เมษายน 30, 2024

    ยกฟ้อง 112 รามิล กรณี Performance Art หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    Share

    8 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษา ‘ยกฟ้อง’ ในคดีที่ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ “รามิล” นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศิลปินกลุ่ม artn’t ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีแสดง Performance Art ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 โดยเขาถูกกล่าวหาว่าการแสดงและท่าทางต่าง ๆ เป็นการหมิ่นฯ เช่น ท่าครุฑ สาดน้ำสีแดงโดนป้ายทรงพระเจริญ นอนหงายพร้อมใช้เท้าชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10

    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ “รามิล” นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม artn’t ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีแสดง Performance Art หรือ ศิลปะการแสดงสด ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 โดยเขาถูกกล่าวหาว่าเคลื่อนไหวท่าทางต่างๆ เช่น ท่าครุฑ และนอนหงายพร้อมใช้เท้าชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10

    คดีนี้มี พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง ตำรวจฝ่ายสืบสวนของสถานีตำรวจภูพิงค์ราชนิเวศน์ เป็นผู้กล่าวหา ข้อต่อสู้สำคัญในคดีนี้ของจำเลยได้แก่ กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง อีกทั้งบริเวณที่เกิดเหตุหน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเรียกร้องทางการเมืองอยู่เป็นประจำ จำเลยไม่ได้มีเจตนากระทำการตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด รวมทั้งการดูศิลปะการแสดงสดต้องดูตลอดทั้งการแสดง ไม่ใช่การตัดเฉพาะภาพถ่ายเพียงภาพเดียวมากล่าวหาและพิจารณาเจตนาของจำเลย

    เวลาประมาณ 9.15 น. จำเลยพร้อมด้วยทนายความได้เข้าฟังคำพิพากษา โดยมีเพื่อนของจำเลยที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มศิลปิน และอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมกว่า 20 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษา แต่เนื่องจากห้องพิจารณามีขนาดเล็กจึงมีเพียงบางส่วนได้เข้าฟังคำพิพากษาพร้อมจำเลยและทนายความ ส่วนที่เหลือรอฟังผลคำพิพากษาอยู่ด้านนอกห้อง นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ศาลยังให้คดีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฟังคำพิพากษารออยู่นอกห้องพิจารณาก่อนด้วย 

    ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีที่อ่านคำพิพากษาในวันนี้ ได้แก่ ณิชนารา  ลิ่มสุวรรณ 

    ก่อนเริ่มการอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งว่าจะอ่านในส่วนการพิเคราะห์ของศาลเลยโดยไม่อ่านทวนรายละเอียดการต่อสู้ของโจทก์และจำเลย 

    คำพิพากษาโดยสรุประบุว่า ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยในคดี ได้ข้อเท็จจริงโดยยุติว่าจำเลยได้กระทำการแสดงท่าทางและทำการราดสีตนเองบริเวณป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทราบการจัดกิจกรรมเข้าติดตามสังเกตการณ์มีการถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐาน พยานโจทก์ยืนยันว่าการที่จำเลยกระทำการดังกล่าวย่อมเล็งเห็นว่าน้ำสีแดงของจำเลยจะถูกพระบรมฉายาลักษณ์และข้อความ “ทรงพระเจริญ” ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว 

    อีกทั้งฝ่ายโจทก์ยังได้นำสืบว่าจำเลยเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่จัดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่มาโดยตลอด อาทิ การชุมนุมบริเวณสนามรักบี้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีการนำธงชาติมาถือแสดง และการชุมนุมบริเวณประตูท่าแพ เป็นต้น จากกิจกรรมดังกล่าวฝ่ายโจทก์เห็นว่าจำเลย มีพฤติการณ์ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งยังมีพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และนักวิชาการด้านกฎหมายที่เข้ามาให้ความเห็นต่อการกระทำของจำเลย 

    ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ไม่มีปากใดที่ชี้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการอาฆาตมาดร้าย ส่วนการหมิ่นประมาทนั้นจะต้องมีการใส่ความด้วยการชี้ยืนยันข้อเท็จจริงบางประการ ส่วนการดูหมิ่นก็ต้องระบุตัวบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร 

    พยานหลักฐานโจทก์จึงยังชี้ไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท อีกทั้งการแสดงของจำเลยไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล ประกอบกับป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่ชุมนุมอยู่เป็นประจำ การแสดงกิจกรรมดังกล่าวก็เรียกร้องเรื่องสิทธิการประกันตัว 

    เมื่อไม่มีพยานโจทก์ที่เบิกความยืนยันว่าจำเลยจงใจกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์และข้อความ “ทรงพระเจริญ” ส่วนการเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยก็ไม่ใช่เครื่องยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ อีกทั้งพยานโจทก์ได้เบิกความถึงคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวซึ่งเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการนำส่งเข้ามาในการพิจารณาคดีนี้ จึงทำให้พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัย จึงพิพากษายกฟ้องจำเลย 

    หลังฟังคำพิพากษาแล้ว “รามิล” เปิดเผยความรู้สึกว่าคำพิพากษาในวันนี้ก็ตามกระบวนการตั้งแต่วันสืบพยาน

    “ก็ตามเนื้อหาข้อมูลตั้งแต่วันสืบพยานมา คือทางพยานโจทย์ก็กล่าวหาเราว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ทางตัวพยานโจทย์เองที่ก็สืบไม่ได้ว่าเราหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังไง จากการไป Performance Art ที่ป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

    “ก็มีคนถามมาเยอะว่าคดี 112 ที่โดนมันจะเป็นยังไง ผมก็สงสัยว่าถามทำไม มันเป็นหน้าที่ของประชาชนหรอที่เป็นคนบอกได้ ถามทนาย ทนายก็ไม่รู้ ถามเรา เราก็ไม่รู้หรอก เพราะว่ายังไงชีวิตเราก็อยู่บนเส้นด้ายของอำนาจศาลตุลาการและรัฐนี้อยู่แล้ว เค้าจะกำหนดให้เราเป็นยังไงก็เป็นอย่างงั้น เพราะฉะนั้นจะถามผมว่ารู้สึกยังไงกับการยกฟ้อง ก็บอกได้ว่ามันไม่ใช่ชะตาชีวิตของเรา” 

    ด้านทนายความให้สัมภาษณ์ว่า “ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิเคราะห์ทั้งพยานหลักฐานและโจทย์ พิเคราะห์ว่าพยานโจทก์ไม่มีความชัดเจนว่าจำเลยนั้นมีเจตนาที่จะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 หรือไม่ การแสดง Performace Art เป็นการแสดงต่อเนื่องแต่ภาพที่ถ่ายออกมาเป็นภาพนิ่ง และก็ตีความเฉพาะภาพนิ่งอย่างเดียว ศาลก็ดูว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของพยานโจทก์ การกระทำการดูหมิ่นต้องมีบุคคลที่ดูหมิ่นและเหตุการณ์ที่ดูหมิ่น แต่พฤติกรรมของจำเลยเนี่ยไม่มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นอย่างนั้น ส่วนเรื่องสีที่กระเด็นขึ้นไปก็ไม่มีใครเห็นว่ากระเด็นขึ้นไปยังไง ศาลก็ฟังแต่พยานโจทก์อย่างเดียวว่า พยานโจทก์เนี่ยไม่ชัดเจนว่าจำเลยกระทำผิด ศาลก็พิพากษายกฟ้อง”

    ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษาในศาลชั้นต้นแล้ว ยังต้องติดตามการอุทธรณ์คดีของฝ่ายอัยการโจทก์ต่อไป หากไม่มีการอุทธรณ์ คดีนี้ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด

    “ขั้นตอนต่อไปก็คือรออัยการยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ถ้าทำไม่ทันก็สามารถขยายได้อีกเดือนหรือสองเดือน ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าเค้าจะขยายไปเท่าไหร่ วันนี้ถือว่าจำเลยยกฟ้องไปแล้ว ถ้าอัยการมีคำสั่งถอน เราก็ต้องอุทธรณ์ขึ้นไป ถ้าอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ภายระยะเวลาที่กำหนด ก็ถือว่าเป็นเด็ดขาด” ทนายความเสริม

    Related

    ยก ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ เป็นบุคคลสำคัญล้านนา ดันวันเกิดหรือวันมรณภาพเป็น “วันศรีวิชัย”

    วันที่ 29 เมษายน 2567 วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ร่วมกับ มูลนิธิครูบาศรีวิชัย จัดกิจกรรมงานวันครูบาเจ้าศรีวิชัย เปิดถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ...

    สมาคมฅนยองจัด ‘มหาสงกรานต์ล้านนา’ มุ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นคนยอง

    เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมฅนยอง ร่วมกับ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่...