พฤษภาคม 18, 2024

    เกษตรแม่ฮ่องสอน-ตาก จี้ ‘กระทรวงทรัพยากรฯ’ แนวทาง แก้ไขปัญหาที่ดินต้องชัด

    Share

    เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก จำนวนกว่า 70 คน ร่วมติดตามสถานการณ์การประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ อุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ) ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่สองของภาคเหนือ โดยมีนายมีเดช เจริญกิจวนารักษ์ ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานในการประชุม 

    การประชุมเชิงปฏิบัติการกรณีพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก มีประเด็นในกรณีผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกรณีปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ในกรณีอุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ), อุทยานแห่งชาติสาละวิน, กรณียึดที่ดินชุมชน/แปลงปลูกป่าทับที่ทำกินชุมชน และการตกสำรวจเงื่อนไขพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่เมย โดยผลการประชุมเห็นแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหา และการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

    กรณีอุทยานฯแม่เงา (เตรียมการ) ได้ข้อยุติในพื้นที่ตามบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างชุมชนและอุทยานฯ วันที่ 10 ก.ย. 2565 ว่าให้ยึดแนวเขตในการกันพื้นที่ของชุมชนออกจากพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯแม่เงา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ซึ่งทางอุทยานฯ จะเหลือพื้นที่เตรียมการประกาศประมาณ 105,000 ไร่ โดยกระบวนการหลังจากนี้อยู่ที่การให้ความเห็นในระดับนโยบายว่าทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกระทรวงทรัพยากรฯ จะมีคำสั่งอย่างไร

    กรณีอุทยานแห่งชาติสาละวิน ให้ติดตามกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ เนื่องจากทางชุมชนยังมีความกังวลเรื่องการตกหล่นในการสำรวจแนวเขต ส่วนกรณียึดที่ดินชุมชน แปลงปลูกป่าทับที่ทำกินชุมชน และการตกสำรวจเงื่อนไขพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่เมย ให้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาภายใน 60 วัน โดยต้องมีการลงพื้นที่เพื่อหารือโดยละเอียดกับทางชุมชนต่อไป

    กรณีการพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทางชุมชนยืนยันหลักการร่วมกันว่า สาธารณูปโภคเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องพัฒนาได้ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม และมีข้อเสนอให้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกรณีการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะ เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาร่วมกันระหว่างชุมชนและท้องที่ท้องถิ่น รวมถึงหารือร่วมกันในประเด็นที่กฎหมายและนโยบายป่าไม้มีข้อจำกัดต่อการพัฒนาในพื้นที่

    กรณีที่คนในชุมชนถูกคุกคาม กดดันจากเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน ทั้งกรณีการพยายามโน้มน้าวให้เข้าร่วมโครงการคทช. และกรณีที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามห้ามมีคนในชุมชนออกไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองและเคลื่อนไหวระดับนโยบายร่วมกับเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ทางตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กล่าวว่า จะนำประเด็นนี้ไปหารือและกำชับกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้ปรับเปลี่ยนท่าทีให้เหมาะสมมากขึ้น

    สกน. ปฏิเสธ ‘คทช.’ – ยื่นรองปลัดทส. เร่งแก้ปัญหาที่ดินกระทรวงทรัพยฯ ทับที่ – หน่วยงานต้องยุติการคุกคามประชาชน

    หลังการประชุม ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้ยื่นข้อเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินของประชาชนที่ทับซ้อนกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยยื่นหนังสือถึงกุศล โชติรัตน์รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเดช เจริญกิจวนารักษ์ ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นตัวแทนรับหนังสือ โดยมีข้อเสนอดังนี้

    1.ในระหว่างการแก้ไขปัญหาตามกลไกร่วมระหว่างรัฐบาลและขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เรื่อง เห็นชอบในหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 6 ประการ ข้อที่ 3.1 “ควรยุติการคุกคามพื้นที่สมาชิกของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ด้วยการยุติการแจ้งความดำเนินคดีในทุกพื้นที่ คดีใหม่ต้องไม่มี หรือให้ยุติทุกกรณี คดีเก่าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมให้มีมาตรการจำหน่าย หรือชะลอการดำเนินคดี และนำเข้าสู่การนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ”

    2.กรณีชุมชนที่เป็นสมาชิกของ ขปส. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล ให้สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาที่อยู่ อาศัย และโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เรื่อง เห็นชอบในหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 6 ประการ ข้อที่ 3.3 โดยในเชิงรูปธรรมให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดเล็กเพื่อติดตามความคืบหน้าและกำกับให้มีการพัฒนาสาธารณูปโภคในระดับ 2 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน และจังหวัดตากภายใน  30 วัน

    3.ให้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 คณะ ภายใน 30 วัน เพื่อติดตาม กำกับ ให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก ส่วนกรณีพื้นที่ใดที่มีคณะทำงานอยู่แล้ว ให้เร่งเปิดประชุมภายใน 60 วัน

    4.พื้นที่สมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก ขอยืนแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการผลักดันผ่านคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธาน และขอยืนยันปฏิเสธแนวทางโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และปฏิเสธการใช้มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง กรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท)

    5.ในกรณีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ให้ยึดการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งรวมถึงแนวทางการประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม และการทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน โดยขณะนี้ ขปส. ได้ผลักดันให้มีการยกระดับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. … และผลักดันให้คุ้มครองพื้นที่การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนที่ต้องมีการใช้ไฟให้ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามเผาเด็ดขาดตามประกาศของจังหวัด โดยเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567

    6.ในกรณีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ให้ยึดการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งรวมถึงแนวทางการประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม และการทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน โดยขณะนี้ ขปส. ได้ผลักดันให้มีการยกระดับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. … 

    7.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคุ้มครองพื้นที่การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ต้องมีการใช้ไฟในพื้นที่เพื่อไม่ให้ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามเผาเด็ดขาดตามประกาศของแต่ละจังหวัด ให้ชุมชนสามารถดำเนินการใช้ไฟได้ตามวิถีในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน โดยเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) เป็นประธาน

    8.ขอให้สั่งการไปยังหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก ให้ยุติการข่มคู่ คุกคามทุกรูปแบบ และการดำเนินคดีหรือกดดันให้ชาวบ้าน ต้องยอมรับเงื่อนไขของรัฐที่ไม่สอดคล้องวิถีชุมชน โดยให้ยึดถือกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของ ขปส. เป็นหลักในการปฏิบัติร่วมกัน

    9.กรณีที่ต้องแก้กฎหมาย ให้มีการทบทวนกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยในระหว่างนี้ให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายลำดับรองไว้ก่อน

    ทั้งนี้ หลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ 4 ภาค เวทีสุดท้ายในวันที่ 5 เมษายน 2567 แล้วเสร็จ ให้ท่านเร่งเปิดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใน 15 วัน เพื่อจัดทำสรุปข้อมูลการประชุมเชิงปฏิบัติการ 4 ภาคทุกเวที และนำเข้าสู่การประชุมคณะอนุกรรมการที่ดินทั้งระบบ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุม 134 – 135 ชั้น 3 อาคาร 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ระบุให้กรณีปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จัดทำแผน ขั้นตอน ในการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และดำเนินการแก้ไขปัญหาทุกกรณีให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปี

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...