เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 – 16.00 น. คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดโครงการ “การสร้างองค์ความรู้ในการจัดการไฟป่าให้กับชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และข้อจำกัดทางกฎหมาย นโยบายของรัฐ” ณ ชุมชนบ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการดูแลรักษาและจัดการไฟป่าระหว่างชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า รวมถึงปัญหาและข้อจำกัดทางกฎหมาย เพื่อนำข้อมูลการจัดการไฟในพื้นที่สู่การพัฒนาแผนการจัดการไฟป่าได้อย่างสอดคล้องกับพื้นที่
การแลกเปลี่ยนอภิปรายเรื่อง การสร้างองค์ความรู้ในการจัดการไฟป่าให้กับชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และข้อจำกัดทางกฎหมาย นโยบายของรัฐ มีตัวแทนแต่ละภาคส่วนร่วมเป็นวิทยากร ได้แก่ พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร, ชลธี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง, พนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง, ศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง, สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง, พชร คำชำนาญ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ โดยมีมานพ คีรีภูวดล กรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ภาคประชาชนสะท้อน ‘กฎหมายป่าไม้-มาตรการห้ามเผา’ ทับวิถีคนอยู่กับป่า
สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กล่าวถึงบริบทชุมชนบ้านกลางว่า เป็นหนึ่งในชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอไม่กี่ชุมชนในอำเภอแม่เมาะ และมีหลักฐานการตั้งอยู่ของชุมชนมานานนับร้อยปี อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนตั้งอยู่มาก่อนการมีพ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับแรกที่ประกาศใช้ รวมถึงพ.ร.บ.อุทยานฯ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนมาเป็นเวลากว่าสามสิบปี นับตั้งแต่การเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ในปีพ.ศ.2532 เป็นต้นมา จนกระทั่งในปัจจุบัน พื้นที่ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ใช้สอยประโยชน์ทั้งหมดของชุมชน ยังอยู่ในเขตพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท นำมาสู่ความกังวลใจในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่า ทำให้วิถีชีวิตของคนอยู่กับป่าจำต้องปรับเปลี่ยนไปตั้งแต่มีการเตรียมประกาศอุทยานฯ ถ้ำผาไท
“ชุมชนชาติพันธุ์อยู่กับป่าไม่ได้ละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อม เราอยู่ เราดูแล เรารักษา ไม่ได้มองว่าป่าเป็นของเราคนเดียว แต่ป่าเป็นของทุกคนทั้งประเทศ แต่พอกฎหมายป่าไม้ออกมากดทับชุมชนเช่นนี้ ทำให้วิถีการอยู่กับป่า และดูแลป่าของเรามันถูกจำกัดไปจากเดิม เพราะการดำรงชีวิตของเราทุก ๆ อย่างมันเกิดขึ้นในป่า เมื่อมีกฎหมายมาทับเรา เราก็กังวลใจ” สมชาติกล่าว
นอกจากกฎหมายป่าไม้และพ.ร.บ.อุทยานฯ แล้ว ในระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา ได้มีปัจจัยสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อชุมชน คือ ‘มาตรการห้ามเผา’ คำสั่งจากจังหวัดที่ประกาศบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 แต่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่อยู่ในเขตป่า และทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวไว้ใช้บริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี โดยกระบวนการทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียนจำเป็นต้องใช้ไฟในการเผาเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งจะตรงกับช่วงที่มาตรการห้ามเผาประกาศบังคับใช้ ทางชุมชนจึงทำแผนการจัดการไฟที่ระบุชัดเจนว่า จะมีแปลงไร่หมุนเวียนที่จะเผาอยู่ในพิกัดใด รวมถึงระบุวันเวลาในการเผาที่ชัดเจน ซึ่งแผนการใช้ไฟจะส่งไปแจ้งให้ทางอำเภอทราบ แต่ก็ยังต้องมีการเลื่อนเวลาเผาไร่หมุนเวียนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับจุดความร้อนในพื้นที่ป่า
“นโยบายที่รัฐประกาศออกมา ไม่ได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วม ทั้งยังใช้แบบเหมารวมทั่วประเทศ ซึ่งกระทบกับคนที่อยู่กับป่า ทั้ง ๆ ที่เรารักษาด้วยจิตวิญญาณ ทำให้เรากลายเป็นจำเลย ขยับตัวก็ไม่ได้ อยากให้หน่วยงานแยกแยะการใช้ไฟ ไฟแบบไหนเป็นไฟจำเป็นก็ต้องแยก” สมชาติกล่าว
‘ท้องที่ท้องถิ่น’ พร้อมเดินหน้าพัฒนา หากกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
พนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กล่าวว่า การใช้ไฟในช่วงมาตรการห้ามเผาสามารถดำเนินการได้ หากมีแผนในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ที่ควบคุมได้และมีขอบเขตระยะเวลาชัดเจนแจ้งมาทางอำเภอ ซึ่งอาจจะต้องเลี่ยงช่วงระยะเวลาที่มีการตรวจจับจุดความร้อนผ่านทางดาวเทียม เนื่องจากช่วงวิกฤตฝุ่นควัน PM2.5 จุดความร้อนจะถูกนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้จุดกำเนิดฝุ่นควัน เช่น พื้นที่ที่มีจุดความร้อนจำนวนมาก จะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นพื้นที่ที่มีการกระทำให้เกิดฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งที่ฝุ่นควันเหล่านี้ไม่มีพรมแดนกั้น ดังนั้น ฝุ่นควันที่กำเนินที่จุดหนึ่งจึงสามารถพัดพามายังอีกจุดหนึ่ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
ที่ผ่านมาทางอำเภอแม่เมาะถูกเพ่งเล็งเรื่องปริมาณฝุ่นควัน เนื่องจากตรวจพบจุดความร้อนสูงที่จัดในจังหวัดลำปาง ในความเป็นจริงแล้วทั่วทั้งจังหวัดลำปางมีเครื่องตรวจจับความร้อนเพียง 4 เครื่อง ถูกติดตั้งที่อำเภอแม่เมาะ 3 เครื่อง จึงทำให้ข้อมูลจุดความร้อนของจังหวัดลำปางถูกตรวจพบที่อำเภอแม่เมาะสูงมาก
ด้านข้อจำกัดการพัฒนาในพื้นที่ป่าที่ทางท้องที่ท้องถิ่นสะท้อนคือ ความยุ่งยากซับซ้อนของขั้นตอน เพราะท้องที่ท้องถิ่นต้องส่งเรื่องไปยังกรมป่าไม้ให้อธิบดีกรมพิจารณาอนุญาตในการพัฒนา ซึ่งน้อยครั้งมากที่จะได้รับอนุญาต แม้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เรื่อง ขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่า โดยให้หน่วยงานท้องที่ท้องถิ่นบันทึกข้อมูลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าโดยระบุพิกัดให้ชัดเจน แล้วส่งข้อมูลไปให้กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานแห่งชาติ พิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการ แต่ไม่ได้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพราะจนกระทั่งปัจจุบัน (พ.ศ.2567) ยังไม่มีหน่วยงานลงมาตรวจสอบในพื้นที่แต่อย่างใด ทั้งที่ในเมื่อมีการผ่อนผันแล้วก็ควรจะอนุมัติให้ดำเนินการในพื้นที่ได้
“ส่วนตัวมองว่าจึงมีความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการขออนุญาตดำเนินการในพื้นที่ป่า อาจจะถ่ายโอนอำนาจการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน มาให้ระดับจังหวัดตัดสินใจมากกว่าให้ตัดสินใจที่ระดับกรม แม้กระทั่งการทำแนวกันไฟในบางจุดก็ยังไม่สามารถเข้าไปทำได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ต้องระมัดระวังกฎหมายป่าไม้เรื่องการเข้าไปแผ้วถางในพื้นที่ป่าทั้ง ๆ ที่เป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่เป็นผลดีต่อการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ” พนมพรกล่าว
ศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง กล่าวว่า ข้อจำกัดสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนที่อยู่ในเขตป่า คือ ความทับซ้อนในขอบเขตอำนาจของหน่วยงาน แม้ว่าแต่ละหน่วยงานมีขอบเขตหน้าที่ที่ชัดเจนก็จริง แต่เมื่อไปทับซ้อนกับขอบเขตอำนาจของหน่วยงานอื่นก็ทำให้การพัฒนาในพื้นที่ติดขัดได้ อย่างกรณีการทำถนนเข้าชุมชนที่อยู่ในเขตป่า จะมีลำดับขั้นตอนของกระบวนการที่ต้องส่งเรื่องให้กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานแห่งชาติที่มีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินการในพื้นที่ป่าเสียก่อน หากพิจารณาเห็นชอบแล้วอนุมัติจึงจะดำเนินการได้
“อบต.บ้านดงสนับสนุนการพัฒนาสาธารณูปโภคในเขตพื้นที่ป่า อย่างกรณีถนนทางเข้าชุมชนบ้านกลาง ก็มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA แล้ว ส่วนการขอใช้งบประมาณตามขั้นตอน ต้องมีการจับพิกัดในพื้นที่ก่อนจะใช้งบประมาณ ทำให้การดำเนินการเกิดความล่าช้า จนบางทีต้องคืนงบประมาณไปแทนที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาในพื้นที่ หลังจากนี้ทางอบต.จะรับพิจารณาจัดทำแผนการดำเนินการให้เป็นข้อบัญญัติของตำบลต่อไป” ศุกร์กล่าว
ภาคประชาสังคม ตอก ‘กฎหมายป่าไม้’ กรงขังที่ครอบชุมชนในเขตป่า
พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่สื่อสารรณรงค์ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า หากมองอย่างผิวเผินจะเห็นว่าชุมชนชาติพันธุ์เหมือนชุมชนทั่วไปในพื้นที่ป่า แต่ในความเป็นจริงแล้วหลายชุมชน หลายพื้นที่ถูกรัฐไทยประกาศกฎหมายทับครั้งแล้วครั้งเล่า อย่างกรณีชุมชนบ้านกลางที่ถูกกฎหมายนโยบายป่าไม้ไทยบังคับใช้ถึงสามครั้ง เริ่มจากการประกาศใช้พ.ร.บ.ป่าไม้ ปีพ.ศ. 2484 เป็นการประกาศทับพื้นที่ชุมชนครั้งแรกว่า ตรงที่ชุมชนดำรงอยู่จะกลายเป็นพื้นที่ป่าไม้ของไทย ครั้งที่สองคือ การประกาศใช้พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2507 และตอกย้ำความชัดเจนอีกครั้งว่า พื้นที่ชุมชนอยู่ในเขตพื้นที่เตรียมการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท เมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่งผลของการบังคับใช้กฎหมายและคำสั่งเหล่านี้ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากกฎหมายนโยบายป่าไม้ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าแล้ว ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นับแต่การเริ่มมีปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 สิ่งที่ชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าต้องเผชิญเพิ่มคือ การถูกเบียดขับจากสังคมเมือง ถูกป้ายสีให้เป็นแพะรับบาปในปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการถูกกล่าวโทษว่าไร่หมุนเวียนที่ต้องใช้ไฟในการทำเกษตรกรรม เป็นสาเหตุของฝุ่นควัน PM2.5 นำมาสู่การบรรจุปัญหาฝุ่นควันอยุ่ในวาระแห่งชาติว่าด้วยการจัดการฝุ่นโดยกรมควบคุมมลพิษ ในยุครัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2563 ซึ่งในแผนวาระแห่งชาตินี้ มี ‘มาตรการห้ามเผาโดยเด็ดขาด’ บรรจุอยู่ โดยมีกระทรวงมหาดไทยที่มีอำนาจในการมอบหมายมายังผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ให้มีอำนาจในการตัดสินใจและออกคำสั่งควบคุมการเผาในจังหวัดได้โดยชอบ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ออกลาดตระเวนการใช้ไฟในพื้นที่ป่าถี่ขึ้น หลังปี 2563 พบว่ามีคดีที่เกี่ยวข้องกับไฟป่ามากถึง 600 กว่าคดีที่ถูกจับกุมดำเนินคดีประชาชนในพื้นที่
ในปี 2567 มีการพัฒนาระบบแอพลิเคชัน Fire D เพื่อเป็นช่องทางลงทะเบียนการขออนุญาตเผาล่วงหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาการห้ามเผาอย่างเหมารวม แต่ด้วยระบบ single command ของระบบราชการไทย ที่ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการระงับแผนการใช้ไฟที่เคยขออนุญาตไว้ในระบบ Fire D ได้ หากช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างรุนแรง สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐราชการรวมศูนย์ของไทย ที่ทำให้ความพยายามในการดำเนินการแก้ไขปัญหาติดขัดและไม่เป็นไปดังที่ควรจะเป็น
“หลังฝนแรกโปรยลงมา ฝุ่นควันหายไป ทุกคนอยากมาเที่ยวภาคเหนือ ชื่นชมธรรมชาติที่เขียวขจี โดยลืมซากปรักหักพังที่เกิดกับชุมชนจากมาตรการห้ามเผาในช่วงฝุ่น PM2.5 ข้อเสนอของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือคือ มาตรการห้ามเผาต้องยกเลิก โดยต้องแยกไร่หมุนเวียนออกจากมาตรการห้ามเผาให้ชัดเจน รวมถึงผลักดันให้การกระจายอำนาจการจัดการพื้นที่ให้ถึงชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่การมอบหมายอำนาจให้ผู้ว่าราชการแบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่เป็นอยู่” พชรกล่าว
กมธ.ในนาม ‘ผู้แทนราษฎร’ เห็นพ้อง พร้อมร่วมผลักดันในสภา
พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า จากการรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชน ท้องที่ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ล้วนเห็นด้วยและมีข้อเสนอ 6 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
– การประกาศพื้นที่ป่าทับพื้นที่ทำกินที่กระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่และทำกินมาเป็นระยะเวลานาน ทางพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอให้ จัดตั้งกองทุนในการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน 10,000 ล้านบาท เพื่อให้พิสูจน์สิทธิในที่ดินที่มีข้อพิพาททั้งหมด และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ประมวลกฎหมายที่ดิน และปรับปรุงปัญหาทับซ้อนของแผนที่ให้แล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน
– ส่งเสริมพื้นที่นิเวศน์วัฒนธรรม เป็นหนึ่งในแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันระหว่างชุมชนในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องรักษาระบบนิเวศน์และคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เช่น การแบ่งสัดส่วนพื้นที่ในการบริหารจัดการ โดยกลไกคณะกรรมการที่มาร่วมออกแบบกติกาในการบริหารจัดการพื้นที่ต้องมีสัดส่วนของคนในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อช่วยให้การบริหารในพื้นที่เป็นไปอย่างแม่นยำและสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ได้ ซึ่ช่องทางที่จะทำให้เกิดแนวทางนี้คือ การผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์
– ลดอคติทางชาติพันธุ์ หากปรับมุมมองว่า นโยบายทางวัฒนธรรมมีส่วนเอื้อต่อการดำรงรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีศึกษาจากประเทศแถบละติน-อเมริกา ที่มีการกำหนดเป้าหมายลดอัตราการตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่า พบว่าในพื้นที่ที่ให้ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่มีส่วนร่วมในกระบวนการ จะมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าจะลดลง
– กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องที่ท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ขณะนี้มีร่างกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดบริการสาธารณะอย่างมีอิสรภาพมากขึ้น และต้องเพิ่มบุคลากรในระดับท้องถิ่น เพิ่มงบประมาณที่เหมาะสมต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ
– สวัสดิการโดยรัฐ ในปัจจุบันทางพรรคก้าวไกลพยายามยกระดับอัตราสวัสดิการให้เป็นแบบถ้วนหน้า เพื่อทุกคนเข้าถึงได้ และให้ระดับสวัสดิการสอดล้องกับค่าครองชีพมากขึ้น
– เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง สามาถทำได้ในหลายช่องทาง เช่น การเพิ่มสัดส่วนผู้แทนราษฎรชาติพันธุ์ การออกแบบกฎกติการอื่น ๆ ที่จะทำให้เสียงสะท้อนของชาติพันธุ์ในประเทศไทยดังขึ้น
“หากมองสูงกว่าระดับกฎหมายทั่วไป ให้ไปถึงวาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำอย่างไรให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีสัดส่วนของชาติพันธุ์มากขึ้น เสนอว่า ให้ออกแบบระบบเลือกตั้งสสร. เป็นแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้เพิ่มสัดส่วนของประชาชนแต่ละกลุ่มได้หลากหลายมากขึ้น มีกรณีศึกษาประเทศชิลี สำหรับการเลือกตั้งสสร. ที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ ว่าจะเลือกตัวแทนจากพื้นที่ หรือตัวแทนจากกลุ่ม ส่วนประชาชนทั่วไปจะมีบัตรเลือกตั้งหนึ่งใบ” พริษฐ์กล่าว
หลังกิจกรรมการแลกเปลี่ยนอภิปราย ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ได้ยื่นหนังสือสองฉบับถึงประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอเพื่อโปรดเร่งดำเนินการปกป้องวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จากมาตรการห้ามเผาอย่างเร่งด่วน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...