เรื่อง : ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ
ภาพ : เจตฐสิทธิ์ ความดี
คุยกับ ผ.ศ. สรรเสริญ เหรียญทอง จากภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร และนักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตร ศิลปะการออกแบบเชิงวัฒนธรรม คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ซึ่งไม่ได้จำกัดตัวเองไว้แค่ในห้องเรียนหรือทฤษฎีสื่อสารอย่างเป็นทางการ แต่เลือกเดินเข้าไปในชุมชนเก่า พื้นที่ตลาด และร่องรอยของเมืองที่ถูกทิ้งไว้ในประวัติศาสตร์อย่าง “ปากน้ำโพ” เพื่อฟังเรื่องเล่า ถ่ายภาพ และตั้งคำถามใหม่ๆ กับสิ่งรอบตัวอาจมองข้ามได้
หากถามว่าหมกหมุ่นกับเมืองนี้ขนาดไหน ก็คงตอบได้ว่าเรื่องราวของเมืองนี้เป็นหัวข้อวิจัยระดับปริญญาเอก และมากไปกว่านั้นเขายังนำข้อมูลจากการวิจัยมาย่อยให้เข้าใจง่ายช่องทางออนไลน์อย่างเพจ ปากน้ำโพโคลสอัพ / PaknamPho Close Up.
อะไรทำให้เขาเลือกกลับมามองเมืองที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเมืองผ่าน? ปากน้ำโพในสายตาของเขากำลังบอกอะไรเกี่ยวกับความทรงจำ ความเปลี่ยนแปลง และคำว่า “เมือง” ในสายตาแบบใหม่ที่ไม่ได้มองว่านครสวรรค์เป็นแค่เมืองผ่าน
แน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องราวท้องถิ่นที่ไม่ค่อยมีมุมมองในการเล่าเรื่องมากนัก Lanner จึงชวนมองเมืองปากน้ำโพในสายตาของนักออกแบบเชิงวัฒนธรรม และสำรวจไปพร้อมกันว่า บางทีเมืองนี้อาจไม่ได้เงียบเหงาเสมอไป เพียงแต่เรายังฟังไม่ถนัดพอ
ถามง่ายๆ เลยครับ ปากน้ำโพโคลสอัพคืออะไร?
สื่อที่นำเสนอเรื่องราวของเมืองปากน้ำโพให้เข้าใจง่าย มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้คนในการแบ่งปันข้อมูลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นำไปสู่การสร้างกิจกรรมที่หลากหลายในพื้นที่ เช่น การเดินชมย่าน การพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์จากคนในพื้นที่ การฝึกปฏิบัติการต่างๆ เพราะเชื่อว่า
ทุนทางวัฒนธรรมไม่ได้มีแค่ของเก่า แต่คือวิถีชีวิตที่คนพื้นที่คุ้นเคย ผูกพันธ์และมีส่วนร่วม มีศักยภาพต่อยอดเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้
อะไรทำให้อาจารย์สนใจเมืองปากน้ำโพ?
ส่วนตัวเป็นคนชอบเดินสำรวจพื้นที่ ชอบตลาด ชอบคุยกับคนในชุมชน แล้วก็สนใจเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่แล้ว โดยเฉพาะตลาดแบบดั้งเดิม เลยหันกลับมามองพื้นที่ใกล้ตัวอย่าง “ตลาดปากน้ำโพ” ว่ามันคืออะไร
ผมเริ่มต้นจากคำถามพื้นๆ อย่าง ปากน้ำโพคืออะไร? มันเหมือนหรือต่างจากนครสวรรค์ยังไง? บางคนเรียกที่นี่ว่านครสวรรค์ แต่บางคนกลับเรียกว่าปากน้ำโพ มันคือที่เดียวกันหรือเปล่า? แล้วตรงไหนกันแน่คือ “เมืองเก่า” ที่หลายคนพูดถึง? ยิ่งศึกษาก็ยิ่งมีคำถามมากขึ้น กลายเป็นเหมือนแรงผลักให้ผมอยากเรียนรู้ต่อให้ลึกขึ้น
