คนไท(ย) มาจากที่นี่ ที่นั่น และที่โน้น จากหลักฐานทางโบราณคดี และเกลียว DNA

ภาพปกจากหนังสือ A Pictorial Journey on the old Mekong, Cambodia, laos and Yunnan by Louis Delaporte and Francis Garnier

เรื่อง: ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

“คนไทยมาจากที่นี่ ที่นั่น และที่นู้น” เป็นวลีของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และปัญญาชนผู้ล่วงลับในหนังสือเรื่อง ความไม่ไทยของคนไทย ที่พยายามอธิบายให้เห็นความเชื่อมโยงของผู้คนในดินแดนตอนในของเอเชียตะวันออกเชียงใต้ผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงการอพยพโยกย้ายของผู้คนที่หลากหลาย คนไทยจึงมีทั้งการอพยพมาจากที่นู่น ที่นี่ และมีคนอยู่ตรงนี้ด้วย นอกจากมุมมองและหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว มุมมองทางโบราณคดี และDna ก็เป็นส่วนสำคัญในการช่วยทำความเข้าใจต่อประเด็นนี้ได้ลุ่มลึกขึ้นเช่นกัน

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมามีการจัดเสวนาทางวิชาการอ่านเปิดโลก (ครั้งที่ 11) ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการเปิดตัวหนังสือ เรื่อง “ดีเอ็นเอไม่ไทย บรรพชนไทยไม่แท้” หนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนที่พิมพ์เมื่อปีที่แล้ว ที่ใช้ข้อมูลทาง DNA เข้ามาพิสูจน์เรื่องคนไทยมาจากไหน

วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (ผู้เขียนหนังสือ) ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ดร.ปัทมนันท์ ปุณเสรีพิพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

วิภู กุตะนันท์ เริ่มต้นประเด็นเกี่ยวกับหนังสือว่า หนังสือดีเอ็นเอไม่ไทย บรรพชนไทยไม่แท้ ว่าเป็นการเขียนจากประสบการณ์เกี่ยวกับงานวิจัยที่ศึกษาประเด็นเกี่ยวกับ DNA มาตั้งแต่ปี 2546 สมัยเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ได้ทำโปรเจกต์เกี่ยวกับ “ลัวะเมืองน่านมีจริงหรือไม่ สืบสาวด้วยวิธีทางพันธุศาสตร์” หลังจากนั้นได้มีโอกาสทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ DNA มาตอบคำถาม 

ตอบประเด็นสงสัยที่นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา หรือประเด็นต่างๆ ที่ยังไม่ถูกเขียนไว้ในประวัติศาสตร์โดยการนำข้อมูลทาง DNA มาโต้แย้งว่าผล DNA มันสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องอย่างไร เล่มนี้จึงเป็นการรวบรวมมา 20 กว่าปีพยายามเขียนให้คนนอกสาขาให้อ่าน ในส่วนของหลักการวิเคราะห์ DNA มันมีความซับซ้อนมาก จึงไม่สามารถเขียนทุกอย่างได้ และมีผลการศึกษาอยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย ท้ายที่สุดแล้วจึงเป็นการตอบคำถามที่ว่าพวกเราคือใครมีบรรพชนมาจากไหน และก่อนหน้านั้นมีใครมาอยู่ก่อน

“แรงบันดาลใจของหนังสือเล่มนี้ คือตอนสมัยเรียนปริญญาเอกด้านชีวะวิทยา ได้มีโอกาสได้ไปเรียนวิชาก่อนประวัติศาสตร์ แล้วรู้สึกสนุก และได้มีโอกาสเจออาจารย์กับอาจารย์รัศมี จึงได้แรงบัลดาลใจในการทำงาน และเป็นคนจุดประกายให้เราอย่างต่อเนื่อง และให้เราเข้ามาทำงานทางด้านนี้” วิภูกล่าว

รัศมี ชูทรงเดช กล่าวว่า ในทศวรรษที่ 2540 มีกระแสไทยศึกษา และงานวิจัยเกี่ยวกับคนไทยจึงมีจำนวนมาก โดยเฉพาะสายอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่สนใจเรื่องทางจีนตอนใต้ และได้จับกลุ่มกันเรื่องคนไทยอะไรต่างๆ เราก็เห็นอาจารย์วิภูก็เริ่มสนใจในเรื่องของ DNA โบราณมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการที่เขาได้รับทุนไปทำวิจัยหลังปริญญาเอกที่ประเทศเยอรมันนี ตอนนั้นเราก็เริ่มคุยกันบ่อย โดยเฉพาะตนเองสนใจในเรื่อง DNA ว่าของคนไทยเราเนี่ยเป็นยังไง และเราอยากสร้างนักวิจัยที่เป็นคนไทยเองด้วย เพราะเราเคยทำเรื่อง DNA มาแล้วช่วงปี 2540 แต่ตอนนั้นเรายังทำไม่ได้เพราะไม่มีนักวิจัย และผู้เชี่ยวต่อชาญเรื่องนี้ เราจึงชวนอาจารย์เข้ามาร่วมงานในโครงการวิจัยด้วย

โบราณคดีและพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา 101

รัศมีอธิบายประเด็นการศึกษาทางโบราณคดีว่า การศึกษาทางโบราณคดีเป็นส่วนหนึ่งของสาขามานุษยวิทยา เพราะเราศึกษามนุษย์และวัฒนธรรมของมนุษย์ในอดีตผ่านวัตถุ นักโบราณคดีประกอบสร้างวัตถุต่างๆ ที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งเราไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร แต่แนวคิดหลักคือการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในอดีต ส่วนในต่างประเทศ จะมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน ฉะนั้นเราจึงมีนักโบราณคดีที่เชี่ยวชาญด้านพาชนะดินเผาหนึ่งคน นักโบราณคดีด้านกระดูกคนหนึ่งคน ฯลฯ แต่บ้านเราไม่เป็นแบบนั้น เราจึงต้องอาศัยนักวิทยาศาสตร์จากที่อื่น

รัศมีกล่าวต่อว่า โดยธรรมชาติของงานโบราณคดีเรามักใช้สังคมวัฒนธรรมแล้ว ยังต้องใช้วิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ด้วย โบราณคดีจึงมีวิชาในกลุ่มวิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมเพื่อทำการวิเคราะห์ด้วย ดังนั้นโบราณคดีจึงมีวิชาปฐพีวิทยา วิชาอนาโตมี และพันธุศาสตร์โบราณคดี ฯลฯ และสุดท้ายความรู้ทางวิทยาศาสตร์พวกนั้นมาตีความในเรื่องของระบบคิด สัญลักษณ์ต่างๆ ว่ามีมนุษย์มีสัญลักษณ์ในอดีตไหมในวิธีคิดของพวกเขา 

“ส่วนพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา/โบราณคดีในบ้านเรายังไม่เป็นที่รู้จักเท่าใหร่ ในต่างประเทศคำนี้เป็นการศึกษาแขนงหนึ่งของวิชาพันธุศาสตร์ เป็นการศึกษาลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืช สัตว์ คน จุลลินทรีย์ และพันธุศาสตร์ก็มีแขนงย่อยออกไปอีกในบ้านเราก็จะรู้จักเช่น พันธุศาสตร์ของเซลล์ พันธุศาสตร์ของประชากร แต่เราแทบไม่ได้ยินพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา/โบราณคดีเลย” รัศมี กล่าว

วิภูกล่าวต่อว่า เราแทบไม่ค่อยได้ยินพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา/โบราณคดี เพราะมันไม่มีคนศึกษา ซึ่งเป็นการเอาความรู้ทางพันธุศาสตร์ประชากร และชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics) ทั้งสองศาสตร์นี้ก็เพื่อจะรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงในเชิงประชากรเป็นอย่างไร และเอาความรู้อีกแขนงหนึ่งทางพันธุศาสตร์ คืออณูพันธุศาสตร์ (molecular genetics) ในการเอาข้อมูลทาง DNA ออกมา ทั้งสามแขนงนี้นำมาใช้ร่วมกันในการประมวณผลและนำผลนั้น ไปตอบคำถามเชิงโบราณคดี และมานุษยวิทยา 

“นอกจากการวิเคราะห์ในเชิงพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยา/โบราณคดีแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์คือด้านภาษาศาสตร์ เราเชื่อมโยงไปในเรื่องของประชากรได้ แต่คำว่าคนมันมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพราะมันมีวัฒนธรรม ภาษา เชื้อชาติ เข้ามาเกี่ยวข้อง การจัดประชากรของคนหลักอย่างหนึ่งคือภาษาพูด เราใช้ในการตั้งสมมุติว่า คนแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน แต่คำตอบอาจจะไม่ใช่ก็ได้ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นกลุ่มคนเดียวกัน เราก็รู้จาก DNA นี่แหละครับ” วิภูกล่าว

DNA ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนไทยอย่างไร

“หนังสือ ดีเอ็นเอไม่ไทย บรรพชนไทยไม่แท้ เป็นผลการศึกษาของกลุ่มประชากรไทยทั่วทั้งประเทศ ถ้าเราอ่านจบจะพบว่า แต่ละภูมิภาคคนไทยมีพันธุศาสตร์ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกันอย่างไร คนภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ มี DNA เป็นแบบไหน พอพูดถึง DNA เราจะนึกถึงวิทยาศาสตร์เสียทีเดียว แต่เราให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และก่อนประวัติศาสตร์ การเคลื่อนย้ายของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ตั้งแต่การอพยพสมัยโบราณเลย” วิภูกล่าว

วิภูกล่าวเสริมว่า ผมเริ่มตั้งแต่การเก็บของป่าล่าสัตว์ (hunter-gatherer) ก็คือชาวมานิ เราเชื่อว่าคนไทยเราอพยพมาจากแอฟริกาไหม? มนุษย์ปัจจุบันที่ยังเหลือสปีชีส์เดียวอยู่เป็นมนุษย์ที่อพยพออกมาจากแอฟริกา และกลุ่มที่สืบสายมาจากประชากรนั้นก็คือกลุ่มที่ยังเก็บของป่าล่าสัตว์อยู่ ซึ่งมีลักษณะทางฟีโนไทป์ผมหยิก ผิวคล้ำ และความสูงไม่มาก และหนังสือเล่มนี้ก็พยายามจะบอกว่า ผลการศึกษา DNA สนับสนุนสิ่งที่เราเสนอไหม

ขยับมาที่ผลการศึกษา DNA ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางและภาคใต้ มันเป็นอย่างไร และส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ก็จะเป็นการศึกษา DNA โบราณด้วย ซึ่ง DNA โบราณในบ้านเราเป็นเรื่องยากมาก เพราะมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวน ตัวอย่างโบราณที่ค้นพบ โอกาสที่จะหา DNA ค่อนข้างยาก และประสบความสำเร็จน้อยมาก 

หากเทียบการศึกษาในต่างประเทศด้วย ผมก็เลยอยากนำเสนอว่า DNA ที่เราศึกษากระดูกโบราณ ณ ปัจจุบันนี้ เป็นอย่างไร และบ่งบอกอะไรเกี่ยวกับการอพยพโยกย้ายของคน และจะเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งในอนาคตนี่สำคัญเพราะมันจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ มันสามารถเข้าใจลักษณะจำเพาะของโรคเฉพาะถิ่นได้ 

ตัวอย่าง DNA โดยย่อของแต่ละภูมิภาค ภาคที่น่าสนใจคือภาคอีสาน เนื่องจากมี DNA ระหว่างชาย-หญิงแตกต่างกัน เราแยกระหว่างชาย-หญิง เพราะโครโมโซม Y เป็นโครโมโทรมที่ถ่ายทอดทางเพศชาย และไมโตรคอนเดรียเป็นโครโมโซมที่ได้รับการถ่ายทอดจากเพศหญิงเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจของคนอีสานก็คือ ผู้หญิงมีการถ่ายทอด DNA มาจากสิบสองปันนา ในขณะที่ผู้ชายเป็น DNA ผสมระหว่างกลุ่มคนดั่งเดิมจากเขมร และสิบสองปันนา นั่นแปลว่า ผู้หญิงอีสานปัจจุบันอพยพมาจากสิบสองปันนาในช่วงประวัติศาสตร์ และอาจจะแต่งงานกับคนดั่งเดิมก็คือเขมร แต่มีจำนวนไม่มาก ประมาณ 30 เปอร์เซนต์ 

ในภาคกลาง ผู้หญิงมี DNA ผสมระหว่างมอญกับคนไทสิบสองปันนา ในขณะที่ DNA ของคนไทยภาคกลางมีพันธุกรรมที่เหมือนกับชาวมอญ นอกจาก DNA ที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคแล้วยังมีความแตกต่างกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงด้วย

วิภูกล่าวต่อว่า ข้อค้นพบที่ผมภูมิใจมาก คือ DNA ภาคกลางและใต้มี DNA ของคนอินเดียด้วย ในกลุ่มของประชากรภาคกลางและภาคใต้ ส่วนหนึ่งที่แตกต่างไปจาก DNA ของคนภาคเหนือและภาคอีสาน ก็คือการได้รับ DNA จากอินเดีย และเราประมาณอายุของการผสมจาก DNA เราได้ประมาณอายุอยู่ที่ 1200 ปี ตรงกับสมัยทวารวดีช่วงปลายแล้ว นอกจากไทยแล้ว พม่ามี DNA ของคนอินเดียประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เลย

รัศมีเล่าถึงการศึกษา DNA โบราณคดีในพื้นที่ปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮองสอน เพื่อทำความเข้าใจว่า DNA มีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจผู้คนแบบไหน “ เราเจอหลักฐานการอาศัยอยู่ของคนมากว่า 30000 กว่าปี เราเจอกระดูกคนที่มีอายุ 13000 ปี 12000 ปี และอายุ 9000 ปี เพราะฉะนั้นเราเห็นความต่อเนื่องของคน แต่ทั้งหมดในกลุ่มนี้เราหา DNA และเราสกัด DNA ไม่ได้ อาจารย์วิภูจึงเข้าทำงานวิจัยก็คือกลุ่มวัฒนธรรมโลงไม้ อยู่ในสมัยเหล็ก DNA ที่อยู่ตรงนั้นเราจึงสามารถระบุได้ถึงประชากรที่มาจากทางกวางชี กับยูนนาน อาจารย์วิภูวิเคราะห์ในรายละเอียดและพบว่า มันมีตัวอย่างเดียวคือมาจากทางเหนือมากๆ เลยคือแม่น้ำเหลือง (ตอนใต้ของทิเบต) เราจะเห็นได้ว่ามันมีกลุ่มคนที่หลากหลายมาก แต่เราไม่ยืนยันว่ามันสืบเชื้อสายมาที่ประชากรในปัจจุบันหรือเปล่า”

ภาพจาก Thematter. 

รัศมีถามต่อว่า แล้วเรื่องนี้มันมีความสำคัญยังไง “เราสนใจว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธ์ุมันเกิดขึ้นเมื่อใหร่ เราพบว่า 4000 ปีมา แล้ว โดยเฉพาะวัฒนธรรมโลงไม้ที่พบความหลากหลาย ซึ่งเป็นการสกัด DNA โบราณในปัจจุบัน ภาพก่อนที่มาเป็นรัฐในช่วงประมาณ 1300 หรือก่อนหน้านั้น มันมีการติดต่อค้าขายกับคนจากอินเดียกับเมอินเตอร์เรเนียน คนจากเวียดนาม จากจีน ที่มาค้าขายทางทะเลกับภาคใต้สองฝั่งเลย ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ขณะเดียวกัน ทวารวดีซึ่งเป็นรัฐแรกเริ่มของแถบนี้เพราะมีการนับถือศาสนา มันมีหลักฐานของอินเดียที่เข้าไปติดต่อเต็มไปหมด เช่น เครื่องเงิน เครื่องสำริด ลูกปัดมีสี หลักฐานก่อนหน้านั้นมีคนดั่งเดิมอยู่ก่อนแล้ว และมีการปฏิสัมพันธ์กันเต็มไปหมด” และรัศมีกล่าวตอนท้ายว่า

ความรู้ตรงนี้นอกจากมีส่วนทำความเข้าใจผู้คนในอดีตแล้ว มันมีส่วนในการทำความเข้าใจสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย เมื่อเราเข้าใจเราจะไม่รู้สึกว่าคนที่ต่างจากเราเป็นคนอื่น เพราะวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดเรามีรากร่วมกัน”

เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง