พฤษภาคม 12, 2024

    MMN ร้องรัฐปลายทางต้องมีมาตรการช่วยผู้อพยพเมียนมา เหตุถูกบังคับส่งเงิน ภาษีซ้ำซ้อน บังคับเกณฑ์ทหาร

    Share

    เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ออกแถลงการณ์ หัวข้อ “ผลกระทบจากนโยบายของเมียนมาเกี่ยวกับการบังคับส่งเงิน การเก็บภาษีซ้ำซ้อน และการเกณฑ์ทหารของผู้ย้ายถิ่น” โดยมีข้อเสนอถึงประเทศปลายทางที่ชาวเมียนมาอาศัยปกป้องสิทธิทางด้านการเงิน ภาษี บังคับเกณฑ์ทหารและสถานะทางกฎหมาย โดยมีเนื้อหาในแถลงการณ์ดังนี้

    ในฐานะเครือข่ายระดับอนุภูมิภาคขององค์กรภาคประชาสังคม เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) มีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายและนโยบายล่าสุดของเมียนมาที่มีการบังคับให้พลเมืองต้องส่งเงินกลับบ้าน จ่ายภาษีซ้ำซ้อน และการเกณฑ์ทหารเพื่อเข้าร่วมกองทัพ มาตรการที่เหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหล่านี้ประกาศใช้โดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อรีดไถส่วนต่างของอัตราเงินต่างประเทศจากแรงงานข้ามชาติจำนวนมากซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันก็บีบบังคับให้คนหนุ่มสาวเข้าสู่สังเวียนการต่อสู้ในสงครามกลางเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ภายในประเทศ ตามที่อธิบายด้านล่างนี้ MMN เชื่อว่านโยบายเหล่านี้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อกระบวนการตัดสินใจย้ายถิ่นของผู้ย้ายถิ่น ซึ่งเป็นการเพิ่มการย้ายถิ่นที่ไม่ปกติ และทำให้จำนวนของผู้ย้ายถิ่นที่ไม่มีเอกสารเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

    การบังคับส่งเงินกลับ

    นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 แรงงานข้ามชาติเมียนมาที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศต้องส่งเงินรายได้อัตราส่วนหนึ่งในสี่ของรายได้ทั้งหมดกลับประเทศโดยต้องโอนเงินผ่านธนาคารที่อยู่ในสังกัดภายใต้การควบคุมของธนาคารกลางเมียนมา[1] ในขณะเดียวกันมีการปราบปรามการส่งเงินในรูปแบบอื่นๆที่ไม่เป็นทางการอีกด้วย[2] นอกจากนี้ทางการเมียนมายังมีการรวบรวมข้อมูลแรงงานข้ามชาติจากสมาชิกในครอบครัวของพวกเขาที่อยู่ในเมียนมา[3] ทั้งนี้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการการส่งเงินดังกล่าวจะไม่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศเป็นระยะเวลาสามปี [4]

    MMN กังวลว่าเมื่อหลักเกณฑ์นี้บังคับใช้กับผู้ย้ายถิ่นที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศแบบถูกกฎหมายเป็นหลัก อาจส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นแบบผิดปกติมากขึ้น โดยหลักการแล้วมาตรการการส่งเงินนี้เป็นมาตรการที่ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ย้ายถิ่นในการบริหารจัดการรายได้ของตนเองตามที่พวกเขาเห็นสมควร การส่งเงินกลับบ้านถือเป็นเรื่องส่วนตัวและควรเป็นไปตามความสมัครใจ นอกจากนี้ MMN ยังกังวลใจว่าผู้ย้ายถิ่นที่พยายามปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อการละเมิดมาตรการคว่ำบาตร เพราะต้องส่งเงินผ่านธนาคารที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกเพื่อจัดซื้ออาวุธที่ใช้ในการกระทำทารุณอันโหดร้ายต่อพลเรือน[5] จากประสบการณ์ของ MMN ผู้ย้ายถิ่นไม่ได้มีความไว้วางใจในการส่งเงินผ่านระบบธนาคารของเมียนมา เนื่องจากค่าธรรมเนียมสูงและอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าที่มีอยู่ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด ตัวแทนจากสมาคมแรงงานยอง ชิ อู (Yaung Chi Oo Workers Association, YCOWA) หนึ่งในองค์กรสมาชิกของ MMN ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยกล่าวแสดงความรู้สึกว่า:

    “แรงงานข้ามชาติรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกหลอกใช้ โดยรัฐบาลเผด็จการทหาร และเงินที่พวกเขาส่งกลับไปจะถูกนำไปซื้ออาวุธเพื่อสังหารคนในครอบครัวของพวกเขาเอง”

    การเก็บภาษีซ้ำซ้อน

    เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 รัฐบาลทหารได้แก้ไขกฎหมายภาษีของสหภาพเพื่อให้ชาวเมียนมาในต่างประเทศต้องจ่ายภาษีเงินได้สำหรับผู้มีรายได้จากต่างประเทศ ภายใต้การแก้ไขดังกล่าว กฎหมายภายในประเทศว่าด้วยการห้ามจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนได้ถูกยกเลิก[6] และมีการปรับเพดานภาษีเงินได้จากรายได้ต่างประเทศ [7] สำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภาษีดังกล่าว รัฐบาลทหารจะทำการระงับการออกหนังสือเดินทางและหนังสือรับรองประจำตัวต่างๆ รวมถึงการลงโทษอื่นๆ เช่น การเพิกถอนหนังสือเดินทาง การห้ามเดินทาง หรือการดำเนินคดีทางแพ่งหรืออาญา ดังนั้นพลเมืองเมียนมาที่ประสงค์จะต่ออายุหนังสือเดินทางในต่างประเทศจะต้องชำระภาษีคงค้างทั้งหมดให้กับสถานทูตหรือสถานกงสุลโดยตรงเป็นเงินก้อนจึงจะสามารถดำเนินการยื่นคำร้องต่างๆได้[8]

    ตัวแทนจากมูลนิธิรักษ์ไทย หนึ่งในองค์กรสมาชิกของ MMN ให้ความเห็นว่าแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยกลัวว่าภาษีใหม่จะนำมาซึ่งความแตกแยกระหว่างแรงงานข้ามชาติในชุมชน :

    “แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาหลายคนกังวลว่า หากแรงงานข้ามชาติคนอื่นรู้ว่าพวกเขาจ่ายภาษี พวกเขาจะถูกกีดกันและถูกกล่าวหาจากคนในชุมชนว่าสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารที่ลงมือเข่นฆ่าพลเรือนทุกวัน”

    สมาชิก MMN ยังมีความกังวลว่าสถานะการเข้าเมืองและอยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจ่ายภาษีเงินจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากพวกเขาจะไม่สามารถต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน หากหนังสือเดินทางของพวกเขาถูกเพิกถอนหรือไม่ได้รับการต่ออายุ ผลที่ตามมาคือผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากเสี่ยงต่อการกลายเป็นแรงงานไร้เอกสาร เพิ่มโอกาสที่จะถูกแสวงหาผลประโยชน์ในตลาดแรงงานมากขึ้น การบังคับใช้กฎหมายเก็บภาษีซ้ำซ้อนและมาตการบังคับการส่งเงินจะทำให้แรงงานข้ามชาติยากจนลง เพิ่มความรู้สึกกดดันให้กับผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเมียนมาที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างที่ตัวแทนองค์กรสมาชิก MMN จาก YCOWA ได้อธิบายว่า:

    “เหล่านายจ้างกำลังฉกฉวยประโยชน์จากปริมาณแรงงานข้ามชาติที่เกินความต้องการและแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงาน ตัวอย่างเช่น โรงงานทอผ้าในแม่สอดได้เพิ่มโควตาการทำงานของแรงงานในแต่ละวัน แรงงานคนไหนที่ไม่สามารถทำตามโควตาก็จะถูกไล่ออก”

    ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า:

    “มันไม่ใช่แค่การจ่ายภาษีหรือการถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆในการรักษาสถานะเอกสารประจำตัวของผู้ย้ายถิ่นที่ทำให้ผู้ย้ายถิ่นเป็นกังวล แต่ผู้ย้ายถิ่นต้องติดต่อสถานทูตหรือสถานกงสุล และให้ข้อมูลส่วนตัวแก่หน่วยงานปกครองที่พวกเขาไม่ไว้วางใจ เป็นอีกหนึ่งในอุปสรรคในการรักษาสถานะทางกฎหมายของพวกเขาเอาไว้”

    การเกณฑ์ทหาร

    เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 กฎหมายการรับราชการทหารของเมียนมามีผลใช้บังคับ กฎหมายนี้เดิมประกาศใช้ในปี 2010 ระบุว่าผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 35 ปี และผู้หญิงอายุระหว่าง 18 ถึง 27 ปี ต้องเข้ารับการฝึกทหารและรับราชการในกองทัพเป็นเวลาไม่เกิน 24 เดือน[9] แต่ในกฎหมายฉบับนี้ได้ขยายช่วงอายุสำหรับผู้ชายสูงสุดถึง   45 ปี และสูงสุด 35 ปีสำหรับผู้หญิงที่เป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งได้แก่ แพทย์ วิศวกร ช่างเทคนิค หรือเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนั้นๆ [10] สามารถรับราชการทหารไม่เกิน 36 เดือน[11] ทั้งนี้สามารถขยายระยะเวลาเข้ารับราชการทหารได้ สูงสุดถึง 5 ปี หากประเทศยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน[12] นอกจากนี้ภายใต้ภาวะฉุกเฉินของประเทศ ผู้ที่ผ่านการรับราชการทหารแล้วสามารถถูกเรียกระดมพลได้ทุกเมื่อ [13]  อย่างไรก็ตามรัฐบาลทหารได้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยึดอำนาจในปี 2564[14]และมีแนวโน้มว่าจะยังคงบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

    ในขณะจัดเตรียมแถลงการณ์ฉบับนี้มีรายงานว่าทางการเมียนมาได้เริ่มนำส่งออกหมายเรียกเกณฑ์ทหารแล้วดังที่ตัวแทนจากมูลนิธิ EMPOWER อีกหนึ่งองค์กรสมาชิกของ MMN อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการเกณฑ์ทหารในระดับหมู่บ้านว่า:

    “เรา (ชาวบ้าน) ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามารวบรวมรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติ จากนั้นจะมีการจับสลากใครที่ได้รับเลือกก็จะต้องเข้าร่วมกองทัพ”

    การบังคับใช้กฎหมายการรับราชการทหารได้เพิ่มอัตราการย้ายถิ่นแบบผสมผสานจากเมียนมา[15] เพราะนับตั้งแต่มีการประกาศระดมพลมีแนวโน้มที่คนหนุ่มสาวจะข้ามชายแดนเข้ามายังประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ในขณะที่จำนวนคิวของผู้ขอวีซ่า ณ เอกอัครราชทูตไทยในย่างกุ้งยาวขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้ยังเกิดอุบัติเหตุการเหยียบกันจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ณ สำนักงานหนังสือเดินทางในเมืองมัณฑะเลย์และย่างกุ้ง [16] ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยมหาวิทยาสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ประกาศงดรับสมัครนักศึกษาชาวเมียนมาเนื่องจากมีผู้สมัครจำนวนมากเกินไป[17]

    ตัวแทนจากมูลนิธิ EMPOWER กล่าวถึงภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่คนหนุ่มสาวเมียนมาเผชิญว่า:

    “รัฐบาลทหารบีบพวกเขาให้จนมุม พวกเขาเผชิญกับทางเลือกที่น่ากลัว เพราะจะหนีก็เสี่ยงตายหรือไม่หนีก็ตายอยู่ดี”

    ตัวแทนจากมูลนิธิ MAP ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า:

    “มีคนหนุ่มสาวจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่ต้องตกอยู่ภายใต้สภาวะที่สิ้นหวังและต้องเผชิญอันตรายเพื่อหลบหนีคำสั่งการเกณฑ์ทหาร เช่น  เมื่อสัปดาห์ก่อนในจังหวัดเชียงใหม่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงกับหนุ่มสาวหกคนที่หลบหนีมาจากประเทศเมียนมา เคราะห์ร้ายมีผู้เสียชีวิต 2 รายและคนอื่นๆ ได้รับบาดเจ็บสาหัส”

    ตัวแทนจากมูลนิธิรักษ์ไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า:

    “เราได้รับเคสหลายเคสจากผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกข่มขืนระหว่างเดินทางมาประเทศไทย เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเราที่จะให้ช่วยเหลือในกรณีเหล่านี้ เนื่องจากผู้เสียหายเข้ามาผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการและไม่มีเอกสารประจำตัว”

    MMN กังวลว่าแม้ตัวผู้ย้ายถิ่นจะอยู่ในต่างประเทศ แต่พวกเขายังคงเสี่ยงต่อการถูกเกณฑ์ทหาร เนื่องจากกฎหมายการรับราชการทหารระบุว่า “หากไม่พบบุคคลนี้ ให้ส่งมอบ (หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร) ให้กับสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ด้วยกันต่อหน้าพยาน คำสั่งให้ปฏิบัติเสมือนเป็นการส่งโดยตรงไปยังผู้ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร” การเกณฑ์ทหารนี้จะทำให้ผู้ย้ายถิ่นลดการติดต่อกับสถานทูตเมียนมาเพื่อต่ออายุหนังสือเดินทาง และเพิ่มโอกาสที่พวกเขากลายเป็นผู้ย้ายถิ่นที่ไร้เอกสารประจำตัว นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มจำนวนการขอลี้ภัยโดยพลเมืองเมียนมาในประเทศปลายทางอีกด้วย ดังที่ตัวแทนจากมูลนิธิ EMPOWER ได้อธิบายว่า :

    “ผู้ย้ายถิ่นกังวลเรื่องการหลบหนีคำสั่งเกณฑ์ทหาร เพราะรัฐบาลทหารขู่จะดำเนินคดีทางกฎหมายต่อสมาชิกในครอบครัวโดยมีโทษจำคุกและการริบทรัพย์สิน”

    โดยเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีข้อเสนอแนะต่อกรณีดังกล่าวดังนี้

    1.MMN เรียกร้องให้รัฐบาลและนายจ้างในประเทศปลายทางของผู้ย้ายถิ่นชาวเมียนมาปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการตัดสินใจเกี่ยวกับการออมและการส่งรายได้ของตนเอง ให้พวกเขามีอิสระในการเลือกธนาคารและช่องทางการโอนเงิน รวมไปถึงจำนวนเงินที่พวกเขาจะออมและส่งกลับบ้าน

    2.MMN เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศปลายทางและอาเซียนใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับแรงงานข้ามชาติ

    3.สำหรับผู้มีบทบาทในภาคเอกชน เช่น ธนาคารและบริษัทจัดหางานต่างๆที่อำนวยความสะดวกในการบังคับส่งเงินและนโยบายการเก็บภาษีซ้ำซ้อนตามที่อธิบายไว้ข้างต้น MMN เรียกร้องให้ยุติความร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาและตัวแทนต่างๆที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลทหาร

    4.เนื่องจากความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทหารในการปกครองประเทศและบังคับคนหนุ่มสาวเข้ารับราชการทหาร อาจจะทำให้ผู้ย้ายถิ่นรายใหม่จากเมียนมาเข้าสู่การบังคับใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นเราจึงขอเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านใช้การตอบสนองด้านมนุษยธรรมต่อผู้ย้ายถิ่นรายใหม่ทุกกรณี

    5.เราขอเรียกร้องให้ประเทศปลายทางทำทุกวิถีทางเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำให้ผู้ย้ายถิ่นชาวเมียนมาที่เพิ่งเข้ามามีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย และทำการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ย้ายถิ่นจะไม่กลายเป็นบุคคลไร้เอกสาร นอกจากนี้เรายังต้องการเรียกร้องให้ประเทศปลายทางปรับปรุงการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพและการศึกษาแก่ผู้ย้ายถิ่นทุกคน

    Related

    หมดยุค สว. แต่งตั้ง ถึงเวลาความหวัง สว. ประชาชน

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ในวันพรุ่งนี้ (11 พฤษภาคม 2567) ถือเป็นวันสุดท้ายที่ สว....

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....