พฤษภาคม 4, 2024

    กป.อพช เผยแพร่แถลงการณ์ เรียกร้องประยุทธ์ รับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเหตุสลายการชุมนุม “ราษฎรหยุด APEC 2022”

    Share

    เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเหตุการที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) นำกำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาดังนี้


    ภาพ : คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

    แถลงการณ์

    คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

    เรื่อง ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบกับการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022

           สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สลายชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ถนนดินสอ ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร ได้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะผ่านช่องทางการสื่อสารของสื่อมวลชนและสื่อโซเชี่ยลทั้งในและประต่างประเทศแล้วว่า เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ จนนำไปสู่การจับกุมคุมขังประชาชนจำนวน 25 คน และมีการทำร้ายร่างกายในรูปแบบต่างๆ ทั้งการทุบตี กระทีบ แก๊สน้ำตา และใช้อาวุธปืน (กระสุนยาง) จนทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย ไม่เว้นแม้กระทั่งนักข่าว พระ และที่ร้ายแรงมากไปกว่านั้น คือการใช้ปืนจ่อยิงผู้ร่วมชุมนุมแบบซึ่งหน้าเข้าลักษณะการอาฆาตมาดร้าย จนทำให้นายพายุ บุญโสภณ ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ดวงตาข้างขวา และมาทราบภายหลังจากการรักษาพยาบาลของแพทย์ในเวลาถัดมาว่า นายพายุต้องสูญเสียดวงตาข้างดังกล่าว

            การชุมนุมนั้นดำเนินไปตามสิทธิ์ที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทุกประการ และยังได้การแจ้งการชุมนุมที่เป็นไปตามเงื่อนไขของ พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ไว้อย่างครบถ้วน ในขณะที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีการแสดงท่าทีและพยายามสร้างกฏระเบียบเพื่อไม่ให้มีการแสดงออกของประชาชนในทุกรูปแบบ ซึ่งสังเกตุได้จากการออกประกาศห้ามการชุมนุมในช่วงการประชุมเอเปค ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งสอดคล้องกับพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศที่เข้าไปคุกคามผู้นำชุมชน นักพัฒนาเอกชน และนักกิจกรรมทางสังคม ด้วยการป้องปรามกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ให้เข้ามาชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าว จึงไม่แปลกที่เหตุการณ์ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากความจงใจและต้องการปิดกั้นประชาชนทั่วไปไม่ให้ออกมาชุมนุม ด้วยเพียงคิดว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย จึงแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลของความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นเป็นความจงใจที่ต้องการตอบสนองนโยบายและความต้องการของรัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา

            คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. ขอประณามการกระทำดังกล่าว และขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการปล่อยให้มีการสลายการชุมนุมดังที่ปรากฏและเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป และถือว่าเป็นวิธีการสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักกฏหมายสากลและเข้าข่ายเป็นการทำผิดกฏหมายของประเทศไทย ทั้งยังไม่แสดงถึงการเคารพต่อสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรมของประชาชน ซึ่งยังเห็นได้ถึงท่าทีของการเสี้ยมเสริมให้สังคมได้มีความเกลียดชังกลุ่มราษฏรหยุดเอเปค 2022 และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับตน ที่ได้ออกมาคัดค้านนโยบายขายฝันของรัฐบาลที่ว่าด้วยแนวคิด BCG. ที่กำลังยัดเยียดให้ที่ประชุม่กลุ่มประเทศเอเปคยอมรับ ทั้งที่รู้ดีว่านโยบายดังกล่าวคือการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนชนชั้นนำของประเทศนี้เท่านั้น โอกาสเดียวกันนี้ ขอเรียกร้องให้กลุ่มองค์กรภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปได้ออกมาร่วมกันประณามการกระทำในครั้งนี้ของรัฐบาล เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ของสังคมไทยไม่ให้ยอมรับความรุนแรงที่มาจากการกระทำของรัฐอีกต่อไป

    แถลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565

    Related

    และนี่คือเสียงของ We are the 99% ฟังเสียง 6 แรงงานที่อยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี

    เรื่อง: วิชชากร นวลฝั้น ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานสากล (International Workers’...

    ค่าแรงมันร้าย กดขี่ขั้นโหด ถึงเวลา ‘สหภาพแรงงาน’

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศประเทศไทย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ในงานเวทีวาระเชียงใหม่ Chiangmai...

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล...