว่า ประสบการณ์จากคดีนี้ไม่ใช่สิ่งที่จบลงง่าย ๆ เพราะการตกเป็นจำเลยทางการเมืองในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้าน ทองแสงให้สัมภาษณ์กับ Lanner ว่า

“แม้วันนี้ศาลจะบอกว่าเราไม่ผิด แต่เราก็ต้องใช้เวลา 4 ปีในกระบวนการยุติธรรม เสียทั้งเวลา เงินทอง สุขภาพจิต และความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตประจำวัน แล้วใครจะรับผิดชอบกับสิ่งที่เราสูญเสีย?”

ทองแสงเล่าว่าตนไม่ได้อยู่ในกิจกรรมในวันเกิดเหตุ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโพสต์เชิญชวนในเพจเฟซบุ๊ก “อุตรดิตถ์ปลดแอก” แต่กลับถูกพาดพิงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องจนถูกดำเนินคดี พร้อมกับ อนุรักษ์ ผู้ที่เพียงแค่ขับรถกระบะเข้าร่วมขบวนคาร์ม็อบ แต่กลับถูกมองว่าเป็น “ผู้จัดกิจกรรม”

“วันนั้นมีแต่คนขี่มอเตอร์ไซค์กันทั้งนั้น แต่อนุรักษ์เอารถกระบะมา พอมีป้ายข้อความแปะที่รถ ก็เลยกลายเป็น ‘เป้า’ ไปโดยปริยาย ทั้งที่ไม่มีใครเห็นว่าเขาทำอะไรผิด”

ทองแสงวิจารณ์ว่า ศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำคุกทันทีโดยไม่รอลงอาญา ทำให้คดีต้องต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ทั้งที่ข้อเท็จจริงหลายประการ รวมถึงคำเบิกความของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ก็ระบุว่าการชุมนุมครั้งนั้นมีความเสี่ยงต่ำ ไม่มีการรวมกลุ่มแน่นหนา และไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดจากกิจกรรมดังกล่าว

“เราแค่ขับรถ แต่ศาลชั้นต้นสั่งจำคุกทันที มันดูเบาๆ แต่จริงๆ แล้วกระบวนการนี้รุนแรงมาก มันสร้างบรรยากาศของความกลัว มันบอกคนทั้งประเทศว่า ถ้าคิดจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับอำนาจรัฐ คุณต้องเตรียมใจจะโดนกระบวนการนี้เล่นงาน”

ทองแสงสะท้อนว่า แม้คดีนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กในสายตาคนทั่วไป แต่ความพยายามยืดเยื้อของฝ่ายอัยการที่ฎีกาคดีต่อ ทั้งที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องไปแล้วนั้น บ่งชี้ถึงแรงจูงใจทางการเมือง

“ถ้าศาลฎีกาไม่รับฎีกานี้ ทุกอย่างก็จบไปนานแล้ว แต่นี่ลากกันมาอีกปี ทั้งที่รู้ว่าคดีแบบนี้มันไม่มีน้ำหนัก มันคือความพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดทับสิทธิของประชาชน”

ทองแสงตั้งคำถามว่า เหตุใดคำสั่งจากยุค คสช. ซึ่งประกาศภายใต้อำนาจของรัฐบาลทหาร จึงยังคงมีผลบังคับใช้ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

“ในเมื่อประยุทธ์ไม่ได้อยู่ในอำนาจแล้ว แต่คำสั่ง คสช. ยังถูกนำมาใช้ในศาล แปลว่าอำนาจนั้นยังไม่ตาย แล้วเราจะเชื่อได้ยังไงว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ?”

“มันทำให้คนที่จะลุกขึ้นมาตรวจสอบรัฐต้องคิดหนัก เพราะสุดท้ายอาจไม่ได้แค่ถูกเพิกเฉย แต่จะถูกลากเข้าคุกอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีใครรับผิดชอบ”

ทองแสงยังเตือนว่า สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่แค่การแพ้คดีในศาล แต่คือบรรยากาศแห่งความกลัวที่ทำให้พลเมืองไม่กล้าลุกขึ้นตั้งคำถาม

“ถ้าครั้งหน้าเราจะชวนใครรุ่นน้องทำกิจกรรม เราต้องบอกเขาเสมอว่า ‘มึงต้องระวังนะ’ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว การตั้งคำถามกับรัฐไม่ควรเป็นเรื่องต้องระวังเลยด้วยซ้ำ”

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง