คน ผี ความงมงาย และอำนาจการจัดระเบียบสังคม

เรื่องและภาพ: ณัฐชลี สิงสาวแห

ผีและการนับถือผีในภูมิภาคล้านนาปรากฏมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่จะสื่อสารระหว่างคนกับผี เพื่อหาข้อตกลงให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขตามความเชื่อที่ยึดถือกันมา เช่น การไหว้ผีบรรพบุรุษ การเซ่นบวงสรวงผีในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมให้กลมเกลียวกันเป็นหมู่คณะจากความเชื่อที่มีร่วมกัน  รวมไปถึงการสร้างขวัญกำลังใจ การเยียวยา การใช้ความลี้ลับศักดิ์สิทธิ์เป็นพลังการต่อสู้ อีกทั้ง “ผี” ยังมีบทบาทในการกำหนดระบบระเบียบของสังคมในการให้ทำหรือห้ามทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

ผีอารักษ์ ผีบรรพบุรุษ ผู้ปกปักรักษาและระบบการดูแลคนให้ประพฤติดี

พิธีเลี้ยงผีปู่แสะ-ย่าแสะ หรือ “พิธีเลี้ยงดง” เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนและมีความเชื่อว่าเป็นต้นเค้าบรรพบุรุษของชาวลัวะ มีการถวายเครื่องเซ่นบูชาแก่ยักษ์ปู่แสะ-ย่าแสะ ที่เชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษาดอยสุเทพ-ปุย และดอยคำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และหากมีผู้บุกรุกก็จะมีอันเป็นไปด้วยอิทธิฤทธิ์ของดวงวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ โดยพิธีนี้มีการสืบทอดมานานกว่าร้อยปี

อาสา คำภา นักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าผ่านบทความปู่แสะย่าแสะกับประเพณีเลี้ยงผีเมืองเชียงใหม่ว่า “เรื่องราวปู่แสะย่าแสะมีเค้าโครงหลักที่สอดคล้องกับตํานานพระเจ้าเลียบโลกซึ่งแพร่หลายในภูมิภาคล้านนา ว่าด้วยการเผชิญหน้าระหว่างพระพุทธเจ้ากับปู่แสะย่าแสะและลูกซึ่งเป็นยักษ์ดุร้าย ตามตํานานกล่าวว่าปู่แสะย่าแสะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อพระพุทธเจ้าและหันมารับศีลห้าเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อย่างไรก็ตามการที่ปู่แสะย่าแสะเคยเป็นยักษ์มาก่อนจึงขออนุญาตต่อพระพุทธเจ้าที่จะกินสัตว์ตามสัญชาตญาณยักษ์ ความเชื่อดังกล่าวนํามาสู่การฆ่าควายเพื่อเซ่นสังเวยปู่แสะย่าแสะ ของชาวบ้านตําบลแม่เหียะ อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เลี้ยงดง” เป็นประจําทุกปี ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 โดยในพิธีกรรมจะมีการลงทรงของม้าขี่ (คนทรง) ปู่แสะย่าแสะจะทําการกินเนื้อควายสด ในพิธีกรรมยังมีการแขวนผ้าพระบฏเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าสอดคล้องกับเรื่องราวในตํานาน”

คนทรงกินเนื้อควายดิบและเลือดสด ในพิธีเลี้ยงดง ปี 2566 ถ่ายโดย: ศรีลา ชนะชัย 

“สมัยตั้งแต่ยายยังไม่เกิด พ่อแม่ของยายยังไม่เกิดเขาจะกินคน คนบริสุทธิ์อายุ 17-18 ปี หลังๆ เขาก็เลยขอ ขอว่ากินควายหนุ่มๆ ขอกินนิดหน่อยก็พอละ ขอให้คุ้มครองเราอย่าให้เราเป็นอะไร ขออะไรก็ได้หมด ขอน้ำขอฝนขออะไรก็ได้หมด” นิตยา สิงห์คลา หญิงวัย 70 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมพิธีเลี้ยงดงถอดเล่าความรับรู้ต่อพิธีกรรมเลี้ยงดงผ่านการอู้คำเมือง

นิตยา สิงห์คลา ผู้เข้าร่วมพิธีเลี้ยงดงกำลังจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ปู่แสะย่าแสะ

หากพิจารณาความเชื่อผีล้านนาอาจกล่าวได้ว่าปู่แสะย่าแสะสามารถจัดอยู่ในกลุ่มอารักษ์ ผีเมือง โครงเรื่องตำนานความเชื่อมีลักษณะผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับวัฒนธรรมภายนอกที่เข้ามาปะทะ ซึ่งในที่นี้หมายถึงพระพุทธศาสนา สำหรับชาวชุมชนตำบลแม่เหียะ ปู่แสะย่าแสะยังเป็นผีที่เกี่ยวข้องในพิธีกรรมการผลิตของท้องถิ่น คือมีลักษณะคล้ายกับผีขุนน้ำที่บันดาลความอุดมสมบูรณ์แก่ผู้ใช้น้ำอีกด้วย

นอกจากนั้นการนับถือผีบรรพบุรุษยังสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องระบบการดูแลสมาชิกในสายตระกูลให้ประพฤติดี เป็นระบบควบคุมคนให้เกรงกลัวการทำผิดทำนองคลองธรรม หากทำผิดแล้วจะถูกผีบรรพบุรุษลงโทษ โดยการทำให้คนในตระกูลเจ็บป่วยต้องทำพิธีเลี้ยงผีเพื่อขอขมา ตัวอย่างกรณีการ “ผิดผี” นั่นคือการที่ชายและหญิงได้เสียกันก่อนแต่งงานหรือการถูกเนื้อต้องตัวกันในสมัยก่อนเรื่องถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องน่าอับอายผิดจารีตประเพณีของสังคม จะถูกสมาชิกในสังคมตีตราและตำหนิติเตียน หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมให้ถูกต้องตามจารีตประเพณีและขอขมาต่อผี เชื่อว่าจะนำมาซึ่งผลเสียต่อสมาชิกในสังคม หรืออีกกรณีในเรื่องความกตัญูต่อบรรพบุรุษ มีความเชื่อกันว่าเมื่อทำการเก็บเกี่ยวผลิตทางการเกษตรแล้ว ต้องนำผลผลิตมาเลี้ยงผีบรรพบุรุษก่อน เพื่อแสดงความเคารพยำเกรงและเป็นการบอกกล่าวเพื่อที่จะได้มีการระลึกถึงบรรพบุรุษ เป็นต้น

ระวังผีหลอก ใครรุกป่าขอให้มีอันเป็นไป

“เราไม่ได้หมายถึงจะให้ผีไปตามหลอกหลอนสร้างความกลัวหรือสาปแช่ง แต่เป็นกุศลโลบายอันแยบยลของชุนชนที่ต้องการสื่อสารว่าพวกเรามีการคอยตรวจสอบ คอยจับตาดูแลทรัพยากรส่วนรวมอยู่ อยากให้ช่วยกันเคารพกติกา ดูแลน้ำ ดูแลป่า” ไพโรจน์ โพธิพงศ์สกุล คนรุ่นใหม่เล่าเกี่ยวกับป้ายบริเวณขุนน้ำฮูในดอยหลวงเชียงดาวให้ฟัง 

กล่าวถึง “พิธีเลี้ยงหอดง-ผีขุนน้ำฮู” เป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมที่สะท้อนการเคารพธรรมชาติตามวิถีล้านนา สำหรับป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง ขุนน้ำฮู ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่แนวเขตติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมาได้มีการสัมปทานป่าไม้สัก ทำให้ป่าแห่งนี้ไม่มีต้นไม้ จนเมื่อชาวบ้านได้เข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นที่ทำไร่ทำสวน ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรของพื้นที่นี้ไม่มีน้ำใช้ ผู้นำสมัยนั้นจึงได้เรียกประชุมชาวบ้านเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันว่าจะถอยการทำเกษตรออกไปและปล่อยให้พื้นที่แห่งนี้ฟื้นขึ้นเป็นป่า ต่อมาป่าเริ่มมีตาน้ำผลิตน้ำให้ชุมชนได้ใช้ในการเกษตร นับจากนั้นมาชุมชนจึงเห็นความสำคัญของป่า จึงได้จัดพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ อันเป็นพิธีแสดงความเคารพและขอบคุณขุนต้นน้ำที่ผลิตน้ำให้ชาวบ้านในชุมชน ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 ตามปฎิทินล้านนา

ไพโรจน์กล่าวว่า “การเลี้ยงเป็นการเฉลิมฉลองร่วมกันระหว่างมนุษย์และผี เป็นการขอบคุณผ่านการให้อาหาร ผลไม้ สุรา และเป็นการขอให้ผีคุ้มครองมนุษย์ รวมไปถึงการขอให้ฝนตกลงมาเพื่อมีน้ำเป็นต้นทุนการผลิตอาหาร ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบในการร่วมเฉลิมฉลองในปีถัดไป”

การเลี้ยงผีขุนน้ำเป็นการทำพิธีสังเวยผีหรือเทวดาอารักษ์ ที่ทำหน้าที่ปกปักรักษาป่าไม้อันเป็นต้นน้ำลำธาร เป็นการขอบคุณที่บันดาลให้มีน้ำใช้ในการเกษตรกรรม โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำของลำน้ำนั้นๆ และยังเป็นการขอให้ผีประจำขุนน้ำบันดาลให้ฝนตกและมีน้ำจากขุนน้ำหรือต้นน้ำนั้นลงมาสู่พื้นราบได้ ผีขุนน้ำเป็นอารักษ์ประจำต้นน้ำแต่ละสาย ซึ่งสิงสถิตอยู่บนดอยสูงอันเป็นต้นแม่น้ำทั้งหลาย มักจะอยู่ตามใต้ต้นไม้ใหญ่มีการใช้ผีช่วยปกปักดูแลธรรมชาติ แต่หากมีใครละเมิด ขัดกฎชุมชน เชื่อกันว่าผีอารักษ์จะบันดาลให้ฝนไม่ตก แห้งแล้งไม่มีน้ำทำการเกษตร ผืนป่าไม่อุดมสมบูรณ์ 

​ไพโรจน์ โพธิพงศ์สกุล

พิธีกรรม-บูชายัญล้าหลังงมงาย?

เมื่อพุทธศาสนาเป็นศาสนาใหม่เข้ามาและปฏิเสธการบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์และการล่ามนุษย์ ความเชื่อนี้จึงปะทะเข้ากับคติความเชื่อดั้งเดิม และเมื่อต้องการให้คนพื้นเมืองคือชาวลัวะเลิกพิธีกรรมที่มีความเชื่อมายาวนานก็ยากที่จะยกเลิกไป จึงเกิดการผสมผสานยอมผ่อนผันตามความเชื่อเดิมบางอย่าง ดังเช่นมีการประนีประนอมยอมให้ฆ่าควายเพื่อเลี้ยงผีได้

ผ้าพระบฏที่แขวนอยู่ในพิธีเลี้ยงดงปี 2566 ที่ อ.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่

“ช่วงที่พุทธและพราหมณ์เข้ามา เราชอบพูดกันคร่าวๆ ว่ามอญสมาทานพุทธ ขอมสมาทานพราหมณ์ ลัวะสมาทานผี เมื่อลัวะไม่โอเคกับสองศาสนาใหม่พุทธกับพราหมณ์ ฉันก็จะต้องแบกรับบรรพบุรุษฉันหอบหิ้วขึ้นไปอยู่บนดอย เขาก็รำลึกว่าสองย่าเฒ่านี่แหละคือเป็นภาพแทนหรือเป็น secret สิ่งลี้ลับที่แท้จริง ไม่ใช่คำสอนของพุทธศาสนา หรือการอ่านคัมภีร์มนตรยานของพราหมณ์” เพ็ญสุภา สุขคตะ นักประวัติศาสตร์ศิลป์และโบราณคดีเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างลัวะกับผี

“ถ้าเรามองกันในเชิงความอุดมสมบูรณ์ เคยฟังชาวลัวะจากหัวใจของเขาเลย เขาบอกว่าจุดเริ่ม ต้นเพื่อโภชนาหาร ลัวะไม่ใช่คนดอยแต่ว่าต้องถูกผลักให้ไปอยู่บนดอยไปรวมกับชาวเขา จริงๆ ลัวะกับเม็งอยู่ลุ่มน้ำเดียวกัน แต่การที่เขาไม่ยินดีที่จะสมาทานพุทธก็เลยต้องถอยร่นตัวเองขึ้นไป การที่จะได้กินหมูเห็ดเป็ดไก่ อะไรที่อุดมสมบูรณ์เหมือนคนที่อยู่ลุ่มแม่น้ำมันเป็นไปไม่ได้ การล้มควายปีละหนและการตัดเชือดแจกจ่าย เรามองในเชิงเรื่องการแจกจ่ายสารอาหาร อันนี้เรามองในยุคใหม่นะคะ” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และโบราณคดีกล่าวเสริม

ฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าที่มาของลัวะว่าคือชนเผ่าพื้นเมืองก่อนชาติพันธุ์ไท เป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมก่อนการสร้างชาติรัฐล้านนา ในอดีตลัวะเคยมีวิวัฒนาการที่เจริญรุ่งเรือง มีการสร้างบ้านแปลงเมือง มีระบอบการปกครอง มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเป็นอัตลักษณ์เป็นของตนเอง เมื่อถูกชาติพันธุ์ไทรุกรานจึงถอยร่นสู่ที่ราบเชิงเขาและสันเขา ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตอนเหนือของลาว และทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และน่าน 

เพ็ญสุภา สุขคตะ นักประวัติศาสตร์ศิลป์และโบราณคดี

การวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเพณีฆ่าควายบูชายัญเพื่อเลี้ยงผีเป็นเรื่องงมงายนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมาตั้งแต่สมัยล้านนาแล้ว เช่น ในสมัยพญาสามฝั่งแกนหรือ “ดิษฐกุมาร” หรือ “เจ้าดิส” ก็นิยมการเลี้ยงผีด้วยการฆ่าควาย ขณะที่งานเขียนทางพุทธศาสนาอย่าง “ชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2338-2368) มีการกล่าถึงพฤติกรรมการบรวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของเมืองด้วยโค กระบือ ในสมัยของเจ้าดิสในเชิงติเตียนว่า

“…เจ้าดิส มารนั้น มีศรัทธาในศาสนาน้อยนัก ทรงเลื่อมใสแต่สิ่งภายนอกศาสนา

ไม่คบหาสัตบุรุษ บรวงสรวงแต่ภูติผีปีศาจ, สวน, ต้นไม้, สถานที่ศักดิ์สิทธิ์, ภูเขาและป่า

พระองค์เส้นไหว้บวงสรวง ด้วยโค กระบือ เป็นต้น …” (แสง มนวิทูร 2510,12)

การติเตียนของศาสนาจักรมีใจความเชิงต่อว่าว่ามีใจศรัทธาไปทางบูชาผีมากกว่าพระพุทธศาสนา มองผีเป็นคู่ตรงข้ามระหว่างพุทธกับผี ทำให้การนับถือผีอาจกลายเป็นเรื่องงมงายไป

