เรื่อง: ภัทรา บุรารักษ์
ย้อนอดีต เข้าใจปัจจุบันของสื่อท้องถิ่น
ต้นปี 2568 เว็บไซต์ Journalism.co.uk. ได้ระบุ 10 เทรนสื่อในปีนี้ และหนึ่งในนั้นก็คือสื่อท้องถิ่น โดย “ข่าวท้องถิ่น” จะกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ในบ้านเราในช่วงสองสามปีที่ผ่าน เรื่องของข่าวท้องถิ่น สื่อท้องถิ่น หรือเนื้อจากท้องถิ่นก็ดี เริ่มได้รับความนิยมและความสนใจมากขึ้นในงานข่าววิชาชีพและแหล่งทุนต่างๆ ที่หันมาสนใจพัฒนาคนและข่าวและเรื่องเล่าจากท้องถิ่นมากขึ้น
เมื่อพูดถึงคำว่า “สื่อท้องถิ่น” คำว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มักจะผุดขึ้นมาในความคิดเป็นอย่างแรกๆ แต่หากเรามองย้อนกลับไปยังอดีต สื่อท้องถิ่นไม่ได้มีเพียงแค่หนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่ยังมีวิทยุท้องถิ่นและโทรทัศน์ท้องถิ่นหรือที่เรารู้จักว่า โทรทัศน์ส่วนภูมิภาค ที่มีภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สทท. 11 ปัจจุบัน) หรือหากเป็นคนภาคเหนือตอนบนคงเคยจำได้ว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีโทรทัศน์ที่เรียกว่า ช่อง 8 ลำปาง แต่อาจไม่รู้สึกว่าเป็นสื่อท้องถิ่นเท่ากับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น อาจเป็นเพราะว่าสื่อวิทยุและโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีการถือกำเนิดมาจากชนชั้นสูง ก่อนจะมาอยู่มือของรัฐและเป็นสื่อที่ไม่ได้เป็นสื่อที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเหมือนหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ การดำเนินกิจการต้องอาศัยเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญหรือเป็นข้าราชการ ที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในท้องถิ่น ดังนั้นการปรากฏตัวของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในท้องถิ่นยุคนั้น จึงเป็นเรื่องของนโยบายรัฐที่พยายามแสดงให้เห็นว่าให้ความสำคัญกับท้องถิ่นขณะเดียวกันก็มีจุดมุ่งหมายแท้จริงในทางปฏิบัติคือการใช้สื่อดังกล่าวสร้างชาตินิยมหรือชาติไทยเดียว โดยการเป็นช่องทางการเผยแพร่ภาพและข้อมูลข่าวสารจากผู้นำไปสู่ประชาชนมากกว่าท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น และในช่วงต่อๆ มาความเป็นท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นรายการ เนื้อหา ก็ถูกทำให้ค่อยๆ หายไป แม้ว่าปัจจุบันจะได้รับใบอนุญาตให้จัดหมวดหมู่เป็นสื่อท้องถิ่น แต่อุดมการณ์ เจตนา และโครงสร้างการบริหารจัดการก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง (อ่าน ประวัติศาสตร์การกำเนิดโทรทัศน์ในภาคเหนือ) ขณะที่เนื้อหาที่สะท้อนถึงคุณค่าวารสารศาสตร์ท้องถิ่นที่เข้มข้น จึงเป็นงานของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมากกว่า
พัฒนาการของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเองก็ผ่านร้อนผ่านหนาว ความเป็นอิสระและเสรีภาพมักจะขึ้นลงล้อไปกับสถานการณ์การเมืองการปกครองของไทยไม่ต่างจากหนังสือพิมพ์ส่วนกลางนัก แต่นักข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและความรุนแรงนำไปสู่การถูกปองร้ายและถูกฆ่าตายเนื่องจากการทำงานตามหน้าที่ของสื่อมวลชนเกิดขึ้นบ่อยกว่านักข่าวระดับชาติ ในภาคเหนือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็มีประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นและการแสดงบทบาทของการเป็นสื่อท้องถิ่นอย่างเข้มข้นโลดโผน ตัวอย่างหัวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในภาคเหนือที่เรายังพอจะคุ้นชินก็เช่น คนเมือง ไทยนิวส์ (จังหวัดเชียงใหม่) หรือหนังสือพิมพ์เอกราช (จังหวัดลำปาง) (สนใจเรื่องหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในภาคเหนืออ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความวิจัยเรื่อง ประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ในเชียงใหม่และลำปาง ของ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และบทความ จากศรีเชียงใหม่ ถึง คนเมือง: สื่อหนังสือพิมพ์กับความคิดท้องถิ่นนิยมล้านนายุคแรกเริ่ม ของพริษฐ์ ชิวารักษ์) ในอดีตการขยายตัวของจำนวนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นถูกล็อคไว้ด้วย พ.ร.บ.การพิมพ์ ทำให้การขอใบอนุญาตทำหนังสือพิมพ์ทำได้ยากและแทบไม่มีการอนุญาตรายใหม่ๆ เลย จึงทำให้ “หัว” หนังสือพิมพ์ที่มีรับใบอนุญาตมีมูลค่าขายต่อเพื่อเป็นเส้นทางลัดให้กับผู้ที่ต้องการเข้าสู่วงการนี้ได้ แต่หลังปี 2550 เป็นต้นมาหลังการบังคับใช้เมื่อมีพ.ร.บ จดแจ้งการพิมพ์ ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ทำให้ความเข้มงวดของการกำกับดูแลและควบคุมรวมถึงและอำนาจการอนุญาตทำหนังสือพิมพ์ที่เคยขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ได้คลี่คลายลง ผู้ที่ประสงค์ดำเนินธุรกิจหนังสือพิมพ์เพียงแค่ยื่นขอจดแจ้งการพิมพ์ (ที่ไม่ใช่ขออนุญาตและต้องได้รับอนุญาตก่อน) ที่สำนักงานศิลปากรในจังหวัด (ดูเงื่อนไขการยื่นจดแจ้งฯ เพิ่มเติมได้ที่ พ.ร.บ จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550) แต่เมื่อปลดล็อคดังกล่าวได้ไม่นาน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและสื่อท้องถิ่นประเภทอื่นก็ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามใหม่จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรุนแรง
สื่อท้องถิ่นหน้าใหม่เผยตัวท่ามกลางภัยคุกคาม
การปั่นป่วนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการรุ่งเรืองของ AI (Artificial Intelligence) ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสื่อในท้องถิ่นอื่นๆ เช่นกัน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นขณะนั้นต่างพยายามรักษากิจการไว้ทั้งปรับตัว ลดต้นทุน อพยพไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการยุติการทำงานบนโลกแอนะล็อค ส่วนสื่อท้องถิ่นประเภทอื่นหลายแห่งล้มหายตายจากไปเงียบๆ ไม่เว้นสื่อวิทยุท้องถิ่นที่หลายจังหวัดก็ต้องปิดตัวลง ยกตัวอย่างใกล้ตัวผู้เขียนก็คือวิทยุคลื่น อสมท. จังหวัดพะเยา ที่เคยเป็นคลื่นขวัญใจชาวพะเยามากว่า 20 ปี แต่เมื่อปี พ.ศ. 2565 บริษัท อสมท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ตัดสินใจไม่ประมูลคลื่นที่จังหวัดพะเยา ทำให้สถานีวิทยุอสมท. จังหวัดพะเยา ทั้งที่ออกอากาศทางคลื่นวิทยุหรือออนไลน์ จำเป็นต้องปิดตัวลงไปอย่างเงียบๆ โดยที่คนในชุมชนไม่รับรู้และแทบไม่รู้สึกอะไร ถือเป็นเรื่องน่าเศร้า ผู้เขียนมีโอกาสได้สนทนากับอดีตผู้จัดรายการของสถานีวิทยุ อสมท. พะเยา ท่านหนึ่ง ต่างก็ชวนสงสัยว่าเหตุใดคนในชุมชนถึงไม่รู้สึก ไม่ถามไม่ไถ่ถึงเมื่อคลื่นเสียงที่พวกเขาคุ้นเคยหายไป จึงอดคิดไม่ได้ว่า 20 ปีกว่าที่ทำงานในฐานะเป็นสื่อท้องถิ่นนั้น ไม่ได้เข้าไปอยู่ในหัวใจของคนชุมชนเลยหรืออย่างไร หรือคนในท้องถิ่นไม่ให้ความสำคัญกับสื่อท้องถิ่นเสียแล้ว
แต่เมื่อมองอีกด้านผลของการปั่นป่วนของดิจิทัล ก็ทำให้เมล็ดพันธุ์สื่อท้องถิ่นรูปแบบใหม่ๆ ได้เบ่งบานและงอกงามกลายมาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในภูมิทัศน์สื่อท้องถิ่น เข้ามาแข่งขันชิงสายตาผู้ชมร่วมกับสื่อท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นวิทยุกระจายเสียงท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่ต่างอพยพเข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์กันเกือบทั้งหมดหากไม่ได้ล้มหายล้มเลิกไปเสียก่อน
สื่อท้องถิ่นหน้าใหม่ดังกล่าวเราอาจคุ้นเคยกับคำว่า ผู้ผลิตเนื้อหา (Content creator) ที่เกี่ยวกับท้องถิ่นมากกว่า แต่ในแวดวงการที่ศึกษาด้านสื่อท้องถิ่น ก็ใช้คำเรียกสื่อท้องถิ่นลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นๆ นี้ว่า Hyperlocal Media ซึ่งผู้เขียนก็ไม่รู้จะแปลเป็นภาษาไทยให้สละสลวยว่าอย่างไร ก็ขอใช้คำว่า สื่อท้องถิ่นออนไลน์แบบเจาะจงพื้นที่ และทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปพรางก่อน ซึ่งความหมายแบบสั้นๆ ของสื่อหน้าใหม่นี้ก็คือสื่อที่ทำหน้าที่คล้ายสื่อท้องถิ่นหรือสื่อชุมชนที่ใช้ช่องทางการสื่อสารบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้นจำนวนมากในบ้านเรา ตัวอย่างเช่น Lanner เชียงรายสนทนา พะเยาทีวี และลำปางโพสต์ เป็นต้น ที่มีรูปแบบองค์กรทั้งที่เป็นกลุ่ม เป็นองค์กร หรือแบบเดี่ยว (Solo Journalist) เช่น เชียงของทีวีและเชียงรายสนทนา
อย่างไรก็ตามแม้จะมีรูปแบบและสไตล์ของการทำงานและเนื้อหาที่ให้บริการชุมชนแตกต่างกัน แต่สื่อเหล่านี้มีจุดร่วมคล้ายกัน 3 ประเด็นก็คือ
1. การยึดโยงกับพื้นที่ท้องถิ่นทางภูมิศาสตร์
2. เน้นการให้บริการข่าวสารข้อมูลเชิงสาธารณะและ
3. ดำเนินการโดยคนที่มีภูมิหลังหรือไม่ได้เป็นสื่อมวลชนวิชาชีพมาก่อน
ผู้เขียนได้สืบค้นเรื่อง Hyperlocal Media ในต่างประเทศดูเพื่อให้เห็นว่าเขาให้ความหมายและมองการทำงานของสื่อประเภทนี้อย่างไรก็บ้าง ก็พอเห็นว่าความสนใจสื่อกลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้นมาได้สิบปีกว่าๆ เท่านั้น โดยช่วงแรกๆ Hyperlocal media ได้รับความสนใจว่าเป็นปรากฏการณ์การทำข่าวของชุมชนเล็กๆ ที่เรียกว่าข่าวชุมชนออนไลน์ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยพลเมืองธรรมดา ที่ไม่ได้มุ่งเน้นกำไร แต่ต้องการเข้ามาทำหน้าที่ชดเชยและหรือเติมช่องว่างด้านข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ที่ที่ไม่มีสื่อท้องถิ่นหรือสื่อมวลชนเข้าไม่ถึง ต่อมาเราเห็นการขยับนิยามไปถึงการให้ความสำคัญ บทบาทหน้าที่ทางวารสารศาสตร์ท้องถิ่นของ Hyperlocal media มากขึ้นและได้รับการคาดหวังให้เป็นสื่อหน้าใหม่แห่งความหวังของสื่อที่เป็นตัวกลางที่จะทำให้คนในท้องถิ่นเข้าถึงบริการข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นและเพียงพอ ทั้งยังส่งเสริมความเป็นพลเมืองโดยให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับสื่อดังกล่าวได้ และยิ่งเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงผู้คนมาเท่าไหร่ ความสนใจและการให้ความสำคัญต่อ Hyperlocal media ก็เพิ่มความสำคัญถูกคาดหวังมากขึ้น บางพื้นที่เห็นว่า Hyperlocal media คือสื่อที่เข้ามากอบกู้ระบบการสื่อสารมวลชนระดับชุมชนหรือท้องถิ่นในสถานการณ์ที่สื่อท้องถิ่นและสื่อกระแสหลักกำลังยากลำบาก
หน้าเก่า หน้าใหม่ อยู่อย่างไรภูมิทัศน์สื่อท้องถิ่นวันนี้
กลับมามอง Hyperlocal media ในบ้านเราด้วยเลนส์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ไม่สามารถปฏิเสธคุณค่าและการมีอยู่ของสื่อท้องถิ่นหน้าใหม่ได้เลย ยิ่งช่วงการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยิ่งเห็นและรับรู้ถึงการทำหน้าที่ต่อท้องถิ่นของสื่อ Hyperlocal Media ในหลายพื้นที่ในหลายจังหวัด ที่ไม่เพียงเกาะติดสถานการณ์และรายงานผลการเลือกตั้งอย่างที่สื่อกระแสหลักถนัดทำแล้วเท่านั้น แต่สื่อท้องถิ่นดังกล่าวหลายแห่งได้ทำงานให้ข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นการให้ความรู้ และเห็นถึงความสำคัญของสิทธิและบทบาทของอบจ. ต่อชีวิตของคนในท้องถิ่นมาก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง รวมไปจนถึงเปิดพื้นที่ให้ผู้สมัครได้สื่อสารนโยบายขณะเดียวกันก็ให้ประชาชนตั้งคำถามกับผู้จะอาสามาพัฒนาพื้นที่ของพวกเขา รายงานสถานการณ์และรายงานผลคะแนนในวันเลือกตั้ง รวมทั้งติดตาม ทวงถามสัญญาหรือนโยบายจากผู้ที่ชนะเลือกตั้งเพื่อรายงานให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ทราบหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงในแบบที่สื่อระดับชาติไม่นำเสนอและสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษก็คือ ได้เห็นการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อท้องถิ่นหน้าใหม่เล็กๆ ในการรายงานสถานการณ์การเลือกตั้งในวันเลือกตั้งของแต่ละพื้นที่อย่างเสมอหน้ากับสื่อระดับชาติ (ดูการทำงานร่วมเพิ่มเติมได้ที่ เชียงรายสนทนา ) ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น้อยนักจะได้เห็นในโลกของสื่อวิชาชีพไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น
ขยับนิยามแล้วจะเห็นสื่อท้องถิ่น ยังเบ่งบาน
ดังนั้นการมองสื่อท้องถิ่น ในยุคสมัยนี้ ไม่อาจจำกัดในกรอบของสื่อท้องถิ่นอย่างที่เคยเป็นมาเท่านั้น แต่ควรขยายไปถึงสื่อหรือช่องทางออนไลน์ นอกเหนือจากสื่อท้องถิ่นแบบดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ เคเบิลทีวีท้องถิ่น และสื่อท้องถิ่นหน้าใหม่บนสื่อออนไลน์ รวมไปถึงสื่อพลเมือง สื่อทางเลือก ผู้ผลิตสื่ออิสระ ผู้สร้างสรรค์เนื้อหา สื่อภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะมาเดี่ยว มาเป็นกลุ่ม เป็นองค์กร ก็ตาม ขอเพียงเป็นสื่อที่มีเป้าหมายในการทำงานที่มุ่งเน้นการให้บริการข้อมูลข่าวสารที่ท้องถิ่นได้ประโยชน์ สร้างการตื่นรู้ รับมือ เตรียมคนในชุมชนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้
เมื่อเราขยับขยายนิยามสื่อท้องถิ่นให้กว้างพอที่โอบรับสื่อหลากหลายดังกล่าว ผู้เล่นในภูมิทัศน์สื่อท้องถิ่นก็จะเปลี่ยนตาม แต่ถ้าเราเน้นที่ผู้เล่นที่เป็นสื่อที่เน้นการให้บริการข้อมูลข่าวสารสาธารณะเป็นสำคัญแล้ว ก็คงจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือสื่อท้องถิ่นแบบดั้งเดิม และกลุ่ม Hyperlocal media ผู้เขียนได้ศึกษาความสัมพันธ์ของสื่อทั้งสองกลุ่ม ก็พบว่าเป็นความสัมพันธ์แบบต่างคนต่างทำ กลุ่มใครกลุ่มมัน จัดแบ่งแยกกันด้วยเกณฑ์ความเป็นวิชาชีพของสื่อ กลุ่มที่เป็นสื่อวิชาชีพก็ใช้เกณฑ์ดังกล่าววัดว่ากลุ่มหน้าใหม่ขาดความเป็นวิชาชีพ ส่วนกลุ่มหน้าใหม่ก็ใช้เกณฑ์ดังกล่าววัดว่าทำงานไม่เป็นไปเกณฑ์วิชาชีพและจริยธรรมสื่อมวลชน เป็นต้น
แต่ถ้าเรามองถึงบทบาทหน้าที่ของทั้งสองกลุ่มแล้ว สื่อทั้งสองกลุ่มคือกลไกสำคัญของระบบการสื่อสารที่ท้องถิ่นขาดไม่ได้ เป็นช่องทางที่ทำให้คนท้องถิ่นมีปากมีเสียงและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ายุคใดๆ การทำงานของสื่อท้องถิ่นกลุ่มวิชาชีพรับหน้าที่เป็นสื่อที่ให้ข้อมูลแบบเชิงกว้างหลากหลาย เข้าถึงแหล่งข่าวได้ดีกว่าเพราะด้วยสถานะของความเป็นสื่อวิชาชีพที่เป็นทุนเดิม ขณะที่สื่อท้องถิ่นแบบเจาะจงพื้นที่หน้าใหม่นั้น เล่นบทบาทและทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึก เจาะลึกเฉพาะประเด็นที่ตัวเองสนใจและมีความเชี่ยวชาญ มีวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจและเข้าถึงผู้คนที่หลากหลายโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มคนที่ไม่คุ้นชินและไม่สนใจสื่อท้องถิ่นมาก่อน ซึ่งแน่นอนยิ่งมากยิ่งดี จะได้นำเสนอประเด็นต่าง ๆ ของท้องถิ่นอย่างครอบคลุม ผู้รับสารก็มีทางเลือกในการได้รับและเสพข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพตามที่ตนเองสนใจได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ขณะที่สื่อมวลชนวิชาชีพ แวดวงวิชาการด้านสื่อต่างกังวลว่าเนื้อหาที่เป็นข่าวเชิงลึก หรือข่าวสืบสวนสอบสวนกำลังหายไปจากสื่อมวลชน เพราะสื่อหลักไม่ทำด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรืออ้างว่าคนไม่ชอบอ่านหรือชอบดูบ้าง แต่ในท้องถิ่นสื่อเล็กๆ อย่าง Lanner ที่เพิ่งก่อตั้งมาได้ประมาณสองปีกว่ามีโครงการบ่มเพาะนักข่าวที่ผลิตข่าวเชิงลึกและข่าวสืบสวนสอบสวนอย่างมีความหวัง ซึ่งผลงานก็ได้รับการเผยแพร่ออกมาอย่างน่าสนใจ (ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.lannernews.com/25112567-01/ ) และสื่อเล็ก ๆ ในท้องถิ่นที่ทำงานบนออนไลน์ จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดแคลนสื่อหรือไม่มีสื่อท้องถิ่น (วิชาชีพ)ให้บริการ อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นทั้งแบบเดิมที่อพยพเข้ามาในโลกออนไลน์และแบบหน้าใหม่ยังคงต้องการเสริมศักยภาพทั้งด้านทักษะและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำงาน การเข้าถึงแหล่งทุน ทางเลือกในการสร้างรายได้และสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อท้องถิ่นด้วยกันและสื่อระดับชาติในลักษณะพันธมิตรบนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เท่าเทียมกัน
ส่องกระเป๋าสื่อท้องถิ่น กับ Model การหารายได้
ผู้เขียนมีโอกาสได้ศึกษาการหารายได้ของสื่อท้องถิ่น ซึ่งเป็นข้อคำถามที่คนส่วนใหญ่ที่ผู้เขียนประสบพบเจอมักจะถามไถ่ก็คือจะอยู่รอดได้อย่างไร? หรือ จะหาเงินจากที่ไหน? ในช่วงปี 2560-2565 ผู้เขียนศึกษารูปแบบการหารายได้ของสื่อชุมชน หรือทีวีชุมชน ในสามพื้นที่ ที่เป็นโครงการนำร่องการศึกษาความเป็นไปได้ของโทรทัศน์ของภาคชุมชน ภาคส่วนที่ได้รับการรับรองทางกฎหมายให้มีสิทธิและมีส่วนในคลื่นความถี่ ได้แก่พะเยาทีวี อุบลราชธานี และทีวีชุมชนอันดามัน และศึกษาถึงกรณีศึกษาสื่อท้องถิ่นจากต่างประเทศ ผลการศึกษาพบว่าในต่างประเทศแหล่งที่มารายได้มาจากหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การให้เช่าอุปกรณ์ การรับจ้างผลิตสื่อ การขอทุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ และการบริจาคหรือการสนับสนุนจากท้องถิ่นของพวกเขา โดยหากเป็นสื่อท้องถิ่นที่ใช้คลื่นความถี่ แต่ละประเทศจะมีกฎหมายส่งเสริมให้สื่อท้องถิ่นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนเงินทุนจัดตั้ง หรือผลิตรายการ การกำหนดช่วงเวลาการหารายได้จากโฆษณาเพื่อหารายได้ การออกกฎหมายให้สื่อพี่หรือสื่อหลักในพื้นที่ดูแลเช่น ให้พื้นที่ออกอากาศ หรือรัฐท้องถิ่นบางแห่งยังกำหนดสัดส่วนการใช้งบประมาณขององค์กรของภาครัฐเองและธุรกิจในท้องถิ่นสนับสนุนการซื้อโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์สื่อท้องถิ่น ส่วนของบ้านเราที่อยู่ในช่วงการศึกษาพบว่าสื่อชุมชนจะใช้โมเดลหารายได้แบบผสมผสานหรือพึ่งพาแหล่งรายได้เดียวได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับศักยภาพของสื่อชุมชนนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ที่มาจากชุมชนที่พวกเขาให้บริการนั้นจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นที่สื่อนั้นต้องสร้างความศรัทธา วางใจ และมีส่วนร่วมให้ได้เสียก่อน ถึงจะแปลงคุณค่าเหล่านั้นเป็นมูลค่าได้ (สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.researchgate.net/publication/ 343960654_Thailand’s_Community_TV_Financing_Models_What_They_Mean_in_Practice?_tp=eyJjb250ZXh0Ijp7ImZpcnN0UGFnZSI6InB1YmxpY2F0aW9uIiwicGFnZSI6InB1YmxpY2F0aW9uIn19 ผ่านเข้ามาสู่ปีนี้ ผู้เขียนได้ศึกษาสื่อท้องถิ่นที่มีนิยามกว้างขึ้นดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นเพิ่มเติมทั้งใน 3 พื้นที่ 3 ประเทศ ได้แก่เชียงราย ของไทย เชียงตุง เมียนมา และหลวงพระบาง ของสปป.ลาว พบว่าแหล่งที่มาของรายได้มีความแตกต่างกันรูปแบบองค์กรระหว่างสื่อที่เป็นสื่อวิชาชีพไม่ว่าจะเป็นสื่อของรัฐหรือเอกชน และสื่อของผู้ผลิตเนื้อหาจากชุมชน โดยกลุ่มสื่อท้องถิ่นวิชาชีพในพื้นที่เชียงราย แหล่งที่มาของรายได้จะมาจากวิธีการขายโฆษณา สปอนเซอร์ รวมไปถึงการให้บริการการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ให้กับองค์กรหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อความอยู่รอดและหล่อเลี้ยงการทำงานสื่อ ยังไม่มีรายได้ที่เกิดจากแพลตฟอร์ม ส่วนกลุ่ม hyperlocal media มีรายได้จากการให้บริการผลิตสื่อกับองค์กรในท้องถิ่น การต่อยอดขยายงานสื่อไปสู่ธุรกิจอื่น และที่น่าสนใจคือรายได้จากแหล่งทุนจากภายนอกชุมชนที่ให้กับสนับสนุนการทำกิจกรรมและหรือพัฒนาสื่อท้องถิ่น เช่นเพจเชียงรายสนทนา และเชียงของทีวี เป็นต้น ส่วนหลวงพระบาง สื่อท้องถิ่นวิชาชีพภาครัฐมีแหล่งรายได้จากการโฆษณา สปอนเซอร์ (ไม่นับรวมการอุดหนุนจากรัฐในฐานะเป็นเจ้าของ) ส่วน hyperlocal media มีรายได้หลักมาจากแพลตฟอร์มและการให้บริการผลิตสื่อในท้องถิ่น ต่างจากสื่อในพื้นที่เชียงตุง ที่แม้เป็นพื้นที่ที่ไม่มีสื่อท้องถิ่นวิชาชีพ แต่สื่อท้องถิ่นกลุ่ม hyperlocal media สามารถสร้างรายได้จากหลากหลายแหล่งที่มา โดยมีรายได้จากการโฆษณา สปอนเซอร์ รายได้จากแพลตฟอร์ม และใช้ฐานคนดูของตนเองขยายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้ เช่น เปิดขายของออนไลน์ การรับจ้างเป็น Presenter สินค้าของธุรกิจในท้องถิ่น
จากที่กล่าวมา ผู้เขียนเห็นว่าสื่อท้องถิ่นควรมีแหล่งรายการที่ผสมผสานที่หลากหลายที่มา จะรับประกันความอยู่รอดได้ดีกว่าการพึ่งพาแหล่งทุนเดียวหรือน้อยแหล่ง โดยสื่อท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นสื่อหน้าใหม่ หน้าเดิม ของรัฐ หรือจะของเอกชน โดยอาจเริ่มจากการ ใช้ต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของตนเองที่มี สะสม ขยายผลเพื่อไปสู่ทุนเงินหรือทุนเศรษฐกิจหมุนวนให้เกิดพลังทั้งด้านการทำหน้าที่การเป็นสื่อและการบริหารองค์กรให้อยู่รอดได้ เพราะแหล่งทุนทั้งทุนทางสังคม ทุนวัฒนธรรม และทุนเศรษฐกิจเหล่านี้จะนอกจากจะมีความสัมพันธ์เชิงสัมพันธ์รับและส่งระหว่างกันแล้ว ยังส่งผลต่อการสะสมความน่าเชื่อถือ การมีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักในชุมชนซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญของสื่อท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน
ท่ามกลางความถดถอยของคุณภาพเนื้อหาของสื่อมวลชนทั้งระดับชาติและท้องถิ่น การพะวง และการลองผิดลองถูกกับวิธีการอยู่รอดในการหารายได้และการเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชน สื่อท้องถิ่นหน้าใหม่ หรือ Hyperlocal media ได้เกิดขึ้น บนความคาดหวังว่าจะเป็นความหวัง และผู้มากอบกู้และทำให้วารสารศาสตร์ท้องถิ่นยังคงไปต่อได้ไหม? ผู้เขียนเชื่อในการเป็นความหวัง (เพราะหวังไปแล้ว) สำหรับท้องถิ่นและวารสารศาสตร์ท้องถิ่น แต่จะเป็นสื่อที่มากอบกู้และเป็นทางรอดของสื่อท้องถิ่นได้หรือไม่นั้น ผู้เขียนเห็นว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์พร้อม ๆ ไปการหนุนเสริม สนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งวิชาการ วิชาชีพ และที่สำคัญคือคนในท้องถิ่นต้องให้การสนับสนุน ติดตาม ตรวจสอบด้วยเช่นกัน

ภัทรา บุรารักษ์
แนน ภัทรา นักวิชาการที่มีอดีตเป็นนักข่าว ที่ชอบเล่าเรื่องของคนทำสื่อนอกกรุง และชอบชักชวนคนธรรมดามาทำสื่อ