พฤษภาคม 20, 2024

    “ขอเราจงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว“ นักกิจกรรมไทย-เมียนมา จัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 3 ปี รัฐประหารเมียนมา

    Share

    1 กุมภาพันธ์ 2567 ภาคีเครือข่ายนักกิจกรรมเมียนมาและไทย จัดกิจกรรม UP AGAINST THE DICTATOR-SHIT เพื่อรำลึกวันครบรอบ 3 ปีของการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ตั้งแต่เวลา 17.00 – 19.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ประตูท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

    ภายในงานมีการจัดนิทรรศการที่ฉายภาพผู้นำเผด็จการเมียนมา รวมไปถึงความเสียหายจากความรุนแรงที่เผด็จการทหารกระทำต่อประชาชนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

    ทั้งนี้ยังมีการอ่านบทกวีจากนักกิจกรรมไทย-เมียนมา และการแสดง Performance Art ที่ฉายภาพความรุนแรงต่อประชาชนเมียนมาต่อเผชิญชะตากรรมตลอด 3 ปีหลังจากการรัฐประหาร และมีการเปิดเวทีให้ประชาชนที่มาเข้าร่วมได้พูดคุยและแสดงออกถึงความอัดอั้นตันใจภายใต้สถานการณ์ของการถูกกดขี่

    นอกจากนี้ยังมีการอ่านแถลงการณ์ร่วมของนักกิจกรรมไทย-เมียนมา มีใจความดังนี้

    ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ พวกเราขอร่วมรำลึก 3 ปีของการกระทำของเผด็จการทหารเมียนมาที่โหดเหี้ยมและเป็นอาชญกรรมต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ในเมียนมา ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีผู้ถูกจับกุม 25,799 คน ในจำนวนนั้นมี 19,911 กำลังถูกกักขังและตัดสินคดี และมีพลเรือนกว่า 4,341 คนเสียชีวิต จากข้อมูลโดยสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP)

    มีประชาชนกว่า 2.3 ล้านคนถูกทำให้พลัดถิ่นตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และมีคน 18.6 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ในจำนวนนี้มีเด็ก 6 ล้านคนรวมอยู่ด้วย กองทัพเมียนมาใช้การโจมตีทางอากาศกว่า 600 ครั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ถึง มกราคม 2023 ซึ่งพื้นที่สะกายได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยถูกทิ้งระเบิดกว่า 90 วัน รวมถึงรัฐคะฉิ่น รัฐคะเรนนี และรัฐกะเหรี่ยงที่ถูกโจมตีทางอากาศเป็นจำนวนมากเช่นกัน ตัวเลขเหล่านี้เน้นให้เห็นถึงผลกระทบในวงกว้างของความขัดแย้งที่กระทบในพื้นที่ 7 รัฐชาติพันธุ์และ 7 แคว้นของประเทศเมียนมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารเป็นต้นมา

    เมื่อใดก็ตามที่ประเทศเมียนมาประสบกับความขัดแย้งและเกิดความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศไทยและประเทศอินเดียกลายเป็นพื้นที่ลี้ภัยสำหรับชาวเมียนมา ประเทศไทยที่มีชายแดนและประวัติศาสตร์ร่วมกับเมียนมาและมีบทบาทสำคัญกับประชาธิปไตยเมียนมา อีกทั้งยังเป็นผู้ลงทุนมากเป็นอันดับที่ 3 ในประเทศเมียนมา ดังนั้นความมีเสถียรภาพและพัฒนาการของประเทศไทยจึงเกี่ยวข้องกับความสำเร็จของเมียนมาโดยตรง นอกจากนี้ความเกี่ยวข้องด้านวัฒนธรรมก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์นี้แข็งแกร่งขึ้น ที่ผ่านมาองค์กรนอกภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรนานาชาติได้จับตามองสถานการณ์ที่ชายแดนอย่างใกล้ชิดและได้ให้การสนับสนุนความช่วยเหลือที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นพื้นที่กันชนที่สำคัญเอื้อให้เกิดพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์และเป็นที่หลบภัยสำหรับผู้ต้องการลี้ภัยจากความขัดแย้งในเมียนมาโดยรองรับผู้ลี้ภัยมากกว่า 90,000 คน ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 80 ทั้งนี้ความสัมพันธ์กับประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้นด้วยการรับผู้ลี้ภัยเพิ่มเติ่มกว่า 45,000 คนหลังการรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เป็นต้นมา ความเอาใจใส่และช่วยเหลือเร่งด่วนจากนานาชาติจึงเป็นที่จำเป็นเพื่อจัดการวิกฤตมุนษยธรรมในภูมิภาคที่สำคัญนี้

    พวกเรานักกิจกรรมชาวไทยและเมียนมา, ขอประณามการรัฐประหารและความโหดเหี้ยมโดยระบอบเผด็จการทหารในช่วงสามปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีความกดดันจากนานาชาติแต่ระบอบเผด็จการทหารยังคงดำเนินการกระทำอันโหดเหี้ยมต่อไปเสมือนเชื่อว่าสามารถทำได้โดยปราศจากความรับผิดชอบ พวกเราขอเรียกร้องให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฏร เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับชายแดน คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศให้ปฏิบัติดังนี้

    1.ต้อนรับ ยอมรับและสนับสนุนความช่วยเหลือที่เพียงพอแก่ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่เกิดจากความขัดแย้งและปัญหาการเมือง โดยเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

    2.ขอให้ยืนยันในหลักสิทธิมนุษยชนและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้พลัดถิ่นจากเมียนมา

    3.ดำเนินการเชิงรุกผ่านการทำงานร่วมกับประชาคมอาเซียนและประชาคมนานาชาติ โดยการสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุผลได้อย่างแท้จริง

    4.สนับสนุนและปกป้องสิทธิของผู้อพยพรวมถึงผู้ที่ทำงานในประเทศไทยด้วยการขยายมาตรการช่วยเหลือและปกป้องที่ครอบคลุมรอบด้าน

    5.สร้างพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนโดยใช้เครือข่ายเหล่านี้เพื่ออำนวยความสะดวกของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามชายแดนเพื่อร่วมกันจัดการอุปสรรคที่กำลังบีบคั้นอยู่

    พวกเราขอเรียกร้องประชาคมนานาชาติให้ดำเนินการดังนี้

    1.ยืนยันว่าผู้นำเผด็จการทหารและผู้มีส่วนร่วมก่ออาชญากรรมทั้งหมดต้องรับผิดชอบกับอาชญากรรมที่ได้ก่อขึ้น

    2.เพิ่มความพยายามในการคว่ำบาตรต่อระบอบเผด็จการทหารรวมถึงมาตรการตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันและก๊าซเมียนมา (Myanmar Oil and Gas Enterprise: MOGE)

    3.หยุดการส่งออกและขายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับทหารเมียนมา

    4.สนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับผู้ประสบความเดือดร้อนโดยเฉพาะผู้ที่พลัดถิ่นจากความเสี่ยงทางการเมืองและความขัดแย้ง

    5.ให้การยอมรับและทำงานร่วมกับผู้ที่มีบทบาทต่างๆ ด้วยความชอบธรรมและให้มีอำนาจควบคุมพื้นที่อย่างเพียงพอ

    สุดท้ายพวกเราขอเรียกร้องทุกฝ่ายให้แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวเมียนมาเพื่อแสดงความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้ากับความสำเร็จของการปฏิวัติ เพื่อทำลายระบอบเผด็จการทหารและเพื่อยืนเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมาในการดิ้นรนต่อสู้จนกว่าจะได้ประชาธิปไตย ตลอดจนสนับสนุนเจตจำนงของประชาชนและสิทธิมนุษชนให้กลับมาในแผ่นดินของเรา

    โดยกิจกรรมสุดท้ายได้มีการจุดเทียนรำลึกและร้องเพลง Closing Solidarity Song เพื่อแสดงความเป็นภราดรภาพร่วมกัน

    Related

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...