เรื่อง: สมหมาย ควายธนู

ในมุมมองของนักสะสม นักศึกษาค้นคว้าเรื่องของเก่าๆ ทั้งไทยและนานาชาติ ‘เครื่องสังคโลก’ และเครื่องถ้วยในภาคเหนือของประเทศไทย ดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักอยู่ถ้วนทั่วทุกหัวระแหง ในฐานะเครื่องปั้นดินเผาที่มีลักษณะอันโดดเด่น ด้วยเหตุผลว่าเป็นของมีค่า สะท้อนฐานะและความเฉพาะตัวของผู้ครอบครอง แถมยังบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แผ่ขยายอยู่ตามตู้จัดแสดงไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ของทางราชการ ห้างร้านเอกชน ท้องถิ่น วัด ฯลฯ รวมไปถึงมีศิลปิน นักออกแบบนำเอาแรงบันดาลใจไปใช้ดีไซน์สิ่งใหม่ๆ อยู่เหมือนกัน
หากลองพลิกมุมดูหน่อย เจ้าเครื่องเคลือบเซลาดอน หรือแม้แต่เศษชิ้นส่วนเล็กๆ ที่เชื่อว่าจะสามารถบอกความเก่าแก่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งได้นั้น อาจจะเป็นผลผลิตของความคิดทางสังคมของชนชั้นนำในช่วงเวลาหนึ่ง ที่มีนัยต่อความทรงจำทางสายตาของใครหลายๆ คนก็ได้
สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้จึงเป็นเรื่องของคนเล่นเครื่องถ้วย พ่วงด้วยตำแหน่งอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย อย่างพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) ทั้งเหตุผลในการค้นคว้าเรื่องเครื่องถ้วยสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และเวียงกาหลง รวมถึงอำนาจในการจัดการพื้นที่แหล่งผลิตเครื่องถ้วยในยุคแรกเริ่ม

พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี, 2427 – 2480)
ชื่อของนายสวัสดิ์ มหากายี ถูกพูดถึงมากที่สุดคงเป็นเรื่องการออกแบบสุขภัณฑ์ในยุคที่รัฐสยามกำลังเปลี่ยนแปลงระบบสุขาภิบาลและสนับสนุนการปลดปล่อยสิ่งที่บริโภคอย่างถูกสุขอนามัย
แต่ประวัติคร่าวๆ นั้นในหนังสือ ‘เครื่องถ้วยไทย’ หรือ TAI POTTERY ซึ่งตีพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพของเขาเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2481 ถูกเขียนขึ้นโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีใจความว่า สวัสดิ์ เกิดที่กรุงเทพ ราว พ.ศ. 2427 มีบิดาเป็นขุนนางมีบรรดาศักดิ์ชั้นหลวง เคยผ่านการเรียนหนังสือจากโรงเรียนวัดมหรรณพาราม จนล่วงเข้าสู่ พ.ศ. 2443 ก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กที่จัดตั้งโดยรัชกาลที่ 5 ซึ่งให้ความสำคัญกับวิชาภูมิศาสตร์ การทำแผนที่ และวิชาพงศาวดาร ฯลฯ ก่อนจะแยกไปแผนกต่างๆ (อันจะพัฒนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน)
