พรรคเดิม หน้าใหม่ หรือย้ายพรรค? Rocket Media Lab ชวนส่อง ว่าที่ ส.ส.เพื่อไทย ว่ามาจากไหนกันบ้าง

จากการแถลงข่าวเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต 400 คนทั่วประเทศ สำหรับการเลือกตั้งปี 2566 ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 และการสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 3 เมษายน 2566 Rocket Media Lab ชวนสำรวจว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต ทั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน ของพรรคเพื่อไทยว่าเป็นใคร มาจากไหนบ้าง เป็นผู้สมัครพรรคเดิม หน้าใหม่ หรือย้ายพรรค?

เลือกตั้ง 66 พรรคเพื่อไทยเต็มไปด้วยผู้สมัครหน้าใหม่

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 Rocket Media Lab จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. โดยแยกกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ผู้สมัครจากพรรคเดิม ทั้งอดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น

2. ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น ทั้งอดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น โดยนับปีล่าสุดที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัคร ส.ส. 

3. ผู้สมัครหน้าใหม่ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

เมื่อแยกว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน จากพรรคเพื่อไทย ในปี 2566 ตามการจัดประเภทดังกล่าว พบว่า มีผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 141 คน คิดเป็น 35.25% มีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 86 คน คิดเป็น 21.5% และมีผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 173 คน คิดเป็น 43.25%

ภาพ : Rocket Media Lab

และเมื่อแยกตามภูมิภาค จะเห็นได้ว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 54.14% ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2562  และน้อยที่สุดที่ภาคใต้ คิดเป็น 6.67% ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยไม่สามารถได้ที่นั่ง ส.ส. จากภาคใต้เลยแม้แต่ที่นั่งเดียว

ส่วนว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 2566 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคใต้คิดเป็น 35% น้อยที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 12.78% จะเห็นว่าสัดส่วนในหมวดหมู่นี้จะแปรผกผันกับผู้สมัครพรรคเดิม เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยเคยได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2562 ทำให้ ส.ส. เดิมหรือผู้สมัคร ส.ส. ยังคงลงสมัคร ไม่ค่อยมีการย้ายพรรคเข้ามา แต่ในภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส. เลยในปี 2562 ในการเลือกตั้ง 2566 จึงมีการใช้ ส.ส. หรืออดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการย้ายจากพรรคอื่นเข้ามาลงสมัครมากที่สุดเพื่อหวังเก้าอี้ ส.ส. เพิ่มมากขึ้น

และในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่ จะพบว่า มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันตก คิดเป็น 73.68% โดยในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. ในภาคตะวันตกเพียง 1 คน ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และน้อยที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็น 33.08%

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม 

เมื่อพิจารณาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคเพื่อไทย เทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่มาจากพรรคเดิม* จำนวน 141 คน ของพรรคเพื่อไทย สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

ภาพ : Rocket Media Lab

1. ส.ส. พรรคเพื่อไทยเดิมจากปี 2562 จำนวน 93 คน คิดเป็น 65.95%

2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทยเดิมจากปี 2562 จำนวน 33 คน คิดเป็น 23.4%

3. อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 6 คน คิดเป็น 4.26%

4. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 3 คน คิดเป็น 2.13%

5. อดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 6 คน คิดเป็น 4.26%

*จากพรรคเดิมในกรณีของพรรคเพื่อไทย หมายรวมไปถึงพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนด้วย

จากข้อมูลจะเห็นว่า แม้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้ง 2566 ของพรรคเพื่อไทยจะมาจาก ส.ส. พรรคเพื่อไทยในปี 2562 มากที่สุด แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส. เดิมจากปี 2562 ของพรรคเพื่อไทยที่มีจำนวน 138 คน (รวมเลือกตั้งซ่อม) จะพบว่า มี ส.ส. ปี 2562 ของพรรคเพื่อไทยที่ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทยจำนวน 45 คน ซึ่งพบว่าย้ายไปพรรคอื่น 18 คน แยกเป็น ภูมิใจไทยมากที่สุด 12 คน ไทยสร้างไทย 4 คน พลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ พรรคละ 1 คน 

อดีต ส.ส. ปี 2562 ของพรรคเพื่อไทยอีก 13 คนที่แม้ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 พบว่ามีเครือญาติลงสมัคร และอีก 9 คนย้ายไปลงสมัครในแบบบัญชีรายชื่อ และอีก 5 คนที่ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยเหตุผลต่างกัน เช่น เสียชีวิตแล้ว หรือถูกตัดสิทธิทางการเมือง 

ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณา ส.ส. พรรคเพื่อไทยเดิมจากปี 2562 จำนวน 93 คน ที่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2566 เปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส. เดิมในปี 2562 รายภูมิภาค ก็จะพบว่าภาคตะวันตกมีสัดส่วนที่ ส.ส. เดิมจากปี 2562 กลับมาลงสมัครมากที่สุด ซึ่งมีเพียง 1 คน คือในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 62 คน จาก ส.ส. เดิม 84 คน ภาคกลาง 17 คน จากจำนวน ส.ส. เดิม 27 คน และภาคเหนือ 13 คน จากจำนวน ส.ส. เดิม 26 คน

จากนั้นเมื่อพิจารณาอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยจำนวน 112 คนจะพบว่า กลับมาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ จำนวน 33 คน โดยภาคกลางคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด 37.25% น้อยที่สุดคือภาคตะวันตกที่ไม่มีอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ของพรรคเพื่อไทยกลับมาลงสมัครในปี 2566 เลย 

ในจำนวนอดีตผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในปี 2562 ของพรรคเพื่อไทย 112 คน มี 79 คน ที่ไม่ได้กลับมาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคเพื่อไทยอีกในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ โดยสามารถแยกเป็น ย้ายไปลงพรรคอื่นๆ 27 คน คือ ลงสมัครในนามพรรคไทยสร้างไทย 9 คน พรรคพลังประชารัฐ 6 คน พรรคภูมิใจไทย 5 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 4 คน และพรรคก้าวไกล ประชาธิปัตย์ เสรีรวมไทย พรรคละ 1 คน

นอกจากนั้นเป็นเครือญาติลงสมัคร 7 คน ย้ายไปลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อ 3 คน และอื่นๆ อีก 42 คน ซึ่งมีทั้งได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนักการเมืองท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. ไปแล้ว หรือไม่ได้กลับมาลงเล่นการเมืองอีก 

และส่วนสุดท้ายของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปี 2566 ที่เป็นพรรคเดิมของพรรคเพื่อไทย คือ มาจากอดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 6 คน แยกเป็น อดีต ส.ส. ปี 2554 จำนวน 5 คน อดีต ส.ส. ปี 2548 จำนวน 1 คน อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 3 คน ซึ่งมาจากอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2554 ทั้งหมด และมาจากอดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ อีก 6 คน แยกเป็น ปี 2562 จำนวน 4 คน และปี 2554 อีก 2 คน 

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรค

เมื่อพิจารณา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคเพื่อไทย เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่ามีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่เป็นมาจากการย้ายมาจากพรรคอื่น 86 คน ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

ภาพ : Rocket Media Lab

1. ส.ส. เดิม จากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 10 คน คิดเป็น 11.63%

2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 68 คน คิดเป็น 79.07%

3. อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 3 คน คิดเป็น 3.49%

4. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 5 คน คิดเป็น 5.81%

จากข้อมูลจะพบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 86 คนของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2566 ย้ายมาจาก

1. พรรคไทยรักษาชาติ จำนวน 30 คน คิดเป็น 34.88%

2. พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 15 คน คิดเป็น 17.44%

3. พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล จำนวน 9 คน คิดเป็น 10.46%

4. พรรคภูมิใจไทย จำนวน 8 คน คิดเป็น 9.3%

5. พรรคพลังประชาธิปัตย์ จำนวน 5 คน คิดเป็น 5.81%

6. พรรคพลังเพื่อชาติ จำนวน 3 คน คิดเป็น 3.49%

6. พรรคประชาชาติ พรรคชาติไทยพัฒนาและเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 2 คน คิดเป็น 2.32%

8. พรรคชาติพัฒนา พลังชล พลังท้องถิ่นไท พลังไทสร้างชาติ เพื่อคนไทย มัชฌิมาธิปไตย รวมใจไทยชาติพัฒนา สามัคคีธรรม เสรีธรรม และเสรีรวมไทย พรรคละ 1 คน คิดเป็น 1.16% 

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทยที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่นนั้น มาจากพรรคไทยรักษาชาติมากที่สุด ซึ่งพรรคไทยรักษาชาติเป็นพรรคที่ถูกมองว่าเป็นพรรคสาขาย่อยของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2562 เนื่องด้วยสมาชิกพรรคและผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคส่วนใหญ่มาจากอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยเดิม และทายาทของนักการเมืองของพรรคเพื่อไทย โดยหากมองในแง่นี้ก็จะพบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยที่ย้ายมาจากพรรคอื่นนั้น ย้ายมาจากพรรคพลังประชารัฐมากที่สุด

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในรายละเอียดเฉพาะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยที่เป็นอดีต ส.ส. ปี 2562 ที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 11 คนก็จะพบว่า มาจากพรรคพลังประชารัฐมากที่สุด 6 คน รองลงมาก็คือพรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท 1 คน เศรษฐกิจใหม่ 1 คน และอนาคตใหม่/ก้าวไกล 1 คน

ส่วนว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 67 คน พบว่ามาจากพรรคไทยรักษาชาติ มากที่สุด 30 คน รองลงมาก็คือพลังประชารัฐ 9 คน ตามมาด้วยอนาคตใหม่ 8 คน 

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยที่เป็นอดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 มีจำนวน 3 คน มาจากพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน พลังชล 1 คน และสามัคคีธรรม 1 คน

และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 มีจำนวน 4 คน มาจากพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน มัชฌิมาธิปไตย 1 คน รวมใจไทยชาติพัฒนา 1คน และเสรีธรรม 1 คน 

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ 

เมื่อพิจารณาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคเพื่อไทยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรคเพื่อไทย 173 คน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้*

ภาพ : Rocket Media Lab

1. นักการเมืองระดับท้องถิ่น 76 คน คิดเป็น 43.93%

2. เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ 42 คน คิดเป็น 24.28%

3. นักธุรกิจ 35 คน คิดเป็น 20.23%

4. ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 25 คน คิดเป็น 14.45%

5. เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น 19 คน คิดเป็น 10.98%

6. ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 14 คน คิดเป็น 8.09%

7. ประกอบอาชีพส่วนตัว 12 คน คิดเป็น 6.94%

8. นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม 8 คน คิดเป็น 4.62%

9. บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม 3 คน คิดเป็น 1.73%

10. อดีตนักการเมืองระดับชาติ 3 คน คิดเป็น 1.73%

11. นักวิชาการ/นักวิจัย 1 คน คิดเป็น 0.58%

*ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 1 คน อาจมีได้มากกว่า 1 สถานะ

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 173 คนมาจากกลุ่มที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นมากที่สุด 76 คน คิดเป็น 43.93%

ซึ่งก็คืออดีตคนที่ทำงานใน อบจ. อบต. ในตำแหน่งต่างๆ รวมไปถึงอดีตผู้สมัคร นายก อบจ. อบต. และ ส.อบจ. ส.อบต. อีกด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายพื้นที่ก็จะพบว่า ผู้สมัครหน้าใหม่ในประเภทนี้มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งในภาคกลาง ตามด้วยภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้

รองลงมาก็คือ เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ 42 คน 24.28%

ซึ่งก็คือทายาทอดีต ส.ส. ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายพื้นที่ก็จะพบว่า ผู้สมัครหน้าใหม่ในประเภทนี้มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ผู้สมัครหน้าใหม่ 3 ใน 4 คน เป็นทายาทอดีต ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง ณัฏฐ์พัฒน์ รัฐผไท, นิธิกร วุฒินันชัย และศรีโสภา โกฎคำลือ

และอันดับสามก็คือนักธุรกิจ จำนวน 35 คน คิดเป็น 20.23% ซึ่งพบว่าส่วนมากผู้สมัครหน้าใหม่ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นมักจะมีสถานะนักธุรกิจร่วมด้วย ส่วนประเภทที่มีน้อยที่สุดคือ นักวิชาการ/นักวิจัย มีจำนวนเพียง 1 คน

ในขณะที่เมื่อพิจารณารายภาคจะเห็นว่าภาคกลาง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่มาจากนักการเมืองท้องถิ่นมากที่สุด เช่นเดียวกันกับ ตะวันตก ตะวันออก และใต้ ซึ่งภาคใต้นั้นมีสัดส่วนว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการประจำเท่ากัน ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่มาจากเครือญาตินักการเมืองระดับชาติมากที่สุด

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

เมื่อพิจารณาว่า ว่าที่ที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คนจากพรรคเพื่อไทย เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า มาจากการย้ายพรรคมากที่สุด 39 คน แยกเป็น พรรคไทยรักษาชาติ 23 คน พรรคพลังประชารัฐ 5 คน พรรคเพื่อชาติ 3 คน พรรคประชาชาติ 2 คน และพรรคชาติไทยพัฒนา พลเมืองไทย พลังปวงชนชาวไทย เพื่อธรรม เสรีธรรม อนาคตใหม่/ก้าวไกล พรรคละ 1 คน 

ภาพ : Rocket Media Lab

รองลงมาคือมาจากพรรคเดิม 37 คน และเมื่อแยกรายละเอียดลงไปก็จะพบว่า ใน 37 คนที่มาจากพรรคเดิมนั้นมาจาก ส.ส. ปี 2562 จำนวน 10 คน อดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 จำนวน 22 คน และอดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 5 คน 

ตามมาด้วยหน้าใหม่ จำนวน 24 คน ซึ่งจะพบว่ามาจากเครือญาตินักการเมืองระดับชาติมากที่สุด 8 คน รองลงมาก็คือข้าราชการ 5 คน และนักการเมืองระดับท้องถิ่น 4 คน ในขณะที่น้อยที่สุดก็คือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม มีเพียง 1 คน 

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3/ 

หมายเหตุ

  • ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. เป็นข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ
  • ข้อมูลผู้สมัครและประวัติ สืบค้นจากการประกาศของพรรค การนำเสนอของสื่อและโซเชียลมีเดียของผู้สมัครแต่ละเขต
  • การนับ ส.ส. ปี 2562 นับจากการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562
  • ปีที่ลงสมัคร ส.ส. ไม่นับปี 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
  • ดูฐานข้อมูลว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปี 2566 แบบแบ่งเขต รายจังหวัด (อย่างไม่เป็นทางการ) พร้อมประวัติทางการเมืองว่า เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม ย้ายมาจากพรรคไหน หรือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลง ส.ส. มาก่อน ภายใต้ชื่อโครงการ DEMO Thailand ได้ที่ https://demothailand.rocketmedialab.co  
พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง