พฤษภาคม 17, 2024

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    Share

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล MAY DAY ขึ้นบริเวณสวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา ได้มีกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน และพลเมืองผู้สนับสนุนสิทธิแรงงานเข้ามาสมทบอยู่ด้วย

    ผู้เข้าร่วมอาจไม่มากนัก ยิ่งเมื่อเทียบกับตำรวจและเทศกิจจากเทศบาลนครลำปางที่เข้ามาดูแลความเรียบร้อย แต่ก็ทำให้ที่ชุมนุมไม่เงียบเหงามากเกินไป กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ได้อ่านแถลงการณ์ ตามด้วยกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน และนัดหมายกันว่า MAY DAY ปีหน้า จะนัดประชุมกันแต่เนิ่นๆ เพื่อผลักดันให้การนัดเดินขบวนและจัดเวที อาจจะมีเวที พื้นที่ออกร้านหรือกิจกรรมต่างๆ ให้กว้างขวางมากกว่านี้

    แถลงการณ์ของกลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง

    ค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศปลายปี 66 ลำปาง 340 บาท ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 3 ห่างจากอันดับ 1 อย่างภูเก็ต 30 บาท มากกว่าต่ำที่สุดอย่าง นราธิวาส ปัตตานีและยะลา 10 บาท เรานับใครเป็นแรงงานบ้าง แรงงานไม่ใช่เพียงแรงงานที่เป็นกรรมกรก่อสร้าง แรงงานในโรงงาน แต่คือ ผู้ไร้อำนาจที่อยู่ในสถานที่ทำงานต่างๆ และไร้โอกาสในการต่อรองแต่นิยามกฎหมายระบุว่า ข้าราชการและแรงงานในระบบราชการไม่ใช่แรงงาน ไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

    ที่ตลกร้าย คือ ในสถานที่ราชการ และองค์กรราชการ มีคนจำนวนไม่น้อยต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เช่น พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย อย่างบางคนที่ทำงานเป็นอาจารย์มหาลัยแห่งหนึ่ง ก็ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ แต่คนอย่างพวกเรา ไม่สามารถจะจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ นี่คือ ปัญหาทางกฎหมายที่ถูกออกแบบไว้ให้คนและแรงงานไม่สามารถรวมกันสร้างอำนาจต่อรองได้ ขณะที่ฝั่งรัฐและทุน มีกลไกจำนวนมากในการต่อรองอำนาจทางการเมืองและการจัดการทรัพยากร ฝ่ายแรงงานกลับถูกแยกออกไป รัฐและทุนมีกลไกการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัดและระดับประเทศเช่น กรอ. คณะกรรมร่วมรัฐและเอกชน ที่มีตัวแทนของรัฐ ร่วมประชุมหารือกับ หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ชมรมธนาคารจังหวัด

    มิได้บอกว่า ทั้งหมดนี้คือ ศัตรูของแรงงาน แต่พวกเขาคือ ผู้ที่มีอำนาจและกลไกสำหรับต่อรองมากกว่า มีพื้นที่ในการส่งเสียง แต่แรงงานเล่า ไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย ไม่ว่าจะเป็นในระดับสถานที่ทำงาน ในระดับจังหวัด หรือกระทั่งระดับประเทศ ผู้บริหารหน่วยราชการทั้งหลายไม่มีกลไกตรวจสอบควบคุมจากภายใน ต่างจากในต่างประเทศที่สหภาพแรงงานจะเป็นตัวแทนและเป็นปากเป็นเสียงให้ หากผู้บริหารกระทำการใดๆ ที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ การรวมตัวกันจึงมิได้หมายความว่าสู้เพื่อปากท้องส่วนตัว แต่เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์สาธารณะไปด้วย ลองคิดดูว่า หากข้าราชการระดับล่าง เห็นการทุจริตจากผู้บังคับบัญชาเขาจะทำอย่างไรถึงจะทำให้เรื่องผิดเป็นผิดได้ การฟ้องร้องต่อผู้บังคับบัญชาให้สอบสวนผู้บังคับบัญชาย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่นับกรณีการคุ้มครองกันเอง ความเคลื่อนไหวด้านแรงงานเลี่ยงมิได้เลยที่จะต้องทำงานในสังคมประชาธิปไตย เพราะเป็นสังคมที่เอื้อต่อการแสดงออกและคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิแรงงาน  เราต่างตระหนักดีว่า ประเทศไทยเองยังติดหล่มทางการเมืองอยู่ การเลือกตั้ง ส.ว.ที่รออยู่ ก็เห็นชัดว่า ปัญหายังขลุกขลักอยู่มากแค่ไหน

    แรงงานในจังหวัดลำปาง ก็มีทั้งคนไทย และแรงงานต่างประเทศ ที่มักถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ทั้งที่พวกเขาต่างก็ต้องเหน็ดเหนื่อยทำงานเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเช่นกัน วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น ของการตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา ในวัน MAY DAY และหวังว่าปีหน้าเราจะก้าวไปอีกขั้น ไปให้ถึงการเดินขบวน เช่นเดียวกับพี่น้องแรงงานทั่วโลกที่ใช้วันนี้เป็นโอกาสเฉลิมฉลองและแสดงพลังร่วมกัน

    “เพราะแรงงานทั้งผองพี่น้องกัน”

    Related

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน:  บทสนทนาต่อ “ปฏิบัติการด้านศิลปะ” และ “ประวัติศาสตร์” ยวนย้ายถิ่น

    เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง มองศิลปะจัดวางและอ่านอย่างเข้าใจ “ไทยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและส่งต่อ” มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang...

    สำรวจความนิยมการใช้ ‘รถแดงเชียงใหม่’ ผ่านงานวิจัย

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ถือเป็นอีกเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสข้อความตัดพ้อว่ารถตุ๊กตุ๊กและรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ที่ใกล้ถึงทางตัน เมื่อ 11 พฤษภาคม...

    ประณามศาล-รัฐ เพิกเฉย ก่อการล้านนาใหม่แถลงการจากไป ‘บุ้ง เนติพร’

    14 พฤษภาคม 2567 คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA ร่วมกับ กลุ่มนิติซ้าย...