นโยบายความยากจนในไทย กับความทับซ้อนเด็กหลุดระบบทางการศึกษา

การสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “นโยบายความยากจนในสังคมไทยกับโจทย์ความท้าทายใหม่ ๆ” ภายใต้ปีที่ 2 ของโครงการวิจัย “ความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทยภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง” ภายใต้การสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเภททุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) จากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบไปด้วยวิทยากร 4 ท่าน ดังนี้ 1) ดร. นิสาพร วัฒนศัพท์ หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบและกลไกการดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา (กสศ.) 2) อรนุช ชัยชาญ นักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดพิษณุโลก 3) ครูจุฑาทิพย์ ยงพาณิชย์ ครูวิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนพุทธชินราชพิทยา และ 4) รองศาสตราจารย์ ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ดำเนินรายการ    วงเสวนาในครั้งนี้พูดคุยถึงปัญหาระดับชาติว่าด้วยเรื่องการศึกษา ปัญหาเด็กตกขอบ ปัญหาการไม่มีความต่อเนื่องทางการศึกษา ปัญหาการไม่พร้อมด้านการศึกษา และปัญหาที่ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของเด็ก  โดยใช้กรณีระดับจังหวัดพิษณุโลก เพื่อสะท้อนขึ้นไปให้เห็นปัญหาในระดับประเทศ

 ภาพ: นาฏลดา มาทำมา, 27 มีนาคม 2567

เสียงจากผู้ปฏิบัติงาน และความทับซ้อนเด็กหลุดระบบทางการศึกษา

ครูจุฑาทิพย์ ยงพาณิชย์ สะท้อนถึงปรากฏการณ์เด็กเข้าถึงระบบได้ไม่เต็มที่ และบอกถึงการช่วยเหลือเด็กที่เธอทำงาน โดยปัญหานี้เธอดำเนินการด้วยตนเองมาตั้งแต่ปี 2550 คือเรื่อง “เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา” ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ เธอกล่าวอีกว่า โรงเรียนที่เธอสอนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่ครอบครัวเด็กมีรายได้น้อย และส่วนหนึ่งเป็นเด็กชายขอบ ช่วงโควิดระบาดก่อให้เกิดตัวเร่งของปัญหาเด็กหลุดจากระบบที่ชัดเจน อย่างเช่น เด็กขาดอุปกรณ์สำคัญสำหรับการเรียนแบบออนไลน์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อเข้าเรียนผ่านระบบออนไลน์ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างชัดเจน การหลุดออกจากระบบการศึกษานี้ จำเป็นต้องมองให้ลึกมากยิ่งขึ้นและทำความเข้าใจต่อตัวนักเรียน โดยต้องมองถึงบริบทโดยรอบด้วย กลุ่มเป้าหมายที่เธอพยายามแก้ปัญหามีหลายด้าน อาทิ การดำเนินชีวิต เช่น ด้านเพศ จำเป็นต้องให้ความรู้เรื่องการป้องกันระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เพื่ออนาคตของพวกเขา หากนักเรียนพลาดก็ต้องให้โอกาสเขา ต่อมาด้านครอบครัว พยายามสำรวจถึงปัญหาต่างๆ ด้านเศรษฐกิจ สังคม ความรุนแรงในครอบครัว การใช้แรงงานเด็ก โดยเฉพาะปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ หากพบปัญหาในลักษณะนี้ ครูจุฑาทิพย์ก็ดูแลและช่วยเหลือ โดยให้คำปรึกษาและดูแลเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภายในโรงเรียนหากนักเรียนมีปัญหาสามารถเข้ามาปรึกษาเรื่องที่ไม่สามารถปรึกษาหรือพูดคุยกับผู้คนรอบตัวได้ ซึ่งการดูแลและให้คำปรึกษานักเรียนเช่นนี้ คุณครูได้ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยนอกเหนือจากรายวิชาสอน และด้านการสอน คุณครูใช้วิธีการสอนแบบ Active Learning ประหนึ่งว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชั้นเรียนและ ถอดบทเรียน รับฟังซึ่งกันและกัน เสนอแนะแนวทาง ข้อคิดต่างๆ ท้ายที่สุดการช่วยเหลือเหล่านี้ของเธอคือ การป้องกันปัญหาเรื่องเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกทางหนึ่ง

รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบที่เป็นปัญหาระดับประเทศจึงถูกซุกอยู่ใต้พรมมายาวนานและทับทวีขึ้น จึงตั้งคำถามกลับไปว่า การหลุดออกจากระบบของนักเรียน มีหลากหลายสาเหตุมิใช่เกเรหรือขี้เกียจเท่านั้น ตามที่เด็กมักถูกตีตราโดยครูหลาย ๆ คน ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ปัญหานี้มีความซับซ้อนมากกว่านั้น ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจำต้องใช้ข้อมูลที่แท้จริงอย่างตรงไปตรงมา ว่าแท้จริงแล้วปัญหานี้อยู่ตรงไหน จำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและไม่มีอคติตีตราต่อเด็กเหล่านี้ โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวควรมองไปให้ถึงจุดต้นเหตุของปัญหานั้นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

คุณอรนุช ชัยชาญ นักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดพิษณุโลก เผยถึงความคาดหวังที่จะแก้ปัญหาให้กับทุกเคส ซึ่งมีสารพัดปัญหาและหาช่องทางต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กในระยะยาว หากมองลึกลงไปในครอบครัวที่มีปัญหาอย่างเรื่องพ่อแม่ติดยาเสพติด เราก็ไม่ทอดทิ้งเขา ในบางกรณีอย่างสิ่งแวดล้อมของชุมชน ก็มีลักษณะไม่เอื้อต่อการเติบโต ดังนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรับรู้ถึงปัญหาและเข้ามาช่วยเหลือ มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาสังคมซ้ำๆ อย่างเรื้อรัง อาทิ ปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ฯลฯ เป็นต้น

ครูจุฑาทิพย์ ยงพาณิชย์ เสริมว่าปัญหาที่พบเห็นบ่อยก็คือ เมื่อต้องรายงานต่อหน่วยราชการ ทางโรงเรียนจะปฏิเสธและไม่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ รวมทั้งทัศนคติของผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งมักมีแนวทางไปในการกล่าวโทษเด็ก ประหนึ่งว่าเป็นการผลักออกมากกว่าจะเข้าใจและถูกสร้างภาพว่าเป็นเด็กเกเร อาทิ เด็กมักง่าย เด็กยากจน เด็กเรียนไม่เก่ง หรือเลือกที่จะกระทำบางอย่างที่ผิดพลาดเอง ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นวิธีการมองแบบเชิงเดี่ยวและไม่เห็นความซับซ้อนของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก ซึ่งหลายเคสที่พบเห็นเป็นไปในลักษณะนี้ ส่วนระดับนโยบายเราไม่รู้ว่ากระทรวงศึกษาธิการได้รับรู้หรือไม่ หากไม่ลงพื้นที่ไปยังจุดที่มีปัญหา เราจะไม่สามารถรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กได้อย่างแท้จริง

การช่วยเหลือและการสร้างกลไกในการแก้ปัญหาของเด็กหลุดระบบ

ดร.นิสาพร วัฒนศัพท์ หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบและกลไกการดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา (กสศ.)มองจากสองกรณีนี้ ทาง กสศ. เป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือในลักษณะที่ว่า เด็กมีปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งการทำงานเกี่ยวกับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษานั้น โดยปกติแล้วการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นรายกรณีมีลักษณะคล้ายแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมิใช่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเธอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยการวางกลไกของระบบการศึกษา

เธอตั้งคำถามต่อปัญหาของเด็กและเยาวชนว่า การแก้ไขปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ภายใต้กฎหมายหรือไม่? เพราะในปัจจุบันยังไม่มีระเบียบรองรับการช่วยเหลือบางอย่าง เช่น เบิกจ่ายไม่ได้ในบางกรณี และในเชิงระบบเอกสารไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของทาง กสศ. นอกจากนี้ ยังโจทย์หรือประเด็นที่สำคัญของปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอยู่ที่ว่า เด็กอยู่ที่ไหน? หากเด็กเคยเข้าสู่ระบบการศึกษา แม้วันหนึ่งจะหลุดออกไป แต่ก็ยังพอมีข้อมูลในระบบ ในทางกลับกัน เด็กที่ไม่เคยเข้าสู่ระบบการศึกษาเลย ซึ่งส่วนมากคือเด็กพิการ เราจะทราบได้อย่างไรว่าเด็กอยู่ที่ไหน? ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดจึงเห็นด้วยกับคุณครูจุฑาทิพย์ว่า จุดของการทำงานที่ดีที่สุดต่อปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจึงอยู่ที่ การป้องกันเด็กก่อนที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่เช่นนั้นแล้วจะแก้ไขปัญหายากมากเมื่อเด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษาแล้ว ด้วยเหตุนี้ เด็กที่กองทุนได้ทำการช่วยเหลือจึงมักเป็นเด็กที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง อาทิ ต้องเข้าเรียนให้ได้ 80% อย่างน้อยก็ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา สิ่งที่ต้องทำต่อก็คือ การทำงานที่ช่วยพัฒนาระบบและกลไก ในท้ายที่สุดเราต้องการกลไกและระบบที่ดีเพื่อให้ขยับไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ตั้งข้อสังเกตว่า หากวางระบบและตัวกลไก ทั้งตัวนโยบายให้ออกมาชัดเจนกว่านี้จะทำอย่างไร? และตั้งคำถามต่อไปว่า ต้องผลักดันอย่างไรบ้าง? เช่น ส่งข้อมูลให้กับกระทรวงฯ หรือไม่ เพื่อให้เห็นปัญหาจากการลงพื้นที่หรือไม่ อย่างไร?

ครูจุฑาทิพย์ เสริมว่า เราพยายามนำปัญหาเหล่านี้ไปสะท้อนต่อผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก แต่ติดอยู่ที่ปัญหาการรายงาน ซึ่งบางโรงเรียนไม่กล้าที่จะรายงานข้อมูลตามข้อเท็จจริง เพราะเกรงว่าจะเป็นการทำลายภาพลักษณ์หรือชื่อเสียงนั่นเอง

ดร.นิสาพร วัฒนศัพท์ ชี้ว่าด้าน กสศ.ได้จัดทำระบบสารสนเทศ โดยนำร่องและสร้างเครื่องมือในการนำไปใช้  นั่นคือ Case management system กล่าวคือ เด็ก 1 คนต้องได้รับการดูแลในหลายกรณี แต่ปัญหาก็คือ พม. หาเด็กไม่เจอ และเด็กเองไม่รู้ว่า พม. สามารถช่วยเหลืออะไรตนเองได้บ้าง ซึ่งเด็กและคอบครัวไม่มีพลังมากพอที่จะเอาตัวเองออกไปหาทรัพยากรของรัฐ อาทิ ทุน ความช่วยเหลือ ฉะนั้น เครื่องมือที่สำคัญคือต้องมีภาควิชาการมารองรับอย่างเช่นผลการวิจัยเพื่อให้เป็นที่ยอมรับได้ อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่สำคัญ เพราะผู้ปฏิบัติงานหรือหน่วยงานที่แก้ไขจำเป็นต้องอิงข้อมูลจากตัวงานวิชาการ

 ภาพ: นาฏลดา มาทำมา, 27 มีนาคม  2567 

ส่งท้าย

รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ กล่าวว่า ปัญหาด้านการศึกษามีส่วนสำคัญอย่างมากต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย คุณจุฑาทิพย์ ยงพาณิชย์ เสริมว่า ปัญหาที่เราเห็นนี้ เกิดจากการทำงานร่วมกันของหลายองค์กรที่ยังมองไม่เห็นความสำคัญตรงนี้มากพอ ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น สุดท้ายคุณอรนุช ชัยชาญ ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ทาง พม.มีระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ESS ผ่าน Line OA ที่ชื่อว่า “ESS Help Me” ปักหมุด หยุดเหตุ ซึ่ง ESS เป็นช่องทางในการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งให้บริการเฉพาะกรณีปัญหาเร่งด่วนจาก 5 สาเหตุ ได้แก่ ข่มขู่ว่าจะทำร้ายหรือทำร้าย กักขังหน่วงเหนี่ยว เสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และมั่วสุมจนก่อให้เกิดเหตุร้าย โดยทำงานผ่าน Line OA ด้วยการค้นหาชื่อ คำว่า ESS Help Me ด้านเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำตรงจุดและรวดเร็วทันเหตุการณ์ การแจ้งเหตุทางแอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้พวกเราทุกคน ไม่ใช่แค่คุณครู หรือ พม. สามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็กจากภัยในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันท่วงที

ท้ายที่สุด รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในระดับที่สูงมาก โดยนโยบายของรัฐบาลยังไปไม่เท่าทันหรือสอดคล้องกับปรากฏการณ์และเหตุผลที่แท้จริงของเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ข้อมูลที่ใช้ในการแก้ปัญหานั้น กล่าวได้ว่า เป็นข้อมูลคนละชุดและไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงในแต่ละพื้นที่และแต่ละครัวเรือนที่มีเงื่อนไขต่างกัน ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเหล่านี้ จึงค่อนข้างบิดเบี้ยวและไม่ตรงจุด ดังนั้น จะทำอย่างไร? โมเดลแบบ โครงการพัฒนาระบบและกลไกการดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ถึงจะกระจายได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่และที่สำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหาการศึกษาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอื่น ๆ       ที่ซ้อนทับกันควบคู่ไปด้วย

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง