พฤษภาคม 17, 2024

    Big Brother Is Watching You เมื่อรัฐไทยทำตัวเป็น ‘พี่เบิ้มโลกออนไลน์’ สถานการณ์ความท้าทายเรื่องสิทธิและความปลอดภัย Digital ของนักปกป้องสิทธิและภาคประชาสังคมประเทศไทย

    Share

    เรื่อง: Dot easterners

    ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 69.5%  ของประชากรทั้งหมด หรือราว 49 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก (59.5%) จากการสำรวจโดย We Are Social ในรายงาน Digital 2021 Global Overview

    ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ความเสี่ยงจากการใช้อินเทอร์เน็ตก็เป็นเงามากขึ้นตามตัว ไม่ว่าจะเป็น การถูกขโมยข้อมูลธุรกรรมผ่านการกรอกข้อมูลบนเว็บไซต์ปลอม หรือที่เรียกว่า Phishing ,การขายข้อมูลทางอัตลักษณ์โดยบริษัทต่างๆ ซึ่งไม่ผ่านการยินยอมจากเจ้าของอัตลักษณ์ ฯลฯ

    ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเสี่ยงจากการที่ประชาชนจะถูกละเมิดสิทธิทาง Digital จากการใช้อินเทอร์เน็ตโดยรัฐเสียเอง โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานภาคประชาสังคม หรือนักกิจกรรมทางการเมือง เพราะบุคคลหรือองค์กรเหล่านี้ อาจมีการรายงานหรือนำเสนอชุดข้อมูลที่แตกต่างออกไปจากอุดมการณ์ของรัฐไทย

    ภาพ: Thaiger

    กฎหมายบางฉบับที่รัฐนำมาใช้กับผู้เห็นต่างแบบมีวาระซ่อนเร้น (Hidden agenda) เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ มีเป้าหมายคือ ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเป็นหลัก ยังไม่รวมปฏิบัติการข่าวสาร หรือที่เรียกกันว่า IO (Operation Information) เป็นปฏิบัติการโดยรัฐบาล คสช. มาจนถึงรัฐบาลประยุทธ์ในสมัยที่ 2 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อคุกคาม ด้อยค่า ไปจนถึงสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มผู้มีชุดอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐไทย และเป็นที่มาของวาทกรรม ‘ชังชาติ’ หลักฐานที่ชัดเจน อ้างอิงจากข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย ส.ส. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ (ในขณะนั้น) เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คือ เอกสารทางราชการจำนวน 3 ฉบับของกระทรวงกลาโหม โดยมีเนื้อหาจากการอภิปรายความว่า

    “ในเอกสารมีการซักซ้อมการปฏิบัติการข่าวสารที่หน่วยเหนือมอบให้แต่ละวัน มีการสอนการโพสต์ว่าไม่ต้องเรียงลำดับหัวข้อตามภารกิจที่มอบให้ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับได้ว่าเป็นบัญชีผู้ใช้ปลอมหรือเรียกว่าอวตาร และมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกองทัพจะทำเองโดยพลการไม่ได้ต้องมีคำสั่ง ดังนั้นภารกิจคุกคามจึงเป็นการปฏิบัติการคำสั่งโดยมิชอบ โดย พล.อ.ประยุทธ์ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย”

    “กระบวนการไอโอทั้งหมดเราสืบทราบว่าจะมี 20 ภารกิจเศษ โดยมีกรุ๊ปไลน์ 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก ผู้บังคับบัญชา กลุ่มที่สองส่งมอบภารกิจให้กับหน่วยปฏิบัติการ และกลุ่มที่สาม รายงานผลและชี้วัดภารกิจในแต่ละวัน…”  

    ตัวอย่างที่ชัดเจนในการละเมิดสิทธิทาง Digital อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ เหตุการณ์ ‘เพกาซัส’ สปายแวร์ที่สนับสนุนโดยรัฐ เพื่อใช้สำหรับการเจาะข้อมูลของผู้ที่รัฐไทย เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งรัฐมีสมมติฐานว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะ ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี ‘63

    ‘ยิ่งชีพ อัชชานนท์’ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw คือเคสตัวอย่างที่มีความสำคัญในเชิงการเผยแพร่สื่อสารให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า ปรากฎการณ์การที่ ‘รัฐ’ ใช้เทคโนโลยีเพื่อคุกคาม สอดแนมผู้เห็นต่างนั้น ‘มีอยู่จริง’

    ในกรณีของยิ่งชีพ เริ่มต้นจากการได้รับการแจ้งเตือนทางอีเมลว่า ‘ถูกโจมตีโดยสปายแวร์ที่สนับสนุนโดยรัฐ’ ก่อนจะเป็นที่มาของการรณรงค์สื่อสารเรื่อง ‘เพกาซัส’ ยิ่งชีพ ได้ประสานไปยัง Citizen Lab หน่วยงานวิจัยด้านดิจิทัลและสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศแคนาดา เพื่อตรวจสอบการถูกเจาะข้อมูล ก่อนได้รับการยืนยันว่ามีการเจาะข้อมูลโดยสปายแวร์ ‘จริง’ ต่อมา จึงได้รวบรวมข้อมูลสำหรับการสื่อสารต่อสาธารณชน และดำเนินการ ‘ฟ้อง’ ศาลปกครองต่อกรณีที่เกิดขึ้น 

    ภาพ: iLaw

    โดยยิ่งชีพได้แสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม Facebook ต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า “ก่อนหน้านี้เรายื่นฟ้องคดีแพ่งต่อบริษัท NSO ผู้ผลิตเพกาซัสไปแล้ว โดยคดีนั้นมีความคาดหมายว่าจะเป็นคดีเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ตอนแรกเชื่อว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะไม่มาต่อสู้คดีเพราะเป็นบริษัทของอิสราเอล แล้วเราจะชนะได้โดยง่าย แต่ตอนนี้ได้ข่าวว่าจำเลยทำให้ตัวเองล้มละลายและปิดบริษัทหนีไปตั้งใหม่ กลายเป็นคดีที่ยากเรื่องกระบวนการระหว่างประเทศ แต่คดีนี้เป็นคดีปกครองที่ฟ้องรัฐไทย จะขอเน้นกระบวนการ พิสูจน์พยานหลักฐานตามกฎหมายและต้องชนะเท่านั้น คำขอข้อแรกคือขอให้เลิกใช้สปายแวร์นี้ ซึ่งจริงๆ ไม่อยากรอศาลสั่ง แต่อยากให้รัฐบาลใหม่ประกาศตัวยกเลิก และช่วยกันแสวงหาข้อมูลหลักฐานเปิดโปงกระบวนการที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลก่อนหน้านี้ให้ได้ ถ้าเราทำได้เค้าจะเป็นผู้นำของโลกในด้านความสำเร็จของการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์”

    ภาพ: ผู้จัดการออนไลน์

    หรืออีกหนึ่งตัวอย่างเหตุการณ์ที่มีความเศร้าสลดเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ ‘ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต’ อาจมีส่วนช่วยให้รัฐไทย ‘บังคับสูญหาย’ ผู้เห็นต่างทางการเมือง จากการเปิดเผยข้อมูลที่ระบุอัตลักษณ์ของเจ้าของข้อมูลนั้นๆ แก่เจ้าพนักงาน เคสตัวอย่างในกรณีนี้ที่พอจะเห็นได้ชัดเจน คือเคส ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ นักกิจกรรมทางการเมืองผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารไปจนถึงการทำงานของรัฐบาล คสช. และต้องลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านหลังจากถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน ‘พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์’ โดยวันเฉลิม เชื่อว่า บริษัทผู้ให้บริการทางโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย ได้เปิดเผยข้อมูลของผู้เห็นต่างจากรัฐบาลทหารหลายคน หลังจากการรัฐประหารในปี ‘57 ซึ่งท้ายที่สุดนั้น วันเฉลิม ได้หายสาบสูญไป หลังจากที่มีผู้ยืนยันว่า ได้พบเห็นชายกลุ่มหนึ่งลักพาตัววันเฉลิมขึ้นรถจากหน้าคอนโดมิเนียมในกรุงพนมเปญ และหลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดสามารถติดต่อวันเฉลิมได้อีก

    จะเห็นได้ว่า สถานการณ์เรื่องสิทธิและความปลอดภัยทาง Digital ของประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น นับว่ายังมีความไม่ปลอดภัยที่อยู่ในขั้นสูง อีกทั้งความตระหนักรู้เรื่องสิทธิทาง Digital ของผู้ที่ทำงานด้านภาคประชาสังคม หรือนักกิจกรรมทางการเมือง อาจยังจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มเล็กๆ และยังขยายวงการรับรู้ออกไปได้ไม่มากนัก สถานการณ์เหล่านี้สะท้อนความสำคัญของการที่ต้องขยายวงการรับรู้เรื่องสิทธิทาง Digital และการรับมือด้านความปลอดภัยทาง Digital ออกไปให้กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ภาคประชาสังคมหรือนักกิจกรรมทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายรวมถึงประชาชนทั่วไป เพราะในวันข้างหน้า ไม่มีใครทราบได้ว่าผู้ที่จะถูกรัฐไทยคุกคาม สอดแนม หรือบังคับสูญหายรายต่อไป อาจเป็น ‘คุณ’ ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็ได้

    อ้างอิง

    Related

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน:  บทสนทนาต่อ “ปฏิบัติการด้านศิลปะ” และ “ประวัติศาสตร์” ยวนย้ายถิ่น

    เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง มองศิลปะจัดวางและอ่านอย่างเข้าใจ “ไทยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและส่งต่อ” มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang...

    สำรวจความนิยมการใช้ ‘รถแดงเชียงใหม่’ ผ่านงานวิจัย

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ถือเป็นอีกเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสข้อความตัดพ้อว่ารถตุ๊กตุ๊กและรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ที่ใกล้ถึงทางตัน เมื่อ 11 พฤษภาคม...

    ประณามศาล-รัฐ เพิกเฉย ก่อการล้านนาใหม่แถลงการจากไป ‘บุ้ง เนติพร’

    14 พฤษภาคม 2567 คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA ร่วมกับ กลุ่มนิติซ้าย...