บทสรุป : เงี้ยวเมืองแพร่ ‘กบฏหรือวีรบุรุษ’ ประวัติศาสตร์ของความย้อนแย้ง​

29/07/2022

เมืองแพร่มีตราประทับของความเป็นเมือง “กบฏ” จึงนำมาสู่การสร้างความทรงจำใหม่ในฐานะ “กบฏผู้ภักดี” “กบฏวีรบุรุษ” “เจ้าหลวงผู้อาภัพ” ล้วนเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของเหตุการณ์ในครั้งนี้ใหม่ จากคนหลากหลายกลุ่ม ภายใต้โครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติ(นิยม)กระแสหลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม จนมาสู่การรับรู้ของคนกลุ่มต่างๆ ทั้งตรงกัน และขัดแย้ง ทำให้ประวัติศาสตร์หรือการรับรู้ต่อประวัติศาสตร์เมืองแพร่ไม่มีประวัติศาสตร์โครงเรื่องใดเป็นโครงเรื่องหลัก อันนำมาสู่การมีตำแหน่งแห่งที่ของคนกลุ่มต่างๆ ในเมืองแพร่ ​ ​ ​

เรื่องเล่ากบฏเงี้ยวของคนในเมืองแพร่จึงสามารถสร้างการรับรู้ได้เฉพาะภายในท้องถิ่น เพื่อจัดตำแหน่งแห่งที่ของคนในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ในวงกว้างการสร้างการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ในโครงเรื่องต่างๆ ยังถือว่าประสบความสำเร็จน้อย ยกเว้นโครงเรื่องประวัติศาสตร์แบบท้องถิ่นชาตินิยมที่จะส่งผลต่อการรับรู้ได้มากกว่าประวัติศาสตร์แบบอื่น เพราะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยมสามารถตอบสนองการรับรู้ภายใต้ประวัติศาสตร์ชาติ ซึ่งครอบงำความคิดของคนอย่างลึกซึ้งอยู่แล้ว จะเห็นว่ากลุ่มคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้าง ของคนที่มีการศึกษา และมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกสูง เพราะคนเหล่านี้มักประสบพบเจอกับชุดคำถามถึงอดีตความเป็นมา แต่ประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ถูกรับรู้ในฐานะประวัติศาสตร์ของ “กบฏ” ก่อให้เกิดวิกฤต “อัตลักษณ์” ที่ไม่สามารถให้ความหมายต่อความเป็น “กบฏ” ได้ นำมาสู่การสร้างโครงเรื่องประวัติศาสตร์ที่หลากหลายเพื่อจัดตำแหน่งแห่งที่ใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เมืองแพร่เมืองแพร่กลับมีพลวัต ทำให้หมุดหมายของการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่มีการปักถอนอยู่ตลอดเวลาภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป​

นอกจากนี้การที่เมืองแพร่มีตราประทับของความเป็นเมือง “กบฏ” จึงนำมาสู่การสร้างความทรงจำใหม่ในฐานะ “กบฏผู้ภักดี” “กบฏวีรบุรุษ” “เจ้าหลวงผู้อาภัพ” ล้วนเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของเหตุการณ์ในครั้งนี้ใหม่ ภายใต้บริบทที่เอื้ออำนวยภายหลังทศวรรษที่ 2540 ​ จากคนหลากหลายกลุ่ม ท้ายที่สุดท่ามกลางกระแสประวัติศาสตร์ชาตินิยมคนในกลุ่มต่างๆ ก็ยังวนเวียนอยู่ในกระแสของชาติที่ยังมีความคิดเรื่องชาติเป็นตัวนำ ในสถานการณ์ที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มองจากจุดยืนและผลประโยชน์ของคนในท้องถิ่นไม่สามารถสถาปนาตำแหน่งแห่งที่ จึงทำให้เกิดโครงเรื่องแบบ “ท้องถิ่นชาตินิยม” ปรากฏในการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างแพร่หลาย ​

เขียนและเรียบเรียง : ชัยพงษ์ ​สำเนียง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร​

บทความนี้เป็นการปรับมาจากหนังสือ ชัยพงษ์ สำเนียง. กบฏเงี้ยว การเมืองของความทรงจำ ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา”. กรุงเทพฯ : ​ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน), 2564. และบทความพิริยวงศ์อวตาร: ‘วีรบุรุษ’ ‘กบฏ’ การประดิษฐ์สร้างตัวตนใหม่ทางประวัติศาสตร์. ​ ศิลปวัฒนธรรม ​ ปีที่ 34 ฉบับที่ 9 (ก.ค. 2556) หน้า 114-129 ข้อผิดพลาดของงานชิ้นนี้ย่อมเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว​

#กบฏเงี้ยว​
#Lanner

ข่าวที่เกี่ยวข้อง