พฤษภาคม 3, 2024

    ‘คนรุ่นใหม่ของอนาคต อนาคตของคนรุ่นใหม่’ ธนาธรย้ำใช้ชีวิตให้เต็มที่ เปิดมุมมองสร้างโลกใหม่

    Share

    เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายปัจฉิมนิเทศ สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะจบการศึกษาในปีการศึกษานี้ในหัวข้อ ‘คนรุ่นใหม่ของอนาคต อนาคตของคนรุ่นใหม่’ ซึ่งนอกจากการบรรยายถึงแนวโน้มทางสังคมเศรษฐกิจในอนาคต เช่น วิกฤติภาวะสังคมสูงวัย ประชากรเกิดใหม่น้อยลง ความเหลื่อมล้ำของรายได้ ภาวะขาดแคลนแรงงาน สิทธิขั้นพื้นฐาน ยังได้บรรยายถึงปัญหาการเมืองไทย

    ธนาธร กล่าวเริ่มต้นพูดถึง การกระจายดอกผลของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ถึงแม้วิชานิติศาสตร์จะดูเป็นเรื่องที่แยกออกจากเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ แต่ความจริงแล้วทั้งหมดเกี่ยวข้องกัน ปัญหาของความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม เกี่ยวข้องโดยตรงกับอำนาจในการจัดสรรทรัพยากร การพัฒนาเศรษฐกิจ จะจัดการทรัพยากรได้คุณจะต้องมีอำนาจ ใครถืออำนาจทรัพยากรก็อยู่ที่นั่น เมื่ออำนาจกระจุกตัวทรัพยากรก็กระจุกตัว และทั้งหมดจะถูกกำหนดโดยกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าอำนาจในประเทศนี้เป็นของใคร และย่อมหมายถึงการบ่งบอกว่าทรัพยากรในประเทศนี้จะต้องถูกจัดสรรอย่างไร 

    ในขณะที่ชนชั้นนำจะพยายามทำให้ทุกคนในประเทศ ตระหนักอยู่เสมอว่าตัวเองไม่มีสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ สิทธิทางการเมือง จนกระทั่งถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เพื่อแลกกับสิทธิเหล่านั้นเราจึงยอมเสียเสรีภาพบางส่วนให้กับรัฐไป แต่นี่คือสิ่งที่เขาไม่เคยสอนให้ตระหนัก ทำให้หวาดกลัวอยู่กับอำนาจตลอดเวลา ตั้งแต่เล็กจนโต และมันแทรกซึมในหลักสูตรการศึกษาและเรื่องเล่าหลักของชาติ เมื่อผู้คนไม่ตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองพึงมี ก็จะไม่เกิดการเรียกร้อง อำนาจก็จะยังอยู่ในมือของชนชั้นนำต่อไป

    “ความพังทลายของสังคมและความสิ้นหวังของคนหนุ่มสาวไม่เคยเด่นชัดขนาดนี้มาก่อน กระบวนการยุติธรรมเผชิญกับวิกฤติศรัทธาอย่างรุนแรงตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ กลายเป็นเรื่องที่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้ กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่เขาต้องการ และในอนาคตเมื่อนักนิติศาสตร์เรียนจบไป หลายคนอาจไปสอบเนติบัณฑิต หลายคนรับราชการ ซึ่งจะต้องเข้าไปเจอเรื่องราวต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม แต่ทุกคนมีโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่จะมีส่วนทำให้สังคมมีความเป็นธรรมมากกว่านี้ เราทุกคนมีพลังที่จะทำให้ดอกผลของการพัฒนาไม่ตกอยู่กับคนกลุ่มน้อยในประเทศ ภารกิจของคนนิติศาสตร์รุ่นนี้ คือการทำให้สังคมมีกฎเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ สามารถให้ทุกคนมาใช้กระบวนการที่เที่ยงตรงและเป็นธรรม เป็นคนที่จะไปรักษากฎ ดึงทุกคนมาอยู่ในเกมที่เป็นธรรมได้สำหรับทุกคน”

    ช่วงท้ายของการบรรยาย ธนาธรได้ขึ้นภาพถ่ายป้ายข้อความ “เป็นคนให้ได้ก่อนเป็นศาล” ที่แขวนอยู่หน้าศาลฎีกา ในช่วงที่มีการชุมนุมเรียกร้องของ “แบม-ตะวัน” ให้คืนสิทธิการประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกคน และกล่าวจบด้วยคำว่า ‘เก็บเกี่ยววันเวลา ใช้ชีวิตให้เต็มที่ เปิดมุมมองสร้างโลกใหม่ เพื่อที่จะเปิดวิสัยทัศน์ให้กว้างไกลที่สุด ยืนให้มั่นคงในจุดยืนที่สำคัญของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง’

    โดย LANNER ได้ถามว่าการเมืองในสภายังสำคัญอยู่ไหม ธนาธรตอบว่าสำคัญ “นั่นคือเหตุผลที่เราทิ้งชีวิตธุรกิจมาตั้งพรรคการเมือง ก็เห็นว่ามันต้องมีพรรคการเมืองแบบนี้อยู่ในสภา ขณะนั้นคนหมดศรัทธากับระบบรัฐสภา ไม่มีใครมีศรัทธาว่าจะเป็นที่ที่สามารถใช้เป็นหนทางของการหาทางออกของประเทศได้ ถ้าระบบรัฐสภาล้มเหลวแบบนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าเราสามารถกอบกู้ศรัทธาของประชาชนให้มาเชื่อกันได้ว่า ปัญหาทางการเมืองแก้ไม่ได้ด้วยการทำรัฐประหาร ก็อยากจะดึงศรัทธาของรัฐสภากลับมาให้ประชาชนอีกครั้งนึง นั่นก็คือเหตุผลที่ผมตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา หวังว่าจะใช้พรรคการเมืองนำไปสู่สภาเป็นที่หาทางออกของความขัดแย้งในสังคมไทย”

    Related

    และนี่คือเสียงของ We are the 99% ฟังเสียง 6 แรงงานที่อยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี

    เรื่อง: วิชชากร นวลฝั้น ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานสากล (International Workers’...

    ค่าแรงมันร้าย กดขี่ขั้นโหด ถึงเวลา ‘สหภาพแรงงาน’

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศประเทศไทย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ในงานเวทีวาระเชียงใหม่ Chiangmai...

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล...