จาก ศรีเชียงใหม่ ถึง คนเมือง: สื่อหนังสือพิมพ์กับความคิดท้องถิ่นนิยมล้านนายุคแรกเริ่ม

เรื่อง: พริษฐ์ ชิวารักษ์

หากปัจจุบันนี้ สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) มีทรงอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของสังคมอย่างไร สื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ก็เคยทรงอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของสังคมอย่างนั้นในโลกอดีตก่อนการผงาดขึ้นของอินเตอร์เน็ตและการเผยแพร่ภาพและเสียง ในโลกยุคนั้น หนังสือพิมพ์มิได้เป็นเพียงสื่อกลางในการรายงานข่าวสารที่เกิดขึ้นรายวันเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางนำเสนอแนวคิดหรือข้อคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ในสังคม อีกทั้งการเลือกประเด็นข่าวมานำเสนอของนักหนังสือพิมพ์ก็ยังมีส่วนชี้นำความสนใจของคนหมู่มากไปทางใดทางหนึ่งได้ด้วย จึงปรากฏในประวัติศาสตร์โลกหลายครั้งว่าในการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวหรือการปฏิวัติของมวลชนนั้นมักมีนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์เข้ามามีส่วนร่วมด้วยอยู่เสมอในฐานะผู้สื่อสารความคิดแก่มวลชน นอกจากนี้ ในขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเชิงท้องถิ่นนิยมที่เรียกร้องการรักษาอัตลักษณ์รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่คนในท้องถิ่นหนึ่งที่อาจห่างไกลหรือมีชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเมืองหลวงซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจนั้น ก็มักต้องมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบด้วยเช่นกัน

ในกรณีของล้านนา การพิมพ์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2435 เมื่อคณะมิสชันนารีเพรสไบทีเรียนอเมริกันเข้ามาเปิดโรงพิมพ์วังสิงห์คำ (American Presbyterian Mission Press) เป็นโรงพิมพ์แห่งแรกในล้านนา ในระยะแรก การพิมพ์ในล้านนามุ่งเน้นไปที่การผลิตเอกสารและหนังสือเล่มเพื่อใช้ในการเผยแผ่ศาสนาและจัดการศึกษาของคณะมิสชันนารี ยังไม่มีการผลิตหนังสือพิมพ์แต่อย่างใด วัฒนธรรมหนังสือพิมพ์น่าจะค่อย ๆ ทยอยเผยแพร่เข้ามาสู่ล้านนาพร้อมกับการขยายอำนาจรัฐสยามตามการสร้างทางรถไฟสายเหนือ โดยรัฐบาลสยามมีนโยบายให้นำหนังสือพิมพ์ภาษาไทยสยามจากกรุงเทพฯ มาประจำไว้ในห้องอ่านหนังสือสาธารณะที่เชียงใหม่เพื่อให้ชาวเชียงใหม่ได้รู้ ติดตาม และคุ้นเคยกับความเป็นไปในรัฐสยาม กระทั่งในปี 2464 คณะมิสชันนารีจึงเริ่มผลิตหนังสือพิมพ์ภาษาล้านนาชื่อ ศิริกิตติศัพท์ หรือ Lao Christian News ไว้เป็นแจ้งข่าวสารในแวดวงคริสเตียนล้านนา พร้อมทั้งเปิดหัวหนังสือพิมพ์ The Lao News ไว้เป็นหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษควบคู่กัน ถือได้ว่าหนังสือพิมพ์ของมิสชันนารีดังกล่าวเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรก ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นในล้านนา แต่หนังสือพิมพ์ทั้งสองยังคงไม่ได้รับความนิยมในสังคมวงกว้างมากนัก และมีกลุ่มผู้อ่านจำกัดอยู่ในแวดวงคริสเตียนเพียงเท่านั้น

หน้าปกหนังสือพิมพ์ข่าวเสด็จ (ภาพจาก หจช. ร.๗ บ.๑.๔/๑๘)
หนังสือพิมพ์ ข่าวเสด็จ ขอบคุณภาพจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_5192

ต่อมาในปี 2469 กษัตริย์รัชกาลที่ 7 ของสยามพร้อมทั้งพระราชินีรำไพพรรณีได้เดินทางมาเยือนเชียงใหม่ระหว่างการออกตรวจราชการมณฑลพายัพ ชาวคริสเตียนเชียงใหม่กลุ่มหนึ่งนำโดยนายอินทร สิงหเนตต์จึงได้ผลิตหนังสือพิมพ์ ข่าวเสด็จ ไว้เป็นหนังสือพิมพ์เฉพาะกิจสำหรับนำเสนอข่าวการมาเยือนครั้งดังกล่าวของกษัตริย์และราชินีสยาม ในเวลาต่อมา ข่าวเสด็จ ได้พัฒนากลายมาเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในชื่อ ศรีเชียงใหม่ ซึ่งพยายามนำเสนอข่าวสารทั่วไปในเมืองเชียงใหม่ ข่าวราชการ ข่าวต่างประเทศ และความรู้ทั่วไปในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ชาวเมืองเชียงใหม่ได้ส่งข้อเขียนแสดงความคิดเห็นมาตีพิมพ์ด้วย บทบาทดังกล่าวที่ ศรีเชียงใหม่ พยายามวางตัวเป็นบทบาทของหนังสือพิมพ์ในฐานะสื่อมวลชนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกรุงเทพฯ (และเป็นเหตุแห่งการขยายตัวของความคิดใหม่ ๆ ในกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา) การเปิดหนังสือพิมพ์หัวดังกล่าวในเชียงใหม่จึงอาจมองว่าเป็นทั้งพัฒนาการทางการพิมพ์ภายในล้านนาและเป็นการรับอิทธิพลของกิจการสื่อสารมวลชนจากกรุงเทพฯ ได้ทั้งสองนัย ในฐานะสื่อมวลชนผู้ ศรีเชียงใหม่ ได้แสดงบทบาทชี้นำความคิดให้กับสังคมในสองด้านด้วยกัน ด้านแรก ศรีเชียงใหม่ แสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์และรัฐสยามเป็นอย่างยิ่ง ดังที่หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทุกฉบับอุทิศให้กับบทอาศิรวาทแด่กษัตริย์สยาม ศรีเชียงใหม่ ยังสนับสนุนความคิดเหยียดเชื้อชาติคนจีนที่กำลังเป็นกระแสนิยมในกรุงเทพฯ จึงนับได้ว่าเป็นสื่อกลางนำความคิดดังกล่าวจากกรุงเทพฯ มาเผยแพร่ในล้านนาด้วย นอกจากนี้ กองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ยังปฏิเสธไม่พิมพ์ข้อเขียนของสตรีชาวเชียงใหม่คนหนึ่งที่เขียนแสดงความไม่พอใจและวิจารณ์พฤติกรรมของสตรีชาวกรุงเทพด้วยเหตุผลว่าจะเป็นการเพิ่มความแบ่งแยกระหว่าง “ชาวไทยด้วยกัน” จนเนื้ออ่อน ขรัวทองเขียวเห็นว่านี่คือความสำเร็จของรัฐสยามในการกลืนชาวล้านนาให้เป็นส่วนหนึ่งของชาติไทยสมัยใหม่ที่มีสยามเป็นแกนกลาง แต่ในอีกบทบาทหนึ่ง ศรีเชียงใหม่ ก็เป็นพื้นที่บ่มเพาะความคิดท้องถิ่นนิยมล้านนาผ่านการนำข้อเขียนที่มีผู้ชื่นชมเมืองเชียงใหม่มาตีพิมพ์เผยแพร่และรณรงค์ให้ชาวเชียงใหม่ร่วมใจกันพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้มีความเจริญรุ่งเรืองโดดเด่นในระดับประเทศและในระดับโลก และที่สำคัญ ศรีเชียงใหม่ ยังได้ตีพิมพ์ทัศนะวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาบ้านเมืองและสังคมต่าง ๆ ที่มีผู้ส่งมาให้ตีพิมพ์มากมาย ตั้งแต่ปัญหาเรื่องความเจ้าชู้กะล่อนของบุรุษชาวกรุงเทพฯ ที่มาเกี้ยวพาราสีสตรีเชียงใหม่ ปัญหาการพนัน ปัญหาระบบสาธารณสุขไม่ทั่วถึง ไปจนถึงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของข้าราชการตำรวจและพลเรือนในเมืองเชียงใหม่ เหลี่ยมคมของข้อเขียนวิพากษ์ดังนี้เองเป็นเหตุให้ ศรีเชียงใหม่ ต้องปิดตัวลงหลังจากเริ่มดำเนินการมาเพียง 2 เดือนเท่านั้น ด้วยเหตุที่เกรงว่าการวิพากษ์วิจารณ์ทำนองนี้จะนำอันตรายมาสู่ผู้จัดทำหนังสือพิมพ์และผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง

หน้าปกหนังสือพิมพ์ศรีเชียงใหม่ ฉบับแรก (ภาพจากหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยพายัพ)
หนังสือพิมพ์ ศรีเชียงใหม่ ขอบคุณภาพจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_5192

หลังการปฏิวัติสยามปี พ.ศ.2475 ล้านนาเริ่มก่อรูปเป็น “ภาคเหนือ” ของประเทศไทยโดยตั้งมั่นและสมบูรณ์ การเดินทางและติดต่อสื่อสารระหว่างล้านนา/ภาคเหนือกับสยาม/ภาคกลางเริ่มสะดวกสบายขึ้น และสังคมเศรษฐกิจของล้านนา/ภาคเหนือก็เกิดการขยายตัวจากการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนการเมืองจากกรุงเทพฯ พร้อมกับที่สายสัมพันธ์ทางการเมืองและธุรกิจระหว่างชนชั้นนำจนถึงชนชั้นกลางของทั้งสองภูมิภาคเริ่มแน่นแฟ้นขึ้น สถานการณ์เช่นนี้เอื้ออำนวยให้คนล้านนาสามารถเดินทางมายังกรุงเทพฯ ได้มากขึ้น รวมถึงลูกหลานชนชั้นกลางล้านนาที่เข้ามารับการศึกษาในโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพฯ การเข้ามาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ เป็นโอกาสที่ทำให้นักเรียนล้านนาเหล่านี้ได้ “เปิดหูเปิดตา” สัมผัสกับความเจริญของเมืองหลวงที่ (เหลื่อม) ล้ำหน้าบ้านเกิดของตนในล้านนามาก และได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ ๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจในหมู่ปัญญาชนไทย ณ ขณะนั้น เช่น แนวคิดประชาธิปไตย แนวคิดชาตินิยม และแนวคิดก้าวหน้า จึงเป็นผลให้นักเรียนล้านนาในกรุงเทพฯ เหล่านี้ได้เริ่มเกิดความคิดที่จะพัฒนาล้านนาให้มีความเจริญทัดเทียมเมืองหลวง พร้อมทั้งต้องการศึกษาและสืบทอดอัตลักษณ์ล้านนาของตนตามหลักวิชาที่ได้ร่ำเรียนมา มิให้สูญสลายกลายกลืนไปกับอัตลักษณ์ไทยอันมีสยามเป็นแกนกลางทั้งหมด เมื่อนักเรียนเหล่านี้ทยอยจบการศึกษาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว หลายคนเลือกประกอบเป็นนักหนังสือพิมพ์และมีบทบาทในการก่อรูปความคิดท้องถิ่นนิยมสมัยใหม่ในระยะแรกเริ่ม

นิตยสารโยนก ขอบคุณรูปจากเพจ คนรักหนังสือ

การย้ายถิ่นฐานของชาวล้านนาและการตื่นตัวในหมู่ “คนล้านนารุ่นใหม่” นำมาสู่การก่อตั้งสมาคมชาวเหนือ (The Northerner’s Association) ในช่วงปลายปี พ.ศ.2489 เพื่อเป็นพื้นที่พบปะรวมตัวกันของกลุ่มชาวล้านนา/ชาวเหนือที่อยู่ในกรุงเทพฯ ในปีถัดมา สมาคมชาวเหนือได้จัดทำนิตยสาร โยนก ขึ้นเป็นนิตยสารของสมาคม โดยนัยก็คือเป็นปากเป็นเสียงของชาวล้านนาในกรุงเทพฯ เนื้อหาที่นิตยสาร โยนก นำเสนอมีทั้งข่าวสาร ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับล้านนา และข้อคิดเห็นต่อประเด็นสังคมต่าง ๆ คล้ายกับที่ ศรีเชียงใหม่ เคยพยายามทำ แต่เน้นหนักไปที่ล้านนาในฐานะ “ภาคเหนือ” ทั้งภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ คณะทำงานของนิตยสารรวมถึงผู้ส่งข้อเขียนมาเผยแพร่ยังประกอบด้วยกลุ่มคนล้านนารุ่นใหม่หลายคน เช่น แสน ธรรมยศ หรือ ส. ธรรมยศ ซึ่งเป็นบรรณาธิการคนแรกของนิตยสาร ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ สงัด บรรจงศิลป์ และบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ทั้งการก่อตั้งสมาคมชาวเหนือและนิตยสาร โยนก เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งที่ปลุกสำนึกรู้ความเป็น “คนเหนือ” ให้เกิดขึ้นในหมู่คนล้านนาทั่ว ประเทศ และยังเป็นพื้นที่ให้คนล้านนารุ่นใหม่ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายก่อนที่ต่างคนต่างจะมีส่วนผลักดันความคิดท้องถิ่นนิยมล้านนาไปตามบทบาทหน้าที่ของตน

ชีวิตของราชสีห์แห่งการเขียน 'ส. ธรรมยศ' ที่เคยซาบซึ้งสะอื้นลึกให้ พลโท ส.  ธนะรัชต์ | ANOTHER SIGHT
แสน ธรรมยศ ขอบคุณรูปจาก https://cont-reading.com/context/life-of-s/

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การก่อกำเนิดกลุ่มทุนท้องถิ่น และการหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มทุนการเมืองจากกรุงเทพฯ ที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่หลังการปฏิวัติสยามส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมของล้านนาเจริญเติบโตขึ้นมากจนสามารถผลักดันตลาดนักเขียนนักอ่านในล้านนาให้เติบโตขึ้นตามไปด้วย ทศวรรษ 2490 จึงถือเป็นยุคเฟื่องฟูครั้งแรกของสื่อสิ่งพิมพ์ในล้านนา ระหว่างทศวรรษดังกล่าวมีหนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อยก่อตั้งขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ ของล้านนา เช่น ชาวเหนือ (ก่อตั้งขึ้นที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2490) สารสยาม (ก่อตั้งขึ้นที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2491)  ไทยลานนา (ก่อตั้งขึ้นที่ลำปางในปี พ.ศ. 2493) คนเมือง (ก่อตั้งขึ้นที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2496) และ เอกราช (ก่อตั้งขึ้นที่ลำปางในปี พ.ศ. 2500) หนังสือพิมพ์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับสื่อสารและแสดงความคิดเห็นทั้งในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค และมีบทบาทในการ “เล่นประเด็น” ที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์และผลประโยชน์ท้องถิ่น นอกเหนือจากการนำเสนอข่าวสารทั่วไปในท้องถิ่น บทบาทนี้เป็นส่วนหนุนเสริมสำคัญยิ่งที่ช่วยให้ความคิดท้องถิ่นนิยมล้านนาได้ก่อรูปและแผ่ขยายในหมู่สาธารณชนล้านนา ในหมู่หนังสือพิมพ์ทั้งหมดที่ก่อตั้งในช่วงนี้ หนังสือพิมพ์ที่ผลงานเกี่ยวข้องกับความคิดท้องถิ่นนิยมล้านนาจนเป็นที่จดจำมากที่สุดเห็นจะไม่พ้น คนเมือง ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการเรียกร้องให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยประจำภาคเหนือหรือ “มหาวิทยาลัยแห่งลานนาไทย” ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปัจจุบัน

วารสาร คนเมือง รายเดือน ขอบคุณภาพจาก https://www.chiangmainews.co.th/topstories/2861077/  

หนังสือพิมพ์ คนเมือง ก่อตั้งขึ้นภายใต้คำขวัญ “หนังสือพิมพ์ของหมู่เฮา” โดยกลุ่มนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าซึ่งส่วนหนึ่งได้เคยรู้จักกันมาก่อนบ้างแล้วตั้งแต่สมัยทำนิตยสาร โยนก มีสงัด บรรจงศิลป์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ชาวเหนือ เป็นตัวตั้งตัวตีและเป็นบรรณาธิการคนแรก และมีไกรศรี นิมมานเหมินทร์ พร้อมทั้งกลุ่มทุนตระกูลนิมมานเหมินทร์ – ชุติมาเป็นผู้สนับสนุนรายสำคัญ หนังสือพิมพ์ คนเมือง ออกวางแผงจำหน่ายในเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2496 ในระยะแรก คนเมือง ตีพิมพ์วางแผงเป็นรายสะดวก แต่ต่อมาได้รับการตอบรับดีจากผู้อ่านจึงได้เพิ่มการตีพิมพ์วางแผงเป็นรายวัน โดยถือเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของเชียงใหม่และล้านนา นอกจากนี้ คนเมือง ยังได้ออกวารสารฉบับพิเศษในในทุกเดือนเมษายนของทุกปี เรียกว่า “ฉบับดำหัว” ซึ่งต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2497 ก็ได้พัฒนามาเป็นวารสารรายเดือนแยกจากหนังสือพิมพ์รายวัน และถือเป็นวารสารรายเดือนฉบับแรกของเชียงใหม่และล้านนาด้วยเช่นกัน เนื้อหาที่หนังสือพิมพ์มุ่งเสนอเน้นหนักไปที่ประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดขึ้นหรือส่งผลกระทบต่อล้านนา นอกจากนี้ คนเมือง ยังสื่อสารความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ผ่าน “บทนำ” หรือบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ พร้อมทั้งยังเปิดคอลัมน์ชื่อ “ออกข่วง” (คำเมืองแปลว่าชวนกันสนทนา) ไว้เป็นพื้นที่เผยแพร่ความคิดเห็นต่อเรื่องต่าง ๆ ที่ได้มีผู้ส่งมา พื้นที่ของบทนำและคอลัมน์ออกข่วงนี้เองที่จะเป็นช่องทางสื่อสารสำหรับการรณรงค์เรียกร้องมหาวิทยาลัยภาคเหนือในเวลาต่อมา

สิ้นแล้ว!! อดีต บก.หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับแรกของจังหวัดเชียงใหม่ –  ข่าวมุมเหนือ
หนังสือพิมพ์ คนเมือง รายวัน ขอบคุณภาพจาก https://www.cmthainews.com/archives/19698

อันที่จริง การส่งเสียงเรียกร้องมหาวิทยาลัยภาคเหนือผ่านหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อสงัด บรรจงศิลป์ยังเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ชาวเหนือ แล้ว เมื่อทองดี อิสราชีวิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรื่องการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ หนังสือพิมพ์ ชาวเหนือ ภายใต้การบริหารของสงัดก็ได้รายงานข่าวการอภิปรายของทองดีและเชิญชวนให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว แต่ยังไม่มีความคืบหน้มากนัก ต่อมาเมื่อสงัดย้ายมาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คนเมือง แล้วก็พยายามขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวอีกครั้งผ่านพื้นที่ของหนังสือพิมพ์ที่ตนบริหารอยู่ โดยได้เริ่มนำเสนอประเด็นในหนังสือพิมพ์ คนเมือง ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2496 หรือประมาณเดือนเศษหลังการก่อตั้งหนังสือพิมพ์เพียงเท่านั้น ต่อมาระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน – 24 กรกฎาคมในปีเดียวกัน หนังสือพิมพ์ คนเมือง ก็หยิบยกประเด็นมหาวิทยาลัยภาคเหนือมาสื่อสารในบทนำของหนังสือพิมพ์เป็นเวลาถึงแปดสัปดาห์ติดต่อกัน และยังเปิดหัวข้ออภิปราย “ควรตั้งมหาวิทยาลัยภาคเหนือหรือไม่ ?” ในคอลัมน์ออกข่วงเพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ซึ่งความคิดเห็นส่วนมากก็เป็นไปในแนวทางสนับสนุนการก่อตั้งมหาวิทยาลัยภาคเหนือ เพราะ “เป็นการเผยแพร่ศีลธรรม วัฒนธรรม และจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นลานนาไทย” และ “เชียงใหม่เป็นนครที่ใหญ่กว้างขวาง ภูมิประเทศเหมาะแก่การจะเป็นเมืองมหาวิทยาลัยมาก ทั้งอากาศก็สบาย การคมนาคม การสาธารณูปโภคก็สะดวกสมบูรณ์”

นอกเหนือจากที่นำเสนอข่าวและเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นแล้ว หนังสือพิมพ์ คนเมือง ยังพยายามรณรงค์เคลื่อนไหวในสังคมด้วยการผลิตป้ายวงกลมสีแดงขนาด 4 นิ้วที่มีข้อความว่า “ในภาคเหนือ เราต้องการมหาวิทยาลัย” แจกจ่ายให้ผู้คนนำไปติดไว้ตามบ้านเรือน ร้านค้า กระทั่งเกวียนและกระจกรถ จนปรากฏเต็มไปทั่วทั้งตัวเมืองเชียงใหม่ และยังจัดทำแสตมป์สีแดงขนาดเล็ก ๆ ที่มีข้อความว่า “เราต้องการมหาวิทยาลัยประจำลานนาไทย” ไว้แจกให้ประชาชนนำไปติดรณรงค์บนซองจดหมายควบคู่กับแสตมป์ของจริงด้วย ถัดจากนั้น ยังจัดพิมพ์เอกสารคำปฏิญาณต่อสู้เพื่อให้ได้มหาวิทยาลัยภาคเหนือหรือที่รู้จักกันว่าใบปลิว “ห่วงมหาวิทยาลัย” แจกจ่ายให้ประชาชนได้ร่วมกันลงชื่อ นอกจากนี้ ทางหนังสือพิมพ์ยังจัดทำแผ่นสไลด์กระจกสีเขียนข้อความว่า “ขอสู้จนสุดใจขาดดิ้น เพื่อมหาวิทยาลัยแห่งลานนาไทย” และ “เราต้องการมหาวิทยาลัยประจำลานนาไทย” นำไปให้โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่เปิดฉาย กระตุ้นให้กระแสเรียกร้องมหาวิทยาลัยภาคเหนือและความคิดท้องถิ่นนิยมล้านนาขยายตัวขึ้นเป็นอย่างมากในหมู่ชาวเชียงใหม่และชาวล้านนาในจังหวัดอื่น ๆ 

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ดังกล่าวทำให้หนังสือพิมพ์ คนเมือง ต้องเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกับทางการอยู่บ้าง หลังจากที่ข่าวการรณรงค์เป็นที่รับรู้ของรัฐบาลแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็มีหนังสือส่งมาถึงผู้ว่าราชการเชียงใหม่ให้ดำเนินคดีกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คนเมือง จากกรณีจัดพิมพ์แผ่นพับใบปลิวรณรงค์เรียกร้องมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แจกจ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต สงัดจึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวไปสอบปากคำและถูกลงโทษปรับในข้อหากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 เป็นจำนวนเงิน 50 บาท กล่าวกันว่าเดิมทีมีผู้เสนอให้ดำเนินคดีสงัดในข้อหายุยงปลุกปั่นให้ประชาชนในภาคเหนือกระด้างกระเดื่องและลุกฮือขึ้นแบ่งแยกดินแดนล้านนาเป็นอิสระตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่หลายฝ่ายเห็นว่าข้อหาดังกล่าวรุนแรงเกินข้อเท็จจริงเกินไป จึงไม่ได้มีการดำเนินการถึงขั้นนั้น

แม้ว่าการรณรงค์เรียกร้องมหาวิทยาลัยภาคเหนือของหนังสือพิมพ์ คนเมือง จะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการตั้งมหาวิทยาลัยในภาคเหนือขึ้นโดยทันที แต่ก็ทำให้รัฐบาลกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงความต้องการมหาวิทยาลัยของคนล้านนา เมื่อรัฐบาลได้หยิบยกประเด็นการก่อตั้งมหาวิทยาลัยประจำภูมิภาคขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งในปี พ.ศ.2502 จึงได้เลือกก่อตั้งมหาวิทยาลัยในภาคเหนือที่เชียงใหม่ขึ้นเป็นแห่งแรก เนื่องจากเห็นว่า “เป็นความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง” การก่อสร้างมหาวิทยาลัยเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2505 และเปิดดำเนินการเรียนการสอนในปี พ.ศ.2507 โดยใช้ชื่อ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ดังเป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าการเรียกร้องมหาวิทยาลัยภาคเหนือของหนังสือพิมพ์ คนเมือง ดังกล่าวไม่เพียงเป็นการดึงความเจริญด้านการศึกษาเข้ามาสู่ล้านนาเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงพลังท้องถิ่นนิยมล้านนาครั้งแรก ๆ ภายใต้รัฐไทยระบอบใหม่ อันจะเกิดการแสดงพลังทำนองนี้ขึ้นอีกหลายครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ช่วงร่วมสมัยมาจนปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อผู้เขียนได้รับการติดต่อจากทางสำนักข่าว Lanner ให้ร่วมส่งข้อเขียนมาเผยแพร่เป็นคอลัมน์กับทางสำนักข่าว ผู้เขียนเห็นว่า Lanner นั้นก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็น “หนังสือพิมพ์ของหมู่เฮา” และมุ่งหมายจะสืบสานอุดมการณ์ท้องถิ่นนิยมล้านนาในแนวทางประชาธิปไตยเช่นเดียวกับที่หนังสือพิมพ์ คนเมือง ได้เคยทำมาก่อน ผู้เขียนจึงเลือกตั้งชื่อคอลัมน์ว่า “ออกข่วงคนเมือง” เพื่อรำลึกถึงคอลัมน์ “ออกข่วง” และหนังสือพิมพ์ คนเมือง ที่เคยมีบทบาทรณรงค์เรียกร้องมหาวิทยาลัยภาคเหนือมาก่อนหน้านี้ ผู้เขียนหวังว่าข้อเขียนในคอลัมน์นี้และการเคลื่อนไหวของ Lanner จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบต่อจิตวิญญาณของ คนเมือง ให้คงอยู่อย่างมีชีวิตชีวาในโลกศตวรรษที่ 21 เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยของพี่น้องคนเมืองทั่วล้านนาได้ต่อไป

บรรณานุกรม

  • ภิญญพันธุ์ พจนลาวัณย์, “ประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเชียงใหม่และลำปาง” ใน วารสารสถาบันพระปกเกล้า. 13, 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2558): 62-88
  • สมโชติ อ๋องสกุล, จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประวัติศาสตร์ยุคเรียกร้องมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ และประวัติบุคคลผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (เชียงใหม่: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2565)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง