พฤษภาคม 20, 2024

    ‘สมชาย’ ชวนคนเชียงใหม่ประกาศ “เมืองมลพิษทางอากาศ” หลังรัฐไม่เหลียวแล

    Share

    2 เมษายน 2567 รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ชวนประชาชนชาวเชียงใหม่ร่วมกันประกาศ “เชียงใหม่เมืองมลพิษทางอากาศ” ผ่านเพจเฟซบุ๊ค ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง โดยมีเนื้อหาดังนี้

    “นับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2567 ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผู้คนจำนวนมากต้องเจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจ ดังสามารถพบเห็นได้จากสื่อสารมวลชนและสื่อสมัยใหม่ที่มีการส่งต่อข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง

    ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนภาคเหนือได้ดำเนินการฟ้องคดีนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำตัดสินเมื่อเดือนมกราคม 2567 ให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เพื่อจัดทำแผนในการรับมือกับปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ก็ได้อุทธรณ์ต่อคำตัดสินของศาลปกครองเชียงใหม่ อันทำให้การแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการทางกฎหมายต้องทอดเวลาออกไป

    ขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศที่รุนแรง ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายที่จะแสดงให้เห็นว่าบัดนี้เชียงใหม่อยู่ภายใต้สถานการณ์ทางมลพิษที่รุนแรง ทั้งที่ควรต้องมีการแจ้งเตือนและการแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันตัวพื้นฐานให้กับประชาชน แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังไม่ปรากฏขึ้นให้เห็น ดังนั้น อย่าคาดหวังเลยว่ารัฐบาลจะลงมือกระทำสิ่งใดที่มากไปกว่าเพียงลมปากที่ไร้ความหมาย

    ในฐานะประชาชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ใคร่ขอเรียกร้องให้ประชาชนที่ตระหนักในปัญหานี้ร่วมกันประกาศว่าเชียงใหม่คือเมืองมลพิษทางอากาศ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐบาลมาทำหน้าที่แต่อย่างใด

    การร่วมกันประกาศว่าเรากำลังอยู่ในเมืองที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศ มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความตระหนักว่าสภาพแวดล้อมขณะนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้คนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างรุนแรง เพื่อให้ประชาชนป้องกันตนเองเท่าที่จะกระทำได้ การปล่อยให้เด็ก ๆ คนแก่ ผู้ใช้แรงงาน พ่อค้าแม่ค้า คนทำงานที่ต้องอยู่ในพื้นที่โล่งโดยไม่มีการแจ้งถึงการป้องกันตัวถือเป็นความอำมหิตอย่างยากจะปฏิเสธ

    สำหรับความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวมาน้อยลง เราสามารถปิดบังข้อมูลเรื่องฝุ่น PM 2.5 ให้พ้นจากสายตาของคนอื่น ๆ ได้หรือ ณ เวลานี้ข้อมูลเรื่องฝุ่นของเชียงใหม่กระจายไปอย่างกว้างขวาง สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ การแจ้งเตือนต่อผู้ที่จะเดินทางมายังเชียงใหม่ให้ต้องระวังตัว ระวังการใช้ชีวิต การปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรีอันพึงได้รับความเคารพเป็นสิ่งจะแสดงให้เห็นถึงความงดงามของคนเชียงใหม่มากกว่าเพียงการห่วงเงินในกระเป๋าตังค์ของพวกเขาเหล่านั้นมิใช่หรือ

    จึงขอเชิญชวนให้ร่วมกันประกาศว่าขณะนี้ เชียงใหม่คือเมืองมลพิษทางอากาศ เพื่อสร้างความตระหนักต่อความรุนแรงของปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยไม่จำเป็นต้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐเป็นผู้ประกาศ เพราะชัดเจนว่ายากจะฝากความหวังไว้ได้

    ด้วยความห่วงใยต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนภายใต้วิกฤติฝุ่น”

    โดยในวันนี้ (2 เมษายน 2567) เว็บไซต์ CMU CCDC สามารถวัดค่าฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ชี้ให้เห็นปริมาณค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดที่มีค่าสูงขึ้นและเกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพทุกจังหวัดโดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีค่าฝุ่น PM2.5  มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ รพ.สต.บ้านปางมะเยา ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 313 (ug/m³), ทต.เมืองนะ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 298 (ug/m³) และ รพ.สต.บ้านเมืองงาย ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 261 (ug/m³) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงที่สุดในประเทศไทย

    Related

    60 กว่าปีที่รอคอย ขบวนความหวัง รถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คุ้มไหมกับที่หวัง?

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน “เชียงรายจะมีรถไฟแล้ว” ประโยคขายฝันที่ฉันได้ยินตั้งแต่เด็กจนตอนนี้ใกล้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังไม่เคยเห็นรถไฟที่ว่านั้นสักที ด้วยภูมิประเทศอันประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ที่ยากลำบากต่อการก่อสร้างและความคุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้เส้นทางรถไฟสายเหนือของไทยสิ้นสุดอยู่เพียงที่ชานชาลาเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน  จากทางรถไฟที่เฝ้ารอมาหลายสิบปี ผู้เฒ่าหลายคนล้มหายตายจากไปทั้งที่ยังไม่ได้เห็นแม้ร่องรอย คำบอกเล่าว่าทางรถไฟจะผ่านบ้านเราแล้ว ประโยคดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นจริง...

    ไกลศูนย์กลาง: กลับไปอ่าน “แก้วหยดเดียว” ของศรีดาวเรือง: การตั้งคำถามต่อการไม่มีสวัสดิการของแรงงานไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีวันสำคัญของสามัญชนคนธรรมดาที่น้อยนักจะปรากฏได้ในปฏิทิน นั่นคือวันแรงงานสากล หรือเมย์เดย์ (May Day) ผู้เขียนจึงนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดชีวิตและน้ำเสียงของแรงงานจากวรรณกรรม แม้ว่าวรรณกรรมชิ้นนี้จะเก่าไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงนำพาให้ได้เห็นร่องรอยเคล้าลางบางอย่างที่แช่แข็งและไปไม่ถึงไหนจวบจนปัจจุบัน...

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...