หลังจากสวัสดิ์จบการศึกษาก็ได้ฝึกหัดเป็นมหาดเล็กตรวจราชการมณฑล และขยับตำแหน่งเติบโตขึ้นในหัวเมืองของกระทรวงมหาดไทย เช่น พิษณุโลก สวรรคโลก ลพบุรี ฯลฯ มีบ้างเหมือนกันที่เข้ามาอยู่ในส่วนกลาง จนถึงจุดสูงสุดที่ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ในราว พ.ศ. 2472 – 2476 โดยได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าราชการฝีมือดีและสามารถถ่วงดุลอำนาจของข้าราชการในท้องถิ่นกับข้าราชการรุ่นใหม่ที่มาจากส่วนกลางได้อย่างลงตัว ก่อนจะมีการยกเลิกและเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ. 2476
พื้นที่เตาทุเรียงใต้อำนาจมหาดไทย

ในช่วงเวลาก่อนหน้าการตั้งกรมศิลปากรขึ้น กระทรวงมหาดไทยมีภารกิจในการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุและค้นหาสถานที่สำคัญในเมืองต่างๆ พร้อมกับสอดส่องดูแล รักษา พื้นที่เมือง ป้อมค่าย ไปจนถึงปราสาทราชวังวัดเหล่านั้น เพื่อส่งต่อให้ราชบัณฑิตยสภาทำบัญชีขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดจุดลงบนแผนที่ ซึ่งช่วงเวลาเมื่อสวัสดิ์รับราชการในกระทรวงมหาดไทย ประวัติศาสตร์แม่บทของชาติที่ให้ความสำคัญกับกรุงสุโขทัยและปลูกฝังความทรงจำต่ออดีตที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ได้ก่อตัวขึ้นมาแล้ว
ในพื้นที่ของมณฑลพิษณุโลก จากกรณี นายเส็ง พานิชกิจ ที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ เปิดร้านค้าของเก่า เนื่องจากของเก่าของร้านนายเส็งนั้นเหลือเพียงเล็กน้อย ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นเครื่องถ้วยสังคโลก ตามหาซื้อจากชาวบ้านก็ไม่ได้ จึงขออนุญาตขุดค้นเตาทุเรียง จำนวน 2 หลุมโดยขนาดกว้างหลุมละ 5 x 5 วา ซึ่งพระยาสุนทรพิพิธ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก รักษาการสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกให้อนุญาตขุดค้นได้ แต่หนังสือก็ถูกส่งมาที่ราชบัณฑิตยสภา
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นนายกราชบัณฑิตยสภาในช่วงราว พ.ศ. 2475 ได้เขียนหนังสือราชการบอกพระยานครพระราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกว่าไม่ควรอนุญาตให้ขุดเพื่อว่าในอนาคตจะมีคนเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และราชบัณฑิตยสภายังไม่มีโอกาสสำรวจขึ้นทะเบียนในพื้นที่สยามได้ทั่วถึงว่าพื้นที่ไหนบ้างควรสงวนไว้สำหรับโลก
สำหรับคำตอบของสวัสดิ์ต่อนายกสภาราชบัณฑิตยสภาได้เล่าถึงสภาพพื้นที่ของแหล่งเตาเผาเก่า ทั้งในเขตสุโขทัยและสวรรคโลก มีอาณาเขตกว้างกว่าแห่งละ 200 ไร่ โดยมีชาวบ้านได้ใช้งานเป็นที่ทำกินไปแล้ว จึงเสนอให้ราชบัณฑิตยสภาสำรวจและกันเป็นเขตหวงห้ามในส่วนที่สำคัญ และบางส่วนก็ปล่อยให้ชาวบ้านได้ใช้ทำกิน “ด้วยเวลานี้ทางเตาสุโขทัยราษฎรเข้าปกครองทำไร่เสียมากกว่าครึ่งแล้ว หากแต่ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้สะสมเครื่องถ้วย เพื่อทราบความจริงตามประวัติกาล จึงไม่กล้าออกความเห็นมาแต่เบื้องต้น จะเป็นว่าเพื่อประโยชน์อยากได้” [อ้างและสรุปความจากเอกสารในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (4) ศธ 2.1.1.316 ขออนุญาตขุดหาของเก่าที่จังหวัดสวรรคโลก (8 – 26 ส.ค. 2475)]

วัฒนธรรมการสะสมและการบริโภคสินค้าแบบตะวันตก
ขณะเดียวกันภายหลังออกจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก สวัสดิ์ได้แสดงความสนใจค้นคว้าและสะสมเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาต่างๆ จนสามารถบันทึกค้นคว้าเรื่อง ’เครื่องถ้วยไทย’ เอกสารประกอบนิทรรศการจัดแสดงเครื่องถ้วยและการบรรยายที่บ้านของเขาได้ในราว พ.ศ. 2477 ตามคำชักชวนของสยามสมาคมฯ (The Siam Society) ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนของข้อมูลข่าวสารความรู้ที่นิยมในหมู่ชนชั้นนำสยาม และชาวต่างชาติ ซึ่งค้นคว้าเรื่องราวของสยามและพื้นที่ใกล้เคียงในขณะนั้น
อย่างไรก็ตามในการพิจารณาการสะสมสิ่งของของชนชั้นนำสยาม ในงาน ปฏิวัติการบริโภค: จากสิ่งของฟุ่มเฟือยมาสู่สิ่งจำเป็น ของธเนศ วงศ์ยานนาวา ชวนให้เข้าใจถึงสำนึกต่อเวลายามว่างของผู้ดีในอังกฤษ ที่มักนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจในห้างร้านค้าปลึก ซึ่งมีการจัดแสดงสิ่งของให้ดูดีผ่านตู้กระจกใส ทำให้ผู้คนสามารถสังเกตลักษณะอันโดดเด่นของสินค้าประเภทต่างๆ และความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศการค้าขายในเมืองนั้นได้
รวมถึงวิธีการจัดแสดงสินค้าดังกล่าว ทำให้ผู้ชายได้เปลี่ยนแปลงจากการซื้อสินค้าเพียวๆ มาเป็นการสะสมสิ่งของที่ดูจะไม่ค่อยมีประโยชน์ในการใช้สอยเท่าไรนัก เน้นเล่นสนุกเพลิดเพลิน และแสวงหาความรู้เพื่อการค้นพบใหม่ๆ เป็นบางครั้ง โดยต่อมาการสะสมก็ได้พัฒนาความสำคัญกับการมองเห็นและการรับรู้ผ่านรูปลักษณะ เรื่องเล่าที่มา การพิสูจน์หาความเก่าแท้ และการจัดประเภทชั้นอายุสมัยเกี่ยวกับสิ่งของ ซึ่งมีส่วนสำคัญผ่านตลาดประมูลสินค้า
นี่จึงเป็นต้นตอหนึ่งของความรู้สึกอยากมีและสะสมสิ่งของไม่ว่าจะเป็นเครื่องถ้วย พระเครื่อง หนังสือ ข้าวของเครื่องใช้ของผู้คนที่แตกต่างทางวัฒนธรรม หรือแม้แต่สินค้าต่างๆ หากกลับไปดูสังคมของชนชั้นนำสยามพวกเขาก็ได้พยายามปรับเปลี่ยนรสนิยมผ่านการบริโภคสินค้าต่างๆ ในระบบอุตสาหกรรมการผลิตในตลาดสินค้าของโลก และการจัดงานแสดงหรือการประชันของสะสมระหว่างราชวงศ์กับขุนนางในเชิงเปรียบเทียบสิ่งของต่างๆ จากเอเชียและยุโรปอยู่เช่นกัน

เครื่องถ้วยของพระยานครพระราม
กลับมาที่ความรู้สึกของสวัสดิ์กับความภาคภูมิใจในการสะสม เขาได้เล่าไว้ใน ‘เครื่องถ้วยไทย’ ว่า “… ข้าพเจ้าเป็นคนไทยที่จะนำพาแขกไปดูก็ควรรู้จักเมืองไทยและภาชนะที่ไทยใช้ นับเวลาตั้งแต่ต้นถึงบัดนี้ได้ 6 ปี มีสัมภารกอยู่ในบ้านกว่า 1500 ชิ้น แถมเศษแตกมากกว่า 20 คนหาบ ใครเห็นบ้านเข้าก็ร้องว่าเหมือนร้านขายของ ที่ว่าเก็บของแตกเหมือนร้านโปเกก็มี [โปโก (poke) ในที่นี้น่าจะหมายถึงร้านขายของเก่า – สมหมาย] …”
โดยเหตุการณ์ก่อนการค้นหาเศษภาชนะจำนวนดังกล่าวถึง 6 ปี สวัสดิ์ได้เล่าความคับอกคับใจ ขณะพาชาวต่างชาติไปชมเตาเผาเครื่องถ้วยอย่าง Mr.Reginald Le May นักการทูตชาวอังกฤษ ซึ่งภายหลังมีร่องรอยการสะสมชิ้นส่วนเครื่องถ้วย พระพุทธรูป และเงินตราต่างๆ เป็นคอลเลกชันของบริติช มิวเซียมกว่า 295 ชิ้น ส่วนอีกคนนั่นก็คือ Mr.Bourke Burrowes ที่ปรึกษากรมป่าไม้ของสยาม แต่มีบิดาทำธุรกิจค้าขายเครื่องลายครามและของเก่าอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดังนี้
“… เมื่อไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสวรรคโลก จึงมีหน้าที่เป็นเจ้าของบ้านพาพวกทูต, กงสุล และ นักโบราณคดีไปยังเตาโบราณที่ทำเครื่องถ้วย และมีความเข้าใจในครั้งนั้นตามเขาว่าๆ พ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปเมืองจีนแล้วพาช่างจีนเข้ามาทำเป็นครั้งแรก แต่ก็ขัดกับความเห็นของนักโบราณคดีและผู้ที่สนใจบางคน ซึ่งมีความเห็นว่า ไม่เหมือนของจีนไม่ใช่ช่างจีนเข้ามาทำ จึงเป็นเครื่องหนักอกแก่ชาวไทยผู้เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งไม่ทราบความจริงเพราะต้องเป็นเพียงลูกขุนพลอยพยักไปกับเขา ถ้าไม่คิดก็ไม่เห็น … ในเมื่อเราเป็นเจ้าของบ้านแต่ไม่รู้ว่า บรรพบุรุษของเราทำอะไรใช้อะไรในบ้านเมืองเรา ส่วนคนต่างประเทศต่างถิ่นกลับรู้ดีเสียยิ่งกว่า … ”
ทำให้สวัสดิ์ค้นคว้าเรื่องเครื่องถ้วยผ่านการซื้อจากผู้พบในท้องทุ่งที่ราบใกล้เมืองเก่าร้าง เพื่อพิสูจน์จากเนื้อดิน ลวดลาย น้ำเคลือบ และกรรมวิธีในการผลิต เพื่อไล่เรียงลำดับอายุสมัยของเครื่องถ้วยในบางแห่ง รวมถึงค้นคว้าเรื่องราวของเมืองเชลียง เมืองเชียงแสน แหล่งเตาสวรรคโลก สุโขทัย และลงมืออกตามหาและขุดค้นเองดังเช่นในกรณีเวียงกาหลง ในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

โดยสวัสดิ์เชื่อว่าเศษเครื่องถ้วยที่พบในเมืองทุ่งยั้ง อุตรดิตถ์ ไม่ได้ผลิตขึ้นจากเตาสวรรคโลก(ศรีสัชนาลัย) หรือสุโขทัย จึงคิดว่าต้องมีแหล่งเตาผลิตที่อื่นๆ “ตามทางสันนิษฐานวัตถุประกอบพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์ ชาติไทยร่นหนีจีนมาแต่ทางเหนือ เมืองที่คิดว่าจะเก่าก็คือในเขตต์เชียงรายบัดนี้ จึงเขียนจดหมายขอเศษกระเบื้องโดยวิธีขุดไปยังเพื่อนที่เมืองนั้น” เพื่อนจากเชียงรายของสวัสดิ์ก็ได้ส่งจดหมายตอบกลับพร้อมถ้วยใส่เกลือและตะเกียงแตกที่เจอบนผืนดินจากการปรับพื้นที่สนามบินที่มาให้ เมื่อเห็นแน่ชัด สวัสดิ์จึงออกประกาศให้คนตามหาเตาในเชียงราย โดยให้รางวัลเป็นเงิน 30 บาท และได้พบเจอเตากาหลงในที่สุด
บทส่งท้าย
เรื่องราวของเครื่องถ้วยและช่วงชีวิตของพระยานครพระราม หรือ สวัสดิ์ มหากายี ไม่ได้เป็นเพียงบันทึกของอดีตข้าราชการผู้สนใจสะสมของเก่าเท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นพลวัตของอำนาจรัฐและบทบาทของชนชั้นนำไทยในกระบวนการสร้าง “ความรู้” และ “ความทรงจำ” เกี่ยวกับชาติ ผ่านการจัดการโบราณวัตถุและโบราณสถาน
ในฐานะข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย พระยานครพระรามมีอำนาจในการควบคุมพื้นที่หัวเมือง และยังมีบทบาทในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการจัดตั้ง “ชาติไทยสมัยใหม่” ซึ่งกำลังสร้างนิยามของอดีตผ่านการกำหนดแหล่งโบราณคดี การทำแผนที่ และการขุดค้น เพื่อยืนยันความรุ่งเรืองของอาณาจักรโบราณอย่างสุโขทัยในฐานะรากฐานของรัฐชาติร่วมสมัย ท่ามกลางการแข่งขันกับ “สายตา” ของตะวันตกที่เริ่มเข้ามาสำรวจ สะสม และตีความอดีตของสยามด้วยตนเอง
ในมิติหนึ่ง การที่สวัสดิ์เริ่มเก็บสะสมเครื่องถ้วย และศึกษาเรื่องแหล่งเตาโบราณด้วยตัวเอง จึงไม่ใช่แค่ความสนใจส่วนบุคคลของข้าราชการคนหนึ่ง แต่เป็นการตอบสนองต่อภาวะความไม่มั่นคงทางอัตลักษณ์ของชนชั้นนำไทยที่รู้สึกว่าตนเอง “เป็นเจ้าของบ้าน แต่กลับไม่รู้เรื่องบ้านของตัวเอง” ความรู้สึกดังกล่าวสะท้อนผ่านข้อความในหนังสือ เครื่องถ้วยไทย ที่เขาเขียนว่า “ถ้าไม่คิดก็ไม่เห็น” นั่นคือ หากไม่ตั้งคำถามกับอดีตด้วยตนเอง ก็จะกลายเป็นเพียงผู้พยักหน้าตามความเข้าใจของฝรั่งอยู่ร่ำไป
ขณะเดียวกัน การสะสมเครื่องถ้วยของพระยานครพระรามก็ไม่อาจตัดขาดจากกระแสการบริโภคแบบตะวันตก ซึ่งเริ่มซึมลึกในหมู่ชนชั้นสูงไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ สิ่งของเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงรสนิยมและสถานะ แต่ยังกลายเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ชนชั้นนำใช้ต่อรอง ต่อสู้ และแสดงตนบนเวทีโลกและเวทีภายในประเทศ ทั้งผ่านการจัดแสดง การเขียนตำรา หรือแม้กระทั่งการเปรียบเทียบกับคอลเลกชันของนักสะสมชาวต่างชาติ
จึงอาจกล่าวได้ว่า เครื่องถ้วยที่อยู่ในตู้โชว์ หรือแม้แต่เศษชิ้นส่วนที่ฝังอยู่ในดิน ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งของโบราณเท่านั้น แต่เป็น “เครื่องมือ” ในการจัดการอดีต และเป็นเวทีที่ชนชั้นนำสยามในยุคหนึ่งใช้แสดงบทบาทของตนต่อทั้งโลกภายนอกและประวัติศาสตร์ของตนเอง
สุดท้าย ความรู้ที่พระยานครพระรามสั่งสมไว้ แม้จะยังอยู่ในกรอบของชนชั้นนำแบบเก่า แต่ก็เปิดทางให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ เครื่องถ้วย และโบราณคดีในเวลาต่อมา นักวิชาการในรุ่นหลัง เช่น สืบแสง พรหมบุญ, พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และศรีศักร วัลลิโภดม จึงสามารถต่อยอดและตีความอดีตได้อย่างหลากหลายขึ้น ไม่ยึดติดกับตำนานพระร่วงหรือความเข้าใจเดิมแต่เพียงเท่านั้น

สมหมาย ควายธนู
เต้นหน้าร้านชำ