พอลงพื้นที่ ก็เริ่มเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของเมืองอย่างชัดเจน ปากน้ำโพในอดีตเคยเป็นย่านการค้าที่คึกคักมาก มีทั้งคนจีน คนไทย ค้าขายอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่น แต่วันนี้กลับเงียบเหงาลงไป หลายร้านปิดตัว ประกาศขาย บางร้านย้ายออก ผู้คนในตลาดก็บอกว่าบรรยากาศมันไม่เหมือนเดิมแล้ว ความที่ผมทำงานด้านการออกแบบเชิงวัฒนธรรม มันอาจจะไม่ใช่งานที่เข้าไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยตรง ก็เริ่มลองมองเมืองผ่านเลนส์วัฒนธรรม เพราะเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างสะท้อนผ่านวัฒนธรรมได้คมชัดมากกว่าตัวเลข หรือแค่เศรษฐกิจเพียวๆ
จึงเริ่มลงพื้นที่ สังเกต ฟัง และพูดคุยกับชุมชน กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากจะขุดลงไปให้มากขึ้น
ทำงานกับหลักฐานมากๆ ค้นพบอะไรบ้างครับ
สิ่งที่น่าสนใจคือนครสวรรค์ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ในอดีตมันไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาแบบนี้เลย
ในเอกสารเก่าหลายชิ้นมักจะพูดถึงชื่อ “พระบาง” แทนที่จะเป็น “นครสวรรค์” ซึ่งก็ชวนตั้งคำถามทันทีว่า แล้วพระบางอยู่ตรงไหนกันแน่? เพราะปัจจุบันไม่มีใครสามารถชี้ชัดได้ชัดเจน เลยเริ่มต้นจากคำถามง่ายนี้ แล้วไล่หาหลักฐาน ก็ไปเจอว่า บางแหล่งข้อมูลสันนิษฐานว่าพระบางน่าจะอยู่แถววัดกบ ที่นั่นมีเจดีย์เก่าอยู่ด้วย ซึ่งเป็นอีกเบาะแสสำคัญ แต่ก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพื้นที่ใหญ่กว่านั้นเท่านั้น
ผมพยายามตามหาภาพถ่ายเก่าๆ เพื่อดูเค้าโครงเมืองในอดีตว่าเป็นยังไง แล้วก็ไปเจอชุดภาพที่ถ่ายไว้ช่วงปี 2494 โดยช่างภาพชาวต่างชาติคนหนึ่ง ชื่อโรเบิร์ต เพนิสตัน (Robert Penniston)
ภาพถ่ายชุดนั้นสำคัญมาก เพราะมันทำให้เราเห็นภูมิทัศน์ของเมือง เห็นเส้นทาง เห็นตัวตลาด และแม้กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับการตั้งถิ่นฐานของคนในอดีตได้อย่างชัดเจน ในยุคนั้นเวลาจะสำรวจเส้นทางรถไฟหรือวางผังเมือง มักจะขึ้นที่สูงแล้วถ่ายภาพลงมา ภาพถ่ายเหล่านี้จึงไม่ใช่แค่ภาพความทรงจำ แต่มันกลายเป็นแผนที่เชิงโครงสร้างเมืองที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นหลักฐานชั้นต้นของพัฒนาการทางพื้นที่

ภาพจำนวนมากของเพนิสตันยังถูกเก็บรักษาไว้และเผยแพร่โดย The University of Wisconsin-Milwaukee ซึ่งในนั้นมีภาพเก่าของนครสวรรค์จำนวนไม่น้อย ตั้งแต่บ้านไม้ริมแม่น้ำ ไปจนถึงตลาดเก่า เราจะเห็นเลยว่าปากน้ำโพในยุคนั้นเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหว มีร่องรอยของผู้คนและเศรษฐกิจที่คึกคัก ภาพเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้เรานึกถึงอดีตได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยให้เราตั้งคำถามกับปัจจุบันได้คมขึ้นด้วย
มีหลักฐานหรือร่องรอยไหนในพื้นที่ที่ทำให้รู้สึกว่า นี่แหละ จุดเปลี่ยนที่ทำให้เข้าใจเมืองปากน้ำโพลึกซึ้งขึ้น?”
จากภาพถ่ายเก่าในยุค 2490 ที่ถ่ายโดยชาวต่างชาติอย่างโรเบิร์ต เพนิสตัน ทำให้ผมเริ่มเห็นบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างของเมือง มองดีๆ จะเริ่มเห็นเค้าโครงของเมืองในอดีต เห็นผังเมืองที่เคยมีลักษณะเป็น “คู่เมือง” คือมีเมืองซ้อนอยู่ในเมืองหรือพูดอีกแบบคือมีเมืองเก่าที่ฝังตัวอยู่ใต้เมืองใหม่

พื้นที่เดิมของนครสวรรค์ มีร่องรอยของคูเมืองเก่า ซึ่งปรากฏรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส และไม่ใช่เรื่องบังเอิญเพราะเมืองในยุคสุโขทัยก็มักมีลักษณะผังเมืองเช่นนี้ แตกต่างจากเมืองในยุคทวารวดีหรืออาณาจักรอื่นที่มักเป็นวงกลมหรือทรงรี
มันทำให้เราค่อยๆ ต่อภาพได้ว่า บริเวณที่เรียกกันว่า “พระบาง” ในอดีต เคยเป็นเมืองในเครือข่ายของรัฐสุโขทัย และมีสถานะเป็นรัฐกึ่งกลางของภูมิภาค
ยังมีหลักฐานเจดีย์เก่าอยู่ในย่านนี้ เช่น วัดกบ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ภายในแนวคูเมืองโบราณ ถ้าเราดูภาพถ่ายเก่าเทียบกับแผนที่ปัจจุบัน จะเห็นได้ชัดว่า พื้นที่หลายส่วนถูกถมกลายเป็นถนน เป็นโรงเรียน หรือที่อยู่อาศัยไปหมดแล้ว แม้กระทั่งบางเส้นทางที่รถสองแถวสีเหลืองวิ่งผ่านในปัจจุบัน จริงๆ แล้วคือแนวคูเมืองเดิมของพระบาง บริเวณวัดกบทั้งหมด โรงเรียนเทศบาลวัดวรนาถบรรพต และชุมชนเก่ารอบๆ นั้นคือพื้นที่ที่เคยอยู่ในเขตคูเมืองมาก่อน ในอดีตตรงนี้มีคูน้ำล้อมรอบ เป็นเมืองที่มีการวางผังชัดเจน แต่ปัจจุบันโครงสร้างเหล่านั้นถูกทับซ้อนด้วยสิ่งปลูกสร้างใหม่ ร่องรอยแทบไม่หลงเหลือ
น่าสนใจว่าชื่อเมือง “พระบาง” เคยถูกกล่าวถึงในจารึกพ่อขุนรามคำแหง และยังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ บันทึกว่า พ.ศ. 1962 พระยาบาลเมืองและพระยาบาลเมือง เกิดแย่งชิงอำนาจกัน หลังการสิ้นพระชนม์ของพญาไสสือไท พระราชบิดา
เจ้านครอินทร์แห่งกรุงศรีอยุธยาจึงเสด็จมาที่พระบาง พระยาบาลเมืองและพระยาบาลเมืองจึงเดินทางมาถวายบังคม เป็นการยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยา และนั่นก็กลายเป็นครั้งสุดท้ายที่ชื่อ “พระบาง” ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารไทย หลังจากนั้น ปรากฏชื่อ “นครสวรรค์” ในฐานะ“เมืองประชุมพล” หรือจุดรวมพลทางยุทธศาสตร์ ของทัพอาณาจักรตองอู และ พันธมิตร ก่อนยกทัพมาตีอยุธยา แม้ชื่อ พระบางจะหายไป แต่พื้นที่เดิมกลับถูกสถาปนาขึ้นใหม่ในชื่อ “นครสวรรค์” พร้อมกับบทบาทใหม่ทางการเมือง
แต่คำถามสำคัญคือ เมืองใหม่ที่ชื่อ “นครสวรรค์” ตั้งอยู่ที่เดิมหรือไม่? เพราะเมื่อดูจากแผนที่โบราณหลังสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งมีนักเดินทางต่างชาติจำนวนหนึ่งจัดทำไว้
ปิแอร์ ฟาน เดอ อา นักแผนที่ชาวฮอลันดา พ.ศ. 2256 และ ฌาค นิโคลาส์ เบลเลง นักแผนที่ชาวฝรั่งเศส พ.ศ. 2307 ก็พบว่า ตำแหน่งของนครสวรรค์นั้นไม่ได้อยู่ในบริเวณเมืองพระบางเดิม แต่ขยับลงมาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าใกล้กับวัดจอมคีรีนาคพรตในปัจจุบัน
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า อาจเพราะแม่น้ำปิงเปลี่ยนทางน้ำจนเกิดหาดทราย ทำให้ตัวเมืองพระบางอยู่ห่างจากแหล่งน้ำ ผู้คนอยู่ลำบาก ย้ายไปอยู่ที่อื่น หรือ อาจเพราะเพื่อเหตุผลด้านยุทธศาสตร์ เช่น ความปลอดภัย การคมนาคม หรือเพื่อปรับตัวเข้ากับระบบการปกครองแบบศูนย์รวมอำนาจของอยุธยา
ก่อนหน้านั้น การเรียกชื่อแม่น้ำ มักเรียกตาม “ผู้เดินทาง” แม่น้ำสายเดียวกันอาจถูกเรียกว่า “แม่น้ำพิษณุโลก” เมื่อไหลผ่านเมืองพิษณุโลก หรือกลายเป็น “แม่น้ำพิจิตร” เมื่อไหลผ่านเมืองพิจิตร นี่จึงเป็นเหตุให้แม่น้ำเส้นเดียว อาจมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน ในแผนที่ของ Herbert Warington Smyth (พ.ศ. 2438) ช่วงรัชกาลที่ 5 มีการเรียกแม่น้ำน่านว่า “แม่น้ำโพ” คาดว่าน่าจะหมายถึงแม่น้ำน่านตอนล่าง ซึ่ง Cecil Carter กล่าวว่า แม่น้ำโพเกิดจากการรวมตัวกันของแม่น้ำสวรรคโลกและแม่น้ำพิษณุโลก หากเชื่อมโยงจากข้อมูลนี้ คำว่า “ปากน้ำโพ” จึงอาจหมายถึง “ปากของแม่น้ำโพ” จุดบรรจบที่แม่น้ำหลายสายไหลมารวมกันก่อนจะไหลลงใต้ ซึ่งภายหลังกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางน้ำ และเป็นที่ตั้งของชุมชนพาณิชย์จีนที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งในภาคกลางตอนบน

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงสำคัญของนครสวรรค์ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือการหลั่งไหลของชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้มักเดินทางมาทางเรือ และตั้งรกรากบนแพริมแม่น้ำ พื้นที่เดียวที่พวกเขา “เลือกได้” ท่ามกลางโครงสร้างศักดินาที่ไม่เปิดพื้นที่ให้คนไร้ที่ดินครอบครอง
แพริมแม่น้ำจึงไม่ได้เป็นเพียงที่พักอาศัย แต่ยังเป็น “ฐานการค้า” และจุดเริ่มต้นของวิถีชีวิตชาวจีนในปากน้ำโพ ชุมชนเหล่านี้เคลื่อนไหวตามจังหวะของน้ำ สร้างเครือข่ายค้าขายที่ไหลลึกไปตามลำน้ำเจ้าพระยา และค่อยๆ ก่อตัวเป็น “เมืองพาณิชย์” จนกลายเป็นที่ตั้งใหม่ของเมืองนครสวรรค์ แทนที่เมืองนครสวรรค์เดิม บริเวณตำบลนครสวรรค์ตออก และนครสวรรค์ตก ในที่สุด ที่มีชีวิตชีวาไม่แพ้หัวเมืองใหญ่
การตั้งรกรากในพื้นที่ใหม่ย่อมมาพร้อมกับความรู้สึกแปลกแยก ชาวจีนปากน้ำโพจึงเริ่มสร้าง “ศูนย์รวมใจ” ของตนเองขึ้นมา เช่น “ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์” ที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำน่าน กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนในช่วงเปลี่ยนผ่านจากผู้มาเยือนสู่ผู้ตั้งถิ่นฐาน สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของชุมชนจีนในการสร้าง “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ที่ผูกพันกับแผ่นดินใหม่ ทั้งเพื่อความมั่นคงทางใจ และเพื่อประกาศความเป็นเจ้าของพื้นที่ในอีกนัยหนึ่ง
หากมองเมืองในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวตามผู้คน เราจะเข้าใจอำนาจและเศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัยได้อย่างไรครับ?
ในประวัติศาสตร์สยาม การกำหนด “เมือง” ไม่ได้ตายตัวที่ถูกวางลงบนแผนที่โดยรัฐ หรือถูกตีกรอบไว้ด้วยกำแพงเมืองเพียงอย่างเดียว หากแต่เมืองคือสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวไปตามผู้คน ยิ่งในช่วงปลายของระบอบศักดินา จุดใดที่ผู้คนรวมตัวกัน จุดนั้นย่อมกลายเป็นศูนย์กลางโดยปริยาย เพราะเศรษฐกิจจะหมุนเวียน ณ ที่แห่งนั้น มีตลาด มีการค้า มีความเป็นอยู่ และมีชีวิตเมืองที่เกิดขึ้นจริง นครสวรรค์เป็นตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการนี้ การเคลื่อนย้ายศูนย์ราชการตามผู้คนจึงไม่ใช่เรื่องผิดธรรมเนียม อย่างไรก็ตาม มันคือกลไกที่เมืองใช้ปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตผู้คน
ตัวอย่างลักษณะเช่นนี้ยังปรากฏในเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ เช่น เมืองสงขลา ซึ่งเคยมีเมืองเก่าริมทะเล แต่เมื่อหาดใหญ่เติบโตขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ หน่วยงานราชการก็ค่อยๆ เคลื่อนย้ายตามไป หรือในกรณีเมืองพิชัย ที่เคยเป็นเมืองสำคัญในอดีต แต่เมื่อ “ตำบลบางโพท่าอิฐ” กลายเป็นย่านการค้าที่สำคัญ จึงถูกตั้งเป็นเมือง “อุตรดิตถ์” เพื่อสะท้อนศูนย์กลางใหม่ของความเจริญ
แม้รัฐจะพยายามกำหนดขอบเขตของเมืองจากศูนย์กลางอำนาจราชการ แต่ในทางปฏิบัติ เมืองกลับมักถูกขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจและผู้คนมากกว่าเสมอ
แล้วเราจะเข้าใจ “ตัวเมือง” ได้ลึกซึ้งขึ้นอย่างไร หากมองผ่านมิติของชีวิตผู้คน แทนที่จะมองแค่เส้นแบ่งเขตบนแผนที่?
“ความเป็นเมือง” ในอดีต ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าโดยรัฐ หรือจำกัดอยู่เพียงพื้นที่ที่ราชการกำหนด แต่กลับถูกกำหนดจากการเคลื่อนไหวของผู้คนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เมืองจึงเกิดขึ้นตรงไหนที่มีคนอยู่ มีตลาด มีการค้า และมีชีวิตจริง
นครสวรรค์คือหนึ่งในตัวอย่างชัดเจนของกระบวนการนี้ จากเมืองดั้งเดิมบริเวณตำบลนครสวรรค์ตก และตำบลนครสวรรค์ออก เมืองเริ่มขยับตามการเปลี่ยนแปลงของผู้คน โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการสร้างเส้นทางรถไฟ และมีการอพยพของชาวจีนจำนวนมากเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ ชุมชนแพริมแม่น้ำน่านเดิมเริ่มรองรับประชากรไม่ไหว ผู้คนจึงค่อยๆ เคลื่อนย้ายมายังฝั่งเกาะยม และ ฝั่งแม่น้ำปิง ศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมืองในปัจจุบัน
ที่ว่าการอำเภอเดิม ซึ่งเคยตั้งอยู่ที่บ้านแก่ง ก็ย้ายตามมาที่ปากน้ำโพ การย้ายเช่นนี้ไม่ใช่เพียงการจัดวางใหม่ของราชการเท่านั้น แต่เป็นการยอมรับโดยพฤตินัยว่า พื้นที่ใหม่คือ “ตัวเมืองนครสวรรค์” อย่างแท้จริง แม้ในทางภูมิศาสตร์หรือการปกครอง ตำบล “นครสวรรค์ตก” และ ตำบล “นครสวรรค์ออก” จะยังเป็นพื้นที่ของเมืองเดิม
กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเราเห็นตัวอย่างคล้ายกันในหลายพื้นที่ เช่น สงขลา-หาดใหญ่: เมืองเดิมคือสงขลา แต่หาดใหญ่กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ พิชัย-อุตรดิตถ์: เมืองพิชัยเสื่อมบทบาทลงเมื่อมีการค้าไม้ซุงทำให้อุตรดิตถ์เติบโตขึ้นเป็นศูนย์กลางใหม่ ในกรณีนครสวรรค์ “ปากน้ำโพ” แม้จะถูกจัดว่าเป็นเพียงตำบลในเชิงราชการ แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นหัวใจของเมือง เพราะเป็นที่รวมของผู้คน โดยเฉพาะชาวจีนที่มีบทบาทสูงในการค้าขาย การเดินเรือ และการพัฒนาเมือง คนจีนมาอยู่ตรงไหน ตรงนั้นมักกลายเป็นตลาด และถ้าตลาดคึกคัก เมืองก็จะย้ายตามไปเอง
ชุมชนแพริมแม่น้ำ โดยเฉพาะริมแม่น้ำน่าน และเกาะยม เคยเป็นพื้นที่ของชาวจีน เพราะอยู่ใกล้น้ำ สะดวกต่อการค้าขาย บ้านเรือนถาวรไม่ใช่สิ่งจำเป็น ชีวิตสามารถล่องลอยไปตามน้ำได้แต่เมื่อมีการพัฒนาระบบรางในรัชกาลที่ 5 เมืองเริ่ม “ขึ้นจากน้ำ” ตามโครงสร้างการคมนาคมแบบใหม่ ผู้คนจากฝั่งแม่น้ำน่านค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาตั้งรกรากบนเกาะยม และฝั่งตลาดลาวยาวไปจนถึงวัดหัวเมือง ที่ต่อมากลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมือง แม้กระทั่ง “ตลาดลาว” ก็สะท้อนความเป็นเมืองชายขอบที่คนจาก “ลาวล้านนา” หรือลุ่มน้ำตอนบน เดินทางมาพบกับผู้คนจากโลกภาคกลางจุดที่เมืองในฐานะพื้นที่แลกเปลี่ยนทั้งสินค้าและวัฒนธรรม ค่อยๆ ก่อรูปขึ้น
เมืองไม่ได้หยุดนิ่ง มันขยับตามผู้คน ตามเศรษฐกิจ และตามแม่น้ำ
ถ้าเมืองขยับตามเศรษฐกิจและผู้คน แสดงว่า “ตลาด” คือศูนย์กลางของผู้คน ลองแนะนำตลาดที่โดดเด่นหน่อยได้ไหมครับ
“ตลาดลาว” ในนครสวรรค์ อาจสงสัยว่าเหตุใดจึงเรียกชื่อนี้ ทั้งที่พื้นที่แห่งนี้ไม่ได้อยู่ในประเทศลาว คำตอบนั้นอยู่ในประวัติศาสตร์ของการเรียกขานและการค้าขายที่เชื่อมโยงภาคเหนือกับภาคกลางในอดีต ในยุคก่อนหน้าที่จะมีการนิยามชาติพันธุ์อย่างเป็นทางการ คนภาคกลางมักใช้คำว่า “ลาว” เรียกผู้คนจากลุ่มน้ำทางเหนือ ไม่ว่าจะเป็นชาวลาวล้านนา ลาวพวน ลาวพุงดำ หรือแม้แต่ผู้คนจากเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ก็ถูกรวมเรียกว่า “ลาว” ทั้งหมดในความเข้าใจของคนกรุงเทพฯ และหัวเมืองภาคกลาง
บริเวณตลาดลาวจึงเป็นจุดที่ผู้คนจากภาคเหนือเดินทางลงมาตามลำน้ำ พร้อมกับนำสินค้าพื้นบ้าน มาลงไว้ที่นี่ เพื่อรอขนต่อไปยังเมืองชั้นใน เช่น อยุธยา หรือกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกัน พ่อค้าจากกรุงเทพและภาคกลางตอนล่างก็นำสินค้าของตนขึ้นมาขายแลกเปลี่ยนตรงจุดนี้เช่นกัน ทำให้ “ตลาดลาว” กลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างภาคเหนือและภาคกลางที่สำคัญ ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ตลาดลาวกลายเป็นศูนย์กลางการค้าไม้จากภาคเหนือ โดยเฉพาะไม้จากภาคเหนือ แพจะถูกล่องลงมาตามแม่น้ำปิง ก่อนจะเปลี่ยนรูปแบบของแพซุง เพื่อล่องต่อไปที่กรุงเทพ

ตลาดลาวจึงไม่ใช่แค่ตลาดค้าขายทั่วไป แต่เป็น “ชุมทางการค้าไม้” ที่มีสำนักงานของบริษัทค้าไม้หลายแห่งตั้งอยู่ หนึ่งในหลักฐานสำคัญที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันคือ สมาคมฮากกา ซึ่งแต่เดิมคือ สำนักงานของ “บริษัท ป่าไม้ธัญญะผลล่ำซำ จำกัด” เมื่อเศรษฐกิจเฟื่องฟู ผู้คนก็เริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณตลาดลาวมากขึ้น ชุมชนที่นี่จึงหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งชาวจีนจากโพ้นทะเล คนพื้นถิ่น และผู้คนจากลุ่มน้ำทางเหนือที่เดินทางลงมาแล้วปักหลักอยู่ที่นี่ถาวร
ตลาดลาวจึงไม่ใช่แค่ “ตลาด” หากแต่เป็นพื้นที่พยานของประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐาน การค้าขาย และการหลอมรวมของผู้คนจากเหนือ กลาง ใต้ ในพื้นที่เดียวกัน

ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย หากจะมองหาจุดที่แสดงให้เห็นว่า “แม่น้ำคือชีวิต” และ “การค้าคือแรงขับของเมือง” ตลาดลาวก็คือจุดนั้นอย่างแท้จริง ในอดีต พื้นที่บางส่วนของตลาดปากน้ำโพเคยมี “บ่อน” “โรงยาฝั่น” และ “โรงน้ำชา” ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในที่ดินราชพัสดุ แต่เมื่อมีผู้คนเข้ามาตั้งรกรากมากขึ้น พื้นที่ดังกล่าวจึงถูกพัฒนา เป็นอาคารพาณิชย์ให้เช่า และกลายเป็นชุมชนขนาดย่อมที่ขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
บ้านปากน้ำโพฝั่งตะวันตกกลายเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญ มีทั้งท่าเรือโดยสาร และท่าขนถ่ายสินค้าที่มุ่งสู่สถานีรถไฟนครสวรรค์ ก่อนจะลำเลียงต่อไปยังภาคเหนือ หรือ ส่งลงกรุงเทพฯ
ระบบท่าเรือในอดีตไม่ได้มีการรวมศูนย์ แต่กระจายเป็น “ท่าย่อย” บางแห่งมีเจ้าของเรือเป็น “นายท่า” คอยควบคุมระบบการขนส่งสินค้าและผู้คน พื้นที่ริมน้ำเหล่านี้จึงเป็น “ปอดทางเศรษฐกิจ” ที่ช่วยขับเคลื่อนเมืองในยุคก่อนระบบถนนจะเติบโต
อาจารย์พยายามทำให้เห็นว่าเมืองไม่ตาย แต่มันย้าย แล้วทำไมใจกลางเมืองเก่าจึงกลายเป็นพื้นที่ร้าง?
เมื่อก่อนการค้าขายเน้นทางน้ำเป็นหลัก แต่พอเวลาผ่านไป ระบบคมนาคมเริ่มเปลี่ยน คนหันมาใช้รถกันมากขึ้น การขนส่งทางเรือก็ค่อยๆ หมดความนิยม ปากน้ำโพเคยเป็นศูนย์กลางเพราะแม่น้ำ แต่เมื่อมีถนนแทนที่ ท่าเรือเริ่มไม่ได้รับความนิยม
เมืองไม่ตาย แต่มันย้าย มันขยายตัวออกไปตามแนวถนน
ยิ่งเมืองเจริญขึ้นมากเท่าไหร่ ขอบเขตเมืองก็ขยายออกไปย่านชานเมืองมากเท่านั้น พื้นที่ใจกลางเมืองในอดีตจึงกลายเป็นสิ่งที่ด้านการออกแบบผังเมือง เรียกว่า “เมืองหด” กล่าวคือ เมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ หมดบทบาทลงไป
อธิบายภาวะเมืองหดง่ายๆ คือมันเริ่มจากพื้นที่หนึ่งเป็นศูนย์กลางของผู้คน พอคนแห่มาอยู่หนาแน่นเกินไป มันก็เริ่มกระจายตัวไปยังพื้นที่รอบนอก ไปยังย่านชานเมือง แล้วที่แตกออกไปก็กลายเป็นศูนย์กลางใหม่อีกที
เมืองที่เคยหนาแน่นกลายเป็นเมืองที่ผู้คนค่อยๆ ย้ายออกไป อยู่พื้นที่รอบนอกที่ทีพื้นที่มากกว่า ขยายกิจการได้ง่ายกว่า คล่องตัวกว่า และประหยัดกว่าทั้งในการอยู่อาศัย การเดินทาง และค่าเช่า ในย่านเศรษฐกิจดั้งเดิมของปากน้ำโพ บริเวณถนนโกสีย์ ส่วนใหญ่เป็นอาคารเก่า ตั้งอยู่บนที่วัดหรือ ที่ราชพัสดุการต่อเติมเพิ่มขยายทำได้ลำบาก การขายต่อทำได้เพียง ขาย “สิทธิ์การเช่า” ซึ่งมีราคาสูง สวนทางกับมูลค่าของทำเลที่ลดลง
เพราะความไม่แน่นอนของที่ดินในเขตเมืองเก่า การพัฒนาเมืองจึงหยุดชะงัก คนเริ่มหันไปลงทุนรอบนอกแทน เนื่องจากพื้นที่โล่งกว่า ถนนกว้างกว่า ค่าเช่าถูกกว่า มีที่จอดรถและความยืดหยุ่นในการออกแบบร้านค้า ชีวิตง่ายกว่า ลูกค้าก็พร้อมจะเปลี่ยนพฤติกรรมตาม
ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาซื้อของในเมืองเหมือนเมื่อก่อนแล้ว บางคนสั่งของออนไลน์ไปเลย พอพื้นที่กลางเมืองพัฒนาไม่ได้ มันก็เลยเกิดวงจร ‘เมืองหด’
เมืองเก่าถูกทิ้ง เมืองใหม่เติบโตข้างนอกแทน
ในอดีต ปากน้ำโพโตจากการเป็น “จุดพักแรม” มีโรงแรม โรงหนัง สถานบันเทิง มีร้านข้าวต้มเปิดยันตีสามตี ดูหนังควบสองเรื่องเสร็จ ก็กินข้าวต้มต่อรอบดึกต่อ
แต่แล้ววันหนึ่งระบบเปลี่ยน พอถนนดีขึ้น ทางหลวงเชื่อมไปยังภาคเหนือได้สะดวกขึ้น พวกเซลขายของ ก็ไม่จำเป็นต้องมาพักแรมที่เมืองนครสวรรค์ ขับต่ออีกหน่อย ไปพักที่พิษณุโลก หรือกำแพงเพชรก็ได้ นครสวรรค์ก็หลุดออกจากวงจรเมืองพักแรมสำคัญ ประกอบกับเกิดโรงภาพยนตร์สมัยใหม่ในนอกตลาด โรงภาพยนตร์ดั้งเดิมจึงสูญเสียแรงดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวไป

คำถามสุดท้าย เมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับปากน้ำโพมาก อาจารย์เห็นข้อดีข้อเสียของเมืองปากน้ำโพยังไง
หากตั้งคำถามว่าอะไรในอดีตสามารถต่อยอดไปสู่งานสร้างสรรค์ในปัจจุบันได้บ้าง คำตอบอาจมีหลายอย่าง ในเชิงประวัติศาสตร์ เมืองนี้เคยเป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำ มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับท่าเรือ แพ เรือยนต์ และการขนส่งทางน้ำอย่างแนบแน่น จนสามารถสร้างภาพจำเฉพาะถิ่นขึ้นมาได้
แต่เมื่อพิจารณาลงลึก เรากลับพบว่ามีเพียงไม่กี่สิ่งเท่านั้นที่สามารถนำมาใช้ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดการต่อยอดเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ เพราะ “ถูกควบคุมดูแล หรือ ทำมาเพื่อจุดประสงค์เฉพาะ ปากน้ำโพมีอัตลักษณ์แบบจีนที่ชัดเจน แต่มักเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือพิธีกรรมความเชื่อ ซึ่งมักอยู่ในความดูแลของสมาคมหรือกลุ่มเฉพาะที่มีจุดประสงค์เพื่อการกุศล เราจึงไม่สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาหารายได้แบบจริงจังได้
พิธีกรรมในนาฏกรรมท้องถิ่นหรือการไหว้เจ้าก็เช่นกัน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีพลังและเป็นที่รู้จัก แต่การจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการซ้อม การจัดการ หรือแม้แต่การนำไปต่อยอดในรูปแบบใหม่ๆ ก็เต็มไปด้วยข้อจำกัด ทั้งในแง่ของเวลา ความละเอียดอ่อนด้านความเชื่อ เพราะถูกอนุรักษ์ไว้
นอกจากนั้นความเป็นจีนในรูปแบบของสถาปัตยกรรม อาคารสถานที่ และ การแต่งกาย เป็นสิ่งที่เคยมีและกลืนกลายเป็นความร่วมสมัยไปหมดแล้ว การนำกลับมาใหม่ อาจสร้างกระแสได้เป็นระยะ แต่ไม่ยั่งยืน เพราะไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน
ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่า “ปากน้ำโพไม่มีของ” หรือ “มีแต่ข้อจำกัด” ตรงกันข้าม เมืองนี้มีวัตถุดิบทางวัฒนธรรมมากมาย แต่การจะดึงสิ่งเหล่านี้มาใช้ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือต่อยอดเชิงสร้างสรรค์ ต้องมองให้ลึกไปถึง ความผูกพันธ์คุ้นชิน ความสามารถในการประยุกต์ต่อยอด และระดับการมีส่วนร่วมของผู้คนในพื้นที่ ในการสร้างสิ่งใหม่จากรากฐานเดิมได้แค่ไหน
ในด้านการพัฒนา ปัจจุบันเราเริ่มเห็นการหันกลับมามอง ปากน้ำโพ ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมือง “นครสวรรค์” ผ่านสายตาใหม่ ไม่ใช่แค่เมืองทางผ่านอีกต่อไป แต่เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์ และภาพจำที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นงานสร้างสรรค์ได้หลากหลาย หากลองพิจารณาชื่อ “นครสวรรค์” เพียงอย่างเดียว ก็พบว่ามันถูกนำไปใช้มากมาย ทั้งชื่อถนน ชื่อร้าน ชื่อแบรนด์ต่างๆ ที่พยายามเล่นกับคำว่า “สวรรค์” อย่างแพร่หลาย
หรือแม้แต่ กระแสกินดื่มเที่ยวของผู้คนในปัจจุบัน สามารถนำมาต่อยอดให้เกิดกิจกรรม และความคิดสร้างสรรค์ได้มากมาย โดยไม่ไปกระทบหรือติดข้อจำกัดใดๆ ทางจารีตของสังคม

เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน