พฤษภาคม 16, 2024

    ประวัติศาสตร์ประชาชน 9 พฤศจิกายน 2477 ครบ 88 ปี ครูบาศรีวิชัย “นั่งหนัก” บุกเบิกสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ

    Share


    9 พฤศจิกายน 2477 หรือเมื่อ 88 ปี ที่แล้ว ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่ครูบาศรีวิชัย ได้ทำการริเริ่มบุกเบิกสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ โดยทำหน้าที่ “นั่งหนัก” เป็นประธานระดมทุนทรัพย์และพลังของผู้มีจิตศรัทธามาช่วยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจของการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพนั้น ไม่มีการใช้งบประมาณจากภาครัฐเลย แต่อุดมไปด้วยแรงศรัทธาของประชาชนแทบทั้งสิ้น

    ความคิดที่จะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนั้น มีมาตั้งแต่ปี 2460 โดยพลโท หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร อุปราชเทศาภิบาลมณฑลฑลพายัพ เคยให้นายช่างกองทาง สำรวจพร้อมจัดทำงบค่าใช้จ่าย ผลคือต้องใช้งบกว่า 200,000 บาท ในการสร้าง และระยะเวลาสร้าง 3 ปี ทำให้ความคิดที่จะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพมีอันต้องถูกพับเก็บไป ก่อนที่อีกหลายปีต่อมา ครูบาเถิ้ม (พระอธิการโสภา โสภโณ) ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ และเห็นถึงความยากลำบากของพระที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ทั้งเรื่องไฟฟ้า และน้ำกินน้ำใช้ ครูบาเถิ้มจึงนำเรื่องไปปรึกษากับพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ, หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน ก่อนที่จะนำเรื่องมาปรึกษากับครูบาศรีวิชัย จนได้ข้อสรุปว่าถ้าสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ปัญหาที่กำลังประสบพบเจอจะหมดไป แน่นอนว่านี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ครูบาศรีวิชัยเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพได้อย่างแน่นอน

    หลังจากนั้นจึงทำหนังสือยื่นเรื่องการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ไปถึงหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ส่งนายช่างมาทำการสำรวจ เมื่อรัฐบาลรับเรื่องแล้ว พระพิศาลสุขุมวิม(ประสพ สุขุม) อธิบดีกรมโยธาเทศบาล ก็ส่งคณะสำรวจลงพื้นที่ พร้อมจัดทำแผนที่การสร้างถนน หลวงศรีประกาศ และครูบาเถิ้มได้นำแผนที่ดังกล่าวไปให้ครูบาศรีวิชัยดู ครูบาศรีวิชัยได้กำหนดวันทำพิธีบุกเบิกทางเป็นอุดมฤกษ์ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 เวลา 10.00 น. (วันศุกร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่เหนือ (เดือน 12 ภาคกลาง) ปีจอ) หรือเมื่อวันนี้เมื่อ 88 ปีที่แล้วนั่นเอง

    ตลอดการก่อสร้างครูบาศรีวิชัยนั้น ได้หน้าที่ “นั่งหนัก” เป็นประธานระดมทุนทรัพย์และรับไทยทานที่บริเวณหน้าวัดศรีโสภา โดยมีประชาชนมาขอเป็นอาสา หรือร่วมเป็นเจ้าภาพในการทำทาง รวมกว่า 118,304 คน โดยใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลา 5 เดือน 22 วัน ก็แล้วเสร็จ จึงกล่าวได้ว่าการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนั้นมาจากประชาชนที่ไม่ได้อิงกับอำนาจของรัฐส่วนกลางอย่างแท้จริง แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ ก็ทำให้ครูบาศรีวิชัย 

    ถูกควบคุมมากักและสอบสวนไว้ที่กรุงเทพฯ ในปี 2478 เป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี พร้อมกับกล่าวหาว่าไม่ยอมปรองดองกับคณะสงฆ์ โดยมีข้อกล่าวหาว่า 1.จัดอุปสมบทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะ 2.ตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เอง 3.ออกใบสุทธิและหนังสือตราตั้งคณะตนเอง 4.ก่อสร้างบูรณะโดยไม่ขออนุญาตกรมศิลป์ ไม่อนุรักษ์รูปแบบดั้งเดิม 5.ยุยงให้พระสงฆ์ออกจากการปกครองของรัฐ

    ในส่วนของรายละเอียดและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของครูบาศรีวิชัยนั้น Lanner จะทยอยสื่อสารออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่หลงลืมไปว่า ประวัติศาสตร์ของประชาชนที่ไม่ถูกกดทับโดยประวัติศาสตร์จากส่วนกลาง ยังคงมีชีวิต


    อ้างอิงจาก

    วันนี้ในอดีต 9 พฤศจิกายน 2477 ครูบาศรีวิชัย “นั่งหนัก” ในการสร้างถนนขึ้น “ดอยสุเทพ”

    “ครูบาคติใหม่” การอ้างอิงจากบารมีและศรัทธาของ “ครูบาศรีวิชัย” https://www.silpa-mag.com/history/article_27531

    Related

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน:  บทสนทนาต่อ “ปฏิบัติการด้านศิลปะ” และ “ประวัติศาสตร์” ยวนย้ายถิ่น

    เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง มองศิลปะจัดวางและอ่านอย่างเข้าใจ “ไทยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและส่งต่อ” มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang...

    สำรวจความนิยมการใช้ ‘รถแดงเชียงใหม่’ ผ่านงานวิจัย

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ถือเป็นอีกเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสข้อความตัดพ้อว่ารถตุ๊กตุ๊กและรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ที่ใกล้ถึงทางตัน เมื่อ 11 พฤษภาคม...

    ประณามศาล-รัฐ เพิกเฉย ก่อการล้านนาใหม่แถลงการจากไป ‘บุ้ง เนติพร’

    14 พฤษภาคม 2567 คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA ร่วมกับ กลุ่มนิติซ้าย...