เพ็ญสุภา ให้มุมมองผ่านแว่นสมัยใหม่ว่าการเชือดหรือฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ สังคมสมัยใหม่ยังไม่อาจยอมรับได้ และชี้ให้เห็นว่าการยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างต้องมองด้วยความเข้าใจ “ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาอะไร พุทธ คริสต์ อิสลาม แต่ความคิดหนึ่งคือคุณเป็นห่วงดวงวิญญาณคนตายว่าเขาจะไปไหน ปรโลกอยู่ที่ไหนพิธีเลี้ยงดงเหมือนมีคนที่จะต้องทำพิธี แล้วต้องไปนั่งฆ่าควายต่อหน้าสาธารณะ อาจจะทำให้เราเกิดคำถาม”

“เราอย่าไปมองเป็นปีศาจที่น่าเกลียดน่าชัง หรือไสยศาสตร์งมงาย แต่เรามองว่าเป็นเหมือนญาติคุณนั่นแหละ แล้วมันต่างอะไรจากคนจีนที่เมื่อพิธีชงชาเอาน้ำชาไปไหว้รูปอาเจ็ก อาก๋ง อาม่า แต่ถ้าเรามองเป็นเบสิกพื้นฐานมันไม่มีอะไรซับซ้อน มันเป็นเรื่องของความกตัญญู การสร้างขวัญกำลังใจให้คนในชุมชนของตัวเองไม่รู้สึกโดดเดี่ยวว้าเหว่ มองเขาด้วยความเข้าใจ มองเขาเป็นประวัติศาสตร์”

ความเชื่อเรื่องผีมีความสัมพันธ์กับชาวล้านนาอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนกระทั่งระดับโครงสร้างทางสังคม มากไปกว่าพิธีกรรมการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่ซับซ้อนหรือความงมงาย มองในอีกมุมหนึ่งเราจะสังเกตเห็นว่านอกจากเรื่องของการฆ่าสัตว์เพื่อสังเวย การติดต่อกับวิญญาณหลังความตายด้วยเลือดและอาหาร จะพบบว่ามีการใช้ “ผี” ในการจัดระเบียบทางสังคมขึ้น ทั้งเรื่องข้อปฏิบัติเรื่องความกตัญญู ความรักใคร่สามัคคี การรักษาทรัพยากร การปฏิบัติตนตามจารีตของสังคมไม่ชิงสุกก่อนห่าม นับว่าเครื่องมือที่เรียกว่า “ผี” เป็นพลังกำหนดแนวทางและควบคุมคนในการอยู่รวมกันในสังคม เพื่อหวังให้มนุษย์ได้ดํารงอยู่ด้วยกันอย่างราบรื่นและปกติสุข 

อ้างอิง

-ฐาปนีย์ เครือระยา. สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2563. “ลัวะ.”  [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา  https://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/idiom (15 มิถุนายน 2566).

-ธนันท์ เศรษฐพันธ์. (2536). การใช้เรื่องเล่าผีปู่แสะย่าแสะ : ศึกษาเฉพาะกรณีชาวบ้านป่าจี้. วิทยานิพนธ์ปริญญามานุษยวิทยามหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

-ประเวศ สายกัปป์. (2543). ตำนานปู่แสะย่าแสะ. เชียงใหม่: สภาวัฒนธรรมตำบลแม่เหียะ

-แสง มนวิทูร. (2543). ชินกาลมาลีปกรณ์. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่นายกี นิมมานเหมินทร์ เนื่องใน วันเปิดตึกคนไข้พิเศษ “นิมมานเหมินทร์ – ชุติมา” โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2510). อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).

-อาสา อำภา. (2555). ปู่แสะย่าแสะ กับประเพณีเลี้ยงผีเมืองเชียงใหม่. สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สัมภาษณ์

-นิตยา สิงห์คลา. ผู้เข้าร่วมพิธีเลี้ยงดง อ.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่. 2 มิถุนายน 2566.

-เพ็ญสุภา สุขคตะ. นักประวัติศาสตร์ศิลป์และโบราณคดี. 8 มิถุนายน 2566.

​-ไพโรจน์ โพธิพงศ์สกุล. ผู้เข้าร่วมพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำฮูใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่. 3 มิถุนายน 2566


โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP) ดูโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://journalismbridges.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง