พฤษภาคม 18, 2024

    เกษตรกรเหนือ 200 ชีวิต ร่วมจับตาประชุมแก้ไขปัญหาที่ดิน กระทรวงทรัพยฯ ภาคเหนือ

    Share

    เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน จำนวนกว่า 200 คน ร่วมติดตามสถานการณ์การประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ส่วนจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ซึ่งระหว่างการดำเนินการประชุมภายในห้องประชุม ประชาชนที่เดินทางมาร่วมติดตามได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยสะท้อนปัญหาที่แต่ละชุมชนได้รับผลกระทบและความต้องการในการเร่งแก้ไขปัญหา

    การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคนี้ สืบเนื่องจากการปักหลักชุมนุมพีมูฟทวงสิทธิที่ได้มีการจัดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีมติในที่ประชุมให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมการแก้ไขปัญหา 4 ภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหาพีมูฟจำนวน 170 กรณีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และให้ผู้ตรวจกระทรวงเป็นประธานการประชุม เนื่องจากสามารถสั่งการดำเนินงานได้ทั้ง 3 กรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

    การประชุมเชิงปฏิบัติการในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่หลังการยุติการชุมนุมพีมูฟทวงสิทธิ ซึ่งภาคเหนือเป็นภูมิภาคสุดท้ายที่จะดำเนินการประชุม ในช่วงวันที่ 1-5 เมษายน 2567 นี้ โดยวันที่ 1 เมษายน 67 จัดประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ (กรณีพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน) วันที่ 3 เมษายน 67 จัดประชุมที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน (กรณีพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก) และ วันที่ 5 เมษายน 67 จัดประชุมที่จังหวัดลำปาง (กรณีพื้นที่จังหวัดลำปาง น่าน)  

    การประชุมในวันที่ 1 เมษายน 2567 นี้ มีเดช เจริญกิจวนารักษ์ ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานในการประชุม โดการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ ถือเป็นการประชุมเพื่อจัดทำแผนในการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่ในระดับพื้นที่ ระดับการตั้งคณะทำงานมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากหาข้อสรุปไม่ได้ จะมีการมอบหมายให้ระดับกรมดำเนินการต่อ บางกรณีที่ต้องดำเนินการระดับกระทรวง เช่น สาธารณูปโภค การคุ้มครฃองพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดี และขั้นสุดท้ายคือการดำเนินการระดับนโยบาย

    ผลการประชุมโดยรวมค่อยข้างเป็นที่พอใจ ในกรณีที่ได้ข้อสรุปเป็นที่สิ้นสุด เช่น กรณีบ้านใหม่ล้านนา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ จบเรื่องคดีความแล้ว ยังคงติดขัดที่ประเด็นการทำ ‘Food Bank’ ที่ต้องมีการทำแผนร่วมกัน ส่วนกรณีบ้านรอยพระพุทธบาท จ.เชียงราย ให้มีการเร่งรัดการประชุมคณะกรรใการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ภายใน 60 วัน ส่วนกรณีอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) ให้มีการตั้งคณะทำงานมาเดินแนวเขตใหม่ใน 3 ชุมชน  ส่วนกรณีพื้นที่เดิมจำนวน 24,000 กว่าไร่ ที่ชุมชนเคยขอกันออกจากเขตพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ เดิม ได้มีมติกันออกจากแนวเขตเตรียมการประกาศแล้ว

    สกน. ยันปฏิเสธ ‘คทช.’ – ยื่นรองปลัดทส. เร่งแก้ปัญหาที่ดินกระทรวงทรัพยฯ ทับที่ประชาชน

    หลังการประชุม ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้ยื่นข้อเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินของประชาชนที่ทับซ้อนกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยยื่นหนังสือถึงกุศล โชติรัตน์รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเดช เจริญกิจวนารักษ์ ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นตัวแทนรับหนังสือ โดยมีข้อเสนอดังนี้

    1.ในระหว่างการแก้ไขปัญหาตามกลไกร่วมระหว่างรัฐบาลและขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เรื่อง เห็นชอบในหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 6 ประการ ข้อที่ 3.1 “ควรยุติการคุกคามพื้นที่สมาชิกของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ด้วยการยุติการแจ้งความดำเนินคดีในทุกพื้นที่ คดีใหม่ต้องไม่มี หรือให้ยุติทุกกรณี คดีเก่าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมให้มีมาตรการจำหน่าย หรือชะลอการดำเนินคดี และนำเข้าสู่การนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ”

    2.กรณีชุมชนที่เป็นสมาชิกของ ขปส. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล ให้สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาที่อยู่ อาศัย และโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เรื่อง เห็นชอบในหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 6 ประการ ข้อที่ 3.3 โดยในเชิงรูปธรรมให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดเล็กเพื่อติดตามความคืบหน้าและกำกับให้มีการพัฒนาสาธารณูปโภคในระดับ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน ภายใน 15 วัน

    3.ให้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 คณะ ภายใน 15 วัน เพื่อติดตาม กำกับ ให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน ส่วนกรณีพื้นที่ใดที่มีคณะทำงานอยู่แล้ว ให้เร่งเปิดประชุมภายใน 30 วัน

    4.พื้นที่สมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน ขอยืนแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการผลักดันผ่านคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธาน และขอยืนยันปฏิเสธแนวทางโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และปฏิเสธการใช้มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง กรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท)

    5.ในกรณีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ให้ยึดการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งรวมถึงแนวทางการประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม และการทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน โดยขณะนี้ ขปส. ได้ผลักดันให้มีการยกระดับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. … และผลักดันให้คุ้มครองพื้นที่การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนที่ต้องมีการใช้ไฟให้ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามเผาเด็ดขาดตามประกาศของจังหวัด โดยเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 

    6.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคุ้มครองพื้นที่การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ต้องมีการใช้ไฟในพื้นที่เพื่อไม่ให้ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามเผาเด็ดขาดตามประกาศของแต่ละจังหวัด ให้ชุมชนสามารถดำเนินการใช้ไฟได้ตามวิถีในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน โดยเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) เป็นประธาน  

    7.กรณีที่ต้องแก้กฎหมาย ให้มีการทบทวนกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยในระหว่างนี้ให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายลำดับรองไว้ก่อน  

    ทั้งนี้ หลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ 4 ภาค เวทีสุดท้ายในวันที่ 5 เมษายน 2567 แล้วเสร็จ ให้รองปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เร่งเปิดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใน 15 วัน เพื่อจัดทำสรุปข้อมูลการประชุมเชิงปฏิบัติการ 4 ภาคทุกเวที และนำเข้าสู่การประชุมคณะอนุกรรมการที่ดินทั้งระบบ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมต่อไป

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...